เลี้ยงสัตว์ » การเลี้ยงพ่อ+แม่แพะ ก่อนและใกล้คลอด+หลังคลอด

การเลี้ยงพ่อ+แม่แพะ ก่อนและใกล้คลอด+หลังคลอด

18 มีนาคม 2018
3538   0

https://goo.gl/AoqYDD

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.ubmthai.com

 

การเลี้ยงแพะพ่อพันธุ์ (BUCK)

ลูกแพะที่คัดไว้ทำพันธุ์จะต้องดูแลให้อาหารอย่างดี เมื่ออายุครบ 3 เดือน ต้องแยกลูกตัวผู้ออกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการผสมก่อนวัยอันควร เมื่อครบ 10 เดือน จึงจะใช้แพะหนุ่มเพื่อการผสมพันธุ์โดยเริ่มผสมน้อยๆ ครั้งไปก่อน อัตราที่เหมาะสมคือ 1:20-25 ตัว (ตัวผู้1ตัวต่อแม่พันธุ์20-25 ตัว) พ่อแพะต้องการพื้นที่กว้างๆ สำหรับออกกำลังกายเมื่อไม่ได้คุมฝูง เพื่อไม่ให้อุ้ยอ้ายขี้เกียจ

.

 

การเลี้ยงดูแม่แพะ (DOE)

ลูกแพะเพศเมียที่คัดเลือกไว้ทำพันธุ์ ต้องแยกจากตัวผู้ตั้งแต่อายุ 3 เดือน เพื่อป้องกันการผสมกันก่อนกำหนด เพราะเพศเมียสามารถผสมพันธุ์และตั้งท้องได้ตั้งแต่อายุ 3-4 เดือน ถ้าผสมอายุยังน้อยจะทำให้แคระเเกร็น ลูกเกิดมาไม่แข็งแรง แพะสาวควรเริ่มผสมเมื่ออายุ 8-10 เดือน หลังคลอด 60 วัน ก็สามารถผสมพันธุ์ได้อีก เมื่อผสมติด น้ำนมจะลดลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นแพะรีดนมควรหยุดรีดนมหลังผสมติดประมาณ 3 เดือน หรือก่อนกำหนดคลอด 6-8 สัปดาห์

แม่แพะทั้งอ้วนและไม่อ้วน ในเดือนสุดท้ายก่อนคลอดจะต้องควบคุมไม่ให้น้ำหนักลดลงโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันโรคคีโตซิส ซึ่งจะพบมากในแม่แพะที่อ้วนมากๆ (https://goo.gl/cB4bbj) แล้วเกิดเบื่ออาหารหรือกินอาหารน้อยลงในช่วงก่อนคลอด 3 วัน

เนื่องจากแม่แพะสามารถคลอดลูกได้ครั้งละ 1-5 ตัว การที่แพะจะให้ลูกกี่ตัวขึ้นอยู่กับ..
-การจัดการ โดยเฉพาะการเร่งอาหารแร่ธาตุและวิตามิน (Flushing) เช่นเดียวกับในสุกรซึ่งจะทำให้ลูกดกขึ้น

-ความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์ ขนาดและอายุแม่พันธุ์ รวมทั้งลักษณะพันธุกรรมอีกด้วย แม่แพะกินอาหารข้นเสริมวันละ 0.5 กิโลกรัม จะทำให้สุขภาพแข็งแรง ให้น้ำนมมาก และที่สำคัญทำให้แม่แพะนั้นเป็นสัดหลังคลอดเร็ว ผสมติดง่ายและให้ลูกแฝดมากขึ้น

.

 

