เลี้ยงสัตว์ » โรคบาดทะยัก (Tetanus) ..ต้องป้องกัน เป็นแล้วรักษายาก มักตาย..

โรคบาดทะยัก (Tetanus) ..ต้องป้องกัน เป็นแล้วรักษายาก มักตาย..

21 มกราคม 2020
4881   0


❤รวมความคิดเห็นจาก เฟซบุ๊ค เลี้ยงแพะยั่งยืน

>Suphaset Ariyachaisakun ลองวิเคราะห์อาการในสัตว์โรคบาดทะยักมีอาการบ่งบอก ดังนี้

อาการชักเกร็งหรือกล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็ง ซึ่งอาจทำให้เจ็บปวดและอ้าปากลำบาก
กล้ามเนื้อที่ลำคอหดเกร็งจนเกิดอาการเจ็บปวด กลืนและหายใจลำบาก
มีอาการหดเกร็งที่กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ตามมา เช่น ช่องท้อง หลัง และหน้าอก
ร่างกายกระตุกและเจ็บเป็นเวลานานหลายนาที ซึ่งมักเกิดจากสิ่งกระตุ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เสียงดัง ลมพัด การถูกสัมผัสร่างกาย หรือการเผชิญกับแสง
นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่

มีไข้สูง
เหงื่อออก
ความดันโลหิตสูง
หัวใจเต้นเร็ว
อาการดังกล่าวเหล่านี้ หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษาอาจทรุดหนักลงได้ภายในไม่กี่วันหรืออาจเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา และอันตรายถึงขั้นทำให้หายใจไม่ออกหรือหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้.


โรคบาดทะยัก (Tetanus)

ประวัติและสาเหตุ

ปี ค.ศ. 1884 Nicolaier ได้นำดินมาละลายในน้ำ และเอาส่วนที่เป็นน้ำฉีดเข้าไปในหนูไมซ์ หนูตะเภา และกระต่าย ปรากฎว่าสัตว์แสดงอาการเป็นโรคบาดทะยักออกมา ต่อจากนั้นมาอีก 5 ปี Berlin ได้ทำการแยกเชื้อ Clostridium tetani จากสปอร์โดยนำสปอร์ไปให้ความร้อนที่ 81 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 – 60 นาที แล้วจึงนำไปเพาะเชื้อในสภาพที่ไม่มีอ๊อกซิเจน เชื้อ C. tetani เป็นพวกบาซิลลัสที่มี แฟลกเจลล่ารอบตัว เคลื่อนไหวได้เล็กน้อย รูปสปอร์มีลักษณะเหมือนไม้ตีกลอง คือ ปลายข้างหนึ่งจะมีลักษณะกลมใหญ่ขึ้นมา เป็นแบคทีเรียที่ไม่ต้องการอ๊อกซิเจน เชอ C. tetani พบมีทั่วไปตามพื้นดิน โดยเฉพาะในบริเวณที่ม้าอาศัยอยู่

สาเหตุของบาดทะยัก

เกิดจากการติดเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “คลอสตริเดียมเตตานิ” (Clostridium tetani) ตัวเชื้อมีลักษณะเป็นรูปแท่งที่ปลายมีสปอร์ (Spore) ซึ่งเป็นจุดพักตัวของเชื้อแบคทีเรียเพื่อรอการเจริญเติบโตเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จึงทำให้มีรูปร่างเหมือนไม้เทนนิส เชื้อโรคนี้มีอยู่ทั่วไปตามดิน ฝุ่น ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ (เช่น หมู ไก่ สุนัข แมว หนู วัว ควาย) รวมทั้งผิวหนังและอุจจาระของคน ตัวเชื้อบาดทะยักสามารถถูกทำลายได้โดยง่ายด้วยความร้อน แต่สปอร์ของเชื้อจะมีความทนทานต่ออุณหภูมิ (ทนต่อน้ำเดือดได้นานถึง 20 นาที) ความชื้น และสารเคมีฆ่าเชื้อ (เช่น แอลกอฮอล์ ฟีนอล ฟอร์มาลดีไฮด์) และสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี ๆ

