ปลูกพืช » เคล็ด(ไม่)ลับ วิธีปลูก “สะตอ” ให้ได้ผลดี

เคล็ด(ไม่)ลับ วิธีปลูก “สะตอ” ให้ได้ผลดี

14 สิงหาคม 2018
2458   0

http://bit.ly/2KV1qaq

จาก http://bit.ly/2w7w76X

สะตอ
มีชื่อวิทยาศาสตร์ Parkia speciosa Hassk. เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่ว (Fabaceae)
ชื่ออื่น กอตอ, ลูกตอ
  มีกิ่งก้านที่มีขนละเอียดใบประกอบแบบขนนกสองชั้น จะออกช่อที่ปลายของกิ่งตามตำราแพทย์แผนไทย จะใช้เมล็ด ขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะพิการ ไตพิการ ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซียใช้เมล็ดสดรับประทาน แก้อาการผิดปกติของไต

สะตอ มีเมล็ดที่มีกลิ่นเหม็นเขียวรุนแรง แต่นิยมนำมารับประทานกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารไทยปักษ์ใต้ หลังจากรับประทานสะตอเข้าไปจะมีกลิ่น สามารถดับกลิ่นสะตอ ด้วยการรับประทานมะเขือเปราะตามสักสองสามลูก

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จัดให้สะตอเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Leguminosae ซึ่งเป็นไม้จำพวกที่มีฝัก เช่นเดียวกับกระถิน ทองหลาง ถั่ว แต่ในหนังสือบางเล่มก็จัดสะตออยู่ในวงศ์ Mimosaceae คือ เป็นไม้ตระกูลเดียวกับไมยราบ จามจุรี

สะตอเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงเฉลี่ยได้ถึง ๓๐ เมตร ต้นสูงขึ้นไปแล้วแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นเรียบ ลอกเป็นสะเก็ดเล็กน้อย สีน้ำตาลอ่อน กิ่งก้านมีขนละเอียด ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบแขนงมีประมาณ ๑๔-๑๘ คู่ ช่อใบย่อยมีประมาณ ๓๑-๓๘ คู่ ปลายใบบนฐานใบด้านนอกเบี้ยวเป็นติ่ง ดอกออกเป็นช่อรวมกันเป็นกระจุก อัดกันแน่นเป็นก้อนคล้ายดอกกระถิน ช่อดอกจะห้อยระย้าอยู่ทั่วทรงพุ่ม แต่ละดอกมีก้านดอกและใบประดับรอง ประกอบด้วยช่อดอกตัวผู้ และช่อดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีขาวนวล ดอกจะออกช่วงเดือนเมษายน หลังจากนั้น ๗๐ วัน จะสามารถเก็บฝักได้ ผลของสะตอเป็นฝักแบนกว้าง ๓-๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๕-๔๕ เซนติเมตร ฝักบิดเป็นเกลียวห่าง ฝักอ่อนมีสีเขียว พอแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ เมล็ดสะตอมีลักษณะเป็นรูปรีเกือบกลมเรียงตามขวางกับฝัก มีสีเขียวอ่อน

สะตอปลูกง่าย เหมือนไม้ยืนต้นชนิดอื่น ๆ แต่เกษตรกรนิยมปลูกเป็นพืชแซมหรือไม้บังร่ม เพราะโตเร็วให้ร่มเงาดี

ระยะปลูก ควรใช้ระยะ 12 x 12 เมตร ใน 1 ไร่ จะปลูกได้ 11 ต้น
ในขณะต้นสะตอเล็กสามารถปลูกพืชแซมได้ หลุมปลูก ใช้ขนาด 1 x 1 x 1 เมตร ใส่ปุ๋ยหินฟอสเฟตรองก้นหลุม ๆ ละ 1 กระป๋องนม พร้อมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 บุ้งกี๋คลุกเคล้ากันแล้วกลบหลุมให้เต็ม

