เลี้ยงสัตว์ » แบบฟอร์มขอรับสิทธิบริการของกรมพัฒนาที่ดิน ขุดบ่อให้ฟรี!!

แบบฟอร์มขอรับสิทธิบริการของกรมพัฒนาที่ดิน ขุดบ่อให้ฟรี!!

17 พฤษภาคม 2020
5986   0

แบบฟอร์มขอรับสิทธิบริการของกรมพัฒนาที่ดิน ขุดบ่อให้ฟรี!!

ก.เกษตรฯ บูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มอบกรมพัฒนาที่ดินขุด “บ่อจิ๋ว” เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน และในพื้นที่ที่ระบบส่งน้ำไปไม่ถึง ตั้งเป้า 40,000 บ่อทั่วประเทศ ภายในปี 2563

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในมาตรการความช่วยเหลือคือการดำเนินโครงการขุดแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยการขุดสระน้ำในไร่นา ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร หรือ “บ่อจิ๋ว” ที่ดำเนินการโดยกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน และในพื้นที่ที่ระบบส่งน้ำไปไม่ถึง ถือเป็นการเพิ่มผลผลิตและรายได้แก่เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร โดยในปีงบประมาณ 2563 มีเป้าหมายในการขุดสระน้ำในไร่นา 40,000 บ่อทั่วประเทศ..

สำหรับโครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 – 2562 มีจำนวนมากกว่า 500,000 บ่อ ความสามารถเก็บกักน้ำได้ 524 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 1 ล้านไร่ ได้รับประโยชน์มากกว่า 500,000 ครัวเรือน ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้มอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ชี้แจงทำความเข้าใจให้ความรู้กับเกษตรกรและสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่มีความสนใจ ให้แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ ซึ่งเกษตรกรจะต้องกรอกรายละเอียดความต้องการในการสมัคร และเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดิน จะเรียงลำดับความต้องการเป็นข้อมูลรวบรวมเก็บไว้ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดสรรแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานในพื้นที่จังหวัด ตามที่ได้มอบหมายพื้นที่รับผิดชอบในแต่ละอำเภอในจังหวัดนั้น โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

1) พื้นที่ขุดสระน้ำ จะต้องเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่เป็นเกษตรกรเป็นเจ้าของ และมีเอกสารสิทธิ์ และมีหนังสือยินยอมให้เข้าดำเนินการขุดสระน้ำ

2) เกษตรกรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขุดสระน้ำ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าขนย้ายเครื่องจักร จำนวน 2,500 บาทต่อบ่อ ให้ผู้รับจ้าง โดยเกษตรกรที่สนใจให้เตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการสมัคร คือ ..

1. แบบฟอร์มความต้องการฯ 1 ฉบับ

2. แบบฟอร์มยืนยันความพร้อมฯ 1 ฉบับ

3. สำเนาบัตรประชาชน 2 ฉบับ

4. สำเนาทะเบียนบ้าน 2 ฉบับ

5. สำเนาเอกสารสิทธิ 2 ฉบับ

(เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ)

..จากนั้นกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินจะเข้าตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ขุดสระน้ำ และความพร้อมของเกษตรกร จากนั้นกรมพัฒนาที่ดินจะให้การสนับสนับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามความเหมาะสม พร้อมคำแนะนำทางวิชาการ ในการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร ลดต้นทุน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม..


รายละเอียดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินจะตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ขุดสระน้ำ และความพร้อมของเกษตรกร โดยมีขั้นตอนการคัดเลือกเข้าโครงการ ดังนี้

  1. คัดเลือกเกษตรกรจากแผนความต้องการสระน้ำที่เกษตรกรได้มายื่นความจำนงไว้แล้ว โดยนำความต้องการของเกษตรกรที่มาแจ้งความจำนงในการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นา พิจารณาความสำคัญจากจังหวัดที่มีความต้องการมาก มาพิจารณากำหนดเป้าหมายและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ
  2. สถานีพัฒนาที่ดินและหมอดินอาสาประจำตำบล/หมู่บ้าน สำรวจศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของเกษตรกรที่แจ้งความต้องการขุดสระน้ำไว้แล้ว

2.1 เกษตรกรมีความตั้งใจประกอบอาชีพทางการเกษตร มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ และสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขุดสระน้ำ บ่อละ 2,500 บาท

2.2 เกษตรกรเป็นเจ้าของพื้นที่ก่อสร้างที่ใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร มีเอกสารสิทธิ์ และหนังสือยินยอมให้เข้าดำเนินการก่อสร้าง

สำหรับการคัดเลือกตามพื้นที่เป้าหมาย มีรายละเอียดดังนี้

  1. พื้นที่ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ต้องเป็นของเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองที่ดิน หรือเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน โดยต้องมีหลักฐานเอกสารสิทธิ์ที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ออกให้ ได้แก่โฉนด น.ส.3 น.ส.3 ก. น.ส.2 น.ส.2 ก. ส.ป.ก. 4-01 ส.ป.ก.4-14 ส.ป.ก.4-18 น.ค.3 ก.ส.น.5 ส.ค.1 คทช. และพื้นที่โครงการพระราชดำริที่มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร สำหรับ น.ส.2 และ น.ส.2 ก. ต้องมีการตรวจสอบ ดังนี้

1.1 ผู้มีความประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการขุดสระน้ำ ต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้มีสิทธิตามเอกสารสิทธิ์ในที่ดินประเภทใบจอง เว้นแต่กรณี ผู้มีสิทธิดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว ผู้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายอาจเป็นผู้ยื่นคำขอดังกล่าวแทนได้ (เอกสารสิทธิ์ประเภทใบจองไม่สามารถทำการซื้อขายหรือให้โดยเสน่หาได้)

1.2 ต้องมีการตรวจสอบว่าผู้รับใบจองหรือผู้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวแล้วจริง

  1. เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ขาดแคลนระบบที่จะจัดส่งน้ำไปถึงได้ตลอดปี และประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำ หรือแล้งซ้ำซาก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ หรือสอบถามเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานในพื้นที่ โดยสถานีพัฒนาที่ดิน ควรจะมีการทำรายงานบันทึกข้อสังเกตไว้
  2. คัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานตามเงื่อนไขของโครงการ เป็นลำดับแรก คือเป็นพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของดิน หลีกเลี่ยงพื้นที่เป็นดินทรายจัด พื้นที่เกลือขึ้นเป็นดินเค็ม พื้นที่ซึ่งมีก้อนหินขนาดใหญ่

ซึ่งหากก่อสร้างไปจะทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้นาน และคุณภาพน้ำไม่ดี และควรพักการปลูกพืช เพื่อความสะดวกในการเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง โดยเจ้าหน้าที่บริษัทผู้รับจ้างร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินและหมอดินอาสา จะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ที่คัดเลือกและสอบถามเกษตรกร

  1. พื้นที่ดำเนินการควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 30 x 40 ตารางเมตร โดยจะใช้ก่อสร้างสระอย่างน้อย 20 x 30 x 2.1 เมตร เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้โดยสะดวก และสามารถทำการเกลี่ยดิน ตกแต่งคันบ่อได้อย่างเรียบร้อย

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ldd.go.th หรือติดต่อสถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้านทุกจังหวัด.