เลี้ยงสัตว์ » ก่อนจะเป็นชาวแพะ..(จากคุณ หนุ่ม โคราช) TY

ก่อนจะเป็นชาวแพะ..(จากคุณ หนุ่ม โคราช) TY

12 มิถุนายน 2018
3512   0

http://bit.ly/2LIugM8

คุยกับหนุ่ม โคราช ถึง ฅนบ้าบอร์ & ฅนคอแพะแกะเนื้อ คลื๊กที่ภาพได้เลย!!

#มาหาคำตอบก่อนจะเริ่มเลี้ยงแพะกัน (คำถามพร้อมสูตรเฉลย) ตามความคิดของตาหนุ่มน่ะ จากประสบการณ์ส่วนตัวสามารถสรุปได้ตามบทความนี้ เคยลงไว้นานแล้ว เอามาลงใหม่ให้เพื่อนๆที่ยังไม่เคยอ่าน ลองดูผ่านๆตาเผื่อมีอะไรใช้ประโยชน์ได้บ้าง จะทิ้งก็เสียดาย ยาวหน่อย ตาหนุ่มพิมพ์อยู่นานเลย
——————
1. คุณจะให้ใครเลี้ยง : ( คนเลี้ยงที่ดี = คนที่ไว้ใจได้ + ตัวคุณเอง )

– จ้างคนอื่น ,เลี้ยงเอง ,ญาติพี่น้องเลี้ยงให้ ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่แนะนำให้เตรียมมือ2 ไว้ด้วย สำหรับกรณีมือ1 ไม่อยู่ ติดภารกิจ ไม่สบาย หรือหมดอารมณ์อยากเลี้ยง หากคุณจะจ้างเขาเลี้ยง ต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้มากพอควรเลย แต่ไม่ว่าอย่างไรตัวคุณเองก็ต้องรู้และสามารถทำเองได้ทั้งหมดด้วย ประเภทคอยสั่งอย่างเดียวทำเองไม่ได้ อนาคตลำบากแน่นอน
——————
2. คุณจะเลี้ยงที่ไหน : ( ทำเลที่ดี = สบายคุณ + สบายแพะ + เพื่อนบ้านไม่เดือดร้อน )

– ควรเป็นสถานที่ที่สามารถดูแลได้ ไปมาสะดวก มีแหล่งอาหารมากพอ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับคนในพื้นที่ แนะนำควรเป็นที่ของคุณเองนอกแหล่งชุมชน หากเช่าต้องทำสัญญาระยะยาวหลายๆปี
——————
3. คุณจะขายตลาดไหน : (ตลาดที่ดี = ราคาดี + มีคนซื้อ)

ขายตลาดสายพันธุ์ (ขายเป็นพ่อแม่พันธุ์ เพื่อนำไปขยายพันธุ์ หรือปรับปรุงพันธุ์) พันธุ์ต้องดี ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงเยอะ ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ ต้องให้ความใส่ใจและการดูแลมากพอควร อาหารต้องถึง ต้นทุนต่อตัวสูง มีความเสี่ยงสูง และก็ขายได้ราคาสูง แต่ก็ไม่ได้ขายกันได้ง่ายทุกคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ส่วนราคาขายอยู่ที่คุณภาพ และความพอใจผู้ซื้อผู้ขายและกระแสนิยมด้วย (ปัจจุบัน มีการซื้อขายกันตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น และหลักแสน ต่อตัวเป็นต้น) ต้องทำการตลาดเป็น จึงจะขายได้ราคาดี รายได้อาจไม่แน่นอน ตลาดอาจมีช่วงขึ้นลงตามกระแส ต้องรู้จักปรับตัว เหมาะเป็นอาชีพเสริม หากทำเป็นอาชีพหลักคงต้องมีสายป่านยาวพอสมควร

– ขายตลาดเนื้อ(ขายชั่งกิโลแพะมีชีวิต เพื่อขุนหรือส่งเชือด) ขายง่ายกว่า ราคาต่ำกว่า แต่ก็สร้างรายได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ ราคาขายตามกลไกตลาด (ปี2560 ในโคราช ขายแพะมีชีวิตกิโลละ120บาท) ควรวางแผนวงรอบการขุน ใช้เวลาในการดูแลน้อยกว่าแพะพันธุ์นม หรือแพะสายพันธุ์ หากมีจำนวนน้อยอาจขายได้ราคาต่ำ ควรมีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มจำนวนการขายแต่ละรอบ จะช่วยให้ได้ราคาดีขึ้น หากต้องการเลี้ยงเป็นอาชีพหลักต้องเลี้ยงจำนวนมากพอกับรายได้ที่ต้องการ

