รวมความรู้ การเลี้ยงแกะ(ตอน1)
การเลี้ยงแกะของเกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงเป็นรายได้เสริม ลักษณะการเลี้ยงจึงปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้หลักวิชาการ เพราะมักเข้าใจว่าแกะสามารถหากินได้เก่ง รวมทั้งต้องการลดต้นทุนการเลี้ยง อย่างไรก็ตามหากผู้เลี้ยงไม่เอาใจใส่ปรับปรุงการเลี้ยงให้ถูกต้อง ผลตอบแทนจากการเลี้ยงจะน้อยลงเป็นเงาตามตัว เช่น สุขภาพทั่วไปไม่สมบูรณ์ ให้ลูกอ่อนแอ อัตราการของลูกระยะก่อนหย่านมสูง เป็นต้น..
ดังนั้น เกษตรกรผู้สนใจและคิดจะเริ่มเลี้ยงแกะ จึงควรให้ความเข้าใจการเลี้ยงอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกำไรจากการเลี้ยงสูงที่สุด..
เป้าหมายการเลี้ยงแกะ
1.1 ข้อดีในการเลี้ยงแกะ
– ให้ผลผลิตและผลตอบแทนเร็วกว่าการเลี้ยงโค
– ขนาดตัวเล็ก ให้พื้นที่น้อย เลี้ยงดูง่าย
– ให้ผลผลิตเนื้อ หนัง ขน
1.2 เป้าหมายในการเลี้ยงแกะ
– เพื่อเพิ่มจำนวนลูกหย่านมต่อปีให้สูงขึ้น โดย..
– ลดช่วงห่างการให้ลูกลง จาก 10-12 เดือน เป็น 7-8 เดือน ดูแลจัดการเรื่องการผสมพันธุ์ให้พ่อแม่พันธุ์มีความสมบูรณ์
– เพิ่มจำนวนลูกต่อครอกให้สูงขึ้น คัดเลือกลูกแกะที่เกิดจากลูกแฝดมาเลี้ยง ดูแลการให้อาหารเพิเศษแก่แม่พันธุ์ 2 สัปดาห์ก่อนผสมพันธุ์
พันธุ์แกะที่กรมปศุสัตว์ส่งเสริม
1.) แกะพันธุ์คาทาดิน
กรมปศุสัตว์ได้รับการสนับสนุนพ่อพันธุ์นี้จากสถาบันวินร็อค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2532 เป็นแกะเนื้อ ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เลี้ยงปล่อยตามทุ่งหญ้าธรรมชาติได้โดยไม่ต้องเสริมอาหารข้น ผลัดขนเองเมื่ออากาศร้อน ทนพยาธิภายในมากกว่าแกะพันธุ์อื่น เนื้อแกะคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นสาบ น้ำหนักแรกเกิด 2.5-3.1 กก. น้ำหนักหย่านม 18-20 กก. โตเต็มที่ตัวผู้หนัก 90 กก. ตัวเมีย 55-60 กก.
2.) แกะพันธุ์ซานตาอิเนส
เป็นแกะเนื้อ จากประเทศบราซิล ปี พ.ศ.2540 ขนาดใหญ่ ใบหูยาวปรก หน้าโค้งนูน มีหลายสี น้ำหนักแรกเกิด 2.5-3.5 กก. น้ำหนักหย่านม 18-20 กก. โตเต็มที่ตัวผู้หนัก 80-90 กก. ตัวเมีย 60 กก.
3.) แกะพันธุ์บาร์บาโดส แบล็คเบลลี
เป็นแกะเนื้อ มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะบาร์บาโดส แถบทะเลแคริเบียน มีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม และมีสีดำที่ใต้คาง ใต้ใบหู ขอบตา และบริเวณพื้นท้องลงมาถึงใต้ขา มีลักษณะพิเศษคือให้ลูกดก อัตราการเกิดลูกแฝดสูง 60.8% แม่แกะวัยเจริญพันธุ์หนัก 45 กก. ขนาดครอก 1.5-2.3 ตัวต่อครอก น้ำหนักแรกเกิดลูกเดี่ยว 3.0 กก. ลูกแฝด 2.8 กก. น้ำหนักหย่านมอายุ 4 เดือน ลูกเดี่ยว 1.7 กก. ลูกแฝด 13.4 กก. และน้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 68-90 กก. เพศเมีย 40-59 กก.