การเลี้ยงดูแม่แพะใกล้คลอดและหลังคลอด

  1. หยุดรีดนมหรือหย่านม ก่อนคลอดอย่างน้อย 50 วัน เพื่อให้ลูกในท้องมีอาหารไว้สร้างความเจริญเติบโตได้เต็มที่ เต้านมเตรียมพร้อมให้คืนสภาพปกติเพื่อจะผลิตน้ำนมเลี้ยงลูก ยังช่วยป้องกันโรคเต้านมอักเสบอีกด้วย
  2. อย่าให้แม่แพะอ้วน ให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้ามีไขมันที่หน้าท้องมากประกอบกับลูกในท้องที่มีขนาดโตขึ้น ทำให้พื้นที่กระเพาะลดลง ร่างกายได้รับอาหารไม่พอ
  3. อย่าให้เกิดภาวะที่ร่างกายต้องดึงไขมันที่สะสมไว้ที่หน้าท้องมาชดเชยอาหารคาร์โบไฮเดรตจน เป็นผลให้แม่แพะบางรายแสดงอาการป่วยด้วยโรคคีโตซิส (Ketosis) (ภาวะที่ร่างกายมีสาร Ketone มากกว่าปกติ ทำให้ไขมันข้นขึ้น แข็งขึ้น เหม็นที่เรียกว่าเหม็นหืนขึ้น ทำให้ไขมันใช้ประโยชน์ได้น้อยลง เกิดได้ทั้งไขมันในร่างกายและไขมันนอกร่างกาย) และไข้นมในระยะก่อนและหลังคลอด โดยจัดอาหารให้แม่แพะให้ถูกต้อง
  4. ให้ระบบทางเดินอาหารแม่แพะใกล้คลอดปกติ รับประทานอาหารได้เพียงพอตามความต้องการ
  5. อย่าให้แม่แพะบาดเจ็บที่ท่อระบบสืบพันธุ์เช่น โรคมดลูกอักเสบ และเต้านมอักเสบ
  6. ป้องกันไม่ให้ลูกแพะป่วยด้วยโรคติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย ไข้ข้ออักเสบ หวัด ปอดบวม

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(จากเฟซบุ๊ค เลี้ยงแพะยั่งยืน) คุณRattanapron Machanon แพะท้องแรกหรือท้องเท่ารัยก้อตาม..เอาแบบคร่าวๆระวัง!! อย่าให้ชนกันไม่งั้นอาจแท้ง..อาหารก็ควรให้เขาได้รับเต็มที่..ยาถ่ายพยาธิบางตัวเป็นอันตรายไม่ควรใข้กับแพะท้องเพราะอาจแท้งได้..วิตามินแร่ธาตุอย่าให้ขาดต้องแขวนมีไว้ให้เขาเลียตลอด..เพราะเวลาท้อง..เขาต้องการสารอาหารไปบำรุงลูกในท้อง..ถ้าขาดอาจเกิดภาวะขาอ่อนแรง.หลังคลอดได้..คร่าวๆค่ะ

.

การหยุดรีดนมแม่แพะ (DRY)

การหยุดรีดนมแม่แพะต้องทำให้ถูกหลัก มิฉะนั้นอาจเป็นโรคเต้านมอักเสบได้ ถ้าแม่แพะให้นมน้อยกว่าวันละ 1.8 กก. สามารถทำให้นมแห้งได้โดยการหยุดรีดเท่านั้นเองไม่ยุ่งยาก แต่หากแม่แพะยังคงให้น้ำนมสูงอยู่ ต้องลดอาหารข้นลงเรื่อยๆ และชดเชยอาหารข้นด้วยหญ้าแห้งคุณภาพดี ให้น้ำดื่มลดลง เมื่อแม่แพะให้น้ำนมลดลงน้อยกว่าวันละ 0.9 กก. ก็สามารถหยุดรีดนมได้

 

.

การป้องกันโรคไข้นม (HYPOCALCEMIA,MILK FEVER)

ไข้นมเป็นอาการป่วยในแม่แพะหลังคลอด เนื่องจากระดับธาตุแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ ดังนั้นการจัดการให้อาหารแก่แม่แพะท้องใกล้คลอดที่มีธาตุแคลเซียมในปริมาณมากจะป้องกันโรคนี้ได้ เช่น ให้อาหารหยาบพวกหญ้าตระกูลถั่วก่อนคลอดอย่างน้อย 3 สัปดาห์

.

โปรแกรมการถ่ายพยาธิในแม่แพะก่อนคลอด

การถ่ายพยาธิแม่แพะตั้งท้องก่อนกำหนดคลอดประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในการกำจัดพยาธิภายในโดยตรงแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพของลูกแพะเกิดใหม่ด้วย โดยเฉพาะในฟาร์มที่มีปัญหาเรื่องพยาธิภายในอย่างรุนแรง แม่แพะที่เป็นโรคพยาธิจะให้น้ำนมน้อยกว่าแม่แพะที่ได้รับการถ่ายพยาธิแล้ว การถ่ายพยาธิยังป้องกันไม่ให้พยาธิระบาดจากแม่ไปยังลูกด้วย ไทอาเบนดาโซล (THIABENDAZOLE) เป็นยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมและควรเลือกใช้กับแม่แพะก่อนคลอด

 

.

