เลี้ยงสัตว์ » รู้จักกับพิธีศักดิ์สิทธิ์ของอิสลาม..การถือศีลอดเดือนรอมฎอน Ramadan2562

รู้จักกับพิธีศักดิ์สิทธิ์ของอิสลาม..การถือศีลอดเดือนรอมฎอน Ramadan2562

10 พฤษภาคม 2018
2490   0

ตามที่มีผู้เห็นดวงจันทร์ สำนักจุฬาราชมนตรี ออกประกาศให้ วันที่ 6 พ.ค.2562 ตรงกับวันที่ 1 เดือนรอมฎอน เข้าเทศกาลถือศีลอด ของพี่น้องมุสลิม..

รอมฎอน หรือ รอมะฎอน หรือ เราะมะฏอน คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน..

ศีลอด หรือ ศิยาม ในภาษาอาหรับ หมายถึง การอดอาหารและเครื่องดื่ม และการเสพกาม ตั้งแต่ยามรุ่งอรุณ จนกระทั่งถึงเวลาหลังตะวันตกดิน มุสลิมในภาคใต้ของไทยเรียกการถือศีลอดว่า ปอซอ (ภาษามลายูปัตตานี)

โดยเดือนรอมฎอน นับได้ว่าเป็นเดือนที่ยิ่งใหญ่เดือนหนึ่งของอิสลาม ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของเดือนรอมฎอนนี้ไว้ว่า เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาในเดือนนี้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นอยู่ที่เป้าหมายของการประทานต่างหาก ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการประทานอัลกุรอานนี้ ก็เพื่อให้ใช้คัมภีร์นี้เป็นเครื่องนำทาง และเป็นข้อจำแนกแยกแยะสิ่งถูกสิ่งผิดแก่มนุษยชาติ ให้มนุษย์มุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ และหากมนุษย์เดินตามหนทางเช่นนี้ ก็จะได้รับความผาสุกทั้งโลกนี้และปรโลก

ดังนั้น เดือนรอมฎอน จึงถือเป็นเดือนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และจูงใจให้ผู้ศรัทธาทำความดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดือนอื่น ๆ และการถือศีลอดนี่เองก็เป็นหนทางหนึ่ง ที่จะทำให้ชาวมุสลิมสามารถมุ่งไปสู่จุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ได้แท้จริง

การกำหนดวันที่ 1 ของเดือน
การเริ่มต้นวันตามศาสนาอิสลามเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และการกำหนดเดือนเป็นระบบจันทรคติ ซึ่ง 1 เดือนจะมี 29 หรือ 30 วันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับเวลาที่ดวงจันทร์ใช้ในการหมุนรอบโลกครบ 1 รอบในเดือนนั้น ๆ

ความจริงแล้วการกำหนดวันที่ 1 ของแต่ละเดือนนั้น ประเทศที่มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่หรือประเทศมุสลิมจะมีการกำหนดไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีนักวิชาการหลากหลายครบทุกแขนง ซึ่งแน่นอนว่ารวมทั้งด้านดาราศาสตร์ด้วย ดังนั้นการกำหนดวันที่ 1 ของเดือนต่างๆ ด้วยการดูจันทร์เสี้ยว เมื่อผ่านพ้นวันที่ 29 ของแต่ละเดือนขณะที่ดวงอาทิตย์เริ่มตกลับขอบฟ้า ถ้าเห็นจันทร์เสี้ยวให้เริ่มนับจากคืนนั้นว่าเป็นวันที่ 1 ของเดือนใหม่ แต่ถ้าไม่ปรากฏว่ามีจันทร์เสี้ยว แสดงว่าดวงจันทร์ยังโคจรไม่ครบรอบ ให้นับเดือนนั้นว่า มี 30 วัน จึงเป็นไปตามหลักศาสนาและตรงตามสภาพความจริงบนฟ้าตามที่อัลลอฮ์(ซบ.)ได้ทรงกำหนดไว้
อาจเป็นเพราะการเข้าใจเป้าหมายของการดูเดือนไม่ถูกต้อง การหยิบยกเฉพาะหลักฐานหนึ่งหลักฐานใด การตีความตามตัวอักษร หรือบางเหตุการณ์ในมุมมองแคบๆ ขาดการมองในองค์รวม หรือจุดประสงค์ของการกำหนดให้ดูเดือน และมักมองว่าไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านอื่นมาประกอบ หรือมองว่าเป็นเรื่องที่ขัดแย้งมานานแล้ว จึงทำให้ความขัดแย้งนี้ยังคงอยู่ ซึ่ง ณ ที่นี้เชื่อว่าหลายคนยอบรับว่าความขัดแย้งที่มีอยู่ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติแตกต่างกันนั้น มีหลักฐานรองรับด้วยกันทั้งนั้น จึงจะไม่ขอนำหลักฐานเหล่านั้นมาอ้างอิงเพื่อหักล้างกันไปหักล้างกันมาอีก