4) แกะเนื้อพันธุ์ดอร์เปอร์
มีลักษณะเนื้อที่มีคุณภาพสูง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ทนแล้ง มีลำตัวสีขาว หัวสีดำ ไม่มีเขา
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้นำแกะพันธุ์เซ้าท์แอฟริกันมัตตอนเมอริโน, แกะพันธุ์คอร์ริเดลและแกะพันธุ์บอนด์ ซึ่งให้ผลผลิตทั้งเนื้อและขนที่มีลักษณะดีเข้ามาเลี้ยงปรับปรุงพันธุ์แกะในประเทศ เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร..
พฤติกรรมที่แตกต่างระหว่างแกะกับแพะ
1. แกะมีนิสัยชอบเล็มหญ้าในทุ่งที่โล่งเตียน ต่างจากแพะ ซึ่งชอบปีน กินใบไม้ เปลือกไม้
2. แกะสามารถอยู่ในพื้นที่ชุ่มชื้นและร้อนได้ดีกว่าแพะ
3. แพะสามารถปีน กระโดดข้าม หรือแม้แต่การขุดดินมุดรั้วได้ ซึ่งแกะทำไม่ได้
4. แพะฉลาดกว่าแกะ หันหน้าเข้าสู้กับศัตรู ขณะที่แกะจะวิ่งหนีศัตรู ขี้ขลาด และแกะมักอยู่รวมกันเป็นฝูง
5. พ่อพันธุ์แพะจะดึงดูดความสนใจจากตัวเมีย โดยการปัสสาวะรดที่ขาหน้าท้อง อก และเครา แต่แกะจะมีกลิ่นตัวฉุนรุนแรงเพิ่มขึ้นในระยะผสมพันธุ์
นิสัยการกินอาหารของแกะ
แพะ สามารถกินหญ้าได้หลายชนิดและพุ่มไม้ต่างๆ แต่แกะมีนิสัยชอบเลือกกินหญ้า หรือพืชที่มีลำต้นสั้น ชอบกินหญ้าที่งอกขึ้นใหม่ๆ หญ้าหมักและใบพืชผัก ตลอดจนพืชหัวประเภทต่างๆ ซึ่งอาจเลี้ยงแกะในแปลงผักต่างๆ หลังการเก็บเกี่ยวได้ แต่ควรปล่อยให้ใบพืชผักเหล่านั้นแห้งน้ำก่อน เนื่องจากถ้ากินในขณะพืชผักนั้นยังสดอยู่ อาจทำให้แกะท้องอืดได้ เพราะพืชผักนั้นมีน้ำมาก และควรระวังยาฆ่าแมลงที่ใช้ในส่วนพืชผักนั้นด้วย..
แกะ เดินแทะเล็มหญ้าวนเวียนไม่ซ้ำที่กันแม้จะมีหญ้าอยู่มากก็ตามก็ยังคงเดินต่อไป ยิ่งมีหญ้ามากแกะก็จะเลือกมาก มักเลือกกินแต่หญ้าอ่อนๆ เช่นเดียวกับแพะซึ่งไม่ชอบกินหญ้าในที่เดียวกันเป็นเวลานานๆ การเลี้ยงแกะที่มีอายุมากหรือลูกแกะที่ยังเล็กควรเลี้ยงในแปลงหญ้าที่มีคุณภาพดี เพราะฟันของแกะเหล่านี้ไม่ค่อยดี ..
ในการปล่อยแกะแทะเล็ม ควรปล่อยแกะลงกินหญ้าที่มีความสูงจากพื้นดินอยู่ระหว่าง 4-8 นิ้ว ส่วนแพะชอบกินหญ้าที่มีความสูงมากกว่า 10 นิ้ว จนถึงความสูงที่สุดเท่าที่จะกินได้ ไม้พุ่มไม้หนามแพะจะชอบกินมาก รวมทั้งยอดอ่อนของต้นพืช ส่วนแกะจะเก็บกินหญ้าที่สั้นตามหลัง
การเลี้ยงแกะในสวนยาง สวนผลไม้ เช่น ส่วนมะม่วง มะขาม และขนุน เป็นต้น เพื่อช่วยกำจัดวัชพืช แกะสามารถกินผลไม้ที่ร่วงหล่นลงเป็นอาหารได้ด้วย นอกจากนี้ยังอาศัยร่มเงาของต้นไม้หลบแสงแดดร้อนได้ แต่ไม่ควรปล่อยแกะลงไปในส่วนที่ผลไม้ร่วมหล่นมากๆ ในครั้งแรก เพราะอาจจะกินมากเกินไป ทำให้ท้องอืดได้ ถ้าเลี้ยงปล่อยอยู่แล้วเป็นประจำก็จะไม่มีปัญหามากนัก
พฤติกรรมการกินเมื่อเลี้ยงปล่อยแทะเล็ม
– แกะจะเดินหากินอาหารได้ไกลถึงวันละ 6-8 กม.