เชื้อบาดทะยักสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง คือ ผ่านทางบาดแผลสด โดยการแปดเปื้อนถูกดิน ฝุ่น อุจจาระ มูลสัตว์ ฯลฯ ที่มีสปอร์ของเชื้อบาดทะยักอยู่ (ส่วนใหญ่จะเป็นบาดแผลตามผิวหนังที่มีขนาดเล็กและลึก เช่น แผลจากตะปูตำ เศษไม้ตำ และมีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากบาดแผลอื่น ๆ เช่น แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลถูกสัตว์กัด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลในช่องปาก (ฟันผุ รักษารากฟัน ถอนฟัน) แผลผ่าตัดที่ระบบปลอดเชื้อของห้องผ่าตัดไม่มาตรฐานหรือการดูแลแผลผ่าตัดที่ไม่สะอาด เป็นต้น), ผ่านทางแผลเรื้อรัง (เช่น แผลเบาหวาน แผลเป็นฝี), ผ่านทางสายสะดือในเด็กทารกแรกคลอด (เกิดจากมารดาที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักและการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือทารก), แผลในช่องหู (จากการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก), แผลจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน (มักพบในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดหรือกลุ่มผู้สักลาย) และยังมีบางกรณีที่ไม่พบสาเหตุว่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางใด

จากนั้นเชื้อจะแบ่งตัวเจริญเติบโตที่บริเวณบาดแผล ซึ่งเชื้อจะเจริญได้ดีในที่ที่มีออกซิเจนน้อย ได้แก่ บาดแผลที่ลึกและแคบ เช่น บาดแผลถูกตะปูตำ แต่ก็อาจเจริญได้ในบาดแผลถลอกและบาดแผลในลักษณะอื่น ๆ ได้เช่นกัน แล้วสปอร์ของเชื้อก็จะงอกและผลิตสารพิษออกมา 2 ชนิด คือ เตตาโนลัยซิน (Tetanolysin) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบบทบาทที่แน่ชัดของสารพิษชนิดนี้ และสารพิษอีกชนิดที่มีบทบาททำให้เกิดโรคบาดทะยักชื่อว่า เตตาโนสะปาสมิน (Tetanospasmin หรือ Tetanus toxin) ซึ่งสารพิษชนิดนี้เมื่อเทียบโดยน้ำหนักแล้วถือว่าเป็นสารพิษที่มีพิษรุนแรงมาก เพราะในปริมาณเพียงแค่ 2.5 นาโนกรัม (1 กรัม เท่ากับ 1 ล้านนาโนกรัม) ต่อน้ำหนักตัวคน 1 กิโลกรัม ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้แล้ว

ระบาดวิทยา

คน

ในสมัยก่อนจะพบทารกแรกเกิดเป็นบาดทะยักกันค่อนข้างบ่อย เรียกว่า “บาดทะยักในทารกแรกเกิด” (Tetanus neonatorum) เนื่องจากการคลอดที่ไม่สะอาด เช่น การคลอดตามบ้านโดยใช้ไม้รวกหรือตับจากตัดสายสะดือ รวมถึงการดูแลสะดือของทารกที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้น้ำหมากน้ำลายบ้วน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อและกลายเป็นบาดทะยักได้ ซึ่งมักจะพบว่ามีอาการในช่วงหลังคลอดประมาณ 4-14 วัน (บาดทะยักในทารกแรกเกิด หรือที่คนโบราณเรียกว่า ลมสะพั้น ลมตะพั้น สะพั้น หรือตะพั้น หมายถึง อาการชัก มือเท้ากำในเด็กอ่อน ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือบาดทะยัก)
ในปัจจุบัน โรคนี้พบได้น้อยลงทั้งในผู้ใหญ่และทารกแรกเกิด เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน มีการคลอดที่สะอาดปลอดภัย และมีการดูแลสะดือทารกที่ถูกต้องมากกว่าในสมัยก่อน

หมายเหตุ : คำว่า Tetanus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก  Teinein ซึ่งแปลว่า “ยืดอก” สาเหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เป็นเพราะผู้ป่วยบาดทะยักจะมีอาการการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นทั่วตัว โดยทำให้แผ่นหลังมีการยืดตัวออกเป็นท่าทางที่เป็นรูปแบบเฉพาะ..