– ขายตลาดนม (ขายเป็นน้ำนมดิบ หรือ นมพาสเจอร์ไรท์ หรือแปรรูปแบบอื่นๆ) ต้องหาตลาดในพื้นที่รองรับ หรือส่งโรงงาน ส่งฟาร์มหมา อื่นๆอีกมากมาย สามารถสร้างรายได้รายวันได้ แต่ต้องใช้เวลาดูแลมากกว่าในแต่ละวัน ต้องเอาใจใส่ในเรื่องสุขอนามัยเป็นพิเศษ เพราะทำของให้คนกิน สามารถเป็นอาชีพหลัก หรือเสริมก็ได้

– ขายตลาดอื่นๆนอกเหนือจากนี้ แล้วแต่ไอเดียใครไอเดียมันจะบรรเจิด
——————

4. คุณจะเลี้ยงพันธุ์อะไร : ( สายพันธุ์ที่ดี = ตลาดต้องการ + พันธุ์ที่คุณชอบ)

ทำไมต้องเอาไอ้ที่คุณชอบด้วย เพราะว่าจะได้มีความสุข และตั้งใจเลี้ยง และทำไมต้องเอาไอ้ที่ตลาดต้องการ เพราะถ้าคุณชอบอยู่คนเดียว จะขายใครล่ะครับ
– สายพันธุ์เน้นเนื้อเป็นหลัก เช่น พันธุ์บอร์ ,พันธุ์คาลาฮารีเรด
– สายพันธุ์ให้นมดีและได้เนื้อด้วย เช่น พันธุ์แองโกลนูเบี้ยน ,ชามี่
– สายพันธุ์เน้นนมเป็นหลัก เช่น พันธุ์ซาแนน ,อัลไพล์ , ทอคเก็นเบิร์ก
(รายละเอียดแต่ละสายพันธุ์หาดูได้จากหนังสือ หรือในเนต มีเยอะแยะ)
——————
5. ใช้พันธุ์แท้ หรือลูกผสมดี ( ระดับสายเลือดที่ดี = ตอบโจทย์ + เหมาะกับวิถีชีวิตของแต่ละคน )

– พันธุ์แท้ (สายพันธุ์เมืองนอก) ลักษณะสวยงามตรงตามสายพันธุ์ ถ่ายทอดพันธุกรรมได้ดี ควรเลี้ยงขังคอกเป็นหลัก ต้องการการดูแลพิเศษ ผู้เลี้ยงควรมีความพร้อมเรื่อง การเงิน มีความรู้ในการดูแลมากพอควรเลย
– พันธุ์ลูกผสม ลักษณะสวยงามแตกต่างกันไปตามส่วนผสมของแต่ละสายพันธุ์ มีความสามารถการถ่ายทอดพันธุกรรมน้อยกว่าพันธุ์แท้ แต่ก็ได้เปรียบเรื่องความทนทานแข็งแรง สามารถปล่อยหากินเองได้ดี จะขายเป็นเนื้อ หรือเป็นสายพันธุ์ก็ได้ถ้ามีคุณภาพ

*สรุปมันดีกันคนละอย่าง คนละแนว อยู่ที่เป้าหมายและสถานะการณ์ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ควรเลือกให้เหมาะกับตัวเองมากที่สุด
——————
6. เลี้ยงวิธีไหนดี (การเลี้ยงที่ดี = ใช้ต้นทุนต่ำ + แพะกินอิ่มนอนหลับ + คนเลี้ยงเป็นสุข)

