รอบรู้เกษตร » รู้จักกับ..กาแฟ เครื่องดื่มปีศาจจริงหรือ??

รู้จักกับ..กาแฟ เครื่องดื่มปีศาจจริงหรือ??

11 สิงหาคม 2019
1491   0

รู้จักกับ..กาแฟ เครื่องดื่มปีศาจจริงหรือ??
…………………..

กาแฟ เครื่องดื่มปีศาจ

แฟนนิยายจีนกำลังภายใน คงเคยได้ยินคำกล่าวของโกวเล้งที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้นิยมชมชอบการดื่มสุรา แต่ข้าพเจ้าชื่นชอบบรรยากาศในการร่ำสุรา” .. เฉกเช่นเดียวกับผู้ที่พิสมัยกาแฟ ก็มีคำกล่าวเกี่ยวกับกาแฟให้ได้สะท้านใจเช่นกัน ข้อความดังกล่าว “ฉีกซอง” ได้รับการชักชวนให้อ่านในร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่ง บริเวณด่านศุลกากรหนองคาย กล่าวถึงกาแฟไว้ว่า “ดำดั่งปีศาจ ร้อนดั่งโลกันตร์ รสดั่งความรัก หอมดั่งนางฟ้า” เป็นจริงอย่างไรต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง

มนต์กาแฟ

เล่ากันว่า กาแฟเดิมเป็นพืชป่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบแอฟริกาอาระเบียหรือเอธิโอเปียในปัจจุบัน ราวปี ค.ศ. 1000 เด็กเลี้ยงแพะในบริเวณนั้น ชื่อว่า คาลดี สังเกตเห็นว่า หลังจากแพะในฝูงกินผลเชอร์รี่สีแดงชนิดหนึ่งเข้าไปมักจะแสดงอาการกระปรี้กระเปร่าเป็นพิเศษ และเมื่อเขาลองกินเข้าไปบ้างก็รู้สึกสดชื่นขึ้นเช่นกัน เขาจึงนำผลเชอร์รี่สีแดงนั้นไปให้คนอื่นๆ ได้ลองกินบ้าง ซึ่งทุกคนต่างก็รู้สึกอย่างเดียวกัน

เมื่อบาทหลวงทราบเรื่องได้ตำหนิเขาว่านำผลไม้แห่งซาตานมาให้คนกินได้อย่างไร แต่เมื่อบาทหลวงทดลองชิมก็พบว่า ทำให้สวดมนต์ได้ยาวนานขึ้นโดยไม่ง่วงนอน ผลเชอร์รี่สีแดงนั้น จึงถูกมนุษย์นำมาบริโภคในที่สุด..

หลังจากนั้น กาแฟจากเอธิโอเปียถูกนำเข้าไปปลูกบริเวณอาระเบีย วัตถุประสงค์แรกคือปลูกเป็นอาหารสัตว์ใกล้กับเมืองท่าแห่งหนึ่ง ชื่อว่า Mocha ต่อมาชาวเติร์กได้นำกาแฟมาทำเป็นเครื่องดื่มโดยการคั่วแล้วเติมเครื่องเทศต่างๆ ลงไป ว่ากันว่านักบวชชาวมุสลิมนำกาแฟไปปลูกในสวน แล้วนำผลกาแฟมาหมักทำไวน์ เรียกว่า qishr หรือ kisher ในปัจจุบันและใช้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนา

ภาษาอาหรับเรียกกาแฟว่า “เกาะหุวะหุ” อาจเป็นไปได้ว่ามาจากชื่อแคว้นคัฟฟาของเอธิโอเปีย ซึ่งมีการปลูกกาแฟ หรืออีกทางหนึ่งอาจมาจากคำว่า qqahwat al-būnn ซึ่งหมายถึง “ไวน์แห่งถั่ว” ในภาษาอารบิก แล้วเพี้ยนเป็นกาห์เวห์ ในภาษาตุรกี ก่อนที่จะเป็น caffe ในภาษาอิตาเลียนและเป็น คอฟฟี่ (Coffee) ในภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเรียกเป็นภาษาไทยว่า “กาแฟ”

