เลี้ยงสัตว์ » วิธีป้องกัน+รู้จักกับพยาธิภายในตัวแพะ

วิธีป้องกัน+รู้จักกับพยาธิภายในตัวแพะ

30 มีนาคม 2018
8887   0

https://goo.gl/XVbuZ2

https://goo.gl/rYc9a3

 

รวมโรคพยาธิในแพะ-แกะ และการป้องกันกำจัด

พยาธิมีผลกระทบต่อการผลิตแพะทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งพบว่าพยาธิภายในเป็นตัวก่อปัญหากับการเลี้ยงมากกว่าพยาธิภายนอก ถ้าแพะมีพยาธิภายในจำนวนมากจะทำให้เกิดโรคเฉียบพลันมีความรุนแรงถึงตายได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยจะไม่ถึงตาย แต่ทำให้ผลผลิตลดลง เช่น เนื้อ นม นอกจากนี้ทำให้แพะอ่อนแอ เป็นโรคอื่นๆ ได้ง่าย ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้จากผลผลิตที่ลดลงและเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อยาถ่ายพยาธิด้วยมีแนวโน้มว่าพยาธิจะมีการดื้อยาขึ้น..

การใช้ยานั้นต้องไม่ใช้ยาชนิดเดียวกันทั้งปี พยาธิภายในแพะมีหลายชนิดด้วยกัน เกิดกับแพะทุกภาคที่เลี้ยงแพะ โดยเฉพาะในเขต เอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด และพยาธิตัวแบน เป็นต้น ดังที่กล่าวในรายละเอียดให้เกษตรกรรู้จักดังต่อไปนี้..

.

 

พยาธิตัวกลม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือพยาธิตัวกลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ได้แก่..

พยาธิเส้นลวด

อยู่ในกระเพาะอาหารส่วนอโบมาซุ่มของแพะ เป็นพยาธิที่ทำอันตรายต่อสัตว์มากที่สุด ตัวผู้ยาว 10- 20 มิลลิเมตร ตัวเมียยาว18 – 30 มิลลิเมตร ตัวผู้มีสีแดง ส่วนตัวเมียมีสีแดงสลับขาว

วงจรชีวิต.. เมื่อพยาธิตัวแก่ไข่ออกมาและแพะถ่ายอุจจาระออกมา ไข่จะมีตัวอ่อนอยู่ภายใน เมื่อตัวอ่อนฟักตัวออกมาภายนอก และเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดโรคแล้วแพะมากินเข้าไปจะเข้าไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอโบมาซุ่ม ดังกล่าว..

และภายใน 19วัน ตัวอ่อนก็จะเจริญเป็นตัวแก่และเริ่มออกไข่

อันตรายที่เกิดกับแพะก็คือพยาธิชนิดนี้จะดูดเลือดทั้งเม็ดเลือดและโปรตีนในเลือด ทำให้แพะเกิดโลหิตจางและถ้ามีอาการรุนแรง แพะจะมีอาการบวมน้ำใต้คาง ใต้ท้อง และแพะจะ ไม่เจริญเติบโต น้ำหนักลด ท้องร่วง หรือท้องผูก ร่างกายอ่อนแอ ความต้านทานโรคต่ำและตายได้ อาการในลูกสัตว์จะเป็นแบบเฉียบพลัน เพราะการเสียเลือดอย่างรวดเร็ว โดยไม่แสดงอาการโลหิตจางให้เห็น

 

นอกจากนี้ก็มีพยาธิเส้นด้ายที่อาศัยในลำไส้เล็ก มันจะแย่งอาหารทำให้ลำไส้อักเสบ แต่ความรุนแรงของพยาธินี้ไม่มากนัก และพยาธิเม็ดตุ่ม พบในลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้อักเสบ แพะจะถ่ายเป็นมูกเหลว การเจริญเติบโตลดลง ขนหยาบกระด้าง ท้องร่วง ผอมแห้งตาย บางครั้งอุจจาระมีเลือดปน.

.