ฤดูปลูก ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน คือในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน การปลูก หลังจากเตรียมหลุมปลูกแล้วให้ใช้จอบขุดดินในหลุมให้มีขนาดพอดีเท่ากับถุงที่ใช้เพาะต้นกล้า กรีดด้านข้างถุงเพาะแล้ววางลงไปในหลุมปลูกใช้ไม้ปักแนบลำต้นผูกเชือกยึดกันลมโยก รดน้ำให้ชุ่มชื้น ทำร่มเงาให้โดยอาจใช้ทางมะพร้าวมามุงหลังคาบังแดดทิ้งไว้ประมาณ 1 ปี (ทั้งต้นปลูกจากต้นเพาะเมล็ดและไว้สำหรับทำต้นตอ)

การให้น้ำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นเสมอ สะตอที่ปลูกใหม่ในปีแรก ควรให้น้ำวันเว้นวันในช่วงหน้าแล้ง เมื่ออายุ 2-3 ปี ควรให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วงหน้าแล้งควรหาเศษพืชคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้นสำหรับต้นสะตอที่ให้ผลแล้วระยะที่ต้องการน้ำมาก คือช่วงระยะออกดอกถึงติดฝักจนเก็บเกี่ยวได้ ในช่วงฤดูฝน ควรเตรียมร่องระบายน้ำด้วย

การพรวนดิน ควรทำตั้งแต่เริ่มปลูกเป็นต้นไป ปีละประมาณ 3 ครั้ง เพื่อช่วยกำจัดวัชพืชและถ่ายเทอากาศในดิน หลังจากให้ผลแล้วควรทำการพรวนดินในช่วงก่อนออกดอกและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว

การใส่ปุ๋ย

ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ควรใส่ตั้งแต่เริ่มปลูก อัตรา 1-2 ปี๊บต่อต้นเมื่อให้ผลแล้วควรใส่อัตรา 3-4 ปี๊บต่อต้น โดยใส่หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะทำให้สะตอให้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกปี

ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ควรใช้สูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี ใส่ก่อนออกฝักและสำหรับต้นที่ให้ฝักแล้วใช้อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกใส่ก่อนออกดอกและครั้งที่สองใส่หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต จากนั้นให้ทำการตัดแต่งกิ่งด้วย ควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วยอัตราการใส่ ควรเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 0.5 กิโลกรัม

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ ที่นิยมในปัจจุบัน คือ

1.) เพาะเมล็ด

การขยายพันธุ์วิธีนี้โดยเลือกฝักจากต้นพันธุ์ที่แก่เต็มที่แล้วแต่ไม่ต้องถึงกับสุกงอมแกะเมล็ด ออกแล้วลอกเยื่อหุ้มเมล็ดออกให้เหลือเนื้อเมล็ดที่มีสีเขียว แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน นำขึ้นจากน้ำแล้วนำไปเพาะ ก่อนเพาะควรคลุกสารป้องกันมดกัดกิน เช่นเซฟวิน 85 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะต่อ 100 เมล็ด ควรทำการเพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

การเพาะ ใช้ถุงพลาสติก ขนาด 4 x 8 นิ้ว เจาะก้นถุง 2-3 รูเพื่อระบายน้ำ ใส่ดินผสมปุ๋ยคอกอัตรา 2 ต่อ 1 ลงไปประมาณค่อนถุงนำไปตั้งในเรือนเพาะชำ แล้วนำเมล็ดที่เตรียมไว้มาปลูกตรงกลางถุงโดยให้ทางด้านหัวกดลงลึกประมาณ 1 เซนติเมตร เวลางอกลำต้นจะตั้งตรงรดน้ำให้ชุ่มชื้นทุกวัน ๆ ละ 1-2 ครั้ง ภายใน 2-3 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกใส่ปุ๋ยเกล็ดหรือปุ๋ยน้ำบ้าง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตจนอายุ 1 ปี จะมีใบออกประมาณ 3-4 ใบ สามารถนำไปปลูกได้ ข้อดีวิธีนี้คือ ปลูกได้รวดเร็วเป็นจำนวนมากข้อเสียมักกลายพันธุ์ อายุการตกผล 4-7 ปี แล้วแต่ชนิดของพันธุ์

