ปลูกพืช » สาบเสือ พืชสมุนไพร สรรพคุณเด่นช่วยฟอกไต ห้ามเลือดฯ

สาบเสือ พืชสมุนไพร สรรพคุณเด่นช่วยฟอกไต ห้ามเลือดฯ

31 มกราคม 2021
4292   0

สาบเสือ พืชสมุนไพร สรรพคุณเด่นช่วยฟอกไต ห้ามเลือดฯ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eupatorium odoratum L.

วงศ์: Compositae

ชื่อเดิม : Chromolaena odorata (L.) King et Robins

ชื่อสามัญ: Bitter bush, Siam weed วงศ์Asteraceae

ชื่ออื่น : หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว หมาหลง บ้านร้าง หญ้าเสือหมอบ ( สุพรรณ- ราชบุรี – กาญจน์ ),รำเคย (ระนอง ),ผักคราด,บ้านร้าง(ราชบุรี),ยี่สุ่นเถื่อน(สุราษฎร์),ฝรั่งเหาะ,ฝรั่งรุกที่(สุพรรณ),หญ้าดอกขาว ( สุโขทัย- ระนอง ) ,หญ้าเมืองวาย ( พายัพ),พาทั้ง(เงี้ยว เชียงใหม่) ,หญ้าดงรั้ง,หญ้าพระสิริไอสวรรค์ (สระบุรี ),มุ้งกระต่าย(อุดร) ,หญ้าลืมเมือง( หนองคาย ),หญ้าเลาฮ้าง( ขอนแก่น ) ,สะพัง (เลย ),หมาหลง (ศรีราชา – ชลฯ) ,นองเส้งเปรง (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) ,ไช้ปู่กุย( กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ,หญ้าเมืองฮ้าง,หญ้าเหมือน( อิสาน),หญ้าฝรั่งเศส,เบญจมาศ (ตราด ) ,เซโพกวย (กะเหรี่ยง เชียงใหม่ ) ,มนทน (เพชรบูรณ์ ) ;ปวยกีเช่า,เฮียงเจกลั้ง ( จีน)

สาบเสือ เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่หาง่ายมากมีอยู่ทั่วไป จัดว่าเป็นวัชพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ใช้ประโยชน์ได้ดีทีเดียว เราใช้ต้นสาบเสือเป็นดรรชนีชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ เพราะหากอากาศไม่แล้งต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอก

สาเหตุที่ได้ชื่อว่า สาบเสือ ก็เพราะว่าดอกของมันไม่มีกลิ่นหอมเลยแต่กลับมีกลิ่นสาบ คนโบราณเวลาหนีสัตว์ร้ายอื่นเข้าดงสาบเสือจะปลอดภัย เพราะสัตว์อื่นนั้นจะไม่ได้กลิ่นคน

ถิ่นกำเนิด

สาบเสือ เป็นวัชพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกากลาง มีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของฟลอริดาจนถึงพื้นที่ตอนเหนือของอาร์เจนตินา ระบาดไปทั่วเขตร้อนของโลกทุกทวีป ยกเว้นการระบาดเข้าไปในทวีปออสเตรเลียซึ่งเพิ่งจะพบเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาภายใน 10 ปีที่ผ่านมา

ลักษณะของพืช

ลำต้น สาบเสือ เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขามากมายจนดูเป็นทรงพุ่ม ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุม ด้วยขนอ่อนนุ่ม ก้านและใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายสาบเสือ มีลำต้น สูง 1-2 เมตร

ใบเดี่ยวออกจากลำต้น ที่ข้อ แบบตรงกันข้าม รูปรีค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยมขอบใบ หยัก ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง เรียวสอบเข้าหากัน สีเขียวอ่อน เส้นใบเห็นชัดเจน 3 เส้น มีขนปกคลุม ผิวใบทั้งสองด้าน

ดอกเป็นช่อ สีขาวหรือฟ้าอมม่วง ดอกย่อย 10-35 ดอก ดอกวงนอกบานก่อน กลีบดอก หลอมรวมกันเป็นหลอด ผลขนาดเล็ก รูปร่างเป็น ห้าเหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ส่วน ปลายผลมีขนสีขาว ช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวตามลม

การแพร่กระจาย

ขึ้นทั่วไปทั้งในสภาพดินชื้นหรือ แห้ง แพร่กระจายในแหล่งปลูกพืชยืนต้นและที่รกร้าง ว่างเปล่า และตามที่มีแสงแดดมากๆ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

จัดเป็นพืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน

สาบเสือเป็นพืชต่างถิ่นรุกราน (Alien invasive species) ที่สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศธรรมชาติ และเป็น 1 ใน 100 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของโลก ตามคู่มือ Global Invasive Species Database (GISD) ที่จัดทำขึ้นโดย IUCN (International Union for Conservation of Nature) เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้ดีและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่โล่ง

โดยส่วนใหญ่จะขึ้นปกคลุมเป็นพื้นที่กว้างขวาง ทำให้พืชชนิดอื่นขึ้นได้ยาก รวมทั้งพืชเบิกนำ(Pioneer species) ซึ่งส่งผลทำให้ระบบนิเวศในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป และมีผลทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกพบได้ทั่วประเทศไทย ระบาดทั่วไปในพื้นที่ราบจนถึงพื้นที่สูงถึง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ลักษณะของความเสียหาย แก่งแย่งธาตุอาหารและน้ำ กับพืชหลัก
เป็นแหล่งอาศัยของศัตรูพืชแมลง-โรคพืช

แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งใช้เป็นแหล่งอาหารของผึ้ง น้ำผึ้งมีคุณภาพดีช่วยรักษาโรคใช้ผสมยาโบราณ

สรรพคุณ

สาบเสือมีสรรพคุณทางยามากมายทั้งจากต้น ใบ ดอก ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้..

