ปลูกพืช » รู้จักกับไมยราบ วัชพืชข้างทางที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ กับสรรพคุณทางยามากมาย..

รู้จักกับไมยราบ วัชพืชข้างทางที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ กับสรรพคุณทางยามากมาย..

2 เมษายน 2020
3361   0

รู้จักกับไมยราบ วัชพืชข้างทางที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ กับสรรพคุณทางยามากมาย..

          ไมยราบ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimosa pudica L.

          ไมยราบ ภาษาอังกฤษ : Sensitive plant, Sleepy plant, Dormilones, touch-me-not, หรือ Shy plant

          ไมยราบ ชื่อสามัญ : ไมยราบ (Sensitive plant)

          ไมยราบ ชื่อตามท้องถิ่น : กระทืบยอด, คันร่ม ,เช้ายอด, หญ้าจิยอบ, หญ้าปันยอบ, จิยอบ, ต้นตาลหน่อปีเหมาะ, หัวใจไมยราบ, หนามหงับ, กะหงับ, หนามหญ้าราบ

ต้นไมยราบเป็นต้นไม้อิมพอร์ตมาจากอเมริกาใต้ โดยกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานที่นำเข้าต้นไมยราบมาในประเทศไทย ด้วยหวังประโยชน์ของไมยราบในการคลุมหน้าดิน เพราะต้นไมยราบมีความทนต่อสภาพน้ำท่วมได้ดี ทั้งยังสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ ที่สำคัญประโยชน์ของไมยราบยังช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และช่วยในการบำรุงดินเนื่องจากไมยราบเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง

ไมยราบจัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นสูงได้มากกว่า 3 เมตร แตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น โดยลำต้นมีขนาดประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีขนละเอียดและหนามโค้งงอตลอดทั้งลำต้น ใบประกอบคล้ายขนนกปลายคู่ เรียงสลับ มีใบย่อย 7-12 คู่ ใบยาวประมาณ 10-13 เซนติเมตร ไวต่อการสัมผัส ก้านดอกสั้นมาก กลีบดอกสีเหลือง มีเส้นสีม่วงตามยาวตรงปลายกลีบ..

สรรพคุณของไมยราบ

1. ขับปัสสาวะ

ตำรับยาไทยใช้ไมยราบทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น มีปัสสาวะขุ่นข้น ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีแดง (ปัสสาวะปนเลือด) มีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้ อีกทั้งในตำรับยาสมุนไพรยังใช้ต้นไมยราบเป็นยาแก้กษัยอีกด้วย

โดยวิธีใช้ไมยราบขับปัสสาวะให้นำเครือไมยราบทั้งต้นล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง แล้วนำมาต้มกับรากสะเดาดิน พอน้ำเดือดได้ที่ให้กรองน้ำต้มมาดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้กษัยอื่น ๆ

2. รักษาโรคกระเพาะ

ตำรับยาแผนไทยจะใช้รากไมยราบตากแห้ง 1 มัด มาต้มน้ำดื่มเพื่อรักษาโรคกระเพาะ แก้ระบบย่อยอาหารไม่ดีในเด็ก บำรุงกระเพาะ แก้ลำไส้อักเสบ และแก้บิด

3. แก้ไอ ขับเสมหะ

รากของไมยราบมีสรรพคุณช่วยแก้ไอ  ขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยนำรากไมยราบตากแห้ง หรือจะใช้รากสดล้างสะอาดก็ได้ในปริมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นชา จะช่วยบรรเทาอาการไม่สบายดังกล่าวได้

4. แก้ไข้ ดับพิษร้อน

ตำรับยาแผนไทยใช้ไมยราบทั้งต้นต้มน้ำกินแก้พิษไข้ ดับร้อน โดยจิบน้ำต้มจากต้นไมยราบต่างน้ำชา

5. บรรเทาอาการปวดประจำเดือน

น้ำต้มจากรากไมยราบมีฤทธิ์ระงับประสาท จึงช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ และการดื่มน้ำอุ่น ๆ ก็ยังมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เลือดลมเดินสะดวกขึ้นด้วย