ระยะฟักตัวของโรคผันแปรจาก 2 – 3 วัน จนกระทั่งเป็นหลายสัปดาห์ อาการทั่วๆ ไปที่เห็นได้ชัด คือมีกล้ามเนื้อกระตุก และมีลักษณะของกรามแข็งหรืออ้าปากไม่ได้ (lockjaw ) หลังจากนั้นจะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ คอ แขน ลำตัว และขา การกระตุกครั้งแรกๆ อาจมีเป็นระยะ และต่อไปจะกระตุกตลอดเวลา อาการกระตุกจะมากขึ้นถ้ามีเสียงดัง หรือแสงสว่างมากระตุ้น ในที่สุดผู้ป่วยจะตายเนื่องจากหายใจไม่ได้ทำให้ขาดอ๊อกซิเจน โรคนี้มีรายงานเป็นในทารกคลอดใหม่ที่ตัดสายสะดือไม่สะอาด และใช้ยากลางบ้านใส่แผล

การติดต่อ

การติดต่อของโรคเกิดได้จากสปอร์เข้าทางบาดแผลของผิวหนัง ในสหรัฐอเมริกาเคยมีรายงานผู้เป็นบาดทะยักในคนติดยาเสพติด ที่ใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด แผลที่ถูกตะปูตำหรือไม้ตำ แผลไฟไหม้หรือแผลผ่าตัด หรืออาจเข้าทางช่องคลอด เนื่องจากมีแผลมาจากการขูดมดลูกหรือทำแท้ง สปอร์ซึ่งคงทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อเมื่อเข้าไปในบาดแผลแล้วจะเปลี่ยนมาเป็นรูปตัวเชื้อ (vegetative form) จะปล่อย tetanolysin และ tetanospasmin ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายเม็ดเลือดและทำลายประสาทจึงทำให้เกิด อาการของโรคขึ้น

โรคนี้พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงส่วนมากพบในเขตชนบทบ่อยกว่าในเมืองหลวง ในบริเวณที่เลี้ยงม้าหรือในอุจจาระม้าพบว่ามีเชื้อ C. tetani ดังนั้น บุคคลที่ดูแลม้าหรือคลุกคลีอยู่กับสัตว์พวกนี้จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้อื่น ในประเทศสหรัฐอเมริกามักพบผู้ป่วยเป็นในฤดูร้อน และเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง และส่วนมากพบในรัฐที่อยู่ทางตอนใต้ เช่นในมณรัฐฟลอริดาและอลาบาม่าพบ 1.5 และ 1.3 ต่อแสนของประชากร (Axnick and Plexander, 1957) ส่วนมากพบในพวกนิโกรบ่อยกว่าพวกผิวขาวประมาณ 5 – 6 เท่า สำหรับในประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณ 1,000 – 2,000 รายต่อปี ในปี พ.ศ. 2521 มีผู้ป่วย 2,168 ราย และตาย 455 ราย ส่วนมากพบในวัยหนุ่มสาวมากและอาชีพของผู้ป่วยส่วนมากทำการเกษตรกรรม เพศชายเป็นมากกว่าเพศหญิง การที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในประเทศไทยเป็นแรงงานชายเสียส่วนมากและการทำงานอาจมีอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลตามมือและเท้าได้ ดังนั้นผู้ชายจึงมีการเสี่ยงต่อโรคบาดทะยักมาก สำหรับเด็กแรกเกิด 1 เดือน มีแนวโน้มของการเป็นโรคเพิ่มขึ้น