– ปริมาณที่กินได้ 3-6% นน.ตัว (ถ้าแกะหนัก 30 กก. จะกินหญ้าสดวันละ 3กก./ตัว)
– แกะเลือกกินหญ้า 70% ไม้พุ่ม 30% แพะเลือกกินไม่พุ่ม 72% หญ้า 28%
– ถ้าขัง จะกินน้ำวันละ 0.68 ลิตร/ตัว ปล่อยเลี้ยง 2 ลิตร/ตัว
– ใช้เวลากินอาหาร 30% เคี้ยงเอื้อง 12% เดินทางหาอาหาร 12% และพักผ่อน 46%
การตัดใบไม้ให้กิน
1. การตัดใบไม้ให้กินไม่ควรให้เกิน 1 ใน 3 ของหญ้า
2. การตัดกิ่งไม้ควรเลือกกิ่งที่มีใบมากๆ ไม่แก่เกินไป
3. ควรตัดใบพืชตระกูลถั่ว เช่น ใบกระถิน แค ทองหลางให้แม่แกะที่อุ้มท้อง หรือกำลังเลี้ยงลูก
4. ควรตัดให้เหนือจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร
5. ควรผูกกิ่งไม้กแขวนไว้เหนือพื้นเพื่อให้แกะได้เลือกกิน
6. ควรตัดใบไม้มากกว่า 2 ชนิด ให้แกะได้เลือกกิน และปลูกต้นไม้ 2-3 ชนิด ริมรั้วโรงเรือนให้กินและให้ร่มเงา
7. ควรปล่อยแกะลงแบบหมุนเวียน แปลงละ 4-5 สัปดาห์ เพื่อใช้แปลงอย่างมีประสิทธิภาพและตัดวงจรพยาธิ
8. ควรปล่อยแกะลงแปลงหญ้าช่วงสาย หลังจากหมดน้ำค้างแล้ว ถ้าตัดให้กินควรตัดตอนช่วงบ่ายและตัดเหนือพื้นดิน เพื่อป้องกันพยาธิ
การจัดการเลี้ยงดูแกะ
ช่วงวัยเจริญพันธุ์ (ระยะการเป็นสัด)
แกะเริ่มวัยเจริญพันธู์เมื่ออายุ 3-4 เดือน ตัวเมียจะเป็นสัดยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับผสมพันธุ์ได้ ควรแยกลูกตัวเมียออกไปเลี้ยงเฉพาะในคอกตัวเมีย และจะให้ผสมพันธุ์กันเมื่ออายุ 8 เดือนขึ้นไป เพื่อให้พ่อแม่มีความสมบูรณ์พันธุ์ก่อน มิฉะนั้นอาจทำให้ตัวแม่ไม่พร้อมและเลี้ยงลูก น้ำนมน้อย ลูกที่เกิดอาจตัวเล็ก แคระแกร็น และอ่อนแอตายได้
ลักษณะการเป็นสัดของแม่แกะ สังเกตดูได้จาก..