การป้องกันโรคกล้ามเนื้อลีบขาว (WHITE MUSCLE DISEASE)

โรคกล้ามเนื้อลีบ ไม่มีแรง เกิดบ่อยในแพะ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีธาตุซีลีเนียม (Se) ในดินต่ำ ซึ่งถ้าไม่ได้รับเพิ่มจากแร่ธาตุเสริมหรือจากอาหารข้นจะเป็นเหตุให้สัตว์ขาดธาตุ Se ดังนั้นในแม่แพะท้องก่อนครบกำหนดคลอด 60 วัน ควรฉีดวิตามินอี และธาตุซีลีเนียม (SELENIUM TOCOPHEROL INJECTION) จะป้องกันลูกแพะแสดงอาการเป็นโรคดังกล่าวได้ และจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

 

.

โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเป็นพิษ (ENTEROTOXAEMIA BOOSTER DORE)

เป็นโรคที่สำคัญและพบบ่อยในแพะ ถ้าแก้ไขไม่ทันแพะป่วยจะตายในอัตราสูง สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียมชนิดซีและดี (CLOSTRIDIUM TYPE C AND D) ดังนั้นจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้แก่แม่แพะก่อนคลอดประมาณ 45 วัน และ 15 วัน ตามลำดับ เป็นการเพิ่มความคุ้มโรคนี้ในน้ำนมแม่ แล้วถ่ายทอดความคุ้มโรคไปยังลูก โดยการดูดนมน้ำเหลือง

.

การป้องกันโรคบาดทะยัก (TETANUS BOOSTER DOSE)

แม่แพะและลูกแพะอาจเป็นโรคบาดทะยักได้ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุของโรคนี้เข้าทางบาดแผล ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักในแม่แพะก่อนครบกำหนดคลอด 45 วัน และ 15 วัน ตามลำดับ ลูกจะได้รับความคุ้มโรคจากแม่ทางนมน้ำเหลืองเช่นเดียวกัน

การจัดการการคลอด..

การเตรียมการคลอด..

คอกคลอด (KIDDING PEN)..

คอกคลอดควรมีพื้นที่อย่างน้อย 5 ตารางฟุต ผนังคอกทึบ 3 ด้าน ส่วนด้านที่เหลือปล่อยให้โปร่งเพื่อระบายอากาศ สร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรงสามารถขัดถู ฆ่าเชื้อโรคได้ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคคอกคลอดให้เรียบร้อย ให้รองพื้นด้วยฟางหรือหญ้าแห้งเพื่อป้องกันอากาศหนาวและเปียกชื้น หากหนาวมากๆ ต้องกกด้วยไฟฟ้าให้ความอบอุ่นเหมือนในสุกร คอกคลอดควรเป็นที่สงบ ถ้าไม่มีคอกคลอดก็ใช้วิธีผูกล่ามแม่แพะไว้ใกล้ๆ คอก จะได้ช่วยเหลือดูแลได้ทันท่วงที จัดภาชนะใส่น้ำสะอาดและอาหารไว้นอกคอกคลอด ซึ่งแม่แพะสามารถกินถึงได้อย่างสบาย เพราะถ้าหากวางอ่างน้ำไว้ในคอกคลอด ลูกแพะแรกเกิดอาจจะตกลงไปได้ แยกแพะเข้าขังในคอกคลอดก่อนคลอดอย่างน้อย 2-3 วัน

.

กระบวนการคลอด

โดยปกติแพะแกะจะอุ้มท้องประมาณ 150 วัน (144-153 วัน)

เมื่อแม่แพะใกล้คลอดจะสามารถลูบคลำสัมผัสลูกในท้องตรงบริเวณสวาปด้านขวา ซึ่งนูนออกเห็นได้ชัดโดยเฉพาะก่อนคลอด 2-3 ชั่วโมง อาการที่แม่แพะแสดงให้เห็นว่าการคลอดจะเกิดขึ้นแล้วดังนี้..