พยาธิตัวตืด

พบในลำไส้เล็กของแพะ อาจมีความยาวถึง 600 เซนติเมตร (6เมตร) …กว้าง 1.6 เซนติเมตร

วงจรชีวิตตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ จะเข้าไปอาศัยเจริญเติบโตในไร เมื่อแพะกินตัวไรที่มีพยาธิเข้าไป พยาธิจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในแพะภายใน 6-8 สัปดาห์ ลูกสัตว์ที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน จะติดโรคพยาธิได้ง่ายและมีอาการรุนแรงมากกว่าแพะใหญ่ ถ้าติดโรคพยาธินี้น้อยอาจไม่แสดงอาการ แต่ถ้าติดพยาธิมากอาจตายได้

ลูกแพะที่มีพยาธิตัวตืด 50 ตัว มันจะแสดงอาการเป็นโรคอย่างเด่นชัด ร่างกายซูบผอม แคระเเกร็น ในรายที่มีพยาธิตัวตืดมากเป็นร้อยตัว จะอุดตันลำไส้ ทำให้อาหารไม่ย่อยและคั่งค้าง ลูกแพะจะท้องอืด อาหารเป็นพิษ แบคทีเรียจะเจริญเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและสร้างสารพิษ (Toxin) ขับออกมาซึมเข้าสู่กระแสเลือด แพะแสดงอาการลำไส้อักเสบเป็นพิษ (Enterotoxaemia)

วงจรชีวิตของพยาธิตัวตืดชนิด Moniezia expansa ตัวโตเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้ ปล้องส่วนท้ายซึ่งเจริญเต็มที่แล้วจะขาดหลุดปนออกมากับอุจจาระทุกวัน ภายในปล้องที่หลุดจะมีไข่และตัวอ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อผนังปล้องของตัวตืดแตก ตัวอ่อนจะหลุดปนออกมาอยู่ตามพื้นดินและหญ้า พวกตัวไมท์(แมลงชนิดหนึ่ง เป็นตัวพาหะกลาง หรือ intermediat host) จะกินตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดเข้าไป ตัวอ่อนจะอยู่ในตัวไมท์ประมาณ 6 สัปดาห์ จึงจะเจริญเต็มที่เข้าสู่ระยะเป็นโรค (Infective Larva Stage) แพะ แกะ จะติดโรคนี้โดยการกินอาหารและหญ้าที่มีตัวไมท์ดังกล่าวเข้าไปเท่านั้น จากนั้นตัวอ่อนของตัวตืดจะเจริญเติบโตอาศัยอยู่ในลำไส้และแพร่พันธุ์ต่อไป แพะวัยรุ่นเป็นโรคพยาธิตัวตืดมีอาการรุนแรงมากกว่าแพะใหญ่

.

พยาธิใบไม้ในตับ

พบในตับและท่อน้ำดีของแพะ ขนาดตัวยาว 25 – 75 มิลลิเมตร กว้าง 12 มิลลิเมตร

พยาธิใบไม้ในตับแพะ-แกะ (Fasciola hepatica, Fasciola magna)
แกะจะแสดงอาการของโรคนี้มากกว่าแพะ เนื้อตับจะถูกทำลายโดยตัวอ่อน ในรายรุนแรงจะมีผล กระทบต่ออัตราการเจริญเติบโต การกินและการย่อยอาหาร การสืบพันธุ์และผลผลิตต่างๆ

