เลี้ยงสัตว์ » การเป็นพิษจากสารยูเรีย และการรักษา TY

การเป็นพิษจากสารยูเรีย และการรักษา TY

20 มิถุนายน 2018
12646   0

การเป็นพิษจากยูเรีย และการรักษา

ยูเรียเองไม่เป็นพิษต่อสัตว์ การเป็นพิษจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อยูเรียสลายตัวเป็นแอมโมเนีย ซึ่งตัวแอมโมเนียนี้เองจะเป็นพิษ กับเนื้อเยื่อ เมื่อสัตว์กินอาหารมีโปรตีนสูงๆ หรือสารประกอบที่ไม่ใช่โปรตีนแท้มากเกินไป ..

ยูเรียจะมีผลให้ในกระเพาะ รูเมน ผลิตแอมโมเนียมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดเกินกว่า 2 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะแสดง อาการเป็นพิษ และถ้าแอมโมเนียในเลือดสูงถึงระดับ 3 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะเป็นอันตรายถึงตายได้

อาการที่เห็นทั่วไปคือ หลังจากกินยูเรียเข้าไปประมาณ 20 นาที จะแสดงอาการน้ำลายฟูมปากหายใจลึก หรือหายใจลำบากมีอาการทาง ประสาทกล้ามเนื้อ ชักกระตุก อย่างรุนแรง ท้องอืด สัตว์จะล้มลงนอน และตายในที่สุด (Fraser,1963,Dinningetal.,1984)

การรักษา
  ใช้น้ำส้มสายชู และน้ำเย็นอัตรา 1:1 กรอกใส่ปากให้เร็วที่สุด (Pieter และdeKock,1962; Clarke and Clarke, 1963 และ Church, 1979)


สรุป

การใช้ปุ๋ยยูเรียทดแทนอาหารโปรตีนจากธรรมชาติในอาหารข้น สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องนั้น จะช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร และสามารถทำให้การผลิตสัตว์ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้โปรตีนจากธรรมชาติ ซึ่งมีราคาแพงกว่า ถ้าผู้ใช้จะได้ทำ ความเข้าใจถึงวิธีการใช้ยูเรียให้ถูกต้อง พอดีกับขนาด และชนิด ของสัตว์ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากยูเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น..

สำหรับการใช้ยูเรียเพื่อปรับปรุงคุณภาพ ของอาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว จะสามารถทำให้อาหารหยาบนั้น มีคุณภาพสูงพอ ๆ กับหญ้า โดยจะมีการย่อยได้ของวัตถุแห้ง และปริมาณการกินได้ของสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย

ยูเรีย ที่ใช้ผสมอาหารสัตว์ที่มีกระเพาะหมักทั่วไปในปัจุบัน ใช้ยูเรียชนิดเดียวกันกับพืชครับ

สำหรับ ยูเรีย สำหรับสัตว์โดยเฉพาะ ขณะนี้อยู่ในช่วงวิจัยและเพิ่งเริ่มประชาสัมพันธ์ให้ใช้ โดย Alltech ไม่นานมานี้เองครับ..ซึ่งตัวนี้จะมีราคาสูงกว่า ยูเรียทั่วไป ประมาณ เกือบๆ 10 เท่าตัว (อนาคตอาจจะถูกกว่านี้) แต่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าและช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นทั้งเนื้อและนม

ดังนั้น ยูเรียตัวใหม่นี้ ดีกว่ายูเรียที่ใช้กันทั่วไปหรือสำหรับพืชแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างมั่นใจว่า ผลผลิตที่มากขึ้นนี้ จะมากคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับต้นทุนที่สูงขึ้น ต้องรอผลทดสอบและวิจัยเรื่องนี้ต่อไปครับ (ขณะนี้มีการวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่ โดย Alltech ร่วมกับ ม.เกษตร ในการเลี้ยงโคนมครับ)

///////////////////////

ถ่ายทอดประสบการณ์

พิษจากยูเรีย …รอดได้ด้วยน้ำส้มสายชู อ.ส.ร. เขียนโดย ศ.ปรารถนา พฤกษะศรี

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2548 เวลาประมาณ 9.00 น.ผมได้รับโทรศัพท์จาก คุณชัยณรงค์ แซ่ลิ้ม ซึ่งอยู่ที่ตำบลดอนทอง อำเภอกำแพงแสน  เล่าให้ฟังว่า..

