>สารบัญสำคัญ “คัมภีร์คนเลี้ยงแพะ”
เป็นโรคที่เกิดจากการขาดสารอาหารพลังงานในระยะหลังคลอด มักพบในระยะไม่เกิน 60 วัน หลังคลอด (โดยมากจะพบในระยะ 10-30 วันหลังคลอด) โดยร่างกายจะดึงไขมันที่สะสมไว้มาเปลี่ยนเป็นพลังงาน สารพิษที่เกิดจากขบวนการดังกล่าวคือ คีโตนจะเข้าสู่กระแสเลือดทำให้สัตว์แสดงอาการป่วยมักพบในแม่แพะที่ให้น้ำนมมากหรือในแม่แพะอ้วน…
อาการ
แพะป่วยจะแสดงอาการได้ 2 ลักษณะ คือ
1. แบบมีอาการทางประสาท (Nervous form) สัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึมหรือดุร้าย เคี้ยวฟันโดยไม่มีอาหารในปากคล้ายกับอาการสัตว์ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคพิษของสารตะกั่วหรือบาดทะยัก
2. แบบที่มีอาการทางระบบย่อยอาหาร (Digestive form) แพะจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร ท้องอืด น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ปริมาณน้ำนมที่รีดได้ลดลง
โดยทั่วไปแพะจะแสดงอาการป่วยแบบมีอาการ (Clinical ketosis) เพียง 1-2% เท่านั้น ส่วนใหญ่ที่พบเป็นชนิดไม่แสดงอาการ (Subclinical ketosis) ซึ่งเราตรวจหา “สารคีโตน” ได้จากน้ำปัสสาวะหรอืน้ำนม โดยนำมาทดสอบกับแผ่นตรวจน้ำปัสสาวะ (Uristick or Combur 9 test) ถ้าน้ำปัสสาวะมีสารคีโตน ช่องที่ตรวจสารคีโตนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงแดง โรคนี้นอกจากจะทำให้แพะป่วยแล้วยังส่งผลต่อเนื่องทำให้ระยะการเป็นสัดครั้ง แรกหลังคลอดยาวกว่าปกติ (มากกว่า 60 วัน) บางครั้งอาจจะทำให้เกิดปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ต่างๆ ตามมา เช่น ไม่เป็นสัด มีถุงน้ำที่รังไข่ มดลูกอักเสบ
การรักษา
ควรฉีดสารละลายกลูโคสเข้าเส้นเลือดร่วมกับยากลุ่มพวกเด็คซามีทาโซน (Dexamethasone) และยากระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เช่น เฮปาเจน (Hepagen) หรือคาโตซาล (Catosal) นอกจากนี้ควรกรอก กลีเซอรีน (Glycerine) หรือโซเดียมโปรปริโอเนต (Sodium proprionate) เพื่อช่วยเพิ่มพลังงานให้แม่แพะด้วย และควรให้สารอาหารพลังงานที่มีการย่อยสลายง่าย เช่น รำหรือมันเส้นให้แม่แพะกินเสริมอีกจะช่วยให้แม่แพะหายได้อย่างรวดเร็ว
บางครั้งในแพะที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง สัตว์กินอาหารไม่ได้เป็นระยะเวลาหลายวัน อาจจะทำให้เกิดโรคคีโตซิสชนิดทุติยภูมิwfh (Secondary ketosis)
การป้องกัน
1. ไม่ควรให้แม่แพะอ้วนเกินไปในระยะพักรีดนม เพราะอาหารที่เกินต้องการจะไปสะสมในร่างกายในรูปไขมันทำให้แม่แพะอ้วนและมี แนวโน้มจะเกิดโรคนี้ได้ง่ายในระยะหลังคลอด
2. ควรตรวจสอบสารเคโตนในน้ำปัสสาวะแพะระยะหลังคลอด โดยเฉพาะในกรณีที่แพะเบื่ออาหารปละปริมาณน้ำนมลดลงกระทันหัน.
เรียบเรียงจาก
ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ www.dld.go.th/niah
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, มนัสนันนท์ ประสิทธิรัตน์ และมนยา เอกทัตร์ (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือการดูแลสุขภาพแพะนม” สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ. ฟันนี่พับบลิชิ่ง.
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, สุรีย์ ธรรมศาสตร์, ปนันท์ ธนเจริญวัชร, จิรา คงครอง และเอกรินทร์ วัฒนพลาชัยกูร (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือมาตรฐานการชันสูตรโรคสัตว์. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
https://bz.apache.org/bugzilla/show_bug.cgi?id=61202