วงจรชีวิต ตัวโตเต็มวัย (Adult) ของพยาธิใบไม้ในตับอาศัยอยู่ในท่อน้ำดี ออกไข่แล้วไหลลงสู่ลำไส้เล็กมากับน้ำดีและปนออกมากับอุจจาระ ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคือพื้นดินชื้นแฉะ อากาศอบอุ่น ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน เรียกว่า Miracidium ซึ่งว่ายน้ำได้ จากนั้นจะเข้าไปอาศัยอยู่ในหอยขม (Lymnaea spp.) เช่น หอยคัน เพื่อเจริญเป็นตัวอ่อนระยะ infective larva stage ซึ่งเรียกว่า Cercaria รวมเวลาอาศัยหอยเป็นพาหะกลาง (Intermediate host) นานประมาณ 2 เดือน จากนั้นตัวอ่อนเซอคาเรียซึ่งมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจว่ายน้ำได้ บางตัวไปเกาะอยู่ตามต้นหญ้าและวัชพืช แล้วเข้าเกราะหุ้มตัวเอง (Encyst) เรียกว่า Metacercaria พวกโค กระบือ แกะ หรือแม้แต่คนเรา จะติดโรคพยาธิใบไม้ตับโดยการดื่มน้ำและกินผัก หญ้า กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งมีตัวอ่อนของพยาธิอาศัยอยู่ เมื่อตัวอ่อนถูกกลืนเข้าไปถึงลำไส้แล้ว จะไชผนังลำไส้เคลื่อนที่มุ่งหน้าไปยังตับ ไชผ่านเยื่อหุ้มตับ (Capsule of liver) ทะลุเข้าเนื้อตับและท่อน้ำดีในที่สุด เจริญเติบโตเป็นตัวแก่อยู่ที่นี้รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 6-13 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะทำลายเนื้อเยื่อตลอดทางที่ผ่านมา โดยเฉพาะเนื้อตับถูกทำลายมากที่สุด บางรายมีเลือดออกตามรอยแผลที่พยาธิผ่านแล้วเลือดนี้จะไหลลงสู่ช่องท้อง ทำให้เป็นโรคโลหิตจางและท้องมาร (Ascites)

อาการของโรคพยาธิใบไม้ในตับ
ก. ชนิดรุนแรง (Acute Fascioliasis) แกะจะตายทันที หลังจากแสดงอาการหายใจลำบากและไม่อยากเคลื่อนไหวไดๆ เลย ซากแกะที่ตายตับจะขยายใหญ่ สีคล้ำ และเนื้อตับจะถูกทำลายเป็นรอยเต็มไปด้วยเลือดมากมาย ช่องท้องมีน้ำเลือด พยาธิใบไม้ตับชนิดรุนแรงมักเกิดในปลายฤดูแล้ง เนื่องจากแกะไปหากินหญ้าสดบริเวณ หนอง บึง หรือพื้นที่ลุ่มน้ำท่วม ถึงในฤดูฝน และพื้นที่ดังกล่าวมีฝูงโค กระบือ เลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่น โรคพยาธิใบไม้จะแพร่จากโค กระบือ โดยผ่านหอยไปสู่แพะและแกะ

ข. ชนิดเรื้อรัง (Chronic Fascioliasis) สัตว์ป่วยร่างกายจะซูบผอม เซื่องซึม เพลีย เบื่ออาหาร โลหิตจาง เยื่อบุปาก ตา และผิวหนังซีดไม่มีสีเลือด มักจะมีอาการบวมน้ำใต้คาง ท้องป่องกลางเนื่องจากมีน้ำในช่องท้อง ขนแห้งและหยาบกร้าน ไม่ลื่นเป็นมัน และร่วงหลุดง่าย บางรายจะถ่ายอุจจาระเหลว (ท้องร่วง) ซึ่งมับพบในระยะท้ายของโรค มีไข้ขึ้นเล็กน้อยและตายในที่สุด ซากแกะที่ตายด้วยโรคพยาธิใบไม้ในตับชนิดเรื้อรังจะเหี่ยวย่นเล็กลง แต่แข็ง ผนังท่อน้ำดีจะหนาขึ้น ผิวตับจะมีรอยเส้นสีขาว และถ้าตัดตับจะพบตัวพยาธิใบไม้ในตับจำนวนมาก

 

การควบคุมและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับ
1. เลือกพื้นที่น้ำไม่ท่วมขังเลี้ยงสัตว์
2. น้ำที่ใช้เลี้ยงสัตว์ควรใช้น้ำประปาหรือน้ำบาดาล
3. ใช้สารละลายจุนสี 1:100,000 พ่นแปลงหญ้าหรือริมหนอง 2 ครั้ง ห่างกัน 21 วัน แล้วพักแปลงให้ฝนตกชะล้างจุนสีที่ตกค้างที่ใบหญ้าก่อนปล่อยสัตว์

 