– อวัยวะเพศบวมแดง ชุ่มชื้น และอุ่น
– กระดิกหางบ่อยขึ้น
– จะยืนเงียบเมื่อตัวผู้หรือตัวอื่นมายืนประกบติด
– ไม่ค่อยอยู่สุข กระวนกระวาย และไม่อยากอาหาร
– แม่แกะมีวงรอบการเป็นสัดทุก 17 วัน ส่วนต่าง 2 วัน แม่แพะมีวงรอบการเป็นสัดทุก 21 วัน ส่วนต่าง 2 วัน
ช่วงการผสมพันธุ์
เมื่อเห็นแม่แกะเป็นสัดแล้ว ระยะที่เหมาะสมให้ตัวผู้ขึ้นทับคือ 12-18 ชั่วโมง หลังจากที่เห็นอาการการเป็นสัด
อัตราส่วนผสม
พ่อหนุ่ม 1 ตัว ต่อแม่ 10-15 ตัว
พ่ออายุ 2 ปีขึ้นไป 1 ตัว ต่อแม่ 20-30 ตัว
ข้อแนะนำ
1. ไม่ควรนำพ่อผสมกับลูกตัวเมีย หรือลูกตัวผู้ผสมกับแม่ เพราะอาจทำให้ลูกที่เกิดขึ้นตัวเล็กลง ไม่สมบูรณ์ หรือลักษณะที่ไม่ดี พิการออกมา
2. ควรสับเปลี่ยนหมุนเวียนพ่อพันธุ์ตัวใหม่ทุก 12 เดือน (แลกหรือขอยืมระหว่างฟาร์ม/หมู่บ้าน)
3. ควรคัดแม่ที่ผสมไม่ติด 2 ครั้งออกไป
4. ควรแยกเลี้ยงแม่ท้องแก่ และแม่เลี้ยงลูกไว้ในคอกต่างหาก เพื่อกันอันตรายจากตัวอื่น
ช่วงการอุ้มท้อง (ระยะอุ้มท้อง 150 วัน)
– สังเกตดูว่าแม่แกะอุ้มท้อง หรือ..
– ไม่แสดงอาการเป็นสัดอีกหลังจากผสมพันธุ์ไปแล้ว 17-21 วัน
– ท้องขยายใหญ่ขึ้นตามลำดับ
– เต้านมและหัวนมขยายใหญ่ขึ้นจากเดิม
ช่วงระยะอุ้มท้องน้ำหนักแม่จะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 5 กก. ดังนั้นควรเสริมหญ้า ถั่ว หรือพืชตระกูลถั่วต่างๆ และเสริมอาหาร รำข้าว กากถั่วเหลือง หรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น แอ้ข้าวโพด และควรมีน้ำสะอาดวางให้กินเต็มที่ และคอกเลี้ยงควรแห้ง สะอาด พื้นคอกแข็งแรง ไม้พื้นคอกไม่ผุพัง เพื่อป้องกันการแท้งลูก
ช่วงการคลอดลูก
ลักษณะอาการใกล้คลอดลูกของแม่แกะ สังเกตจาก
– ตะโพกเริ่มขยาย หลังแอ่นลง (เพราะท้องหนักขึ้น)
– เต้านมขยายใหญ่มากขึ้นและหัวนมแต่ง
– อวัยวะเพศบวมแดง และชุ่มชื้น
– จะไม่นอน แต่ลุกขึ้น เอาเท้าตะกุยพื้นคอก
– ความอยากอาหารลดลง
การเตรียมตัวก่อนแม่คลอดลูก
– ควรหาคอกที่สะอาด และพื้นไม่ชื้นแฉะ
– ควรมีฟางแห้งรองพื้นให้ความอบอุ่นลูก ช่วงกลางคืน หรือฤดูหนาว ควรมีไฟกกลูก
– พื้นระแนงที่เลี้ยงลูกควรมีช่องห่างไม่เกิน 1.3 ซ.ม.
– ควรมีทิงเจอร์ไอโอดีนทาแผลที่ตัดสายสะดือ
อาการใกล้คลอดลูก
– ท่าคลอดปกติ ลูกจะเอาเท้าทั้ง 2 ข้างออก หรืออาจจะเอาเท้าหลังทั้ง 2 ข้าง
– ท่าคลอดผิดปกติ เอาเท้าออกข้างเดียว อีกข้างพับอยู่ด้านใน อาจทำให้มีปัญหาการคลอดยาก
ปกติลูกควรจะออกจากท้องแม่ใน 5-15 นาที หรือภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากที่ถุงน้ำคล่ำแตกแล้ว และรกควรออกมาภายใน 4-12 ชั่วโมง เมื่อลูกออกมาปล่อยให้แม่เลียลูกให้ตัวแห้งหรืออาจช่วยเช็ดตัวลูก และตัดสายสะดือ ทาทิงเจอร์
สาเหตุที่ทำให้เกิดการคลอดยาก เพราะ..