ความนิยมดื่มกาแฟในปี ค.ศ. 1475 ถึงกับได้มีกฎหมายตุรกีกำหนดไว้ว่า หญิงใดก็ตามที่สามีมิอาจเลี้ยงดูเธอด้วย กาแฟในปริมาณที่เพียงพอแต่ละวัน สามารถขอหย่าได้โดยถูกกฎหมาย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1453 ออตโตมานเติร์กนำกาแฟเข้าสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล และร้อยปีต่อมาราวค.ศ. 1554 ร้านกาแฟร้านแรกของโลกก็เกิดขึ้นที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถือเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของนักนิยมศิลปะและวรรณกรรม ร้านกาแฟในยุคนั้นจึงถูกเรียกว่า qahweh khaneh (แหล่งปัญญาหรือ school of wisdom)

ย้อนกลับไปในยุคก่อนศตวรรษที่ 16 กาแฟยังเป็นสิ่งหวงห้ามในเขตอาหรับ ไม่ให้ผู้ใดนำเมล็ดออกไปขยายพันธุ์ได้ การส่งออกเมล็ดกาแฟในยุคนั้นเป็นเมล็ดกาแฟที่คั่วสุกแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมล็ดกาแฟก็หลุดลอดออกมาจนได้ เรียกได้ว่ายิ่งหวงยิ่งท้าทาย บางข้อมูลก็ว่าชาวอินเดียที่ไปแสวงบุญที่เมืองเมกกะ เป็นผู้ลักลอบนำออกมาก่อนที่จะขยายไปยังหมู่เกาะชวา หรืออินโดนีเซียในปัจจุบัน บางข้อมูลก็ว่าในปี ค.ศ.
1616 Pieter van der Broeck เป็นผู้ลักลอบนำเมล็ดกาแฟมาปลูกในยุโรป โดยได้นำไปปลูกที่เกาะชวาและซีลอน หรือศรีลังกาด้วย และผลผลิตกาแฟจากเกาะดังกล่าวก็สามารถนำกลับเข้าไปยังแผ่นดินชาวดัตช์ได้ในปี ค.ศ. 1711

สำหรับฝั่งยุโรป หลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 ได้ตัดสินพระทัยทดลองดื่มเมื่อ ค.ศ. 1600 และยอมรับถึงมนต์เสน่ห์อันน่าหลงใหลของกาแฟ กาแฟจึงกลายเป็นเครื่องดื่มของคริสเตียนไปในที่สุด ในขณะกลุ่มผู้คัดค้านเรียกกาแฟว่า “เครื่องดื่มของปีศาจ”ละเรียกร้องให้มีการยกเลิกการดื่มกาแฟดังกล่าว การขายกาแฟครั้งแรกในยุโรปเริ่มในปี ค.ศ. 1615 โดยขายในฐานะตัวยาชนิดหนึ่งในร้านค้ายา โดยพ่อค้าชาวเวนิสเป็นผู้นำมาเผยแพร่ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1645 เกิดร้านกาแฟแห่งแรกขึ้นในยุโรปที่อิตาลี ด้วยเหตุนี้ท่านผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่าทำไมคำศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวกับกาแฟ จึงเป็นภาษาอิตาเลียน

ต่อมาอีก 5 ปี ในปี ค.ศ. 1650 ร้านกาแฟแรกในอังกฤษเปิดตัวครั้งแรกที่เมือง Oxford หลังจากนั้นอีก 2 ปี ในปี ค.ศ. 1652 จึงมีร้านกาแฟในลอนดอน เจ้าของเป็นชาวกรีกและอังกฤษ จากนั้นร้านกาแฟก็ขยายจนมีเต็มเมือง และเรียกกันทั่วไปว่า penny universities เพราะราคาค่าเข้าร้านและค่ากาแฟถ้วยละ 1 เพนนีเท่านั้น และบรรยากาศของร้านกาแฟจะเป็นแหล่งของการพบปะพูดคุยระหว่างกัน ภายในร้านมีกล่องทองเหลือง
สลักคำว่า To Insure Promptness เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้ายอมจ่ายเงินแลกกับการบริการที่ดีเยี่ยม ต่อมาวลีนี้ถูกย่อสั้นๆ เหลือแค่ตัวอักษรแรกของแต่ละคำคือ TIP และคำนี้เองเป็นที่มาของคำว่า ทิป (tip) ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน..