เรามักเข้าใจผิด ถึงคำว่า ตรงกัน ว่าจะต้องเป็นวันเดียวกัน (การเริ่มต้นวันของอิสลามนั้นเริ่มเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าประกอบกับการนับเดือนและเริ่มวันที่ 1 ของแต่ละเดือนใช้ระบบจันทรคติ จึงไม่ยึดติดกับเส้นแบ่งวันที่ถูกกำหนดขึ้นมาในยุคหลัง) ความจริงมีอยู่ว่า การเริ่มเดือนใหม่ของแต่ละเดือนนั้นมีจุดเริ่มต้นของเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน เป็นความเป็นธรรมอย่างยิ่งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ให้การเริ่มวันที่ 1 ของแต่ละเดือนได้หมุนผลัดเปลี่ยนเวียนไปตามพื้นที่หรือประเทศต่างๆ โดยไม่ยึดติดกับที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ (เรื่องนี้มีรายละเอียดมากที่สามารถอธิบายได้สำหรับผู้ที่สนใจ) ดังนั้นถ้าเราได้ให้ความสำคัญกับการดูเดือนจริงๆ และรู้เป้าหมายที่แท้จริงแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะเกิดความคลาดเคลื่อน หรือไม่ตรงตามสภาพความจริงบนท้องฟ้า (ดวงจันทร์หมุนรอบโลก 1 รอบใช้เวลา 1 เดือนตามจันทรคติ)และ คำว่า ตามกัน ก็มิได้หมายความว่าจะต้องเป็นวันเดียวกัน หรือรอว่ามีที่ไหนเห็นเดือนโดยไม่คำนึงว่าเวลาเริ่มดูเดือน(เวลาเข้ามักริบ) จะมาที่หลังก็ตาม กลายเป็นยึดเส้นแบ่งวันไปอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเส้นแบ่งวันนั้นถูกกำหนดขึ้นมาในยุคหลัง ดังนั้นควรต้องตามความเป็นจริงที่เป็นไปแล้ว เช่นเมื่อรู้ว่ามีการเห็นเดือนแล้ว (ดวงจันทร์หมุนรอบโลกครบรอบแล้ว และกลับมาอยู่เหนือแนวระนาบอีกครั้ง) คือเริ่มเดือนใหม่แล้ว หรือ วันที่ 1 ของเดือนใหม่เริ่มมาแล้ว จะเป็นที่ใดก็ตาม ก่อนจะถึงเวลาหรือขณะที่เราเริ่มดูเดือน (เวลาเข้ามัฆริบ) ก็ต้องถือว่าเดือนใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว (ไม่มีใครจะย้อนวันเวลาได้) สามารถจะตามการเห็นเดือนของประเทศที่เห็นมาก่อนหน้านี้ได้ แม้ว่าบางครั้งอาจเป็นวันที่ผ่านมาก็ตาม ดังนั้นบางครั้งการออกบวชของแต่ละประเทศจะเป็นคนละวันกันจึงไม่ได้หมายความว่าออกบวชไม่ตรงกัน เพราะจะเริ่มมาจากประเทศแรกที่เห็นเดือนในเดือนนั้นๆก่อน แล้วเป็นประเทศต่อไปเรื่อยๆ วนไปตามเวลามักริบของแต่ละประเทศที่ย่างเข้ามา
จะสังเกตได้ว่าประเทศมุสลิมส่วนใหญ่นั้น จะประกาศผลการดูเดือน (ดวงจันทร์) ได้ทันทีเมื่อพ้นมักริบเพียงเล็กน้อยหรือสอบสวนแน่ใจว่ามีการเห็นเดือนจริงหรือไม่แล้ว โดยอาศัยข้อเท็จจริงบนท้องฟ้ามาเป็นข้อมูลประกอบ หรือจะตามประเทศที่ดูและเห็นเดือนมาก่อนแล้ว ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่เห็นหรือไม่มีที่ใดเห็นมาก่อนก็รอประเทศที่ดูเดือนที่หลัง ในเมื่อเวลามัฆริบของวันนั้นหรือการเริ่มต้นของวันที่ดูดวงจันทร์นั้นเกิดก่อนเวลาเริ่มเกิดเดือนใหม่(ไม่มีใครจะย้อนวันเวลาได้)กรณีเช่นนี้ต้องนับว่าเป็นวันของเดือนเก่า