  1. กระวนกระวาย หงุดหงิด และย่ำเท้าตลอดเวลา
  2. ส่งเสียงร้องดัง และมองดูสวาปตัวเอง
  3. เต้านมเต่งคัด และมีน้ำนมหยดไหล
  4. มีน้ำเมือกไหลออกทางช่องคลอด
  5. เมื่อมีถุงน้ำคร่ำ (AMNIOTIC SAC,WATER BAG) ออกมาและแตก จากนั้นลูกแพะควรจะคลอดภายใน 2-3 นาที


…ถ้าแม่แพะแสดงอาการดังกล่าวแต่การคลอดลูกยังไม่เกิดขึ้น แสดงว่ากระบวนการคลอดถูกขัดขวางหรือผิดปกติ ควรให้สัตวแพทย์ช่วยเหลือโดยทันที

ต้องหาสาเหตุโดยการล้วงทางช่องคลอด ก่อนตรวจต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณอวัยวะเพศ และใช้น้ำมันพืชหรือน้ำมันพาราฟินหล่อลื่นมือเพื่อจะได้ล้วงเข้าสะดวก ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุท่อระบบสืบพันธุ์ ถ้าหากสามารถใช้มือเกาะขาหน้าทั้งสองโดยมีหัวลูกแพะอยู่ตรงกลาง แสดงว่าลูกคลอดอยู่ในท่าปกติ ให้พยายามดึงออกอย่างระมัดระวัง แต่ถ้าตรวจพบขาหลังทั้งสองข้าง แสดงว่าคลอดผิดท่า ซึ่งก็สามารถดึงออกได้เช่นกัน บางครั้งอาจช่วยด้วยการดึงออกไม่ได้ต้องให้สัตวแพทย์ช่วย.

 

หรืออีกตำราการเลี้ยงแพะ ของอาจารย์สมเกียรติ สุวรรณสมุทร เขียนไว้ว่า วันที่ใกล้คลอดเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น จนถึงระยะ 1-2 วันกล่อนคลอดเต้านมจะเต่งตึงมาก และมีน้ำนมคั่งหรือไหลออกมา ท้องหรือสีข้างจะยุบตัวลง อวัยวะเพศบวมแดง และมีน้ำเมือกไหลออกมา

แม่แพะจะมีอาการหงุดหวิด กระวนกระวาย เดินวนไปวนมา ผุดลุกผุดนั่งหรือส่งเสียงร้อง ใช้ขาตะกุยที่นอนไปรอบๆ หรือใช้จมูกดมตามพื้น แม่แพะจะทำท่าเบ่งท้องหลายครั้ง น้ำเมือกที่อวัยวะเพศจะข้นมากขึ้น และขาวในที่สุด สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าแม่แพะจะคลอดลูกภายใน 1-2 ชั่วโมงข้างหน้า

การคลอด แม่แพะจะยืนคลอด โดยมีถุงน้ำคร่ำออกมาก่อน เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก็จะเห็นลูกแพะโผล่ออกมาตามแรงเบ่ง ตามด้วยจมูก หัว และลำตัวในที่สุด เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วแม่แพะก็จะเลียตามตัวลูกจนสะอาด โดยเริ่มเลียที่จมูกลูกเพื่อจะได้รับอากาศทำให้หายใจสะดวก ต่อจากนั้นลูกแพะจะพยายามทรงตัวลุกขึ้นยืน และลูกแพะจะหาเต้านม เมื่อพบแล้วจะเริ่มดูดนม กระดิกหางอย่างมีความสุข แสดงว่าแม่มีน้ำนมไหลให้ลูกได้ดูดกินแล้ว และแม่ก็จะยืนเลียตัวลูกแพะจนกว่าเนื้อตัวจะแห้ง

 

.

การเกิดรกค้าง (RETAINED PLACENTA)

รกค้างในแพะพบน้อยกว่าในโคนม ปกติรกควรออกมาหลังจากคลอดภายในไม่กี่ชั่วโมง การจัดน้ำอุ่นที่สะอาดให้แม่แพะกินหลังคลอด เชื่อว่าจะช่วยขับรกให้เร็วขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากอุณหภูมิร่างกายแม่แพะลดลงเพราะออกแรงเบ่งและสภาพอากาศหนาวขณะคลอดลูก นอกจากนี้การเกิดรกค้างและมดลูกอักเสบเป็นหนองอาจมีสาเหตุมาจากการขาดธาตุซีลีเนียมก็ได้