2.) การติดตาแบบเพลท

การติดตาเป็นการทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนต้นเดิมและให้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด ประมาณ 2-3 ปี ระยะเวลาที่เหมาะสมอยู่ในช่วงฤดูฝน ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เพราะเปลือกของต้นตอและตาของกิ่งพันธุ์ดี จะสามารถลอกเปลือกออกได้ง่าย

อุปกรณ์ในการติดตา

มีดติดตา ผ้าพลาสติกใสสีขาวสำหรับพันแผล กรรไกรตัดแต่งกิ่ง การเตรียมต้นตอเพื่อใช้ในการติดตา

ใช้ต้นตอสะตอหรือเหรี่ยงที่เพาะปลูกในถุงพลาสติกแล้วย้ายปลูกลงในแปลง เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ขนาดของต้นตอมีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร

การเลือกกิ่งพันธุ์ดี

เลือกจากต้นที่ให้ผลผลิตสูง ออกดอกติดผลเร็ว ลำต้นแข็งแรงทนทานต่อโรคและแมลง เลือกตาบริเวณกิ่งที่ออกฝักแล้วนำไปตัดเป็นท่อน ๆ และควรเป็นตาที่ยังตูมอยู่ ซึ่งตายยังไม่โผล่ออกมา

วิธีติดตา

กรีดต้นตอลึกถึงเนื้อไม้ 2 รอย กว้าง 0.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 -3.5 เซนติเมตร ลึก 0.5-1 เซนติเมตร ให้สูงจากพื้นดินที่โคนต้นตอประมาณ 4.5-5 เซนติเมตร ตัดขวางรอยกรีดด้านบน แล้วเปิดเปลือกลง จากนั้นตัดเปลือกส่วนที่เปิดทิ้งให้เหลือประมาณ 0.5 เซนติเมตร กรีดแผ่นตาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร แล้วใช้ปลายมีดค่อย ๆ แซะให้แผ่นเปลือกลอกออกจากเนื้อไม้ซึ่งมีตาอยู่ตรงกลาง สอดแผ่นตาลงใต้เปลือกต้นตอที่เปิดไว้โดยให้ตาพันธุ์ดีตั้งตรงตามปกติให้ขอบชิดด้านใดด้านหนึ่ง พันด้วยผ้าพลาสติกใสสีขาวจากด้านล่างขึ้นบน โดยให้ผ้าพลาสติกซ้อนกันประมาณ 1 ใน 4 ของแผ่นและพันปิดรอยแผลและแผ่นตาทั้งหมด แล้วผูกมัดผ้าพลาสติกให้แน่นเหนือตา

การดูแลรักษาหลังติดตา

หลังติดตาแล้วประมาณ 5-7 วัน ให้สังเกตดู ถ้าการติดตาไม่ได้ผลแผ่นตาจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ถ้าการติดตาได้ผลดีแผ่นตาจะเป็นสีเขียว ประมาณ 15-20 วันหลังจากติดตาให้ควั่นต้นตอเพื่อเตือนโดยให้สูงจากตาประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เป็นเวลา 7 วัน เมื่อครบกำหนดให้ตัดต้นตอส่วนบนออกทิ้งพร้อมกับเอามีดกรีดพลาสติกให้ขาด ทางด้านตรงกันข้ามกับตา ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 วัน ยอดใหม่ก็จะเจริญออกมาทางตาข้างที่ติดไว้ ข้อดีของต้นติดตา คือ ต้นเตี้ยเก็บฝักง่าย ดูแลรักษาง่าย ลักษณะตรงตามพันธุ์เดิม อายุการออกดอกติดฝัก 3-4 ปี

