หลังจากทีมข่าว “คม ชัด ลึก” สำรวจพบฟาร์มหมูหลายจังหวัดใช้ยา “โคลิสติน” ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นตัวแพร่กระจายยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ “เอ็มซีอาร์-วัน” ล่าสุดพบว่ามีการฉีดยาโคลิสตินและมีสูตรอาหารเฉพาะสำหรับเลี้ยงหมู โดยผู้เลี้ยงไม่ทราบว่ามียาหรือสารเคมีชนิดใดบ้างเจือปนในอาหารถุงสำเร็จรูป

ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อดื้อยาเตือนพิษอันตราย จากการให้หมูกินและฉีดโคลิสติน ทำให้เกิดยีนดื้อยาเอ็มซีอาร์-วัน และสารตกค้างในฮอร์โมนเนื้อหมู อาจทำให้เกิดพิษกับผู้บริโภค มีอาการไตวายได้

ด้านสัตวแพทย์จุฬาฯ เสนอให้ยาปฏิชีวนะ “โคลิสติน” เป็นยาสั่งโดยสัตวแพทย์เท่านั้น ไม่ให้วางขายทั่วไป เพราะเจ้าของฟาร์มหมูใช้ผิดวิธีมานาน ทำให้เกิดปัญหาการแพร่เชื้อดื้อยา

ล่าสุดทีมข่าว “คม ชัด ลึก” ออกสำรวจฟาร์มหมูในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี เจ้าของฟาร์มรับจ้างเลี้ยงหมูในสุพรรณบุรีรายหนึ่งอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปดูภายในฟาร์มพร้อมเปิดเผยข้อมูลว่า ฟาร์มมีหมูอยู่ประมาณ 400 ตัวแบ่งเป็น พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์และหมูขุน โดยรับเลี้ยงหมูจากนายทุน โดยมีเงื่อนไขว่าการเลี้ยงหมูในแต่ละรอบจะมีประมาณ 400 ตัว ต้องเลี้ยงไม่ให้หมูตายเกิน 3 ตัว หากตายมากกว่านั้นจะโดนหักเงิน นักลงทุนผู้จ้างเลี้ยงจะเป็นผู้รับผิดชอบในการส่งยาขวดจำนวนหลายชนิดมาให้ฉีดหมูในฟาร์มเป็นระยะๆ ตั้งแต่ยังเป็นลูกหมูจนตัวใหญ่กลายเป็นหมูขุน รวมถึงอาหารจะส่งมาให้เป็นถุงสำเร็จรูป โดยไม่รู้มาสูตรอาหารในถุงนั้นมีอะไรเป็นส่วนผสมบ้าง สำหรับการแบ่งรายได้ใช้วิธีการนับจำนวนจากหมูขุนที่ขายได้ โดยจะได้ส่วนแบ่งกิโลกรัมละ 20

“เขาก็มาแนะนำว่า ถ้าหมูป่วยมีอาการนอนซมจะฉีดยาเจนตา (GENTA) และเซฟโฟแทกซ์ (CEFOTAX) ผสมกัน ฉีดประมาณ 3 ครั้งคือ เช้า เย็น เช้า แต่ถ้าหมูยังป่วยอยู่แสดงว่าดื้อยา 2 ตัวนี้ ให้ฉีดโคลิสตินกับยาอะม็อกซิล พวกนี้จะช่วยแก้หมูป่วยที่เป็นโรคบิด ท้องเสีย ฯลฯ ส่วนใหญ่จะฉีดให้หมูเกือบทุกเดือน” นายวีระกล่าว..

ผู้สื่อข่าวพบว่ายาโคลิสตินที่เกษตรกรรับจ้างเลี้ยงหมูข้างต้นฉีดนั้น บรรจุในขวดที่มีชื่อยี่ห้อกำกับอยู่ที่ฉลากด้านหน้าขวดเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า เดลต้าซิน DELTACIN พร้อมด้วยข้อความว่า “ยาใช้เฉพาะฟาร์ม ยาอันตราย ยาสำหรับสัตว์” ส่วนฉลากด้านหลังขวดระบุว่า ส่วนประกอบใน 1 ซีซี มีส่วนผสมของ ไดเมทธิดาโซล 120 มก. และ โคลิสติน ซัลเฟต 6 แสนไอยู สรรพคุณ ใช้รักษาโรคบิด บิดมูกเลือด พีไอเอ ท้องเสีย ลำไส้อักเสบที่เกิดจากเชื้ออี.โคไล. และมีแถบสีแดงตัวอักษรสีขาวระบุไว้ชัดเจนเป็นภาษาอังกฤษว่า “FOR VETERINARY USE ONLY” หรือสำหรับสัตวแพทย์ใช้เท่านั้น โดยไม่มีเลขทะเบียนยาแต่อย่างใด