สัตว์
สัตว์ที่เป็นโรคบาดทะยักมาก คือ ม้า ซึ่งเป็นมากกว่าโค 50 เท่า มักมีบาดแผล ซึ่งอาจเกิดจากการทิ่มตำจากวัตถุ หรือจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากการตอน การผ่าตัดก็ตามมักพบเสมอว่าเป็นบาดทะยัก ในโค กระบือ และแพะแกะก็เช่นเดียวกัน เป็นโรคโดยเชื้อเข้าทางบาดแผล สำหรับในสุนัข และไก่งวงมีความต้านทานต่อ นิวโรท๊อกซินของเชื้อนี้ได้ดีมากจึงไม่ค่อยพบโรคนี้ในสัตว์ดังกล่าว

การสังเกตอาการของโรคในระยะเริ่มแรกในสัตว์สำคัญมากโดยเฉพาะในม้า อาการเริ่มแรกม้าจะไม่อยากเคลื่อนไหว แต่อาหารคงกินเป็นปกติ ต่อไปจะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ และถ้ายืด คอ หัว และหางออกจะมีอาการเกร็ง การกระตุกของกล้ามเนื้อจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อทำเสียงดังให้เกิดขึ้นใกล้ๆ สัตว์ป่วยจะหายใจตื้นและถี่

 

การควบคุมและป้องกัน

การป้องกันที่ดีคือให้ท๊อกซอยด์ (toxoid) สำหรับในทารกที่เกิดมาใหม่ๆ อาจป้องกันได้โดยให้ active immunization กับแม่ก่อน โดยวิธีนี้ลูกจะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่โดยผ่านทางรก วิธีนี้ใช้ปฏิบัติกันในบ้านเรา สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค เช่น สัตวแพทย์ ผู้ดูแลสัตว์ทดลอง เกษตรกร หรือผู้มีบาดแผลควรได้รับ

ท๊อกซอยด์สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค การให้ความรู้แก่มารดาในเรื่องการตัดสายสะดือทารกแรกเกิด โดยวิธีการปราศจากเชื้อจำเป็นอย่างยิ่ง การรักษาโดยให้แอนตีท๊อกซินที่เตรียมมาจากคนให้ผลดีกว่าเตรียมมาจากม้า เพราะภาวะแทรกซ้อนหรืออาการแพ้ไม่ค่อยมี และอีกประการหนึ่ง halflife ของโกลบูลินในของคนจะอยู่นานกว่าของม้า แอนตีท๊อกซินควรให้ในรายที่ยังไม่เคยได้รับ active immunization มาก่อน เมื่อคนมีบาดแผลถูกหนามตำ หรือถูกสัตว์กัดควรให้ท๊อกซอยด์จะช่วยป้องกันโรคได้.