ต่อมาในปี ค.ศ. 1657 กาแฟได้แพร่เข้าไปยังฝรั่งเศสและได้รับความนิยมมากเช่นกัน ถึงกับทำให้ผู้หญิงชาวอังกฤษในปี ค.ศ. 1674 ร่วมกันต่อต้านการดื่มกาแฟ เนื่องจากผู้ชายพากันไปชุมนุมกันที่ร้านกาแฟมากกว่าจะยอมอยู่ติดบ้าน กาแฟจึงเป็นสาเหตุของปัญหาครอบครัวในยุคนั้น

ในปี ค.ศ. 1683 เกิดยุทธการแห่งเวียนนา หลังจากที่ทหารของออสเตรียสามารถยึดเสบียงของทหารออตโตมานเติร์กที่พ่ายแพ้สงคราม
กาแฟก็ได้เข้าสู่ออสเตรียและโปแลนด์ ณ บัดนั้น กาแฟที่ทิ้งไว้กลายเป็นที่มาของร้าน Blue Bottle ร้านกาแฟแห่งแรกในเวียนนาที่มีเจ้าของชื่อ Kolchitzky ซึ่งเป็นผู้คิดค้นการกรองกาแฟบด การดื่มกาแฟแบบหวานๆ และแบบใส่นมที่ดื่มกันมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนกาแฟแบบใส่น้ำตาลว่ากันว่าเกิดขึ้นในยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ราวปี ค.ศ. 1715 ชาวดัตช์ ได้ถวายต้นกาแฟแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และเริ่มใส่น้ำตาลในกาแฟเป็นครั้งแรกในราชสำนักของพระองค์

ต่อมาในปี ค.ศ. 1727 Johann Sebastian Bach ประพันธ์เพลง Kaffee-Kantate ซึ่งเป็นโคลงสรรเสริญกาแฟและเสียดสีความเคลื่อนไหวที่จะห้ามมิให้ผู้หญิงได้บริโภคกาแฟ เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้พวกเธอเป็นหมันและแท้งลูก

ในปีนั้นเอง ได้เริ่มนำเอาเมล็ดกาแฟเข้าสู่ประเทศบราซิล เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บราซิลเป็นประเทศที่ผลิตกาแฟมากที่สุดในโลกปัจจุบัน
สำหรับฝั่งทวีปอเมริกา กาแฟถูกลักลอบออกไปโดยทหารเรือฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีต้นกาแฟที่รอดชีวิตมาบนเรือเพียง 1 ต้นเท่านั้น ยุคดังกล่าวเป็นยุคอาณานิคม แต่กาแฟยังไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก ชายังคงเป็นเครื่องดื่มอันดับ 1 ในยุคนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามปฏิวัติอเมริกัน

กาแฟจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากการนำเข้าชาไม่สามารถทำได้ ในปี ค.ศ. 1773 เกิดเหตุการณ์ “Boston Tea Party” หรือการเรียกเก็บภาษีชาสูงมาก จนชาวอเมริกันต้องหันมาดื่มกาแฟแทนซึ่งเสียภาษีน้อยกว่า กาแฟจึงเป็นตัวเลือกใหม่ทดแทน และหลังสงครามสิ้นสุดในปี ค.ศ.1812 อังกฤษงดการนำเข้าชาเป็นการชั่วคราว คนอเมริกันจึงหันมาดื่มกาแฟแทนกันมากขึ้น และเพิ่มมากขึ้นตามลำดับจนกระทั่งปัจจุบัน

มหัศจรรย์กาแฟ

ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่า กาแฟในปัจจุบันเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการค้าในโลกสูงรองจากน้ำมัน.. ประมาณกันว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟกว่า 20 ล้านคน และมีพื้นที่ปลูกกาแฟทั่วโลกมากกว่า 160 ล้านไร่ กระจายอยู่ในทุกทวีปกว่า 50 ประเทศ ประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลก คือ บราซิล ประมาณ 17 ล้านตัน รองลงมา คือ เวียดนาม 16 ล้านตัน และโคลัมเบีย ประมาณ 10 ล้านตัน