6. บรรเทาอาการปวดข้อ

รากของใบไมยราบมีฤทธิ์เป็นยาระงับประสาท จึงสามารถนำรากมาต้มเป็นชาจิบเพื่อบรรเทาอาการปวดกระดูก ปวดตามข้อได้

7. แก้โรคหนองในและนิ่วในถุงน้ำดี

ตำรับยาจากฟิลิปปินส์ใช้น้ำต้มจากรากไมยราบ ดื่มแก้โรคหนองในและโรคนิ่วในถุงน้ำดี

8. แก้งูสวัด เริม

นำใบไมยราบล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียด ผสมเหล้าขาวลงไปเล็กน้อย พอให้คั้นน้ำแล้วนำมาพอกผิวที่เป็นแผล มีอาการเริม มีตุ่มงูสวัด ได้วันละ 3-4 ครั้ง

9. แก้ลมพิษ ผื่นคัน

ใช้ต้นไมยราบตำผสมเหล้าขาว ทาบริเวณที่เป็นลมพิษให้ทั่ว

10. แก้แผลมีหนอง

นำใบไมยราบล้างสะอาด จากนั้นนำมาตำใส่ข้าวสุก เกลือ 1 เม็ด พิมเสน 2-5 เกล็ด ตำให้ละเอียด พอกแผลที่มีหนอง หรือพอกหัวฝี

11. แก้ตกขาว ขับระดู

ท่านใดมีอาการตกขาวมาก ลองนำใบไมยราบมาต้มกับหญ้าหวาดหลุบ ต้มแล้วกรองให้ได้เป็นชา ใช้ดื่มและใช้อาบน้ำ

12. แก้แมลงสัตว์กัดต่อย

ใบไมยราบที่ล้างน้ำจนสะอาด สามารถนำมาขยี้พอให้น้ำใบออก แล้วมาแปะไว้ตรงที่แมลงสัตว์กัดต่อย จะช่วยบรรเทาอาการคัน และอาการแสบร้อนบนผิวที่ถูกแมลงกัดได้

13. คลายเครียด

เนื่องจากรากไมยราบมีฤทธิ์ระงับประสาท จึงช่วยคลายเครียดและช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้นได้ โดยนำรากไมยราบตากแห้งมาต้มน้ำ จิบเป็นชาไมยราบช่วยคลายเครียด

14. บำรุงสตรีหลังคลอด

นำรากสดของไมยราบ ประมาณ 3-5 ราก มาต้มน้ำดื่ม ครั้งละประมาณครึ่งแก้วน้ำชา ดื่มวันละ 2-3 ครั้ง ช่วยบำรุงร่างกายสตรีหลังคลอดได้

15. ลดน้ำตาลในเลือด

ภาควิชาเภสัชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการทดลองสรรพคุณไมยราบกับการลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งจากการทดลองกับสัตว์ (หนูทดลอง) ที่เป็นปกติและกลุ่มที่ป่วยเป็นเบาหวาน พบว่า ต้นไมยราบที่สกัดด้วยเอธานอล, ปิโตรเลียมอีเธอร์ และส่วนที่ตรวจพบ Quaternary alkaloids สารสกัดจากต้นไมยราบกับสารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่ป่วยเป็นเบาหวาน (โดยการเหนี่ยวนำให้เกิดโรค) โดยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ร้อยละ 20 และลดได้เป็นครึ่งหนึ่งของยารักษาโรคเบาหวาน (Tolbutamide)

ส่วนการศึกษาความเป็นพิษของไมยราบนั้น จากการทดลองกรอกน้ำต้มไมยราบให้หนูทดลองนาน 6 เดือน ก็ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ในสุขภาพของหนูทดลอง แต่อย่างไรก็ตาม สรรพคุณลดน้ำตาลในเลือดของไมยราบยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับสัตว์เท่านั้น ทว่าผลลดน้ำตาลในเลือดกับคนยังจำเป็นต้องมีการศึกษาทดลองทางด้านคลินิกต่อไป..