ถ้าแม่แพะคลอดแล้ว 12 ชั่วโมงยังมีรกค้าง ขอให้สัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญล้วงปลดรกที่ค้างและใช้นิ้วมือเกี่ยวแล้วค่อยๆ ดึงออก ถ้าไม่สามารถล้วงออกได้แก้ไขโดยการฉีดยาปฏิชีวนะและยาไดเอททิลสติลเบสโตรล (Diethylstilbestrol) (ฮอร์โมนเพศ) ขนาด 10-15 มิลลิกรัม เพื่อเปิดปากมดลูกและขับรกที่ค้างออกได้

ขณะคลอดลูกหรือหลังคลอดลูก ให้ทำความสะอาดเต้านมทันที โดยการฟอกสบู่แล้วล้างด้วยน้ำอุ่นแล้วเช็ดให้แห้ง เมื่อแม่แพะเลียตัวลูกแพะแห้งดีแล้ว ให้แยกลูกออกจากแม่ ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน อ่อนๆ (2%) จุ่มสายสะดือ ผูกและตัดให้เรียบร้อยด้วยกรรไกรหรือมีดสะอาด ให้เหลือไว้ยาวประมาณ 6 นิ้ว จุ่มไอโอดีนอีกครั้งหนึ่ง และอาจจุ่มทิงเจอร์ไอโอดีนอีกครั้งในวันที่สอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ จนเป็นโรคไข้ข้ออักเสบ (Jointill, Navel ill)

 

***เมื่อแรกเกิด 1วัน ควรฉีด ยาแก้อักเสบเช่นอ๊อกซี่ฯ +ยาบำรุงเช่นคาโตซาล ,OSTONE ..แคลเซี่ยม+บี.12 ,และธาตุเหล็กให้แก่แม่แพะด้วย

ส่วนลูกแพะ ฉีดธาตุเหล็กเข้ากล้ามเนื้อตัวละ1 cc. เพื่อป้องกันโรคโลหิตจาง และต้องเช็ดสายสะดือลูกแพะด้วยทิงเจอร์ไอโอดีนด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ.

  • หนุ่ม โคราช ถ้าออกมาแข็งแรงดีก็ไม่ต้องฉีดยาอะไร ควรแยกแม่ลูกออกจากฝูง(ถ้าทำได้) วันแรกให้กินนมน้ำเหลืองเต็มที่ และเฝ้าระวังแม่ทับลูกด้วยครับ

 

การป้องกันลูกแพะป่วยในระยะแรกเกิด

การป่วยของลูกแพะแรกเกิดมักมีสาเหตุมาจากข้อบกพร่องในการจัดการต่างๆ เช่น การให้อาหารแม่แพะใกล้คลอดไม่ถูกต้อง เช่น ให้อาหารที่มีคุณภาพในระยะท้ายของการรีดนมจนอาจทำให้แม่แพะอ้วนเกินไป ยิ่งถ้าไม่ได้ออกกำลังกายก่อนคลอดอย่างเพียงพอจะเกิดโรคคีโตซิสได้ง่าย ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้แม่แพะให้นมน้อยหรือไม่ให้น้ำนมเลย จนทำให้ลูกแพะขาดอาหารหรืออดนม (Starvation) อ่อนแอ ป่วยเป็นโรคติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย หวัด ปอดบวม ได้ง่าย

การฉีดวิตามิน เอ ดี อี ขนาด 500,000 ยูนิต เข้ากล้ามเนื้อ ในระยะ 30 วัน และ 15 วัน ก่อนครบกำหนดคลอด จะช่วยป้องกันไม่ไห้แม่แพะและลูกแพะขาดวิตามินเหล่านี้ ทำให้ลูกแพะแรกเกิดมีร่างกายสมบูรณ์

คอกคลอดและอุปกรณ์ไม่สะอาดและไม่พร้อม ขนาดของฝูงก็มีผลต่ออัตราการตายกล่าวคือฝูงขนาดเล็กแพะก็จะตายน้อย ส่วนฝูงขนาดใหญ่อัตราการตายจะสูงขึ้น อาจถึง 30-40% การจัดการให้แพะมีน้ำหนักแรกเกิดดีและมีสุขภาพแข็งแรง