– ลูกคลอดท่าผิดปกติ
– แม่มีกระดูกเชิงกรานแคบเกินไป
– ลูกตัวใหญ่เกินไป
– ลูกตายในท้องแม่
– แม่ไม่สมบูรณ์ อ่อนแอ
การช่วยทำคลอด
หากลูกคลอดผิดท่า หลังจากปล่อยให้แม่คลอดลูกเองแล้ว ใน 1 ชั่วโมง ลูกยังไม่คลอดออกมา ควรให้ความช่วยเหลือ โดย..
– ตัดเล็บมือให้สั้น ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่
– ล้างบริเวณอวัยวะเพศ/ด้านท้ายให้สะอาดด้วยสบู่
– ให้ผู้ช่วยค่อยๆ จับแม่แกะวางนอนลงทางด้านขวาตัวแม่ทับพื้น จับบริเวณคอ
– ค่อยๆ ใช้มือล้วงเข้าไปในอวัยวะเพศ
– สัมผัสลูก ให้รู้ตำแหน่งหัวหรือเท้า แล้วจึงดึงเท้าให้ออกมาทั้ง2 ข้าง ในท่าที่ถูกต้องช้าๆ
– เมื่อลูกออกมาแล้ว เช็ดเมือกบริเวณปากจมูกเพื่อกระตุ้นให้ลูกหายใจแล้วปล่อยให้แม่เลียตัวลูก
– กรณีอื่น ที่ไม่สามารถช่วยคลอดได้ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
แม่แกะจะเริ่มกลับเป็นสัดอีกครั้ง หลังจากที่คลอดลูกแล้วประมาณ 35-45 วัน ดังนั้น จึงควรระวังหากแม่ยังไม่สมบูรณ์พอ เช่น ต้องเลี้ยงลูกแฝด ควรให้ผสมใหม่เมื่อแม่หย่านมลูกแล้วและมีความพร้อมสมบูรณ์ ถ้าแม่ให้ลูกตัวเดียว สามารถผสมได้เลยเมื่อเป็นสัด..
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสุขภาพแกะ
– อุณหภูมิร่างกาย 39.2 – 40 เซลเซียส( 102.5-104 องศาฟาเรนไฮด์)
– อัตราการเต้นหัวใจ 60-80 ครั้ง/นาที
– อัตราการหายใจ 15-30 ครั้ง/นาที
– วัยเจริญพันธุ์ 4-12 เดือน
– วงรอบการเป็นสัด 17+/-2 วัน
– ระยะการเป็นสัด 12-36 ชั่วโมง
– ระยะการอุ้มท้อง 150 วัน
ผู้เลี้ยงอาจพบปัญหา แกะมีสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย จึงต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลในเรื่องสุขภาพ ดังนี้..
1. กำจัดพยาธิภายนอก ได้แก่ เห็บ เหา ไร ซึ่งทำให้สัตว์รำคาญ และขนหลุดเป็นหย่อมๆ หรือเป็นขี้เรื้อนมีผลทำให้สุขภาพไม่ดี ผลผลิตลดลง การป้องกันแก้ไขโดยอาบน้ำและฉีดพ่นลำตัวด้วยยากำจัดพยาธิภายนอก
2. กำจัดพยาธิภายใน ได้แก่ พยาธิตัวกลม ตัวตืด และพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งพยาธินี้จะทำให้ซูบผอม เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ขนและผิวหนังหยาบกร้าน ท้องเสีย ผลผลิตลด ถ้าเป็นรุนแรงทำให้โลหิตจางและตาย การป้องกันปกติถ่ายพยาธิแกะทุก 3 เดือน แต่ถ้าพบว่าบริเวณที่เลี้ยงแกะมีพยาธิชุกชุม ให้ถ่ายพยาธิทุก 1 เดือน
3. การป้องกันโรคระบาด ได้แก่ โรคปากและเท้าเปื่อย โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์กำหนด
แกะขุนลูกผสม 3 สายเลือด
“แกะ” จัดเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก กินหญ้าเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับวัว แต่ปริมาณในการกินอาหารน้อยกว่า ถ้านำมาเลี้ยงในเชิงพาณิชย์จะให้ผลผลิตและผลตอบแทนเร็วกว่า อีกทั้งใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ปัจจุบันสายพันธุ์แกะที่เลี้ยงในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง
มีเรื่องที่น่ายินดี ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตจังหวัดสกลนคร ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงแกะเนื้อขึ้นในเขตภาคอีสานตอนบน เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ศึกษาวิจัยสมรรถภาพทางการผลิตของแกะ ในระบบการเลี้ยงแบบปล่อยแทะเล็มในทุ่งหญ้าเขตร้อนของ จ.สกลนคร โดยนำแกะลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์ดอร์เปอร์เข้ามาเลี้ยงเพื่อศึกษาอัตราการเจริญเติบโต
ปัจจุบัน อ.วัชรวิทย์ มีหนองใหญ่ ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์แกะเพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นและง่ายต่อการจัดการ โดยใช้พ่อพันธุ์แกะซานตาอิเนส (นำเข้า จากประเทศบราซิล จัดเป็นแกะขนาดใหญ่ เพศผู้เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักถึง 80-90 กิโลกรัม เพศเมีย 60 กิโลกรัม ใช้เพื่อ ทำการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์แกะเนื้อ ให้มีการเจริญเติบโตดี) เข้ามาปรับปรุง ..