– แบบขังคอก เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่น้อย ต้องการดูแลควบคุมเป็นพิเศษ หรือใกล้ชุมชน
– แบบปล่อย เหมาะสำหรับคนมีพื้นที่แหล่งอาหาร อยู่ใกล้ป่า ใกล้ที่รกร้าง ห่างไกลชุมชน หรือต้องการลดต้นทุน (เทวดาเลี้ยง)
– แบบกึ่งขังกึ่งปล่อย เหมาะสำหรับคนมีพื้นที่แหล่งอาหาร และต้องการความสะดวกในการดูแลควบคุมบ้าง
——————
7. จะหาอะไรให้มันกินดี (อาหารที่ดี = มีคุณค่า + หาง่าย + ต้นทุนเหมาะสม)
แพะเป็นสัตว์ที่จะต้องกินอาหารหยาบเป็นหลัก ส่วนอาหารข้นเป็นการเสริม ควรศึกษาความรู้พื้นฐานก่อนว่าแพะมันต้องการคุณค่าอาหารอย่างไร อาหารอันไหนให้พลังงาน อันไหนให้โปรตีน เพื่อจะได้จัดให้เหมาะสม และหากมีแหล่งอาหารของตัวเอง เช่น แปลงหญ้า จะช่วยประหยัดต้นทุนได้มาก
– อาหารหยาบ (เยืี่อใยสูง) เช่น หญ้าสด หญ้าหมัก หญ้าแห้ง ฟาง ใบกระถิน ต้นข้าวโพด ทางปาล์ม ต้นถั่ว ต้นและใบกล้วย
– อาหารข้น (เยื่อใยน้อย คุณค่าสูง) เช่น อาหารเม็ดสำเร็จรูป เม็ดข้าวโพด กากถั่วเหลือง รำข้าว กากปาล์ม หัวมันสำปะหลัง

——————
8. คุณจะเลี้ยงกี่ตัว : ((จำนวนที่เหมาะ = จำนวนอาหาร + จำนวนพื้นที่ + กำลังคนเลี้ยง) x งบประมาณ) ตัวอย่างเช่น

– ต้องการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม หาอาหารให้แพะกิน แนะนำ แม่พันธุ์ 10 – 30 ตัว และพ่อพันธุ์ 1-2 ตัว (สำหรับ 1 คนเลี้ยงพอไหว)

– ต้องการเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก มีพื้นที่แหล่งอาหาร ปล่อยแพะหากินเอง แนะนำ 100 แม่ขึ้นไป (สำหรับขายเป็นเนื้อน่ะ)
——————
9. โรงเรือนแบบไหนดี : (โรงเรือนที่ดี = ใช้ต้นทุนต่ำ + แพะสุขกายสบายใจ + สะดวกคนเลี้ยง)

ก่อนสร้างควรตัดสินใจก่อนว่าจะเอาแบบไหน
– โรงเรือนแบบชาวบ้าน ออกแบบตามวัสดุที่มี คุณภาพพอใช้ สบายกระเป๋า
– โรงเรือนแบบมาตรฐานกรมปศุสัตว์ ต้นทุนสูง ให้ผลดีในระยะยาว หากต้องการขอฟาร์มมาตรฐานด้วย ต้องศึกษากฎระเบียบ ข้อบังคับของกรมปศุสัตว์ ก่อนสร้างฟาร์ม ไม่งั้นเสียค่าแก้ไขต่อเติมภายหลังบานแน่

สำหรับแบบโรงเรือนดีๆหาไม่ยาก จะใช้วัสดุเก่า หรือวัสดุมือสองก็ได้ ประหยัดดี แนะนำให้สร้างโรงเรือนมูลค่าไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของมูลค่าแพะที่เลี้ยง เพราะโรงเรือนเป็นต้นทุนที่ไม่เกิดรายได้โดยตรง หากลงทุนสูงเกินไปจะทำให้การคืนทุนช้า
——————
10. ใช้งบประมาณเท่าไรดี : (งบประมาณที่เหมาะสม = เงินที่ไม่ทำให้ตัวเองหรือครอบครัวเดือดร้อน)
– งบมาก งบน้อย ได้ทั้งนั้น เอาแบบครอบครัวไม่เดือดร้อนเป็นดี ถ้าไม่จำเป็นไม่แนะนำให้ใช้เงินกู้
——————
11. รู้จักใครในวงการบ้าง : (พันธมิตร = ความจริงใจ + ผลประโยชน์ )
– ควรติดต่อ หรือเยี่ยมชมฟาร์มต่างๆ ทำความรู้จักเป็นพันธมิตรไว้ เพื่อรวมกลุ่มรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน และสำหรับปรึกษาวิธีการเลี้ยง การจัดการ การใช้ยารักษา เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับของตัวเอง
——————

