โกฐจุฬาลัมพา
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Artemisia annua L.
วงศ์ ทานตะวัน (ASTERACEAE )
ชื่อสามัญ Common wormwood
นอกจากนี้ยังมีชื่อจีนว่า ชิงฮาว, แชเฮา และ Sweet Wormwood Herb
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
เป็นไม้ล้มลุก อายุปีเดียว สูง 0.7-1.6 เมตร แตกกิ่งเยอะมาก ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนประปราย หลุดร่วงง่าย
ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง ใบบริเวณโคนต้นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกแบบขนนก 3 หรือ 4 ชั้น เป็น 5-8 คู่ แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบนแกนกลางใบมีปีกแคบ อาจจักฟันเลื่อยเล็กน้อยหรือเรียบ ใบบริเวณกลางต้นหยักลึกแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ใบใกล้ยอดรวมทั้งใบประดับหยักลึกแบบขนนก 1 หรือ 2 ชั้น ก้านใบสั้นมาก
ช่อดอก แบบช่อแยกแขนง รูปพีระมิดกว้าง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น รูปกลม มีจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 มิลลิเมตร สีเหลืองถึงสีเหลืองเข้ม ก้านช่อย่อยสั้น วงนอกเป็นดอกเพศเมียมี 10-18 ดอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายจักซี่ฟัน 5 ซี่ เกสรเพศผู้มี 5 อัน อับเรณูเชื่อมติดกัน แต่ละอันมีรยางค์ (ส่วนที่ยื่นออกมาจากส่วนหลักของอวัยวะสิ่งมีชีวิต) ด้านบน 1 อันรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน 2 อัน
ผล แบบผลแห้งเมล็ดล่อนรูปไข่แกมรี ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร
สำหรับส่วนที่ใช้ทำยาได้ดีที่สุดคือ ลำต้นแห้ง
ตำราสรรพุณยาไทยว่าโกฐจุฬาลัมพามีสรรพคุณแก้ไข้เจลียง (ไข้จับวันเว้นวัน-เป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้ ลดเสมหะ แก้หืด แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ
โกฐจุฬาลัมพาจัดเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัดโกฐทั้ง 5 (เบญจโกฐ) โกฐทั้ง 7 (สัตตโกฐ) และโกฐทั้ง 9(เนาวโกฐ)
ตำรายาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมอโนกราฟโกฐจุฬาลัมพา โดยระบุข้อบ่งใช้ว่าใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำ ๆ ที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และแก้ไข้จับสั่น
*ข้อควรระวัง
ต้นโกฐจุฬาลัมพา มีทั้งพันธุ์ดอกสีขาวและดอกสีแดง มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ดอกสีเหลือง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia princeps Pamp ด้วย แต่พันธุ์นี้จะมีพิษ ถ้าใช้เกินขนาดก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
การใช้ยา ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรใช้ตามคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อตับไต หญิงตั้งครรภ์ หรือไข้เลือดออก
แหล่งกำเนิด และการกระจายพันธุ์
พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และในทวีปเอเชียในจีนมักพบขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ข้างทาง ที่รกร้าง หรือตามชายป่า ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-3,650 เมตร มีผู้นำมาทดลองปลูกในประเทศไทยและพบว่าขึ้นได้ดี ออกดอกและเป็นผลได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน
โกฐจุฬาลัมพาที่มีขายในท้องตลาดได้จากพืชปลูกในมณฑลเหอเป่ย์ ชานตง เจียงซู หูเป่ย์ และฝูเจี้ยน ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
พื้นที่เหมาะสมในการปลูกในประเทศไทย
– ลักษณะพื้นที่ พื้นที่ดอน
– ภาค ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
– จังหวัด ทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย
การคัดเลือกพันธุ์ (พันธ์ุที่นิยมปลูกในประเทศไทย)
– พันธุ์ที่ใช้เป็นยา พันธุ์พื้นบ้านทั่วไป (ใบฝอย)
– พันธุ์ที่ใช้เป็นอาหาร พันธุ์พื้นบ้านทั่วไป (ใบฝอย)
การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ โกฐจุฬาลัมพาจะปักชำโดยการตัดต้นยาว 8 – 10 นิ้ว แล้วปักในถุงเพาะชำที่ผสมดินกับขี้เถ้าแกลบ เอาไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอประมาณ 10 – 20 วัน จะงอกรากเป็นต้นใหม่ต่อไป
การปลูก/สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูก
– ฤดูกาลเพาะปลูก ปลูกได้ทุกฤดู นิยมปลูกในฤดูหนาว และต้องรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
– การเตรียมดิน จะต้องขุดเป็นแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร ความยาวแล้วแต่ละพื้นที่ เว้นทางเดิน 50 เซนติเมตรเป็นร่องระบายน้ำผสมคลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก
– วิธีการปลูก เมื่อเตรียมแปลงปลูกแล้ว นำต้นกล้าอายุ 3 – 4 เดือน ลงปลูกห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร
ระหว่างต้น 30 เซนติเมตร กลบดินแล้วนำไปผูกเชือก รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
การปฏิบัติดูแลรักษา
– การให้ปุ๋ย เมื่อปลูกได้ 30 วัน ก็ควรพรวนดินและใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อ 1 ต้น พร้อมกำจัดวัชพืช ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์สลับกันไป เดือนละ 1 – 2 ครั้ง
– การให้น้ำ ควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ แต่ถ้ามีฝนก็ควรงดบ้าง
– การกำจัดวัชพืช ควรทำพร้อมกับการพรวนดินและใส่ปุ๋ย
-การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู โกฐจุฬาลัมพาไม่ค่อยมีแมลงศัตรูเท่าไหร่ ควรฉีดพ่นด้วยสารสะเดา หรือสารชีวภาพก็ได้
รายงานการวิจัยในปัจจุบัน
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่าสารชิงฮาวซู (อาร์เทแอนนูอินหรืออาร์เทมิซินิน) แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นชนิดฟัลซิพารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา ปัจจุบันสารชนิดนี้กับอนุพันธุ์กึ่งเคมีสังเคราะห์ของสารชนิดนี้ถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
สารสำคัญ
โกฐจุฬาลัมพามีสารอนุพันธ์เซสควิเทอร์พีนแลกโทน (sesquiterpene lactones) หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ ชิงฮาวซู (qinghaosu) หรือ อาร์เทแอนนูอิน (arteannuin) หรืออาร์เทมิซินิน (artemisinin) และพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) อีกหลายชนิด เช่น คาสทิซิน (casticin) เซอร์ซิลินีออล (cirsilineol) คริโซพลีนอลดี (chrysoplenol-D) คริโซพลีเนทิน (chrysoplenetin)
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว
– ฤดูกาลการเก็บเกี่ยว เมื่อโกฐจุฬาลัมพาออกดอก เริ่มบานได้เกินครึ่งของช่อดอก ก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ และจะเก็บเกี่ยวได้ทุกฤดูกาล
– วิธีการเก็บเกี่ยว จะต้องให้ต้นสูงจากดินประมาณ 10 เซนติเมตร จะใช้มีด หรือเคียวเกี่ยวก็ได้ และส่งแปรรูปต่อไป
– การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อได้ต้นโกฐจุฬาลัมพามาแล้ว ก็นำมาล้างน้ำให้สะอาดและตากแดดให้แห้ง หรือจะตัดเป็นท่อน ๆ ก็ได้ ตากแดดประมาณ 4 – 5 วัน ก็จะแห้ง แล้วนำไปอบอีกครั้งจนแห้งสนิท
– การบรรจุและการเก็บรักษา เมื่อได้โกฐจุฬาลัมพาแห้งมาแล้ว ก็บรรจุถุงพลาสติกมัดปากให้แน่น นำส่งจำหน่ายต่อไป
หรือจะเก็บก็ควรเก็บใส่ถุงพลาสติกมัดปากให้แน่นไม่ให้โดนน้ำ แล้วเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ
การจำหน่าย
ต้นแห้งราคากิโลกรัมละ 100-200 บาท
รายละเอียดเพิ่มเติม..