 

ไมยราบ และโทษที่ต้องระวัง

          เมื่อมีคุณก็อาจจะมีโทษด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงมีข้อควรระวังในการใช้ไมยราบที่อาจส่งผลต่อสุขภาพดังนี้..

          – ไม่ควรรับประทานไมยราบต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เพราะไมยราบมีฤทธิ์ต่อสมองส่วนกลาง

          – ไม่ควรใช้ไมยราบไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม ในสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร

          – ไม่ควรใช้ไมยราบกับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

          ทั้งนี้ การจะใช้ยาสมุนไพรใด ๆ เพื่อบำบัดอาการต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย.


วิทยานิพนธ์ (วท.ม.)–จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526
การศึกษาปริมาณมิโมซีนในไมยราบยักษ์และกระถินยักษ์

พบว่าในทุกส่วนของไมยราบยักษ์ไม่มีสารมิโมซีน แต่ในกระถินยักษ์พบว่าทุกส่วนมีมิโมซีน ซึ่งมีค่าเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยต่อน้ำหนักแห้งเรียงตามลำดับมากไปหาน้อยได้ดังนี้ เมล็ด 6.91%, ใบอ่อน 5.75%, ดอก 5.66%, ผัก 5.25%, ใบที่โตเต็มที่ 3.09%, ก้านใบ 1.82%, ราก 1.33% และลำต้น 0.42%

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณโปรตีนของไมยราบยักษ์กับกระถินยักษ์ถ้าหักค่าไนโตรเจนของมิโมซินออกจากไนโตรเจนรวมพบว่าในใบอ่อนและเมล็ดของไมยราบยักษ์จะมีค่าโปรตีนสูงกว่ากระถินยักษ์ ส่วนค่าโปรตีนในใบที่โตเต็มที่ ก้านใบ และลำต้น ของไมยราบยักษ์มีค่าใกล้เคียงกับกระถินยักษ์ แต่ในดอก ฝัก และรากของกระถินยักษ์มีค่าโปรตีนสูงกว่าไมยราบยักษ์ ไมยราบยักษ์มีค่าเปอร์เซ็นต์โปรตีนเฉลี่ยต่อน้ำหนักแห้งเรียงตามลำดับมากไปหาน้อย คือ เมล็ด 27.99%, ใบอ่อน 26.94%, ใบที่โตเต็มที่ 24.08%, ดอก 19.52% ฝัก 18.72%, ก้านใบ 9.67%, ราก 4.97% และลำต้น 4.18% ส่วนเปอร์เซ็นต์โปรตีนเฉลี่ยต่อน้ำหนักแห้งในกระถินยักษ์เมื่อหักค่าไนโตรเจนของมิโมซีนออกมีค่าเรียงตามลำดับมากไปหาน้อย คือ ใบอ่อน 25.63%, เมล็ด 25.57%, ใบที่โตเต็มที่ 24.65%, ฝัก 21.58%, ดอก 21.26%, ก้านใบ 9.51%, ราก 5.76% และลำต้น 4.28%

ฤดูกาลมีผลต่อการเจริญเติบโต ปริมาณมิโมซีนและปริมาณโปรตีน พบว่าในฤดูฝนพืชทั้งสองชนิดจะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าในฤดูร้อนและฤดูหนาว ปริมาณโปรตีนของไมยราบยักษ์ในฤดูฝนสูงกว่าในฤดูร้อนและฤดูหนาวเช่นเดียวกับปริมาณมิโมซีนในกระถินยักษ์

ขอบคุณ https://www.tnews.co.th/social/466123/..
https://www.google.com/search?q=%E0%B8%A3..
https://health.kapook.com/view111595..

รำข้าว คือ?..คุณค่าทางอาหาร ..มหัศจรรย์จากน้ำมันรำข้าว