ทันข่าว » สถานการณ์และข้อเท็จจริงล่าสุดเขื่อนลาวแตก!! เป็นเขื่อนดินย่อยของเขื่อนหลัก..

สถานการณ์และข้อเท็จจริงล่าสุดเขื่อนลาวแตก!! เป็นเขื่อนดินย่อยของเขื่อนหลัก..

26 กรกฎาคม 2018
1043   0

http://bit.ly/2JVl6KX

สถานการณ์และข้อเท็จจริงล่าสุดเขื่อนลาวแตก!! เป็นเขื่อนดินย่อยของเขื่อนเซเปียน..

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ที่แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว คร่าแล้ว 20 ชีวิต สูญหายนับร้อย เร่งนำผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ เผยพบรอยร้าวที่สันเขื่อนก่อนเกิดเหตุ มีการแจ้งอพยพล่วงหน้า

ชะตากรรมของ สปป.ลาว สู่การเป็น ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชีย’ ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้จำนวนมหาศาล อีกทั้งต้องแบกรับความเสี่ยงจากหายนะที่ไม่คาดฝัน..

นับเป็นภัยครั้งใหญ่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว หลังจากที่เกิดเหตุ เขื่อนแตก จนมวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เขื่อน จนทางการต้องเร่งอพยพผู้คนออกไปยังที่ปลอดภัย แต่ก็ยังคงมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังไม่สามารถหนีไปไหนได้ ทำได้เพียงแต่นั่งรอคอยความช่วยเหลืออยู่บนหลังคาบ้าน..
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า เจ้าหน้าที่ในแขวงอัตตะปือยังพยายามเร่งค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก โดยได้นำเฮลิคอปเตอร์และเรือเข้ามาอพยพชาวบ้าน ขณะที่มีรายงานว่าเหตุดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 20 ราย สูญหายไม่ต่ำกว่า 100 คน และชาวบ้านอีกหลายพันคนต้องสูญเสียบ้านไปกับสายน้ำ

เขื่อนที่แตกในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่มีบริษัทจากลาว ไทย และเกาหลีใต้ เป็นผู้ร่วมทุน โดยเขื่อนดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และทาง SK Engineering & Construction บริษัทของเกาหลีใต้ที่ร่วมทุนในโครงการนี้ ก็ได้ออกมายอมรับว่า ตรวจพบรอยร้าวที่เขื่อนครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (22 กรกฎาคม)

รายงานเผยว่า หลังจากที่พบรอยร้าวบริเวณสันเขื่อนดินย่อย ส่วน D ก็ได้มีการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ รวมถึงแจ้งเตือนให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เขื่อนให้เริ่มอพยพออกไป พร้อมกับส่งทีมงานไปซ่อมแซมสันเขื่อนนี้ แต่สุดท้ายความเสียหายที่เขื่อนกลับหนักขึ้น จนสันเขื่อนแตก ทำให้น้ำไหลท่วมเข้าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงถึง 7 หมู่บ้านด้วยกัน

ทางด้าน บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นในโครงการดังกล่าว ชี้แจงว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำปริมาณมากไหลเข้ามาในพื้นที่เก็บน้ำของโครงการ จนทำให้สันเขื่อนทรุดตัวและเกิดรอยร้าวขึ้น จากนั้นได้มีน้ำไหลออกไปสู่พื้นที่ท้ายน้ำ และลงสู่ลำน้ำเซเปียนที่อยู่ห่างจากเขื่อนออกไปราว 5 กิโลเมตร

เฟซบุ๊ก Attapeu Today สื่อท้องถิ่นของ สปป.ลาว ได้โพสต์ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นมวลน้ำที่ท่วมเมืองสะหนามไซ จากเหตุการณ์เขื่อนแตก โดยภาพเผยให้เห็นน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง เห็นเพียงต้นไม้ที่โผล่พ้นน้ำเท่านั้น ซึ่งตามรายงานระบุว่า จากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 รายแล้ว และสูญหายอีกนับร้อยราย อีกกว่า 1,300 ครอบครัว ไร้ที่อยู่อาศัย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในแขวงอัตตะปือและแขวงจำปาสัก สปป.ลาว พร้อมทั้งระบุว่า ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับ สปป.ลาว พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เบื้องต้น มีอาสาสมัครได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยแล้ว และทางรัฐบาลไทยเองยินดีสนับสนุนทั้งกู้ภัย แพทย์ พยาบาล ทหาร เจ้าหน้าที่ ฯลฯ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ หากได้รับการประสานงานจากทางการของ สปป.ลาว

บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ผู้ถือหุ้น 25% โครงการเขื่อนเซเปียน ที่ลาว เผยสาเหตุเขื่อนแตก เกิดที่สันเขื่อนดินย่อย D พบกำหนดเสร็จปี 62 ขายไฟฟ้าให้ไทยกว่า 90%

ข่าวเวิร์คพอยท์ เผยรายละเอียดว่า เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ตั้งอยู่ในเขตที่ราบสูงโบโวเลน รอยต่อเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก กับเมืองสะหนามไซ เริ่มก่อสร้างมาเมื่อปี 2556 กำหนดแล้วเสร็จต้นปี 2562 มีบริษัทต่างประเทศร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลลาว จำนวน 4 บริษัท คือ

1. บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26%
2. บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25%
3. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25%

4. บริษัท Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24%
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของไทย ร่วมลงทุนเป็นเงินกว่า 40,000 ล้านบาท หากโครงการสำเร็จ กำลังการผลิตไฟฟ้า 410 เมกะวัตต์ ขายไฟให้ไทย 354 เมกะวัตต์ คาดว่าไฟฟ้าประมาณ 90% ที่ผลิตได้จะส่งมาขายให้กับประเทศไทย ส่วนที่เหลืออีก 10% ทางการลาวจะเก็บไว้ใช้เอง
ล่าสุด นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เผยว่า เหตุครั้งนี้เกิดจากสันเขื่อนดินย่อยส่วน D ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เขื่อนย่อยแตก เนื่องจากปริมาณน้ำมากเกินกำหนดแต่จะไม่กระทบกับเขื่อนหลัก และเชื่อว่าจะไม่มีผลต่อกำหนดการเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 โดยหลังจากนี้บริษัทที่รับเหมาก่อสร้าง จะสร้างคันโดยรอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อเสริมความแข็งแรงของเขื่อนย่อย

สุดระทึก!! เขื่อนเซเปียนแตก.. เร่งอพยพ 4,000 ครอบครัวหนีตาย