การเก็บเกี่ยวฝักสะตอ

สะตอจะเริ่มออกดอก ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป และจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ใช้ระยะเวลา 68-70 วัน ทั้งพันธุ์สะตอข้าวและสะตอดาน เริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกอายุ 4-7 ปี ในต้นหนึ่ง ๆ จะให้ผลผลิตได้ประมาณ 200-300 ฝัก และจะให้ฝักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีตามอายุ

ลักษณะฝักที่พร้อมจะเก็บเกี่ยวได้ มีดังนี้

สีฝักจะมีลักษณะเป็นมันแววสีเขียวเข้ม เปลือกบริเวณหุ้มเมล็ดจะนูนเห็นเส้นเยื่อใยเด่นชัด รูปทรงสะดุดตา เปลือกหุ้มเมล็ดเมื่อแกะออกดูด้านในที่บริเวณขั้วของเปลือกจะเห็นเป็นสีส้มเข้มเล็กน้อย แสดงว่าใช้ได้แล้ว ชิมเมล็ดดูจะพบว่า เมล็ดพันธุ์สะตอข้าว จะมีรสชาติมันและค่อนข้างหวาน เนื้อเมล็ดค่อนข้างแน่น พันธุ์สะตอดานจะมีรสชาติค่อนข้างฉุน เนื้อเมล็ดแน่น การเก็บเกี่ยวฝักสะตอ มีอยู่ 2 วิธี

ใช้ไม้สอย โดยใช้ไม้ไผ่ลวกยาวประมาณ 5-10 เมตร โดยทำเว้าที่ปลายไม้ำไผ่ ในกรณีต้นที่สูงจะขึ้นบนต้นแล้วใช้ส่วนที่เว้าบิดขั้วฝักสะตอแล้วดึงเข้าหาตัว แล้วปล่อยฝักสะตอให้รูดลงตามเชือกซึ่งผูกโยงระหว่างกิ่งกับหลักไม้ที่พื้นดินลงสู่ด้านล่าง โดยจะมีคนคอยรับอยู่ด้านล่างวิธีนี้ทำให้ฝักสะตอช้ำน้อยที่สุด

ใช้ลิงเก็บ ใช้ในเขตจังหวัดสุราษฎ์ธานี และจังหวัดชุมพร วิธีนี้จะต้องพิจารณาลักษณะฝักที่แก่พอเหมาะที่จะเก็บก่อนทั้งต้น เพราะลิงจะเก็บทุกช่อ ต้องใช้ผ้าขาวม้าขึงด้านล่างเพื่อรองรับด้วย ถ้าไม่รับจะทำให้ฝักเสียหาย ค่าจ้างการเก็บเกี่ยว เกษตรกรที่รับจ้างเก็บจะคิดราคา 100 ฝักละ 15-20 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณของฝักสะตอมีมากน้อยขนาดไหน  ในช่วงเก็บนั้น ๆ ต้นหนึ่ง ๆ สามารถเก็บเกี่ยวได้ 3-4 ครั้งจึงหมด

การรวบรวมฝักสะตอก่อนส่งขาย นิยมใช้วิธีการมัดสะตอรวมเป็นมัด ๆ แต่ละมัดจะมีฝักสะตอ 100 ฝัก โดยจะส่งให้พ่อค้าคนกลางซึ่งจะรับซื้อถึงสวน หรืออาจส่งไปขายที่ตลาดโดยตรง

อายุการวางตลาด

ฝักสะตอสามารถวางตลาดขายได้ประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้นผิวเปลือกจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ และบริเวณเนื้อฝักที่หุ้มเมล็ดจะเริ่มสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มและดำในที่สุด ทำให้ราคาตก การเก็บมาทั้งช่อ และมีใบติดด้วยจะทำให้อายุการวางตลาดยาวนานไปได้อีก 2-3 วัน ตลาด ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

ในประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ หาดใหญ่ (สงขลา) สุไหงโกลก (นราธิวาส) นิยมขายในรูปฝักสด
ต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสหพันธ์รัฐประชาธิปไตยเยอรมนี ผลผลิตจะนิยมส่งไปขายในรูปเมล็ดบรรจุลังและบรรจุกระป๋อง

โรคของสะตอ

ยังไม่มีงานวิจัยด้านโรคอย่างจริงจัง เท่าที่พบคือ อาการกิ่งแห้ง หรือเกษตรกรเรียกว่า กิ่งปลดทิ้ง สาเหตุ อาจเนื่องมาจาก ความชื้น และความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่เพียงพอ

วิธีป้องกันกำจัดและดูแลรักษา ควรให้น้ำในช่วงหน้าแล้ง และหาเศษวัชพืชคลุมโคนรักษาความชื้น ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งในช่วงฤดูฝน ตัดกิ่งที่แห้ง เผาทำลายเสีย

สัตว์ศัตรูในสวนสะตอ

สัตว์ศัตรูในสวนสะตอ เท่าที่พบมีดังนี้

กระรอกและกระแต

ลักษณะการทำลาย จะกัดกินเปลือกฝักสะตอที่มีลักษณะสุก ผิวสีน้ำตาลคล้ำหรือแก่เต็มที่เฉพาะเปลือกเหลือแต่เมล็ด เพราะมีรสหวาน วิธีป้องกันกำจัด เก็บฝักสะตอที่มีอายุแก่พอดี กรณีเอาฝักไว้ทำพันธุ์จะต้องคอยสังเกตดูตลอด ใช้กรงดัก ใช้หนังสติ๊กยิงถ้าพบ

 การเจริญเติบโตของฝักสะตอ

ชาวสวนสะตอทั่วไปจะเรียกชื่อการเจริญเติบโตของฝักสะตอแต่ละช่วงดังนี้ จากหางช้าง หมายถึงส่วนที่หย่อนออกมาจากบริเวณง่ามใบ เข้าตอบาน หมายถึงช่วงเป็นปุ่มสีเหลือง ขาเขียด หมายถึงช่วงหลังผสมเกสรแล้ว ดาน หมายถึงส่วนที่ยังเป็นลักษณะฝักอ่อน โมน หมายถึงฝักเมล็ดหรือ 1 ช่อ ใช้เวลาประมาณ 68-70 วัน

พันธุ์และการขยายพันธุ์

มี 2 พันธุ์ โดยแบ่งตามลักษณะของฝักและรสชาติได้ดังนี้

 สะตอข้าว ฝักมีลักษณะบิดเป็นเกลียว ยาว 31 เซนติเมตร กว้าง 3.5 เซนติเมตร เมล็ดมีขนาดเล็กค่อนข้างชิด ฝักหนึ่ง ๆ มี 10-20 เมล็ด ในแต่ละช่อ มี 8-20 ฝัก รสชาติมัน ไม่มีกลิ่นฉุนเนื้อเมล็ดไม่ค่อยแน่น สีของฝักเป็นสีเขียวอ่อน ขอบฝักชิดกับเมล็ดเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่ว ไป อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 3-4 ปี

 สะตอดาน ฝักมีลักษณะแบนตรง ยาว 32.5 เซนติเมตร กว้าง 3.9 เซนติเมตร เมล็ดมีขนาดใหญ่ ฝักหนึ่ง ๆ มี 10-12 เมล็ด แต่ละช่อมี 8-15 ฝัก รสชาติมัน มีกลิ่นฉุนจัด เนื้อเมล็ดแน่น ช่องว่างระหว่างเมล็ดห่างกัน ฝักมีสีเขียวแก่ขอบฝักจะห่างจากเมล็ดและมีขนาดหนา ผู้บริโภคชาวภาค ใต้นิยมรับประมาณ อายุการเก็บเกี่ยว 6-7 ปี การคัดเลือกพันธุ์ มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1.) ตรงตามพันธุ์
2.) ออกฝักทุกปี ผลผลิตมากในหนึ่งต้นและออกฝักก่อนต้นอื่น
3.) ในช่อหนึ่ง ๆ ควรมีฝักตั้งแต่ 10-15 ฝัก ที่สมบูรณ์ มีเมล็ด 15-20 เมล็ดต่อฝัก เมล็ดมีขนาดสม่ำเสมอและเรียงเป็นแถวสวยงาม
4.) รสชาติดีเป็นที่นิยมของตลาด
5.) ต้นสมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากแมลงรบกวน

  การขนส่งฝักสะตอ

โดยรถบบรทุกกระบะ สามารถบรรทุกได้ประมาณ 17,000 ฝักต่อครั้ง โดยใช้ใบตองรองพื้นและด้านข้างของรถ ก่อนนำฝักสะตอวางลงไป โดยใส่กระสอบ ที่สามารถบรรจุได้ 300 ฝักต่อถุง ปิดปากถุงให้มิด ก่อนส่งไปต่างจังหวัดต่อไป โดยใส่เข่ง ซึ่งมีหลายขนาดสามารถบรรจุได้ 400-600 ฝักต่อเข่ง ก่อนบรรจุฝักสะตอลงเข่ง ควรมีกระดาษหนังสือพิมพ์หรือใบตองรองก้นก่อนป้องกันการช้ำ สำหรับสะตอแกะเมล็ดขาย แม่ค้าจะแยกขนาดของเมล็ด 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง และเล็กสุด ราคาขายกิโลกรัมละ 35-80 บาทแล้วแต่ขนาด ในการขายแม่ค้านิยมใช้พันธุ์สะตอดานเพราะมีเมล็ดขนาดใหญ่และรูปทรงน่าซื้อ

 การเก็บเมล็ดที่แกะไว้ขาย ถ้าพรมน้ำจะเก็บได้ 3-4 วัน ถ้าไม่พรมน้ำจะเก็บได้ 2-3 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มงอกและเหม็นเน่าในที่สุด ในการแกะเมล็ดขายแม่ค้านิยมลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออกด้วย

การรับจ้างแกะเมล็ด ผู้รับจ้างในการแกะเมล็ด จะคิดราคา 1 มัด (100 ฝัก) เป็นเงิน 13-15 บาท วันหนึ่ง ๆ จะแกะได้ประมาณ 4-5 มัด

การตัดแต่งกิ่ง มีหลักเกณฑ์ดังนี้ ตัดยอด เมื่อต้นสูง 2-3 เมตร หลังจากปลูกใหม่ ๆ เพื่อให้ได้ทรงพุ่มเตี้ย เก็บเกี่ยวง่าย ตัดแต่ง กิ่งกระโดง กิ่งแห้ง กิ่งตาย กิ่งเป็นโรค กิ่งเบียดชิด กิ่งไม่ถูกแสงภายในทรงพุ่ม เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งไม่ทึบแน่นเกินไป

 แมลงที่พบในสวนสะตอ

ด้วงปีกแข็งเจาะลำต้น ลักษณะการทำลาย เจาะกินภายในลำต้น และกัดกินเปลือกอ่อนระหว่างเนื้อไม้กับเปลือกแข็ง ที่เปลือกของลำต้นจะมีลักษณะเป็นน้ำฟูเยิ้มออกมา วิธป้องกันกำจัด ใช้สำลีชุบสารฆ่าแมลงพวกกเมธิล พาราไธออนและมาลาไธออน อัดเข้าไปในรู แล้วใช้ดินเหนียวอุด

แมลงกัดกินใบ ลักษณะการทำลาย จะเข้าทำลายในขณะต้นสะตอแตกใบอ่อน โดยจะกัดกินจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้การเจริญเติบโตช้าลง