สายพันธุ์เป็นลูกผสมสามสายเลือดโดยนำ มาผสมพันธุ์กับลูกผสมพื้นเมืองกับดอร์เปอร์ ได้แกะขุนสายพันธุ์ใหม่ที่มีหลายสี ไม่มีเขา หน้าโค้งนูน ขนบริเวณซี่โครงและท้องมีลักษณะคล้ายพันธุ์ซานตาอิเนสและขนบริเวณแนวสันหลัง จะมีลักษณะหนาและเมื่อเลี้ยงจนมีอายุ ได้ 9 เดือน น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 16 กิโลกรัม ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาการเลี้ยงแกะลูกผสมสามสายเลือดเข้าสู่ระบบการเลี้ยงขุนเพื่อให้ผลตอบแทนได้เร็วขึ้น
อ.วัชรวิทย์ยังได้อธิบายวิธีการเลี้ยงแกะโดยทั่วไปจะมี 2 แบบใหญ่ ๆ คือ การเลี้ยงแบบปล่อยแทะเล็มในแปลงหญ้า และการเลี้ยงแบบขุนในคอก ซึ่งการเลี้ยง แบบปล่อยแทะเล็มในแปลงหญ้าจะมีข้อดีตรงที่ช่วยประหยัดต้นทุนในเรื่องอาหาร โดยจะมีการปล่อยเลี้ยงแกะในช่วงเวลา เช้าประมาณ 2 ชั่วโมง และช่วงบ่ายอีก ประมาณ 2 ชั่วโมง แกะเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมแทะเล็มเฉพาะยอดหญ้าไปเรื่อย ๆ ไม่อยู่กับที่ แต่ในช่วงฤดูร้อนจะต้องระวังเรื่อง ท้องอืด อีกทั้งจะต้องคอยระวังสุนัขมากัดแกะด้วย
มีข้อเสียของการเลี้ยงแบบปล่อย คือช่วงฤดูแล้งหญ้ามักจะขาดแคลนและหาได้ยาก สำหรับการเลี้ยงแบบขุนในคอก จะทำให้แกะเจริญเติบโตเร็วแต่มีต้นทุนในเรื่องอาหารสูงขึ้น ถ้าเป็นไปได้เพื่อเป็นการลดต้นทุนเรื่องอาหาร สูตรอาหารที่จะนำมาใช้เลี้ยงจะต้องหาง่ายในท้องถิ่น เช่น เปลือกและกากมันสำปะหลังที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในสูตรอาหารเพื่อลดต้นทุนการผลิตและสามารถใช้ได้ทั้งรูปของการหมัก (ฤดูฝน) และรูปแบบตากแห้ง (ฤดูแล้ง)
สำหรับช่องทางการตลาดแกะเนื้อนั้นยังมีความสดใส ตลาดใหญ่อยู่ที่ภาคใต้, ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิม.
ที่มา https://www.pohchae.com/2022/10/02/sheep/
ขี้แพะทั่วไทย(จากไลน์ แพะแกะสร้างอาชีพ และเฟซบุ๊ค เลี้ยงแพะยั่งยืน)