การปฏิบัติต่อลูกแพะ ระยะ 2-3 ชั่วโมงหลังคลอดอย่างใกล้ชิด เช่น ช่วยให้มันหายใจอย่างรวดเร็วที่สุด ตรวจดูว่ามีน้ำเมือกอุดจมูกหรือปากหรือไม่ ถ้ามีรีบเอาออกโดยการใช้มือล้วง และอาจต้องช่วยกระตุ้นการหายใจด้วยการจับขาหลังทั้งสองหิ้วเอาหัวห้อยลง เขย่าๆ และแกว่งไปมา จะทำให้ลูกแพะหายใจได้เร็วขึ้นและแรงขึ้น และช่วยเช็ดตัวให้แห้งเร็วขึ้นด้วยผ้าสะอาดเพื่อช่วยกระตุ้นการหายใจและเพิ่มความอบอุ่น การจัดสิ่งแวดล้อม อาหาร และอายุการหย่านมที่เหมาะสม เหล่านี้ล้วนทำให้อัตราการตายลดลง

องค์ประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อจำนวนลูกแพะในการคลอดแต่ละครั้ง

แพะสามารถให้ลูกได้ 1-5 ตัว คนส่วนใหญ่ต้องการให้แม่แพะคลอดลูกแฝดเพราะนอกจากจะได้จำนวนตัวต่อครอกมากแล้ว ลูกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักแรกเกิดลดลงเป็นสัดส่วนตามจำนวนตัวลูกที่คลอดออกมาด้วย ไม่ทำให้เป็นสาเหตุให้คลอดยาก ถ้าคลอดลูกตัวเดียวส่วนมากมักเอาส่วนหน้าออกซึ่งถือเป็นท่าปกติ แต่ก็อาจพบปัญหาการคลอดยากที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากลูกแพะเอาหัวออกก่อนคือ ส่วนขาหน้าทั้งสองข้างยังคงคาค้างอยู่ หรืออาจจะเอาขาหน้าออกแต่หัวยังค้างอยู่ เป็นต้น

องค์ประกอบที่มีผลต่อจำนวนลูกต่อครอก ดังนี้

  1. ฤดูกาล ช่วงเวลาการผสมที่อากาศหนาวเย็น(กลางเดือนตุลาคม-มกราคม) กลางวันสั้นกว่ากลางคืนจำนวนไข่จะตกมาก โอกาสที่จะมีลูกดกจะสูงกว่าฤดูร้อน
  2. การเร่งอาหาร (Flushing) ก่อนการผสมพันธุ์แม่แพะควรให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าปกติ เช่นเดียวกับที่ทำในแกะและสุกร สามารถเพิ่มจำนวนลูกต่อครอกได้
  3. สุขภาพ แม่แพะที่ได้รับการถ่ายพยาธิภายในและกำจัดพยาธิภายนอกอย่างเคร่งครัด ทำให้ไม่เกิดโรคโลหิตจางก่อนผสมพันธุ์ จะช่วยให้ได้ลูกแพะจำนวนเพิ่มขึ้น

 

.

การจัดการเพื่อให้ลูกแพะแรกเกิดมีความต้านทานโรคสูง

ลูกแพะเกิดใหม่ติดเชื้อโรคได้ง่ายและรุนแรง เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ 2-3 ทาง คือ ทางปาก จมูก และสายสะดือ การลดการติดเชื้อทำได้โดยพยายามให้แม่แพะคลอดในคอก หรือพื้นที่ซึ่งได้ทำความสะอาดแห้งและฆ่าเชื้อโรคแล้ว รองพื้นห้องด้วยวัสดุที่สะอาด อาจจะใช้หญ้าแห้งหรือฟางข้าว ป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น เช่น สุนัข แมวหรือแพะตัวอื่นเข้าไปในคอกคลอด

ต้องให้ลูกแพะแรกเกิดได้กินนมน้ำเหลือง (Colostrum) ภายใน 15 นาทีหลังคลอด ก่อนที่ลูกแพะจะได้รับเชื้อโรคใดๆ เข้าสู่ร่างกาย แรกๆ ควรรีดจากเต้าให้กินในภาชนะหรือในขวดนมที่มีหัวดูด และได้รับจำนวนมากด้วย เพื่อเพิ่มความต้านทานโรคให้สูงขึ้น เพราะก่อนคลอด 24 ชั่วโมง สารโปรตีน (Gamma globulin ) ซึ่งมีอยู่ในกระแสเลือดของแม่แพะจะผ่านเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำเหลือง (Mammary glands) มากกว่าปกติอย่างมากซึ่งมีส่วนของสารคุ้มโรคทุกชนิดที่อยู่ในตัวแม่แพะปนอยู่ นมน้ำเหลืองมีส่วนประกอบของวิตามินเอปริมาณมาก และยังมีสารโปรตีน น้ำตาลแลคโตส โกลบูลินและสารอื่นๆ จำนวนสูงกว่าน้ำนมธรรมดาซึ่งทำให้ระบบทางเดินอาหารและระบบหายใจต้านทานโรคได้ดี สารภูมิคุ้มโรคจากน้ำเหลืองจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านผนังเยื่อบุทางเดินอาหารได้ดีที่สุดในระยะแรกเกิดเท่านั้น เมื่ออายุมากขึ้นการดูดซึมจะน้อยลงตามลำดับ และเมื่ออายุครบ 3 วันแล้ว สารภูมิคุ้มโรคจะสร้างความต้านทานโรคขึ้นเอง (Active immunity) ซึ่งแล้วแต่มันจะได้รับแอนติเยนชนิดใด