..” เพื่อนบ้านของเขาชื่อแดง(นามสมมุติ)เลี้ยงวัว 11 ตัว มีทั้งพันธุ์ลูกผสมบราห์มันและพันธุ์กำแพงแสน ในจำนวนนี้เป็นแม่วัว 7 ตัว นอกนั้นเป็นลูกวัว ปกติเจ้าของวัวให้อาหารข้นที่ซื้อมาเป็นอาหารเสริมให้แก่วัวฝูงนี้เป็นประจำโดยไม่มีปัญหาใดๆ ..

แต่เมื่อวานนี้มีคนที่เป็นพ่อค้าซื้อขายวัวมาแนะนำแดงว่า ถ้าจะให้วัวอ้วนเร็วต้องเอายูเรียเติมเข้าไปในอาหารอีกหน่อย วันนี้เวลาประมาณ 7.00 น แดงจึงเอายูเรีย ครึ่งกิโลกรัมเติมลงไปในอาหาร 10 กิโลกรัม คลุกเคล้ากันดีแล้วก็เอาใส่รางให้วัวกิน เสร็จแล้วแดงก็ออกจากคอกวัวไป..

แต่เกิดลางสังหรณ์ อะไรสักอย่างหนึ่ง  เวลา 8.00 น.แดงจึงกลับไปที่คอกวัวอีกครั้ง  พบว่าแม่วัวตัวหนึ่ง มีอาการยืนเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก ไล่ขวิดคนที่เข้าใกล้(โดยปกติวัวตัวนี้เชื่องมาก) จึงวิ่งมาปรึกษาคุณชัยณรงค์ คุณชัยณรงค์จึงโทรศัพท์มาหาผม เขาเล่าต่อว่าขณะที่โทรศัพท์อยู่นั้น วัวตัวนั้นล้มลงนอนเหยียดขา เกร็ง  ชักและขากระตุก  น้ำลายฟูมปาก  เขาถามผมว่าจะแก้ไขอย่างไร ?..

ผมตอบว่า ถ้าแน่ใจว่าเป็นเพราะพิษของยูเรียจริง ก็ให้รีบไปซื้อน้ำสมสายชู อ.ส.ร. ขวดใหญ่ 1 ขวดผสมน้ำอีก 4 เท่าแล้วกรอกปากวัวให้หมดเลย เพราะยูเรียถูกน้ำจะแตกตัวเป็นแอมโมเนียซึ่งมีฤทธิเป็นด่าง ต้องแก้ด้วยกรด น้ำส้มสายชูมีฤทธิเป็นกรด จึงสามารถใช้ได้