พยาธิแส้ม้า(Trichuris sp.)
อาศัยอยู่ในลำไส้ส่วนสุดท้ายต่อกับทวาร ไข่และตัวอ่อนของพยาธิแส้ม้ามีความทนทานต่อแสงแดดและความแห้งแล้งของสภาพแวดล้อมได้มากกว่าพยาธิดูดเลือดชนิดอื่นๆ แม้ว่าจะมีพยาธิตัวกลมดูดเลือดอยู่หลายชนิดก็ตาม แต่ปัจจุบันเราสามารถเลือกใช้ยาถ่ายพยาธิเพียงชนิดเดียวก็กำจัดพยาธิต่างๆ ที่มีได้หมด โดยเลือกยาถ่ายที่มีสมรรถภาพสูง ออกฤทธิ์กว้างและปลอดภัยต่อชีวิตสัตว์เลี้ยง และกำจัดได้ทั้งไข่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เช่น ไทอะเบนดาโซล พานาคูร์ เนมาแฟกซ์ รินตัล และโลวามิโซล(ซตาริน-แอล) ฯลฯ

.

พยาธิในปอด (Lung Worms)
เป็นพวกตัวกลมอาศัยอยู่ในหลอดส่วนปลาย (Large bronchi) ได้แก่ Dictyccaulus filaria, Nullerius capillaris, Protostrongylus rufescens เป็นพยาธิในปอดที่พบมากที่สุด วงจรชีวิตไม่ต้องผ่านตัวพาหะกลาง (Intermediate host) ตัวแก่อาศัยอยู่ที่หลอดลมส่วนปลาย (Air passage) ไข่ของมันจะถูกขับออกทางหลอดลม (Trachea) แล้วกลืนเข้าทางเดินอาหารไปฟักเป็นตัวอ่อนที่ลำไส้ จากนั้นจะปนออกมากับอุจจาระ ไข่ของพยาธิในปอดบางส่วนจะหลุดออกมาทางปากขณะที่สัตว์ไอ ตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้จะมีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศมาก ใช้เวลาลอกคราบจนเจริญเข้าสู่ระยะเป็นโรค (Infective Larva Stage) ประมาณ 6 – 7 วัน เมื่อแพะและแกะกินตัวอ่อนระยะนี้เข้าไป มันจะไชผ่านผนังลำไส้เข้าสู่ตับและปอดทางกระแสโลหิต จากนั้นจะหลุดจากผนังหลอดเลือดฝอยเข้าสู่ถุงลมและหลอดลมตามลำดับ ขณะที่ตัวอ่อนเคลื่อนที่ไปจะทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ตลอดทาง ในรายที่รุนแรง แพะ-แกะจะกลายเป็นโรคปอดบวม

Mullerius capillaris และ Protostrongylus rufescens เป็นพยาธิปอดในแพะและแกะที่สำคัญเช่นเดียวกัน แต่โอกาสติดโรคพยาธิชนิดนี้มีน้อย เพราะมันต้องอาศันหอยเป็นตัวพาหะกลาง (Intermediat host) ในการเจริญเติบโต ดังนั้นถ้าไม่เลี้ยงแพะ แกะ ในทุ่งหญ้า ริมบึง หนองน้ำชื้นแฉะแล้ว โรคพยาธิปอดชนิดนี้จะไม่แพร่ระบาด

-แพะ แกะที่ไอบ่อยๆ อาจมีอาการของโรคพยาธิปอด (Lung Worms)

อาการของแพะและแกะที่เป็นโรคพยาธิรุนแรง
ถ้าแพะและแกะแสดงอาการเป็นโรคโลหิตจางรุนแรง แสดงว่ามีพยาธิตัวกลมพวกดูดเลือด (Blood sucking Worms) สามารถตรวจสภาพโลหิตจางได้ตามบริเวณที่เยื่อบุช่องอวัยวะต่างๆ เช่น เยื่อบุชุ่มริมฝีปาก หนังตาด้านใน รูทวาร แคมช่องคลอด ซึ่งส่วนมากจะซีดเหลือง ถ้าอาการโรครุนแรงจะมีอาการบวมน้ำใต้คาง (Bottle-jaw)


ส่วนหนึ่งของบทความ เรียบเรียงจากการอบรมสัมมนา โดย อ.สมบูรณ์ แก้วเกตุ ..ผู้ที่พยายามถ่ายทอดวิชาการการเลี้ยงแพะ ให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงแพะในจ.นครศรีธรรมราช มาโดยตลอด..ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้.