ก็น่าสงสัยอีกว่าเมื่อไม่เห็นจันทร์เสี้ยวในกลุ่มประเทศอาหรับคนไทยส่วนหนึ่งที่อ้างว่าตามการเห็นเดือนทั่วโลกก็จะชิงประกาศตาม ซึ่งตามความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไปอีกการเกิดเดือนใหม่หรือจันทร์เสี้ยวก็จะต้องมีประเทศหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดเดือนใหม่ (เห็นจันทร์เสี้ยว)อยู่ดี เลยไม่รู้ว่าอะไรคือจุดยืนที่แท้จริง

ดังนั้น ความขัดแย้ง แบ่งกลุ่มแบ่งคณะ และการตามแบบไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงใด ๆ อ้างว่าท่านร่อซูลทำแค่นี้ ไม่เคยถามว่าเดือนคว่ำหรือหงาย เห็นที่ไหน และอ้างว่าเป็นความเห็นของนักวิชาการส่วนมาก ซึ่งจริงแล้วประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้หลักการตามโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลย(ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว) หรือบางครั้งเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ใช้หลักการตามหรือปฏิบัติอย่างไร ก็จะอ้างว่าศาสนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของคนส่วนมาก แล้วอะไรคือจุดยืนที่แน่นอน … ถึงตอนนี้น่าจะยอมรับความจริง หันหน้ามาพูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องนี้กัน เพื่อสังคมจะได้ไม่แตกแยก ร่วมกันทำงานเพื่ออิสลามอย่างบริสุทธิ์ใจ ความไม่ตรงกันที่มีอยู่ในประเทศไทยต่างหาก ที่ทำให้เราเข้าใจไปว่า ที่ไหน ๆ ก็ไม่ตรงกัน

ประเภทของศีลอด
การถือศีลอดมีหลายประเภทเช่น
-ศีลอดภาคบังคับ ที่ชายหญิงมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติในเดือนรอมะฎอนทุกปี
-ศีลอดภาคสมัครใจ ที่ชายหญิงมุสลิมถือศีลอดในวันอื่น ๆ นอกเดือนรอมะฎอน