น้ำส้มสายชูยี่ห้ออื่นใช้ได้หรือเปล่า ?
ใช้ได้  แต่ต้องเป็นน้ำส้มสายชูจริงๆ  บางยี่ห้อที่ราคาถูกๆเป็นกรดซัลฟูริคละลายน้ำอาจเป็นอันตรายได้
………………………………………………………….
ประมาณ 5 วันต่อมาผมได้พบกับคุณชัยณรงค์ ที่ร้านเพื่อนโคบาล
ชัยณรงค์ –เจ้าของวัวฝากมาขอบคุณอาจารย์  วัวรอดตายทั้งหมดเลย หมดน้ำส้มสายชูไป 1 โหลกว่าๆ
ปรารถนา- ใช้มากอย่างนั้นเชียวหรือ
ชัยณรงค์- ตกลงไม่ใช่เป็นตัวเดียวนะครับ แม่วัว 7 ตัว เป็นทั้งหมดเลย มากบ้างน้อยบ้าง ตัวไหนเป็นมากก็กรอกมาก ตัวไหนเป็นน้อยก็กรอกน้อย ส่วนลูกวัวไม่เป็นไรเลย  ไม่ใช่ว่าลูกวัวทนพิษยูเรียได้ดีกว่าแม่วัวหรอก แต่เป็นเพราะแม่วัวแย่งกินอาหารหมดเสียก่อนที่ลูกวัวจะได้กิน
แล้วคุณชัยณรงค์ ก็เล่ารายละเอียดต่อไปว่า….
วัวตัวแรกที่ชักตาตั้ง นึกว่าน่าจะตายแล้วนั้น  หลังจากกรอกน้ำส้มสายชู 1 ขวด(ผสมน้ำ 4 ขวด)ไปแล้ว  ประมาณ ครึ่งชั่วโมงก็เริ่มกระดกหัวได้ แต่กล้ามเนื้อยังกระตุกอยู่   ในขณะที่ตัวอื่นๆเริ่มเดินโซเซ อีกประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมา วัวเหล่านั้นก็ล้มอีก 2 ตัว ต้องทยอยกรอกน้ำส้มไม่ได้หยุดว่างเลย  โดยสรุปอาการและการรักษาแต่ละตัวดังนี้
ตัวแรกอาการหนักที่สุด เริ่มแสดงอาการ 8.00 น.กรอกน้ำส้ม ครั้งละ 1 ขวด(5 ขวดเจือจาง) รวม 4 ครั้ง เริ่มลุกขึ้นได้ เวลา 13.00 น.เดินได้เวลา 15.00 น.

2 ตัวที่อาการหนักถึงล้ม เริ่มแสดงอาการ 9.00 น.กรอกน้ำส้ม ครั้งละ 1 ขวด(5 ขวดเจือจาง) รวม 3 ครั้ง เริ่มลุกขึ้นได้ เวลา 10.00 น.เดินและกินหญ้าได้เวลา 13.00 น
4 ตัวที่อาการไม่หนักเดินโซเซแต่ไม่ถึงล้ม เริ่มแสดงอาการ 9.00 น.กรอกน้ำส้ม ครั้งละ 1 ขวด(5 ขวดเจือจาง) รวม 2 ครั้ง หลังจากกรอกครั้งที่ 2 ก็ออกกินหญ้าได้เลย
เวลา 16.00 น.หายเป็นปกติทุกตัว

หมดน้ำส้มไป 18 ขวด รักษาชีวิตวัวไว้ 7 ตัว 2 แสนกว่าบาท
—————————————————————-

ขอบคุณ http://nutrition.dld.go.th/Nutrition_Knowlage/ARTICLE/ArtileC.htm
http://www.108kaset.com/goat/index.php/topic,339.msg578.html#msg578
https://www.google.com/search?newwindow=1&safe=active&client=firefox..

เอกสารอ้างอิง

จีระชัย กาญจนพฤติพงศ์ และบุญล้อม ชีวะอิสระกุล.2529.การศึกษาเปรียบเทียบการใช้ฟางหญ้าหมักยูเรียกับฟางข้าว ราดสารละลายยูเรีย-กากน้ำตาลเป็นอาหารหยาบสำหรับวัวนมรุ่นเพศผู้ รายงานการประชุมวิชาการครั้งที่ 24. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. หน้า 27-35.

จินดา สนิทวงศ์ฯ ศศิธร ถิ่นนคร อรรถยา เกียรติสุนทร สวัสดิ์ อาตมางกูร และชาญชัย มณีดุลย์. 2527.การเปรียบเทียบการใช้ยูเรีย และใบกระถินสดเสริมโปรตีนในฟางข้าว สำหรับโคเนื้อ เอกสารวิชาการรหัส 13-01151-30 ผลการวิจัยอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง พ.ศ. 2524-2529.

ฉลอง วชิราภากร.2532.แนวทางการแก้ปัญหาราคาโปรตีนสูงในสูตรอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง.สาส์นเยื่อใย.5(1):12-14.

เมธา วรรณพัฒน์.2529.โภชนศาสตร์เคี้ยวเอื้อง.ภาควิชาสัตวศาสตร์.คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น. 387 หน้า.

สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่. 2525. การปรุงแต่งคุณค่าฟางข้าว. เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงโคนม, กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 99 น.