รายละเอียดเพิ่มเติม
อาการของโรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยักมีระยะฟักตัวของโรค คือ ตั้งแต่ได้รับเชื้อโรคจนกระทั่งเกิดอาการประมาณ 5-15 สัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในระหว่าง 6-15 วัน โดยระยะฟักตัวยิ่งสั้นมากเท่าไร โรคจะยิ่งรุนแรงและอันตรายมากขึ้นเท่านั้น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบาดทะยัก จะมีอาการแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่เกิดอาการทั่วร่างกาย เป็นกลุ่มที่พบได้มากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีไข้เหมือนกับโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ
    • ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง (Lockjaw) เนื่องจากกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการเคี้ยวเกิดการหดเกร็งและแข็งตัว ทำให้มีอาการขยับปากไม่ได้ กลืนลำบาก ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ ผู้ป่วยอาจมีอาการกระสับกระส่าย ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ หน้าอก หน้าท้อง หลัง แขนและขา ทำให้มีอาการคอแข็ง ท้องแข็ง หลังแอ่น (Opisthotonus)
    • อาการชักเกร็งของแขนขาและกล้ามเนื้อทุกส่วนจะเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ เพียงช่วงสั้น ๆ เมื่อถูกสิ่งที่มากระตุ้น เช่น การได้ยินเสียงดัง ๆ การถูกสัมผัสตัว แสงสว่างเข้าตาจากแสงแดดหรือแสงไฟจ้า เป็นต้น และในขณะที่มีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นนั้น ผู้ป่วยบาดทะยักจะมีสติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต่างจากโรคลมชัก โรคสมองอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัว และทุกครั้งที่ชักจะรู้สึกปวดมาก
    • ถ้าอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นยาวนาน ผู้ป่วยจะหายใจได้ลำบาก ทำให้ขาดอากาศและตัวเขียว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง คือกล้ามเนื้อทั้งตัวหดเกร็งและแข็งตัวอย่างรุนแรงพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจทำหน้าที่ตามปกติไม่ได้ หลอดลมหดเกร็ง จนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาและเสียชีวิตในที่สุด
    • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแขนขาหดตัว หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ หรืออาจเกิดหัวใจหยุดเต้น มีไข้สูงมาก และ/หรือมีเหงื่อออกทั่วตัว
    • บาดทะยักที่เกิดขึ้นในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือประกอบกับการที่มารดาไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก จึงไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะส่งต่อให้ลูกได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นคือ เด็กทารกมักมีอาการร้องกวน ไม่ยอมดูดนม อ้าปากไม่ได้ มีการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดขึ้น ซึ่งมักจะเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณ 50-80% แต่ถ้าสามารถมีชีวิตรอดจากโรคนี้มาได้ ก็มักจะมีปัญหาด้านการเจริญเติบโตและสติปัญญา
  2. กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่พบได้ค่อนข้างน้อย จะมีแค่อาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อใกล้บริเวณบาดแผลเท่านั้น ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง (พิษของเชื้อจะไม่ลุกลามเข้าสู่สมองและไขสันหลัง) มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1%
  3. กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่ศีรษะ เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยมาก เกิดจากผู้ป่วยมีอุบัติเหตุที่ศีรษะหรือจากการติดเชื้ออักเสบของหูชั้นกลาง ทำให้พิษของเชื้อเข้าสู่เส้นประสาทบริเวณใบหน้าและอาจลุกลามเข้าสู่สมอง ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง

    ภาวะแทรกซ้อนของบาดทะยัก

    อาจพบอาการขาดออกซิเจนในขณะชัก อาการขาดอาหารเพราะกลืนไม่ได้ ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากการแข็งตัวของกล้ามเนื้อหูรูด กระดูกสันหลังหรือกระดูกแขนขาหักจากการชัก การเกิดลิ่มเลือดของหลอดเลือดในปอด ปอดติดเชื้อแทรกซ้อน ปอดอักเสบ ปอดทะลุ ปอดแฟบ (Atelectasis) การเกิดระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เป็นผลแทรกซ้อนสำคัญที่มักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะควบคุมได้ยาก ได้แก่ ความดันโลหิตขึ้นสูงมากผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบเต้นช้า เต้นเร็ว และหัวใจหยุดเต้น และในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจและหัวใจวายถึงเสียชีวิตได้

    การวินิจฉัยโรคบาดทะยัก

    แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคบาดทะยักได้จากอาการทางคลินิกเป็นหลัก ประวัติการมีบาดแผลตามร่างกาย การตรวจร่างกาย และประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ซึ่งในบุคคลที่เคยได้รับวัคซีนครบและได้ฉีดกระตุ้นตามกำหนดก็จะไม่มีโอกาสเป็นโรคบาดทะยัก สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะไม่มีการตรวจจำเพาะสำหรับโรคนี้ ซึ่งการตรวจจะเป็นการตรวจเพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกัน เช่น

