52บริษัทอาหารสัตว์ขาดวัตถุดิบ จ่อปิดไลน์ผลิต เหตุวิกฤติยูเครน
..วิกฤติยูเครนซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ของโลก ป่วนอาหารสัตว์ 52 บริษัท นับถอยหลัง 1 เดือนหากไม่มีวัตถุดิบ ทยอยปิดไลน์ผลิต ..ล่าสุดยูเครนหยุดการซื้อขายข้าวสาลี หลังราคาพุ่งไม่หยุดกระทบนำเข้า ลามกระทบห่วงโซ่ปศุสัตว์ไทย 1.7 ล้านล้านบาท “ไก่-ปุ๋ย” ร้องขอพาณิชย์ปรับขึ้นราคา โอดแบกต้นทุนอ่วม..
วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกได้ปิดล้อมทางเศรษฐกิจรัสเซียหนักขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการคว่ำบาตรธนาคารของรัสเซีย โดยตัดออกจากระบบการเงินของโลก (ระบบ SWIFT) การคว่ำบาตรบุคคลสำคัญของรัฐบาลและภาคเอกชนรัสเซีย รวมถึงส่งอาวุธไปช่วยยูเครน ขณะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ซึ่งรวมถึงไทย ได้ลงมติ (2 มี.ค.) 141 เสียง ต่อ 5 เสียง(ที่คัดค้าน) เรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน และถอนกองทัพทั้งหมดออกไปโดยทันที
จากเหตุการณ์ที่ยังยืดเยื้อในเวลานี้ได้ลามกระทบต่อไทยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งด้านการค้า การส่งออก การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในภาพรวมที่เวลานี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้พุ่งสูงขึ้นระดับ 115 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาสินค้าและบริการ เงินเฟ้อในไทยปรับตัวสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพ สวนทางกับเงินในกระเป๋าที่ลดลง ล่าสุดกำลังจะซ้ำเติมยิ่งเข้าไปอีก เมื่อสินค้าปศุสัตว์ ทั้งหมู ไก่ เป็ด และไข่ไก่ ที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ในการเลี้ยงมีทิศทางขาขึ้นอีกระลอก กระทบเกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องร้องขอปรับขึ้นราคา
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวลานี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญ ทั้งที่นำเข้าและในประเทศ(แต่ขาดแคลน) ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวโพดจากเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 10.54 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ปัจจุบันอยู่ที่ 12 บาทต่อกก. และมีแนวโน้มอาจปรับขึ้นถึง 15 บาทต่อกก.ในเวลาอันใกล้ จากขณะนี้ข้าวโพดในมือเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวและขายไปหมดแล้ว ส่วนใหญ่เวลานี้อยู่ในมือพ่อค้าในประเทศที่ปรับขึ้นราคาขาย
ส่วนข้าวสาลีนำเข้า จาก ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 8.91 บาท ต่อกก. ขณะนี้ขึ้นไปที่ 12.75 บาทต่อกก. และกากถั่วเหลืองที่โรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลือง (นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมาสกัด และขายให้โรงานอาหารสัตว์) เวลานี้ขายที่ 22.50 บาทต่อ กก. จากเดือนธ.ค. 2564 อยู่ที่ 18.91 บาทต่อ กก.
“ในส่วนของข้าวสาลีที่ไทยต้องนำเข้าแบบมีเงื่อนไข (รัฐบาลมีเงื่อนไขซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน แลกนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) ส่วนหนึ่งนำเข้าจากยูเครน และรัสเซีย (ปี 64 ไทยนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครน 3.42 แสนตัน ไม่มีการนำเข้าจากรัสเซีย ขณะที่ปี 63 ไทยมีการนำเข้าจากรัสเซีย 3.04 แสนตัน) เวลานี้ผู้ค้าข้าวสาลีของยูเครนได้หยุดการซื้อขาย เพราะราคาข้าวสาลีไม่นิ่งและมีทิศทางขาขึ้นไม่หยุด หากตกลงขายในช่วงนี้ราคาขยับขึ้นไปอีกเขาจะขาดทุนทันที ขณะที่ของก็ขาดจากหลายประเทศแย่งซื้อ จึงไม่รีบขาย รวมถึงผลจากสงครามครั้งนี้ทำให้สายเดินเรือดีเลย์ หรือหยุดการเดินทางเพราะเกรงไม่ปลอดภัย และรอดูสถานการณ์ ทุกอย่างวุ่นวายไปหมด มีเงินก็ซื้อของไม่ได้”
- 52 บริษัทจ่อลดการผลิต