12. จะหาซื้อสายพันธุ์มาจากไหน : (แหล่งที่น่าเชื่อถือ = ผลงานดี + มีความจิงใจ)
– ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แท้หรือลูกผสม ก็ควรจะหาซื้อจากฟาร์มเพาะเลี้ยงโดยตรง เพื่อให้รู้ที่มาที่ไป อาจหาข้อมูลฟาร์มจากสื่อต่างๆ หรือจากการสอบถามฟาร์มที่รู้จัก หากจะนำมาเพาะขายเป็นเนื้อ ก็หาซื้อจากฟาร์มที่ผลิตสำหรับขายเป็นเนื้อ หากต้องการจะทำสายพันธุ์หรือปรับปรุงพันธุ์ก็ควรหาซื้อจากฟาร์มที่ผลิตขายสายพันธุ์ ราคาก็ควรมีความเหมาะสมกับคุณภาพ ฟาร์มมีความน่าเชื่อถือ แพะมีสุขภาพดี และไม่มีโรคติดต่อ
——————
13. ขายใคร : (ลูกค้า = ผู้มีอุปการะคุณ + พ่อค้าที่มีจรรยาบรรณ)
– หากขายเนื้อก็หาข้อมูลพ่อค้าจากพันธมิตรของเรานั่นแหละ ควรรวมกลุ่มกันเพื่อเจรจาต่อรองกับพ่อค้าจะดีมาก และควรหาไว้หลายๆพ่อค้าด้วย จะได้มีช่องทางขายหลายๆทาง ไม่โดนกดราคา
– ถ้าขายสายพันธุ์ ลูกค้า คือ เกษตรกรทั้งมือใหม่ และกำลังพัฒนา นักปรับปรุงพันธุ์ นักประกวด หรือ ผู้ชื่นชอบ โดยจะต้องสร้างความเชื่อมั่น และมีความจิงใจถึงจะอยู่ได้นาน
——————
14. จะหาความรู้ได้จากไหน ( ความรู้ = ความสงสัย + ถามผู้รู้ + ลงมือทำ )
– ไม่มีใครรู้ หรือจดจำทั้งหมดได้ ควรรวบรวมข้อมูลพื้นฐานจากหนังสือ และหาข้อมูลสนับสนุนจากผู้รู้หลายๆท่าน หรือทางเนต เก็บไว้ให้สามารถนำมาอ่านได้ในเวลาที่ต้องการ ให้มีความรู้พื้นฐาน แล้วก็เที่ยวชมหลายๆฟาร์มหลายๆแนวเพื่อสร้างไอเดียของตัวเอง ส่วนความรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากการลงมือทำจิง อาจเริ่มเลี้ยงทีละน้อยเพื่อศึกษาก่อน เพราะถ้าจะรอให้รู้ทุกอย่างก่อนค่อยเลี้ยงคงไม่ได้เลี้ยงซักที 55
——————
15. คุณพร้อมจริงหรือ ( ความพร้อมของคุณ = (คุณมั่นใจ + ครอบครัวเห็นด้วย)
– ทางครอบครัวให้การสนับสนุนหรือเปล่า (โดยเฉพาะคุณภรรยา หรือคนใกล้ชิดคุณ) และตัวคุณเองชอบแพะจิงๆไหม หรือแค่ตามกระแส และพร้อมที่จะรับผิดชอบภาระนี้แล้วใช่ไหม หรือมีเวลาดูแลเพียงพอแล้วหรือยัง เพราะมันไม่ง่ายเลย
——————
ก่อนเพื่อนๆจะเริ่มเลี้ยงจริง หรือกำลังเริ่มต้นก็ลองหาคำตอบพื้นฐานนี้ดูก่อนก็จะดี ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปในตัว การเลี้ยงแพะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับคนที่มีใจรักจริง นี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวบางส่วนเท่านั้น จริงๆรายละเอียดมีเยอะมาก ผมไม่สามารถเขียนบรรยายที่อยากจะบอกได้หมด แค่นี้ก็เรียบเรียงอยู่หลายวันแล้ว 555 ถูกผิดอย่างไรตาหนุ่มขออภัยด้วย และหากสนใจจะเลี้ยงจิงๆ ลองปรึกษาหาความรู้จากกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะในพื้นที่ของท่านเลยครับ


============
เพื่อนๆสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆท่านอื่นได้น่ะ โดยเข้าร่วมกลุ่มฅนบ้าบอร์ & ฅนคอแพะแกะเนื้อ
<< หนุ่มโคราช 0818773409>>

จาก https://web.facebook.com/groups/1211728858838662/

เฟซบุ๊ค  ฅนบ้าบอร์ & ฅนคอแพะแกะเนื้อ

เรียนเชิญร่วมลงรายชื่อเพื่อนชาวเกษตรกร.. ผู้เลี้ยงแพะ ทั่วไทย 2018