ต้น

เป็นยาแก้ ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ แก้บวม ดูดหนอง แล้วนอกจากนี้ ใบสาบเสือ ยังมีฤทธิ์ พิชิตปลวกได้อีกด้วย

ใบ

ใบของสาบเสือมีสารสำคัญคือ กรดอะนิสิก และฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น ไอโซซากูรานิติน และโอโดราติน นอกจากนี้ยังมีสารพวกน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วยสารยูพาทอล คูมาริน โดยสารสำคัญเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ที่ผนังเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดหดตัว และนอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ไปกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถห้ามเลือดได้

สาบเสือ (Eupatorium odoratum Linn.) เป็นสมุนไพรที่ใช้ในการห้ามเลือดมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้ใบสดขยี้ปิดปากแผล และมีผลการวิจัยในสัตว์ทดลองยืนยันว่าสามารถทำให้เลือดหยุดไหลได้เร็วขึ้น โดยพบว่าแคลเซียมที่มีอยู่ในใบสาบเสือเป็นสารสำคัญที่ทำให้เลือดแข็งตัว จากการทดลองใช้ disodium citrate เป็นสารป้องกันการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) และใช้สารสกัดใบสาบเสือด้วยน้ำในรูปผงแห้ง ความเข้มข้นร้อยละ 2.5, 5.0 และ 6.5 (W/V) กระตุ้นการแข็งตัวของเลือด เมื่อทดลองกับเลือดของคนปกติพบว่าสารสกัดสาบเสือทุกความเข้มข้น สามารถทำให้ความหนืด (viscosity) ของเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) จึงเป็นการยืนยันว่าสารสกัดจากใบสาบเสือมีผลทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้นจริง

ใช้เป็นยารักษาแผลสด สมานแผล ถอนพิษแก้อักเสบ แก้พิษน้ำเหลือง แก้ตาฟาง แก้ตาแฉะ แก้ริดสีดวงทวารหนัก รักษาแผลเปื่อย ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซียใช้ยาต้มที่ใส่ใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

สาบเสือ กับสูตรบำรุงไต คนที่ไม่ได้เป็นโรคไตก็กินได้ และ คนที่มีอาการใหม่ๆยังไม่รุนแรง เช่น ฉี่บ่อย แต่ฉี่ออกครั้งละนิดละหน่อย ฉี่ไม่พุ่ง เรียกว่าเริ่มจะมีอาการไตไม่ดี ให้เอาต้น “สาบเสือ” ทั้งต้นรวมราก ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากจนแห้งแล้วนำไปคั่วไฟอ่อนๆ จนเหลือง หยิบใส่แก้วพอประมาณ ชงกับน้ำร้อนดื่มต่างน้ำชาทันที จะช่วยบำรุงไตให้แข็งแรง และอาการฉี่ไม่พุ่ง ฉี่บ่อยๆจะหายได้

ดอก

เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ แก้ไข้

ทั้งต้น

เป็นยาแก้บาดทะยัก และซอยที่แผล

การนำมาใช้ห้ามเลือด
วิธีใช้: นำใบมาโขลกและขยี้พอกบาดแผล

ใบสาบเสือ มีสารออกฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนกระทู้ ด้วง เพลี้ยอ่อน รวมไปถึงยังมีสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้อีกด้วย

จึงมีการนำเอาลำต้น หรือ ใบสาบเสือ มาใช้เป็นส่วนผสม เพื่อทำยากำจัดแมลงศัตรูพืชแบบอินทรีย์ได้หลายสูตร หลายวิธี โดยไม่ต้องใช้สารเคมีต่างๆ ซึ่งเสี่ยงกับสารพิษตกค้างและช่วยประหยัดต้นทุน ตัวอย่างเช่น การเอาต้นและใบไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผงผสมน้ำทิ้งไว้ค้างคืน สามารถเอาน้ำไปฉีดพ่นในแปลงผัก ทุก 7 วัน เพื่อป้องกันและไล่หนอนใยผัก หนอนกระทู้ หรือการนำเอาผงสาบเสือ มาผสมเหล้าขาว หมักค้างคืน แล้วนำไปฉีดพ่นเพื่อป้องกันเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ให้แก่พืชได้.


สรุปสรรพคุณทางยาของต้นสาบเสือ

  • ใช้ปิดแผล
  • ใช้สมานแผล
  • แก้อักเสบ
  • แก้ตาแฉะ
  • แก้ตาฟาง
  • ช่วยแก้ไข้
  • ช่วยแก้ร้อนใน
  • แก้พิษน้ำเหลือง
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ช่วยแก้กระหายน้ำ
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • รักษาโรคลำไส
  • ขยี้ใส่แผลช่วยห้ามเลือด
  • ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย
  • รักษาแผลไฟไหม้และแผลเปื่อยพุพอง

ที่มา-https://www.pohchae.com/2021/01/31/สาบเสือ

รวมหลากวิธี แก้ปวดฟัน