กาแฟ เป็นพืชในวงศ์ Rubiaceae มีจำนวนมากกว่า 6,000 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมี 2 สายพันธุ์คือ กาแฟอาราบิก้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coffea Arabica L. ชื่อสามัญเรียกว่า Arabian coffee, Arabica Coffee และ Common Coffee เป็นกาแฟดั้งเดิม มีรสชาติดี ปลูกได้ดีในที่มีความชื้นสูงและอากาศเย็น

ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coffea canephora หรือเรียกว่า กาแฟโรบัสต้า (Robusta) เป็น
กาแฟที่มีปริมาณกาเฟอีนสูง สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่กาแฟอาราบิก้าไม่สามารถขึ้นได้ เรียกว่าเป็นกาแฟที่มีความทนทานมากกว่ากาแฟอาราบิก้า

เมื่อพูดถึงความนิยมในการดื่มนั้น พบว่ากาแฟอาราบิก้าเป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมมากกว่ากาแฟโรบัสต้า เนื่องจากมีรสชาติขมน้อยกว่ากาแฟโรบัสต้า ดังนั้นกาแฟที่ปลูกทั่วโลกสามในสี่จึงเป็นกาแฟอาราบิก้า และกาแฟโรบัสต้ามักนิยมนำไปทำกาแฟสำเร็จรูปที่มีรสชาติเข้มข้น ..

จากที่กล่าวมาข้างต้น กาแฟอาราบิก้า เป็นกาแฟที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในแหล่งที่มีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิระหว่าง 17-22 องศาเซลเซียสปริมาณน้ำฝนต้องไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตร/ปี ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ลำต้นสูง 4 เมตร มีลำต้นตั้งตรงกิ่งแขนงแตกออกจากต้นแม่เป็นคู่ตรงข้ามกันขนานพื้นดินหรือห้อยต่ำลงเล็กน้อย

ระบบรากกระจายรอบทรงพุ่มและหยั่งลงดินตื้นๆ ไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลักษณะใบจะแหลม ขอบใบหยักเป็นคลื่นใบมีขนาดเล็ก ขนาดโดยเฉลี่ยยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 6 เซนติเมตร มีสีเขียวมัน ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม และจะบานพร้อมกันทั้งต้น เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกดอกในเดือนพฤศจิกายน – เมษายน

และสามารถเก็บผลได้หลังดอกบานประมาณ 6 – 9 เดือน ผลกาแฟมีลักษณะรียาว ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือแดง กาแฟ 1 ผล มีเมล็ดอยู่ 2 เมล็ด แต่ผลกาแฟร้อยละ 5 – 10 จะมีเพียงเมล็ดเดียวเรียกว่า pea berry ลักษณะเมล็ดมีสีเหลือง เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มและสีดำ สำหรับดินที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าควรเป็นดินร่วนสีแดง มีหน้าดินลึก

ลักษณะด้อยของกาแฟอาราบิก้า คือ อ่อนแอต่อโรคและไม่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม

ส่วนกาแฟโรบัสต้า เป็นกาแฟที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี ที่อุณหภูมิระหว่าง 25-28 องศาเซลเซียส มีขนาดทรงต้นสูงใหญ่กว่ากาแฟอาราบิก้าเล็กน้อย โดยมีความสูงประมาณ 4 – 6 เมตร มีข้อปล้องยาว ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้มแต่ไม่เป็นมัน ต้องการอากาศร้อนชื้น ฝนตกชุก และสม่ำเสมอ มีปริมาณน้ำฝน 1,500 – 1,800 มิลลิเมตร ต่อปี ทนทานต่อโรค และสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนได้ดีกว่ากาแฟอาราบิก้า

ปกติกาแฟโรบัสต้า พบมากที่บริเวณฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปแอฟริกา จุดเด่นของกาแฟโรบัสต้าคือ ให้ปริมาณเนื้อกาแฟมาก ถึงแม้จะให้กลิ่นและรสชาติด้อยกว่ากาแฟอาราบิก้า ทั้งนี้ กาแฟอาราบิก้าสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังดอกบานแล้วประมาณ 10 – 11 เดือน โดยช่วงเวลาดอกบานเป็นช่วงเดียวกับกาแฟอาราบิก้า ในเมล็ดกาแฟมีสารสำคัญ คือ คาเฟอีน ส่วนเปลือกนอกของผลกาแฟ ประกอบด้วย สารกาเฟอีน
กรดมาลิก และน้ำตาล มีรายงานว่า หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม คือไม่เกิน 3 แก้วต่อวัน จะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้สมองตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีการใช้พลังงาน มีผลทำให้ไขมันสลายตัวได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าดื่มปริมาณมากกว่านั้นจะทำให้ปวดศรีษะ
ใจสั่น กระวนกระวาย และนอนไม่หลับได้

