ทันข่าว » อากาศเชียงใหม่เข้าวิกฤติ แซง กทม. ค่าฝุ่น PM 2.5 บางท้องที่พุ่งไป200กว่า

อากาศเชียงใหม่เข้าวิกฤติ แซง กทม. ค่าฝุ่น PM 2.5 บางท้องที่พุ่งไป200กว่า

17 มกราคม 2020
1025   0

อากาศเชียงใหม่เข้าวิกฤติ แซง กทม. ค่าฝุ่น PM 2.5 บางท้องที่พุ่งไป200กว่า
————

..ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.63 ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน และ ฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้ดอยสุเทพที่ถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน เมื่อประชาชนอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถจะมองเห็นดอยสุเทพได้ ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนต่างมีอาการแสบจมูก แสบตา เนื่องจากมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ขณะที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษได้เผยแพร่คุณภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน ในบางพื้นที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือมีสีส้ม และบางพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นสีแดง

โดยสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 24-104 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) เกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง, ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน, ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) ตรวจพบค่าระหว่าง 32-166 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) เกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ ขณะที่เว็บไซต์ Air Visual ช่วงสายของวันนี้ได้จัดคุณภาพอากาศแย่ของจังหวัดเชียงใหม่อยู่อันดับที่ 5 ของโลกที่ ได้ 178 US.AQI วัดค่า PM 2.5 ได้ 107.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จัดอยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องงดกิจกรรมและการเล่นกีฬากลางแจ้ง พร้อมทั้งปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือน สวมหน้ากากอนามัย และเปิดเครื่องฟอกอากาศ

ด้านนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของทุกปี จังหวัดเชียงใหม่มักจะมีการเผาในที่โล่งเป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สร้างความเสียกายแก่ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจำนวนมา นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ การท่องที่ยว การคมนาคม เศรษฐกิจ และงบประมาณในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ดังนั้นจังหวัดเชียงใหม่จึงได้ออกประกาศกำหนดเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด และมาตรการทางกฎหมายในการควบคุม โดยกำหนดให้พื้นที่ทุกหมู่บ้าน / ตำบล / อำเภอ ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม–30 เมษายน 2563 ซึ่งห้ามมิให้มีการเผาในที่โล่ง ตั้งแต่การกำจัดวัชพืช ขยะ หรือสิ่งอื่นใดในเขตพื้นที่ชุมชน วัสดุทางการเกษตร ในเขตพื้นที่การเกษตร หรือการเผาในเขตทาง รวมทั้งการจุดไฟเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าไม้ในการดับไฟป่าและแจ้งเหตุอีกด้วย

สำหรับผู้ประสบเหตุสามารถแจ้งเหตุการเผาในที่โล่งได้ 2 ทาง คือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายที่ประจำอยู่ที่หมู่บ้านและโรงพัก สถานีควบคุมไฟป่าในพื้นที่ศูนย์อำนวยการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่-ลำพูน ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือที่ 1 และสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) หรือแจ้งเหตุผ่านระบบผ่อดีดี (app PODD) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันการเฝ้าระวังจัดการไฟป่าที่สามารถระบุพิกัด รวบรวมสถานที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป โดยประชาชนจิตอาสาสามารถรายงานเหตุได้ทันทีที่พบเหตุ

ทั้งนี้ ผู้ที่กระทำการเผาในที่โล่งหรือเผาพื้นที่ป่า จะถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000–2,000,000 บาท ระวางโทษจำคุก 3 เดือน–20 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ (ขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่กำหนดไว้ในกฎหมาย) ..

ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้เมื่อพบการกระทำความผิดดังกล่าว สำหรับผู้ที่พบเบาะแสและพบการเผาทั้งในที่โล่งหรือพื้นที่ป่า สามารถแจ้งหน้าที่ตำรวจที่หมายเลข 0-5323-2019 และ 0-5311-2725 หรือสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง และประชาชนจิตอาสาสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ผ่อดีดี” (PODD) “จิตอาสารายงานเหตุหมอกควันไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่” โดยค้นหาชื่อ PODD สามารถสมัครได้ทั้งในระบบแอนดรอยด์ และระบบ IOS (รหัสใช้ในการสมัคร คือ 8829257 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่).

ที่มา- https://www.pohchae.com/2020/01/17/pm25-3/