การป้องกันกำจัด ตัดและเก็บรวบรวมกิ่งที่ถูกแมลงกัดกินใบจนโกร่นออกไปทำลาย เพราะอาจมีไข่แมลงติดอยู่ด้วยในช่วงที่สะตอแตกใบอ่อน ควรพ่นสาร คาร์บาริล ชนิดผง อัตรา 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วบริเวณต้นที่มียอดอ่อน

แมลงสิง ลักษณะการทำลาย ตัวแก่ของแมลงสิงจะใช้ปากซึ่งเป็นงวงยาวแทงและดูดน้ำเลี้ยงจากฝักอ่อนของสะตอ ทำให้ฝักไม่มีเมล็ด ดูภายนอกจะเป็นสีน้ำตาลหรือดำ จะพบระบาดในช่วงเดือนกรกฎาคม ทำให้ฝักสะตอเสียหาย

การป้องกันกำจัด ใช้สวิงจับตัวแก่ ตามฝักสะตออ่อนทำลายทิ้งเสีย ในขณะที่ต้นยังไม่สูงมาก ตัวแก่ชอบกินเนื้อเน่า ควรนำเนื้อเน่าใส่ถุงแขวนไว้ในสวนสะตอแล้วจับตัวแก่มาทำลายเสีย พ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง ในระยะที่สะตอยังเป็นฝักอ่อน โดยใช้โมโนโครโตฟอส อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในเวลาเช้าตรู่หรือตอนเย็นเพราะตัวแก่มักบินมาทำลายในระยะอากาศค่อนข้างเย็น

ปลวก ลักษณะการทำลาย จะสร้างรังบริเวณโคนต้นในขณะที่ยังเล็กอยู่แล้วเข้าไปกัดกินรากอ่อนของสะตอ ทำให้การเจริญเติบโตช้าลง การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมี เฮปตาคลอร์ ผสมน้ำตามอัตราแนะนำข้างฉลาก ราดบริเวณจอมปลวก โดยทำให้เป็นรูที่รังปลวกก่อนแล้วจึงราดสารเคมี

ประโยชน์ของสะตอ

เป็นรายได้ของเกษตรกร ช่วยยึดดินมิให้พังทลาย และทำให้ดินชุ่มชื้นเสมอ ใบเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ลำต้นใช้ทำเครื่องตกแต่งบ้าน เชื่อว่ารับประทานแล้วป้องกันโรคเบาหวานได้ และมีผู้สังเกตพบว่ามีฤทธิ์เป็นยาระบาย ใช้ประกอบอาหาร เช่น ผัด ต้ม แกง หรือรับประทานดิบๆ.

 เอกสารอ้างอิง

กรมส่งเสริมการเกษตร. 2522. การปลูกสะตอ คำแนะนำที่ 88. 9 หน้า. จิตร ลิ่มพลาดิสัย. 2514. สะตอเป็นพืชที่ควรสนใจ. กสิกร. 44 (4) 295-303. เทอด สุวรรณคีรี. 2527. สะตอ. กสิกร. 57(2): 117-122. ทวีศักดิ์ นวลพลับ. 2530. สะตอพืชยืนต้นแซมสวน. ฐานเกษตรกรรม. 51 (4):43-45 และ 97-98. ฝ่ายข้อมูลวารสารเคหการเกษตร. :——-: สะตอไม้ผลเศรษฐกิจ. ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญรัฐการพิมพ์. กรุงเทพฯ หน้า 1-8. พูลสุข โพธิรักขิต. 2529. โปรตีนในสะตอ วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (ชีวเคมี) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน้า 1-75. มนูญ ศิริพงษ์. 2531. สะตอ. สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. 63 หน้า. วิจิตร วังใน. 2526. ชนิดและพันธุ์ไม้ผลเมืองไทย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. หน้า 50-51. Nielsen, I.C. 1985. Leguminosae-Mimosoideae In Flora of THAILAND 4 (2):131-222 Editor Tem Smitinand and KAI Larsen Dandida at The TISTR PRESS, BANGKOK.