ข้อแนะนำการป้องกันและควบคุมพยาธิภายในของแพะ

1. ถ่ายพยาธิเป็นประจำตามโปรแกรม โดยถ่ายทุก 4-6 สัปดาห์
-ยาถ่ายพยาธิทีใช้ประกอบด้วยยาถ่ายพยาธิ ตัวกลม เช่น อัลเบดาโซล, ไทยอาเบ็นดาโซล, ไพแรนเทล, เลวามิซอล เป็นต้น
-ยาถ่ายพยาธิตัวตืด เช่น นิโคลซาไมด์, เมเบลดาโซล เป็นต้น
-ยาถ่ายพยาธิใบไม้ในตับ เช่น ราฟอกซาไนด์ , ไนไตรไซนิล เป็นต้น
-ยากำจัดเชื้อบิด เช่น โทลทราชูริล, ซัลฟาควินอกซาลีน เป็นต้น
-หรือถ้าพบมีปัญหา พยาธิภายในและเชื้อบิดร่วมกัน อาจใช้ยาทั้ง 3 ชนิดและควรถ่ายทุก 4 – 6 สัปดาห์

2. ทำความสะอาดโรงเรือนแพะอย่างสม่ำเสมอ
พื้นที่โรงเรือนแพะต้องเป็นแบบเว้นช่อง เพื่ออุจจาระตกลงไปข้างล่างและต้องล้อมรอบใต้ถุนไว้ไม่ให้แพะเข้าไป มิฉะนั้นจะติดโรคพยาธิจากอุจจาระได้ และควรฉีดยากำจัดไรแพะ เพราะไรเป็นพาหะของพยาธิตัวแบน

3. อุจจาระและสิ่งปฏิกูลอื่น ๆให้ฝังหรือเผาทำลายให้หมด

4. ใช้ระบบแปลงหญ้าหมุนเวียน
โดยการแบ่งหญ้าออกเป็นแปลงย่อย ๆ แต่ละแปลง ล้อมรั้วกันไว้ ปล่อยแพะเข้าแทะเล็มหญ้านานแปลงละ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นไปเลี้ยงแปลงอื่นต่อโดยต้องจัดการแปลงที่แพะเล็มแล้ว ด้วยการตัดหญ้า ให้สั้นลงมากที่สุดหรือให้แสงแดดส่งถึงพื้นดิน เพื่อให้ไข่และตัวอ่อนของพยาธิตาย และหญ้าเจริญงอกงามเร็ว สำหรับเลี้ยงแพะที่จะเข้ามาแทะเล็มใหม่ หมุนเวียนกันไปหรือวิธีจำกัดพื้นที่แทะเล็ม โดยการผูกล่ามแพะไม่ซ้ำที่เดิม

5. ทำลายตัวนำกึ่งกลางของพยาธิ เช่น ไร และ หอยน้ำจืด

6. ไม่ควรให้แพะลงแปลงหญ้าชื้น ๆ แฉะ ๆ
เพราะจะติดพยาธิได้ง่ายจากตัวอ่อนพยาธิที่อาศัยอยู่ในแปลงหญ้าที่ชื้นนั้น.

อ่าน..

-ยาถ่ายพยาธิตัวแบนแพะ-วัว แบบกิน

-รู้จัก Ivermectin ยากำจัดพยาธิ-ปรสิต ที่นิยมใช้กันมากที่สุด

-ยาควรมีประจำคอก..กลุ่มยาถ่ายพยาธิแพะแบบฉีด+กิน

-การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อและใต้ผิวหนังแพะ-และวิธีการให้ยาแก่สัตว์เลี้ยง

ไข้เห็บ/พยาธิในเม็ดเลือด (Blood parasite)ที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม วัว สุนัข แมว แพะ แกะฯ

ขอขอบคุณ http://www.dld.go.th/service/goat/..
http://region9.dld.go.th/index.php?option=com_content&view..
http://oursimplefarm.com/2013/01/..
https://www.thaitravelclinic.com/th/Knowledge/..
http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/public/..
http://www.healthcarethai.com/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8..
http://tulyakul.blogspot.com/2012/10/..https://sites.google.com/site/oporprimadonna/..