    • การตรวจหาสารพิษสตริกนีน (Strychnine) ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษชนิดนี้ที่อยู่ในยาฆ่าแมลง จะมีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นบาดทะยัก ถ้าประวัติการได้รับสารพิษของผู้ป่วยไม่ชัดเจน ก็จำเป็นต้องตรวจหาสารพิษชนิดนี้ด้วย
    • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ส่วนใหญ่จะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เหมือนโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมักมีปริมาณของเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น
    • การตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid examination) จะพบว่าปกติ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่ทำให้มีไขสันหลังและสมองอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งคล้ายคลึงกัน
    • การตรวจเพาะเชื้อ (Microbiological culture) วิธีนี้ไม่สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ได้ เพราะผิวหนังปกติของคนเราก็มีเชื้อบาดทะยักเจริญอยู่ได้เป็นปกติอยู่แล้ว ตราบใดที่เราไม่มีบาดแผลและได้รับการฉีดวัคซีนครบตามกำหนดก็จะไม่เป็นบาดทะยัก

    ในรายที่เป็นโรคบาดทะยัก สิ่งที่แพทย์มักตรวจพบมีดังนี้

    • ส่วนมากจะพบมีบาดแผลอักเสบ (ในทารกมักพบว่ามีสะดืออักเสบ) แต่ในบางรายอาจไม่พบบาดแผลที่ชัดเจนก็ได้
    • มักตรวจพบอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ใบหน้ามีลักษณะเหมือนยิ้มแสยะ คอแข็ง หลังแอ่น และมีอาการชักเกร็งเป็นพัก ๆ เมื่อถูกสิ่งที่มากระตุ้น (ถ้าเป็นมาหลายวัน อาจมีกลิ่นปากร่วมด้วย)
    • อาจมีไข้ต่ำ ๆ (ไข้มักไม่สูงมาก ยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบแทรก) หรือไม่มีไข้ก็ได้
    • รีเฟล็กซ์ของข้อ (Tendon reflex) มักไวกว่าปกติ
    • ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีชีพจรเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ เหงื่อออกมาก ไข้ขึ้นสูง หลอดเลือดส่วนปลายตีบ

    วิธีรักษาโรคบาดทะยัก

    หลักของการรักษาโรคบาดทะยัก คือ การกำจัดเชื้อบาดทะยักที่เป็นตัวผลิตสารพิษ การทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว การรักษาเพื่อประคับประคองไปตามอาการที่เป็น และการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำอีก

    • กำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคและสปอร์ของเชื้อที่กำลังเจริญเติบโต ถ้าผู้ป่วยมีบาดแผลที่ยังไม่หายดี แพทย์จะทำการเปิดปากแผลให้กว้าง ล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาด และตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เพื่อช่วยลดปริมาณของเชื้อโรคที่อยู่ในบาดแผล
    • การทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว โดยจะเป็นการให้สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody) เข้าไปทำลายสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือด ด้วยการฉีดอิมมูนโกลบูลินต้านพิษบาดทะยัก (Human tetanus immune globulin – HTIG) ในขนาด 500 ยูนิต เข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าไม่มีอาจใช้เซรุ่มแก้พิษบาดทะยัก (Tetanus antitoxin – TAT) ในขนาด 10,000-100,000 ยูนิต โดยแบ่งฉีดเข้ากล้ามและเข้าหลอดเลือดดำ และให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ในขนาด 1.2 ล้านยูนิต ฉีดเข้าหลอดเลือดทุก 6 ชั่วโมง (เด็กให้ในขนาด 100,000-200,000 ยูนิต/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 4 ชั่วโมง) หรือเมโทรไนดาโซล (Metronidazole) ขนาด 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง (เด็กให้ในขนาด 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำนาน 7-10 วัน (แอนติบอดีที่ใช้ทำลายสารพิษนี้จะเข้าไปทำลายได้เฉพาะสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือดเท่านั้น แต่จะไม่สามารถทำลายสารพิษที่เข้าสู่เส้นประสาทได้)
    • การรักษาประคับประคองตามอาการ แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาไปตามอาการที่เป็น เช่น ดูแลรักษาบาดแผล, ให้สารน้ำ เกลือแร่ และอาหาร, ให้ยากันชัก เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam) เพื่อลดการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อ แต่ในกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผลและผู้ป่วยยังมีอาการหดเกร็งมาก เสี่ยงต่อภาวะหายใจล้มเหลว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาที่ทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัว แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจ, ใส่ท่อหายใจในรายที่ต้องเจาะคอ, ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูงมากก็ให้ยาควบคุมความดันโลหิต, ถ้ามีอาการหัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้นก็อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นต้น
    • การให้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก (DTP) ผู้ป่วยทุกรายที่หายจากโรคแล้ว จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดทุกราย เนื่องจากการติดเชื้อบาดทะยักไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
    • ผู้ป่วยบาดทะยักในระยะเริ่มแรกที่มีอาการขากรรไกรแข็งและคอแข็ง โดยที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีและไม่มีไข้ขึ้น อาจแยกไม่ได้ชัดเจนจากอาการข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว แพทย์จะรับตัวไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด ถ้าเกิดจากยามักมีประวัติเกิดอาการหลังการใช้ยาและอาการจะทุเลาลงได้เองเมื่อหมดฤทธิ์ยาภายใน 6-8 ชั่วโมง หรือหลังจากให้ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)