นอกจากนั้นยังมีกรดการ์ลิก (garlic acid) กรดซิตริก (citric acid) เดกซ์ตริน (dexrin) น้ำตาลกลูโคส (glucose) น้ำมันหอมระเหยต่างๆ และสารทีโอฟิลลีน (theophyline) ซึ่งมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะหลังมื้ออาหาร..

การดื่มกาแฟจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น เพราะในกาแฟมีสารกระตุ้นการหลั่งกรดที่ช่วยในการย่อยอาหาร สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ จึงไม่ควรดื่มกาแฟในบางรายงาน พบว่า การดื่มกาแฟเป็นประจำช่วย
ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ช่วยป้องกันโรคหอบ โดยกาเฟอีนในกาแฟจะระงับการตึงเครียดของประสาทสัมผัสสำรอง ลดการเกิดโรคหอบ รวมทั้งช่วยลดการเกิดโรคตับจากสุรา โดยพบว่า กาแฟช่วยลดผลร้ายที่จะมีต่อตับ แต่ยังต้องวิจัยต่อไปว่า สารใดที่มีประโยชน์ดังกล่าว และมีผลต่อสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคตับแข็งหรือไม่ นอกจากแอลกอฮอล์

การดื่มกาแฟเป็นประจำ ยังช่วยป้องกันมะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งในช่องปาก โดยพบว่ากาแฟมีประสิทธิภาพป้องกันโรคขั้นต้น โดยเฉพาะในกาเฟอีนมีกรดอะซิติก ที่ช่วยป้องกันโรค และกาแฟยังช่วยละลายไขมัน การดื่มกาแฟหลังรับประทานอาหาร ช่วยให้ไขมัน
แตกตัวและให้พลังงานทดแทนจึงลดความอ้วนได้ รวมทั้งเพิ่มไขมันชนิดดีให้ร่างกาย ป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว

มีผลการวิจัยพบว่า ดื่มกาแฟบ่อยๆจะมีไขมันชนิด (HDL) เพิ่มขึ้น ซึ่งไขมันชนิดนี้จะขับไล่คอเลสเตอรอลออกไป ป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว และยังพบว่าความหอมของกาแฟช่วยกระตุ้นสมองให้ทำงานได้เร็วขึ้น และมีสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น เนื่องจากกลิ่นกาแฟทำให้เลือดไหลเวียนในสมองเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามประโยชน์และโทษของกาแฟก็ยังมีความขัดแย้งกันพอสมควร ทางที่ดีคงต้องเดินทางสายกลาง นั่นคือการดื่มแต่พอประมาณเท่านั้น

กาแฟในไทย

สำหรับกาแฟที่ปลูกในประเทศไทย ร้อยละ 97 เป็นกาแฟโรบัสต้า ซึ่งมีแหล่งปลูกอยู่ในภาคใต้ แถบจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ในขณะที่กาแฟอาราบิก้ามีเพียงร้อยละ 3 ของแหล่งปลูกทั้งประเทศเท่านั้น กระจายอยู่ในเขตภาคเหนือของไทย แถบจังหวัดเชียงรายเชียงใหม่ น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก และอุตรดิตถ์

ผลผลิตกาแฟของไทย ร้อยละ 76 ใช้บริโภคภายในประเทศ และส่งออกในรูปเมล็ดกาแฟร้อยละ 24 ประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา อิตาลี ลาว และมาเลเซีย

ปริมาณผลผลิตรวมของไทย ประมาณ 50,000 ตัน มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้นประมาณ 4 แสนไร่ และต้องมีการนำเข้ากาแฟทั้งในลักษณะของเมล็ดและกาแฟสำเร็จรูปมูลค่านำเข้ากว่า 2,500 ล้านบาท

การพัฒนากาแฟในไทย คณะอนุกรรมการพืชสวน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2552 – 2556 โดยกำหนดเป้าหมายไว้ คือ..

