ทันข่าว » วันอาสาฬหบูชา(27), วันเข้าพรรษา(28) กรกฎาคม 2561…

วันอาสาฬหบูชา(27), วันเข้าพรรษา(28) กรกฎาคม 2561…

27 กรกฎาคม 2018
1673   0

http://bit.ly/2LpAHI9

วันอาสาฬหบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุก ๆ ปี ถือเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดธนาคาร..

คำว่า “อาสาฬหบูชา” สามารถอ่านได้ 2 แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สา-ละ-หะ-บู-ชา ซึ่งจะประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8

วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี

ทั้งนี้พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ


กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา+วันเข้าพรรษา

พิธีกรรมโดยทั่วไปที่นิยมกระทำในวันนี้ คือ การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ ในตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่เป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยเรา ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัด เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส ..

..นอกจากนั้นยังเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง หรือ พักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะมีการถวายผ้าอาบน้ำฝนและการถวายเทียนพรรษา

การถวายเทียนพรรษา ซึ่งเป็นเทียนที่มีขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น เพื่อจุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา เพราะมีความเชื่อว่าการถวายเทียนพรรษาเป็นการให้ทานด้วยแสงสว่าง ถือเป็นกุศลทานอย่างหนึ่ง จะทำให้เพิ่มพูนปัญญา หูตาสว่างไสว รวมทั้งเป็นการถวายเทียนเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์

ภาพจากขบวนแห่เทียนพรรษา อบต.ปากแพรก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช 27-7-2561

คำถวายเทียนพรรษา

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 จบ)

ยัคเฆ ภันเต, สังโฆ ปะฏิชานาตุ, มะยัง ภันเต, เอตัง ปะทีปะยุคัง, สะปะริวารัง, เตมาสัง, พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ, อิมัสสะหมิง อะโปสะถาคาเร, นิยยาเทมะ, สาธุ โน ภันเต, อะยัง เตมาสัง, พุทธัสสะ, ปูชะนัตถายะ, ปะทีปะยุคัสสะ, ทานัสสะ, อานิสังโส, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุอาทีนัญจะ, ปิยะชะนานัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ อุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษานี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ.

ภาพจากขบวนแห่เทียนพรรษา อบต.ปากแพรก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช 27-7-2561