    ในส่วนของผลการรักษานั้น ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มที่เป็นก็มักมีโอกาสหายขาดได้ อาจต้องใช้เวลารักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยการทำกายภาพบำบัดนานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน แต่ถ้าปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรง เช่น หลังแอ่นแล้ว โอกาสรอดก็น้อยลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในทารกหรือผู้สูงอายุ ส่วนผู้ป่วยที่มีระยะฟักตัวของโรคสั้น มีไข้สูง หรือชักตลอดเวลาก็มีโอกาสเกิดอันตรายมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน และโดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยโรคนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 50% ส่วนบาดทะยักในทารกแรกเกิดจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 50-80%

    วิธีป้องกันบาดทะยัก

    โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (Diptheria, Tetanus toxoids and Pertussis – DTP) แต่เดิมวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักถูกผลิตและใช้เป็นผลสำเร็จในทหารตั้งแต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาวัคซีนชนิดนี้ได้ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปของวัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน หรืออาจเป็นแบบวัคซีนรวมอื่น ๆ สำหรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักนั้นมีดังนี้

    • ในเด็กเล็กควรได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน ตั้งแต่อายุได้ 2, 4 และ 6 เดือน และเพิ่มอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และอายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นก็ให้ฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี* (ส่วนในผู้ที่ไม่เคยฉีดตอนเด็กมาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้ครบตามกำหนดและควรฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี)
    • ผู้ป่วยทั่วไปหรือในเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปที่มีบาดแผล หากเคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาแล้ว 3 ครั้งหรือมากกว่า ถ้าเป็นกรณีที่มีบาดแผลเล็กน้อยและสะอาดให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ขนาด 0.5 มิลลิลิตร) กระตุ้น 1 เข็ม แต่ถ้าได้รับการฉีดเข็มสุดท้ายไม่เกิน 10 ปี ก็ไม่ต้องฉีด ส่วนในกรณีที่เป็นบาดแผลอื่น ๆ เช่น บาดแผลที่แปดเปื้อนดินโคลน ฝุ่น น้ำลาย มูลสัตว์ อุจจาระคน บาดแผลจากการถูกสัตว์กัด บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก บาดแผลจากอาวุธ บาดแผลจากการบดขยี้ บาดแผลจากเศษแก้วในกองขยะ บาดแผลที่ถูกตำ หรือบาดแผลที่ลึกและแคบ ให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ขนาด 0.5 มิลลิลิตร) กระตุ้น 1 เข็ม แต่ถ้าได้รับการฉีดเข็มสุดท้ายไม่เกิน 5 ปี ก็ไม่ต้องฉีด และทั้งสองกรณีไม่ต้องฉีดยาต้านพิษบาดทะยัก (HTIG หรือ TAT) แต่อย่างใด
    • ส่วนผู้ป่วยทั่วไปหรือในเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปที่มีบาดแผลและเคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักน้อยกว่า 3 ครั้ง หรือไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีนแน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลเล็กน้อยและสะอาดหรือบาดแผลอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ขนาด 0.5 มิลลิลิตร) 1 เข็ม และต่อไปให้ฉีดซ้ำอีก 2 เข็มทุก 1 เดือน รวมเป็น 3 เข็ม นอกจากนี้ถ้าเป็นบาดแผลอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาก็ควรได้รับการฉีดยาต้านพิษบาดทะยัก (HTIG หรือ TAT) เพิ่มเติมด้วย แต่ถ้าเป็นบาดแผลเล็กน้อยและสะอาดก็ไม่ต้องฉีดยาต้านพิษบาดทะยักแต่อย่างใด