โดยการถือศีลอด เป็นหลักปฏิบัติในศาสนบัญญัติ 1 ใน 5 ประการ คือ..
1.นับถือพระเจ้า(อัลลอฮฺ)องค์เดียวและนบีมูฮำหมัดเป็นศาสนฑูตคนสุดท้าย
2.ดำรงละหมาด
3.บริจาคทาน
4.ถือศีลอด
5.บำเพ็ญฮัจย์ที่ นครเมกกะ) ซึ่งชาวมุสลิมจะประพฤติปฏิบัติตน โดยการ…

– งดอาหาร น้ำ เพื่อจะได้รับรู้ความยากลำบากคนที่ยากไร้ โดยจะเริ่มตั้งแต่แสงพระอาทิตย์ขึ้น – แสงพระอาทิตย์เริ่มตกดิน จากการคำนวนดูเวลาแสงพระอาทิตย์ ขึ้น-ตก ตามการคำนวณของหลักดาราศาสตร์อิสลาม วัดตามพิกัดองศาแต่ละพื้นที่ และเมื่อถึงเวลาละศีลอด มักจะรับประทานอินทผลัม โดยได้แบบอย่างมาจากท่านนบีมูฮำมัด ทั้งนี้ ผลอินทผลัมนั้น ประกอบด้วย น้ำตาลฟรุกโตส กลูโคส น้ำ วิตามิน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตส จัดเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายเป็นอย่างมาก และเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

– งด ละ เลิก จากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ได้แก่ มือ(ทำร้ายหรือขโมย), เท้า(เดินไปสู่สถานที่ต้องห้าม), ตา (ดูสิ่งลามก), หู ( การฟังสิ่งไร้สาระ ,ฟังเรื่องชาวบ้านนินทากัน), ปาก (การนินทาว่าร้ายคนอื่น โกหกโป้ปด)

– ทำความดี บริจาคทานแก่คนยากจน

– อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เนื่องจากในเดือนนี้เป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานคัมภีร์อัลกรุอานมาให้แก่มนุษย์ ดังนั้น ชาวมุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง

 

สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอด ได้แก่

1. คนเจ็บป่วย

2. หญิงที่มีประจำเดือน

3. หญิงที่ให้นมบุตร แต่หากมีความสามารถ ก็จะถือได้

4. หญิงที่ตั้งครรภ์

5. คนแก่ชรา ที่ไม่มีความสามารถเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้ต้องจ่ายทาน เป็นข้าวสารวันละ 1 มุด (1 มุด ประมาณ 6 ขีด) และสำหรับคนเจ็บป่วย และสตรีที่มีประจำเดือนนั้นให้ถือศีลอดใช้ภายหลังให้ครบก่อนรอมฎอนในปีถัดไป

สาเหตุทำให้ศีลอดเสีย
หมายถึง ผู้ถือศีลอดคนใดคนหนึ่งได้กระทำในสิ่งดังต่อไปนี้ถือว่า ศีลอดของเขาเสียทันที่ และจะต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลังจากเดือนร่อมะฎอนได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่ทำให้ศีลอดเสียมีดังต่อไปนี้
-ตั้งใจกิน ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม
-ตั้งใจดื่ม ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม
-ร่วมประเวณี ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
-ตั้งใจให้ฝุ่นละออง หรือควัน หรือไอน้ำที่มีจำนวนมากเข้าไปในลำคอ
-การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่ว่าชายหรือหญิง
-การสวนทวารด้วยของเหลวทุกชนิด
-การตั้งใจอาเจียน

ดังนั้น การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ไม่ใช่แค่เรื่องของการงดอาหาร หรือเป็นเพียงแค่การปฏิบัติตามหน้าที่ทางศาสนาของชาวมุสลิมเท่านั้น แต่เพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจของตนเอง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของการเดินทางสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสูงส่งทางด้านจิตวิญญาณตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของพระองค์ที่ได้ประทานอัลกุรอานมาให้แก่มนุษย์นั่นเอง.

ขอบคุณ http://www.1009seo.com/

https://www.108kaset.com/goat/index.php/topic,47.0.html