สิ่งที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ได้ดำเนินการเวลานี้ คือการติดต่อเพื่อจัดหาวัตถุดิบ ทั้งข้าวสาลี กากถั่วเหลือง ข้าวโพดจากแหล่งอื่น เพราะการซื้อเป็นสั่งซื้อล่วงหน้า ไม่ใช่สั่งซื้อวันนี้แล้วได้เลย เช่น จากอาร์เจนตินา บราซิล สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย แต่สิ่งที่เจอเหมือนกันคือทุกแหล่งราคาปรับตัวสูงขึ้น จากผลกระทบวัตถุดิบขาดแคลน และราคาสูงขึ้นส่งผลให้โรงงานผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ 52 บริษัท ที่มีโรงงานผลิตรวมกันเป็นร้อยโรง หลายรายได้เริ่มปรับลดการผลิตลง และป้อนสินค้าให้ลูกค้าที่เป็นฟาร์มในเครือของบริษัทก่อนเป็นอันดับแรก ถัดมาคือลูกค้าประจำที่เป็นคู่ค้าใกล้ชิดที่ค้าขายกันมานาน ส่วนลูกค้าขาจรต้องลดจำนวนสินค้าลง
ขณะที่ข้อเท็จจริงเวลานี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังพอมีสต๊อกวัตถุดิบเก่าอยู่บ้าง แต่หากไม่มีของใหม่เข้ามาเติมคาดจะผลิตได้อีกไม่เกิน 1 เดือน หากอาหารสัตว์ขาดแคลนจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาทได้ (กราฟิกประกอบ) และหากกระทรวงพาณิชย์ไม่พิจารณาปรับขึ้นเพดานราคาอาหารสัตว์ (ที่เป็นสินค้าควบคุม) ผู้ประกอบการคงอยู่ลำบาก เพราะเวลานี้ราคาจำหน่ายชนเพดานแล้ว และไม่สามารถให้ส่วนลดราคาแก่ลูกค้าเช่นเดิมได้ จากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก
- ไก่เนื้อร้องขอเลิกตรึงราคา
ด้าน นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉลี่ยปรับขึ้นมาแล้ว 50-60% ปัจจุบันเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงไก่สูงขึ้นมากเฉลี่ย 36-38 บาทต่อ กก. แต่กระทรวงพาณิชย์ได้ดึงสินค้าเนื้อไก่ รวมถึงไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุม (จากผลพวงราคาเนื้อหมูแพงก่อนหน้านี้) การปรับราคาต้องได้รับอนุญาต
ทั้งนี้กรมการค้าภายใน ได้ขอให้ผู้ประกอบการและผู้ค้าตรึงราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่ 33.50 บาทต่อกก., ไก่สดรวม/ไม่รวมเครื่องใน 60-65 บาทต่อกก., น่องติดสะโพก/น่อง/สะโพก 60-65 บาท ต่อกก. และเนื้ออก 65-70 บาท ต่อกก.โดยให้มีผลถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 65 เรื่องนี้ขอให้ภาครัฐยุติการตรึงราคาเนื้อไก่และไข่ไก่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเลี้ยงสัตว์ต่อไป
- ปุ๋ยสะเทือนขอขยับขึ้น
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ย และธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อตลาดปุ๋ยเคมีในไทยด้วย จากที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าแม่ปุ๋ยจากรัสเซีย รวมถึงเบลารุส (ที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซีย) รวมปีละ 6.5-7 แสนตัน เวลานี้มีปัญหาการสั่งซื้อจากทั้งสองประเทศและมีปัญหาการขนส่ง ผลกระทบตามมาคือ ราคาแม่ปุ๋ยทั่วโลกที่กำลังปรับขึ้นจะกระทบโรงงานผลิตปุ๋ยในไทยอาจต้องลดกำลังการผลิต เลวร้ายสุดคือเลย์ออฟพนักงาน ขณะที่ปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ที่ยังไม่อนุญาตให้มีการปรับขึ้นราคา
ทั้งนี้สมาคมฯจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอให้ขยับราคาขายที่เหมาะสม 1.ไม่เอากำไรเกินควร 2. เพื่อให้โรงงานมีกำลังจ้างทำงาน และ 3.ไม่ทำให้ขาดทุนจนเจ๊ง
สำหรับการนำเข้าปุ๋ยเคมีย้อนหลัง 3 ปีของไทย ปี 2564 นำเข้า 5.5 ล้านตัน ปี 2563 นำเข้า 5.14 ล้านตัน และปี 2562 นำเข้า 5.02 ล้านตัน โดยปี 2564 นำเข้าสูงสุดจากจีน รองลงมาคือ ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย (นำเข้าจากรัสเซีย 4.45 แสนตัน)
- หอค้าไทยห่วงของแพง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนคงยืดเยื้อ น้ำมันดิบโลกวันนี้ทะลุ 115 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้ว และมีโอกาสอาจทะลุ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลต่อราคาน้ำมันในไทยจะปรับตัวสูงขึ้นอีก และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการจับจ่ายใช้สอยลดลงจากสินค้าแพงขึ้น
นอกจากนี้เหตุการณ์ยังกระทบต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกรวมถึงไทยเพิ่มสูงขึ้น เพราะยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ของโลก แนะนำให้ภาครัฐควบคุมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศไม่ให้สูงไปกว่านี้ เพราะจะกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์ และห่วงโซ่อาหาร
ที่มา https://www.pohchae.com/2022/03/08/animal-feed-lacks-raw-materials-from-ukraine/