     

    • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หากไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ควรฉีดวัคซีนรวม 3 เข็ม โดยในเข็มแรกให้เริ่มฉีดเมื่อมาฝากครรภ์เป็นครั้งแรก ส่วนเข็มที่ 2 ให้ฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน และเข็มที่ 3 ให้ฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี (ถ้าฉีดไม่ทันในขณะตั้งครรภ์ก็ให้ฉีดหลังคลอด) ส่วนในกรณีที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม ควรฉีดอีก 2 เข็ม โดยให้ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน (แต่ถ้าเคยได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม ควรให้ฉีดอีก 1 เข็ม โดยให้ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน) จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ส่วนในกรณีที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนอย่างน้อย 3 เข็ม และเข็มสุดท้ายฉีดมานานกว่า 10 ปี ให้ฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็ม และให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี สำหรับในเรื่องของการทำคลอดหญิงตั้งครรภ์ควรคลอดกับบุคลากรที่รู้จักรักษาความสะอาดในการทำคลอด ถ้าจำเป็นต้องคลอดกันเองที่บ้านก็ควรใช้กรรไกรที่ผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อแล้วมาตัดสายสะดือเด็ก และควรทำความสะอาดสะดือของเด็กทารกอย่างถูกต้องด้วย
    • เมื่อมีบาดแผลที่ถูกตะปูตำ หนามตำ สัตว์กัด ไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือบาดแผลสกปรก ควรชะล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที และควรพิจารณาเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักตามคำแนะนำที่กล่าวมา เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเชื้อบาดทะยักสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี ๆ มีความทนทานต่ออุณหภูมิ ความชื้น และสารเคมีฆ่าเชื้อ ดังนั้นการล้างแผลเองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือเบตาดีน จึงไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่บาดแผลให้หมดไปได้ การฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรกระทำ

    หมายเหตุ : สาเหตุที่ต้องฉีดกระตุ้นทุก 10 ปีนั้น เนื่องมาจากภูมิคุ้มกันโรคจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา และอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคเมื่อได้รับสารพิษของเชื้อบาดทะยัก แต่การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักถี่เกินไปคือน้อยกว่า 10 ปี ก็อาจทำให้มีอาการปวดมากบริเวณที่ฉีด มีอาการบวมแดงที่อาจเกิดขึ้นทั้งแขนที่ฉีดได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เป็นโรคบาดทะยักแต่อย่างใด.

ขอบคุณ http://www.healthcarethai.com/%E0%B9%82%E0%B..
คอมเม้นท์ในเฟซบุ๊ค เลี้ยงแพะยั่งยืน
https://web.facebook.com/groups/LPYY2019/search/?query..
https://medthai.com/%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%..

https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&q=%E0%B..
http://www.สาระเร็ว.com/2015/09/01/6-%E0%B8%AD%E0%B..