แฉฟาร์มหมูใช้โคลิสตินกันอื้อ

ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ กล่าวถึงปัญหาการปล่อยให้ซื้อขายยาปฏิชีวนะ “โคลิสติน” โดยไม่ควบคุมว่า จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาแพร่กระจายอย่างรุนแรง และไม่ใช่เชื้อดื้อยาธรรมดา แต่เป็นยีนดื้อยาที่วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังกลัวกันว่าจะทำให้มนุษย์ในอนาคตเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะในฟาร์มหมูของไทยนั้นไม่ได้แค่พบเพียงยาโคลิสตินที่ถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังพบโคลิสตินที่เป็นยาเถื่อนหรือยาไม่มีทะเบียนยารวมอยู่ด้วย จากการตรวจสอบรายละเอียดขวดยาใช้แล้วจำนวน 96 ขวดที่ได้จากฟาร์มหมูขนาด 300 กว่าตัวแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ตามที่ “คม ชัด ลึก” รายงานข่าวไปแล้วนั้น ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวสรุปถึงปัญหาที่น่าเป็นห่วง 3 ประการ คือ..

“จุดที่น่าเป็นห่วงมาก คือ จำนวนยา 96 ขวดที่ใช้แล้วนั้น..

1.พบว่าใช้ยาต้านแบคทีเรียหลากหลายชนิด มีถึง 9 ชนิด ที่ไม่ซ้ำกัน และเป็นยาชนิดที่ค่อนข้างแรง

2.เอายาสำหรับคนมาใช้ในสัตว์ เช่น ยาเซฟไตรอะโซน 7 ขวด เป็นยาคนสำหรับฉีดฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่ใช้กับผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น แสดงว่าลักลอบใช้ยาคนในสัตว์ ยาคนไม่ควรมาใช้ในสัตว์

3.ใช้ยาโคลิสตินที่ไม่มีทะเบียนยา หรือยาเถื่อน ทั้งที่ยาตัวนี้แพทย์ทั่วโลกหวาดกลัวว่าหากใช้ผิดวิธี จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาแพร่กระจายอย่างรุนแรง การพบยาโคลิสเตือนเถื่อนในฟาร์มหมูหลายแห่งในประเทศไทย แสดงให้รู้ว่ามีการลักลอบใช้ยาเถื่อนและมีปัญหาการควบคุมการกระจายยาโคลิสติน”

เผยเชื้อดื้อยาลามถึงคน

ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวต่อว่า ยาโคลิสตินไม่นิยมใช้ในคนเพราะมีพิษ ส่วนในร่างกายสัตว์นั้น ยาโคลิสตินไม่ค่อยมีพิษ ทำให้ในอดีตแนะนำให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ทางเกษตร และใช้แพร่หลายในการปศุสัตว์ โดยใช้ในรูปยาสูตรผสมร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น เช่นการใช้ร่วมกับอะม็อกซีซิลลิน(Amoxycillin) ที่เป็นยารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ แต่พอประเทศจีนเปิดเผยผลวิจัยล่าสุดเมื่อปี 2558 พบการดื้อยาโคลิสตินในฟาร์มหมูของจีน ที่เป็นชนิดข้ามสายพันธุ์ได้ (horizontal gene transfer) มีการวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสายพันธุกรรมนี้ ที่เรียกว่า ยีนเอ็มซีอาร์ – วัน (MCR-1 gene)

“ช่วงนั้นถือเป็นการพบครั้งสำคัญของโลก ทำให้รู้ว่ามีการส่งสายพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาคนและจากคนไปสัตว์ได้เนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 สื่อมวลชนของสหรัฐอเมริการายงานข้อมูลการพบ “คนไข้” ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ “เอ็มซีอาร์-วัน” ซึ่งไม่เคยมีรายงานมาก่อนในวงการแพทย์ของอเมริกา โดยยีนตัวนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรงที่แม้แต่ยาต้านทานปฏิชีวนะ “โคลิสติน” ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดยังใช้ไม่ได้ผล ทำให้วงการแพทย์ทั่วโลกส่งเสียงเตือนถึงอันตรายของการใช้ยาโคลิสตินอย่างผิดวิธี เพราะจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาโคลิสตินตามตัวอย่างที่พบจากคนไข้รายแรกของอเมริกา” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว.

ที่มา  https://www.pohchae.com/2020/06/26/pig-4/