ลักษณะทางกายภาพและเคมี:
ส่วนเหนือดิน ปริมาณน้ำไม่เกิน 11% v/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2 % w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 2% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 6% w/w (THP)
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 14% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 1.9% w/w (ข้อกำหนดเภสัชตำรับจีน)
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: แก้ไข้เจลียง (คือไข้ที่มีอาการจับวันเว้นวันเป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้เพื่อเสมหะ ไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้หอบ แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้ดีซ่าน แพทย์แผนจีนใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำๆที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และแก้ไข้จับสั่น แก้ริดสีดวงทวาร
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐจุฬาลัมพาในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู ตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
โกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย ในประเทศจีนมักพบขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ข้างทางที่รกร้างหรือตามชายป่า เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยพบว่าขึ้นได้ดี และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ”
โกฐจุฬาลัมพาจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) โกฐทั้งเจ็ด(สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก “พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ส่วนเหนือดิน 3-12 กรัม ในรูปแบบยาต้ม ต่อวัน
องค์ประกอบทางเคมี:
องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญคือ สารกลุ่มเซสควิเทอร์พีนแล็กโทน (sesquiterpene lactone) ชื่อ สารชิงเฮาซู (qinghaosu) หรือ สารอาร์เทแอนนิวอิน (arteannuin) หรือสารอาร์เทมิซินิน (artemisinin สารนี้แสดงฤทธิ์ต้านมาลาเรียชนิดฟัลชิปารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (P. vivax) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา ปัจจุบันสารชนิดนี้กับอนุพันธุ์กึ่งเคมีสังเคราะห์ของสารชนิดนี้ถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศรวมทั้งจีน นอกจากนั้นยังพบว่าเครื่องยาชนิดนี้ยังมีสารกลุ่มฟลาวานอยด์หลายชนิดซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นกับสารอาร์เทมิซินิน เช่น casticin, cirsilineol , chysoplenol-D , chrysoplenetin เป็นต้น..
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลอง ของใบโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ได้จากแหล่งต่างๆ ของประเทศบราซิล โดยวิธีการแช่ (infusion) เตรียมสารทดสอบโดยใช้ผงใบ 5 กรัม แช่สกัดในน้ำเดือด ปิดฝา และตั้งทิ้งไว้เป็นเวลา 15 นาที แล้วนำไปกรอง ทดสอบสารสกัดเพื่อดูความไวของสารทดสอบต่อเชื้อ Plasmodium falciparum สายพันธุ์ K1 และ 3d7 ที่แยกได้จากประเทศบราซิล ซึ่งดื้อต่อยาคลอโรควีน แต่ไวต่อยาควินิน และอาร์ทีมิซินิน ผลการทดสอบพบว่าใบโกฐจุฬาลัมพาจาก 4 แหล่ง มีปริมาณของอาร์ทีมิซินิน อยู่ระหว่าง 0.90-1.13% ความเข้มข้นของอาร์ทีมิซินินที่ได้จากการแช่สกัดใบ อยู่ในช่วง 40-46 mg/L ผลจากการทดสอบพบว่าสารสกัดใบด้วยวิธีการแช่สกัดจากทั้ง 4 แหล่ง ออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อ P. falciparum สายพันธุ์ K1 และ 3d7 โดยมีค่า IC50 ต่ำ อยู่ระหว่าง 0.08-0.10 และ 0.09-0.13 μL/mL ตามลำดับ (Silva, et al., 2012)
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนู (RAW 264.7 macrophage cell lines) ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) ใช้สารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดิน (ใบ และกิ่ง) ก่อนออกดอกของโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ในขนาด 50, 25, 12.5 และ 6.25 μg/mL และส่วนสกัดย่อย F1-F4 ที่ได้จากการแยกสารสกัดเอทานอลด้วยเทคนิค silica gel column chromatography ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลที่ความเข้มข้น 6.25 μg/mL และส่วนสกัดย่อย F2 มีฤทธิ์ในการยับยั้ง NO สูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72.39 และ 71.00 ตามลำดับ โดยที่ไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ macrophage โดยมีอัตราการมีชีวิตรอดของเซลล์คิดเป็นร้อยละ 93.86 และ 79.87 ตามลำดับ (Chougouo, et al., 2016)
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส
ทดสอบการยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสในหลอดทดลอง (อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส เป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acethylcholine ในสมอง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และความจำ การยับยั้งเอนไซม์นี้ จึงเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์) ทดสอบด้วยวิธี Ellman’s colorimetric method ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลส่วนเหนือดิน (ใบ และกิ่ง) ก่อนออกดอกของโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ความเข้มข้น 1 mg/mL สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสได้ คิดเป็นร้อยละ 71.83 มีค่า IC50 เท่ากับ 87.43 μg/mLในขณะที่ส่วนสกัดย่อย F2 และ F4 ที่ได้จากการแยกสารสกัดเอทานอลด้วยเทคนิค silica gel column chromatography มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสสูง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 36.75 และ 28.82 μg/mLตามลำดับ สารบริสุทธิ์ 2 ชนิด ได้แก่ อาร์ทีมิซินิน และ chrysosplenetin ที่แยกได้จากการสกัดเอทานอลจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 0.1 mg/mL มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 71.67 และ 80.00 ตามลำดับ มีค่า IC50 เท่ากับ 29.34 และ 27.14 μg/mL ตามลำดับจากการศึกษาสารที่ได้จากโกฐจุฬาลัมพาพบว่ามีศักยภาพในการนำมาพัฒนายาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมถึงใช้ในโรคที่มีความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับไนตริกออกไซด์ และเอนไซม์โคลีนเอสเทอรเรสได้ (Chougouo, et al., 2016)
การศึกษาทางคลินิก:
ฤทธิ์ระงับอาการปวด
การศึกษาทางคลินิกที่ยืนยันถึงประสิทธิผล และความปลอดภัยของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ใช้ระงับอาการปวด, และอาการข้อแข็ง ในผู้ป่วยโรคข้อที่สะโพกหรือเข่าเสื่อม เป็นการศึกษาแบบ short-term randomized, placebo-controlled, double-blind study โดยทำการสุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 35-75 ปี จำนวน 42 คน แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150, 300 mg และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับยาวันละสองครั้ง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นประเมินประสิทธิผลด้วย Western Ontario and McMaster Universities Osteoarthritis Index (WOMAC®) และประเมินอาการปวดด้วย visual analog scale (VAS) ผลการทดสอบพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150 mg มีอาการดีขึ้นจากการประเมินด้วย WOMAC® อย่างมีนัยสำคัญ (mean change, −12.2; standard deviation, SD 13.84; p=0.0159) และยังพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150 mg มีอาการปวดลดลงจากการประเมินด้วย VAS อย่างมีนัยสำคัญ (mean change, −21.4 mm; SD, 23.48 mm; p=0.0082) ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอก และได้รับสารสกัดขนาด 300 mg ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า สารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาดต่ำ 150 mg มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และระงับปวดในผู้ป่วยกระดูกและข้ออักเสบได้ (Stebbings, et al., 2016)
เอกสารอ้างอิง:
1. Chougouo RDK, Nguekeu YMM, Dzoyem JP, Awouafack MD, Kouamouo J, Tane P, et al. Anti-inflammatory and acetylcholinesterase activity of extract, fractions and five compounds isolated from the leaves and twigs of Artemisia annua growing in Cameroon. SpringerPlus. 2016;5:1525.
2. Silva LFR, Magalhães PM, Costa MRF, Alecrim MGC, Chaves FCM, Hidalgo AF, et al. In vitro susceptibility of Plasmodium falciparum Welch field isolates to infusions prepared from Artemisia annua L. cultivated in the Brazilian Amazon. Memórias do Instituto Oswaldo Cruz. 2012;107(7):859-866.
3. Stebbings S, Beattie E, McNamara D, Hunt S. A pilot randomized, placebo-controlled clinical trial to investigate the efficacy and safety of an extract of Artemisia annua administered over 12 weeks, for managing pain, stiffnessand functional limitation associated with osteoarthritis of the hipand knee. Clin Rheumatol. 2016; 35: 1829-1836.
ขอขอบคุณ ข้อมูล :BIOTHAI,โกฐจุฬาลัมพา โดยกรมการแพทยแผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
https://www.sanook.com/home/30789/
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=28
https://www.google.com/search?q=%E0..
ภาพ :istockphoto
>“รางจืด”ราชาสมุนไพร.. ช่วยขับล้างพิษในร่างกาย