หากสังเกตุเห็นเต้านมแม่แพะคัดเต่งหลังคลอดหลายชั่วโมงแสดงว่าลูกแพะไม่สามารถดูดนมน้ำเหลืองจากแม่ได้ แก้ไขโดยการผูกแม่แพะไว้แล้วจับลูกแพะเอาปากคาบหัวนมโดยตรงเลย บางครั้งอาจจะต้องใช้มือรีดนมจากเต้าเข้าปากลูกแพะ หรือใช้ขวดนมเด็กป้อน

หากลูกแพะไม่ได้รับนมน้ำเหลืองอาจเนื่องจากแม่ตาย จำเป็นต้องให้ยาระบายแก่ลูกแพะ เช่น น้ำมันพืชขนาด 15 – 30 ซี.ซี. เพื่อขับขี้เทา (Muconium or Jaecal matter) หรือบางรายต้องสวนทวารเช่นเดียวกับทารกแรกเกิด

จะทำไงดี..แม่แพะไม่ยอมให้ลูกกินนม คลิ๊ก!!

การเลี้ยงดูลูกแพะระยะดูดนมและการหย่านม

โดยทั่วไปลูกแพะแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม เพศผู้จะหนักกว่าเพศเมียเล็กน้อย รายที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยจะอ่อนแอ ต้องช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด อัตราการเจริญเติบโตของลูกแพะในระยะดูดนมประมาณวันละ 200 กรัม

ถ้าแม่แพะตายลูกแพะสามารถฝึกให้ดูดนมจากขวดหรือกินจากจานหรือกระป๋องได้ไม่ยาก น้ำนมที่ใช้เลี้ยงแพะควรอุ่นก่อนทุกครั้ง (อุณหภูมิ 40-60 องศาC.) ในระยะอายุแรกเกิดถึง 3 สัปดาห์ ให้กินนมวันละ 4 ครั้ง แล้วค่อยๆ ลดลงเหลือวันละ 2 ครั้ง

โดยธรรมชาตินมแพะดีกว่านมโคหรือกระบือ นั่นคือนมแพะมีคุณสมบัติใกล้เคียงนมคนมาก แต่ในบางครั้งเราก็สามารถใช้นมโคเลี้ยงลูกแพะได้ (นมโคเจอร์ซี่ไม่เหมาะที่จะใช้เลี้ยงแพะ เพราะมีโมเลกุลของไขมันนมใหญ่เกินไป ทำให้ย่อยยาก) ลูกแพะจะเริ่มกินอาหารข้นได้เมื่ออายุประมาณ 3 สัปดาห์

ลูกแพะที่ไม่ใช้ทำพันธุ์ควรตอนตั้งแต่อายุ 2 – 4 สัปดาห์ นิยมใช้วิธีผ่าเอาลูกอัณฑะออก ควรทำในตอนเช้าที่มีอากาศเย็นจะทำให้เสียเลือดน้อย นอกจากนี้อาจใช้วิธีหนีบด้วยคีมหนีบ (Burdizzo) หรือใช้ยางรัด

อายุ 3 เดือน หย่านมลูกแพะได้ สอนให้แพะรู้จักกินอาหารเสริม และเสริมแร่ธาตุในอาหารด้วย แยกลูกแพะตัวผู้ออกจากตัวเมียเพื่อป้องกันการผสมพันธุ์ก่อนวัยอันควร ทำให้แพะแคระเกร็น ลูกแพะเพศเมียเลี้ยงรวมกับฝูงแม่พันธุ์ได้ เมื่อสาวเต็มที่คืออายุ 10-12 เดือนจึงผสมพันธุ์

ภาพจาก คุณRattanapron Machanon เฟสบุ๊คกลุ่ม เลี้ยงแพะยั่งยืน

.