1.ลดต้นทุนการผลิตกาแฟให้เท่ากับหรือมากกว่าเวียดนามไม่เกินร้อยละ 10

ซึ่งปัจจุบันต้นทุนการผลิตกาแฟอาราบิก้าของเวียดนาม อยู่ที่กิโลกรัมละ 33 บาท ในขณะที่ไทยอยู่ที่กิโลกรัมละ 39.45 บาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)

2.เพิ่มผลผลิตสำหรับการปลูกกาแฟเป็นพืชเดี่ยวเป็น 300 กิโลกรัม/ไร่ ในปี 2556 จากเดิม 200 กิโลกัรม/ไร่ และกาแฟที่ปลูกเป็นพืชร่วมกับพืชอื่นเพิ่มผลผลิตจาก 143 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 18 กิโลกรัม/ไร่ และเพิ่มปริมาณแปลงกาแฟที่ได้รับการรับรองระบบการผลิต GAP ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 นับว่าเป็นเป้าหมายที่ต้องใช้พลังในการผลักดันกันพอสมควร

เมื่อพิจารณาจุดอ่อนของกาแฟไทย จะเห็นว่ายังมีการใช้ปัจจัยการผลิตไม่เหมาะสมในเชิงเศรษฐกิจทำให้ต้นทุนการผลิตสูง แต่ต้องทบทวนต้นทุนการผลิตที่แท้จริงกันใหม่ เนื่องจากการปลูกกาแฟของเกษตรกรจะปลูกในลักษณะพืชร่วมหรือพืชแซม ทำให้ปัจจัยการผลิต และแรงงานถูกใช้ร่วมกันทั้งพืชหลักและพืชแซม ซึ่งอาจเป็นผลให้ต้นทุนการผลิตรวมทั้งอัตราการใช้ปัจจัยการผลิตไม่เป็นไปตามคำแนะนำ และส่งผลกระทบต่อ
ผลผลิตที่ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ยังพบว่าปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกาแฟอาราบิก้า มีการเก็บเมล็ดกาแฟที่สุกและไม่สุกปะปนกัน หรือการตากผลกาแฟบนลานดิน ซึ่งเมล็ดกาแฟจะดูดซับกลิ่นของดินเข้าไป ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด และการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง
ตามที่กล่าวมา ทำให้ผลกาแฟมีความชื้นสูง เกิดเชื้อราได้ง่าย ส่งผลให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟมีคุณภาพต่ำ

นอกจากนี้ กาแฟที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นกาแฟพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกกันมานาน ไม่มีการปรับเปลี่ยนพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพดีกว่าและขาดการตัดแต่งกิ่งและทำสวนต้นกาแฟ เนื่องจากราคากาแฟไม่จูงใจในการลงทุน เมื่อพิจารณาถึงระบบข้อมูลการผลิตและการตลาดกาแฟของไทยแล้วพบว่า ยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างกัน ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลของตนเอง ทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ขาดการประสานและเชื่อมโยงข้อมูล ส่งผลให้ในภาพรวมของประเทศแล้ว กาแฟไทยยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก..

สำหรับกาแฟอาราบิก้าซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ปลูก โดยกาแฟอาราบิก้าจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น และเป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตรขึ้นไป ปริมาณน้ำฝนอยู่ระหว่าง 1,500 – 2,000 มิลลิเมตร/ปี และมีช่วงแล้งประมาณ 2–3 เดือน ดังนั้นจึงปลูกได้เฉพาะพื้นที่สูงทางภาคเหนือ และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีพืชแข่งขันสูง
และบางส่วนยังเป็นเขตป่าสงวน รวมทั้งกาแฟอาราบิก้ายังมีความต้านทานต่อโรคและความทนทานต่อการผันแปรของอากาศต่ำ จึงต้องการการดูแลเอาใจใส่มากกว่ากาแฟโรบัสต้า ส่งผลให้เกษตรกรให้ความสนใจต่อการปลูกกาแฟอาราบิก้าไม่แพร่หลายเท่าที่ควร.

.

ที่มา-https://www.pohchae.com/2017/03/29/coffee-2/