เลี้ยงสัตว์ » จ.พะเยา สั่งทำลายหมูรอบพื้นที่ 3 กิโลเมตร เบื้องต้นกว่า 300 ตัว ติดเชื้อ”ไวรัสเพิร์ส”

จ.พะเยา สั่งทำลายหมูรอบพื้นที่ 3 กิโลเมตร เบื้องต้นกว่า 300 ตัว ติดเชื้อ”ไวรัสเพิร์ส”

26 กันยายน 2020
1191   0


จ.พะเยา สั่งทำลายหมูรอบพื้นที่ 3 กิโลเมตร เบื้องต้นกว่า 300 ตัว ติดเชื้อ”ไวรัสเพิร์ส”

ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา สั่งเกาะติด “โรคเพิร์ส” หรือไวรัสหมู แพร่ระบาดในหมูของชาวบ้าน สั่งทำลายหมูรอบพื้นที่รัศมี 1-3 กิโลเมตร เบื้องต้นกว่า 300 ตัวเพื่อป้องกันการระบาด ตรวจสอบการชำแหละและจำหน่ายเนื้อหมูอย่างเข้มงวด

22 ก.ย.2563 นายมนัส นามบ้าน ผู้เลี้ยงหมู หมู่ที่ 7 ต.บ้านต๊ำ อ.เมืองพะเยา พาผู้สื่อข่าวเข้าไปดูร่องรอยของการทำลายหมูที่เลี้ยงไว้กว่า 300 ตัว หลังพบว่าในพื้นที่มีการแพร่ระบาดของโรคเพิร์ส (PRRS) หรือไวรัสหมู จึงต้องทำลายตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกัน

นายมนัส ระบุว่า สาเหตุที่ต้องทำลายหมูทั้งหมด เนื่องจากบริเวณใกล้เคียงฟาร์มของตัวเองนั้น พบการตายของหมูและมีการติดเชื้อโรคดังกล่าว ในรัศมีระยะ 1 กิโลเมตร ตามมาตรการของปศุสัตว์ จะต้องมีการทำลายหมู เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด ได้รับค่าชดเชยจากทางปศุสัตว์ร้อยละ 75 ของมูลค่าหมู

“เลี้ยงหมูมา 20 ปีไม่เจอโรคระบาด ต้องทำลายหมูที่เลี้ยงไว้ 300 ตัว และในรัศมี 1 กิโลเมตรตามมาตรการของปศุสัตว์ จะต้องมีการทำลายหมูเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและความเสียหาย”

นายสมบัติ ศุภประภากร ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา กล่าวว่า หากว่าหมูเป็นโรคเพิร์ส ต้องมีการทำลายหมู โดยรอบในรัศมีตั้งแต่ 1-3 กิโลเมตร และ 5 กิโลเมตร ตามความรุนแรงการแพร่ระบาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งปศุสัตว์วางมาตรการเฝ้าระวังต่อเนื่อง พร้อมตรวจสอบการชำแหระและจำหน่ายเนื้อหมู ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง พร้อมยืนยันโรคนี้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์..

รู้จักโรคเพริ์สในหมู 

ก่อนหน้านี้พบการระบาดของไวรัสเพิร์สในหมู ในพื้นที่จ.ลำพูนมาแล้ว สำหรับโรคเพิร์ส ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ระบุว่า โรค PRRS เป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจ มีรายงานการระบาดเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2530 ประเทศเยอรมนีในปี 2533 แล้วแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วทวีปยุโรป  

โดยเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งติดต่อได้หลายช่องทาง ทั้งทางอากาศ การสัมผัส  การเคลื่อนย้ายสัตว์ และอุปกรณ์ภายในฟาร์มที่ไม่เป็นระบบ หรือการเลี้ยงหมูหนาแน่นเกินไป ความรุนแรงคือหมูพันธุ์ มีการคลอดก่อนกำหนด แท้งในระยะท้ายของการตั้งท้อง และลูกที่คลอดอ่อนแอมีอัตราการตายแรกคลอดสูง

วิธีป้องกันคือ เกษตรกรควรมีการจัดการฟาร์มที่ดี ทั้งในส่วนของความสะอาดของฟาร์ม วัสดุอุปกรณ์ และหมู มีความเข้มงวดในเรื่องของการเข้า-ออกของบุคคลและยานพาหนะภายนอกโดยมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม.

ที่มา – https://news.thaipbs.or.th/content/296711
https://www.google.com/search?q=%E0%B8%9E%E0%B8%..