การรีดนมแพะ

แพะมีนม 2 เต้าเท่านั้น เต้านมแพะพันธุ์นมจะใหญ่และสวย หัวนมขนาดใหญ่และยาวพอประมาณ สามารถรีดนมด้วยมือหรือรีดด้วยเครื่องได้เช่นเดียวกับโค

แม่แพะที่อยู่ในระยะรีดนมต้องดูแลเป็นพิเศษ อย่าไม่ให้แม่แพะรีดนมถูกรบกวนจากคนแปลกหน้า อย่าเปลี่ยนคนเลี้ยงและคนรีดนม อย่าให้มีเสียประหลาดรบกวน เช่น เด็กร้อง สนุขเห่าหอน ในขณะรีดนมอย่าให้สุนัข แมว หรือแม่แพะตัวอื่นเข้าไปรบกวนโดยเด็ดขาด เพราะภาวะเครียดและตกใจจะทำให้แม่แพะลดการหลั่งน้ำนม รีดนมด้วยความนุ่มนวล รีดนมให้เสร็จภายใน 5 นาที ภายหลังจากเช็ดทำความสะอาดเต้านม เพราะถ้าช้ากว่านี้จะไม่มีสารฮอร์โมนออกซี่โตซิน (Oxytocin) ออกมาช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนม

ขั้นตอนการรีดนม

  1. เตรียมภาชนะสำหรับรีดนม
  2. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอก
  3. นำแพะเข้าซองรีด ซึ่งเป็นไม้และมีที่หนีบคอ มีถาดอาหารให้แพะกินเพื่อความเพลิดเพลิน
  4. เตรียมแม่แพะเพื่อรีดนมโดยทำความสะอาดเต้านมด้วยน้ำอุ่นผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำยาเช็ดรอบเต้านมและหัวนม การเช็ดด้วยผ้านอกจากจะทำให้สะอาดและแห้งแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้แม่แพะขับน้ำนมอีกด้วย
  5. การรีดนมด้วยมือ ควรนั่งรีด โดยเริ่มถูบริเวณเต้านมจากด้านหลังไปด้านหน้าเพื่อเป็นการกระตุ้นให้หลั่งน้ำนม
  6. น้ำนมที่รีดได้จากการบีบรีด 2-3 ครั้งแรก ให้เก็บใส่ภาชนะแยกไว้เพื่อตรวจโรคเต้านมอักเสบก่อน หรือรีดทิ้งเสีย เพราะน้ำนมส่วนนี้เป็นแหล่งที่หมักหมมเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เต้านมอักเสบ (Mastitis)
  7. ในกรณีที่ตรวจพบว่าแม่แพะเป็นโรคเต้านมอักเสบก็ไม่ควรใช้นมที่รีดได้นั้นบริโภค จงแยกแม่แพะป่วยออกจากฝูงเพื่อรักษา แม่แพะที่สงสัยว่าเป็นโรคเค้านมอักเสบควรรีดหลังจากรีดตัวอื่นๆ เสร็จแล้ว เป็นการป้องกันไม่ให้โรคแพร่ไปสู่แม่แพะตัวอื่นๆ
  8. กรรมวิธีการรีดนมให้ใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้บีบกดหัวนมไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมไหลย้อนกลับเข้าเต้านม จากนั้นบีบนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย รีดลงมาที่ปลายหัวนม น้ำนมจะไหลพุ่งสู่ถังที่เตรียมไว้ แรงกดที่เต้านมจะต้องสม่ำเสมอ ไม่ดึงและกระตุกเต้านมและหัวนมลง จากนั้นผ่อนแรงกดนิ้วที่หัวนม เพื่อน้ำนมจะได้ไหลออกจากเต้านมลงมาอีก ปฏิบัติเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจนกว่าน้ำนมจะหมดเต้านม.

    ขอบคุณ
    http://thaigoatclub.blogspot.com/2007/09/blog-post_21.html
    http://tulyakul.blogspot.com/2012/10/blog-post_16.html
    https://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%A5%..
    https://i.ytimg.com/vi/PtzTjy6a0wM..

ป้ายกำกับ:คลังสมองubmthai.com

และรวบรวมความรู้จากผู้เลี้ยงจริง เฟซบุ๊ค เลี้ยงแพะยั่งยืน