เลี้ยงสัตว์ » นมแพะ ต่างจากนมวัวอย่างไร (จากพบแพทย์)

นมแพะ ต่างจากนมวัวอย่างไร (จากพบแพทย์)

2 กันยายน 2022
574   0

https://www.pohchae.com/2022/09/02/how-goat-milk-different-cow-milk/
นมแพะ ต่างจากนมวัวอย่างไร ? (จากพบแพทย์)
#นมแพะ #นมวัว #พบแพทย์


นมแพะ ต่างจากนมวัวอย่างไร (จากพบแพทย์)

นมแพะ ต่างจากนมวัวอย่างไร ?

..นมแพะนับเป็นนมอีกชนิดที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร โดยมีปริมาณโปรตีนสูงสุดเมื่อเทียบกับนมชนิดอื่น ๆ นมแพะ 1 แก้ว ให้โปรตีน 9 กรัม ไขมันอิ่มตัว 7 กรัม แคลเซียมประมาณร้อยละ 35 ของปริมาณที่ต้องการในแต่ละวัน รวมพลังงานทั้งหมด 170 แคลอรี่ ..

นมแพะมีปริมาณวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ไม่ต่างจากนมวัวนัก โดยมีแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 3 ทองแดง โพแทสเซียม และซิลิเนียมมากกว่าเล็กน้อย แต่สิ่งที่ด้อยกว่านมวัวคือวิตามินบี 12 และกรดโฟลิกซึ่งมีอยู่น้อยกว่ามาก ส่วนคุณสมบัติอื่น ๆ ของนมแพะที่ต่างจากนมวัว มีดังนี้..

นมแพะมีโปรตีนที่ง่ายต่อการย่อย โปรตีนในน้ำนมจะจับตัวกันเมื่อเจอกรดภายในกระเพาะอาหารจนเกิดเป็นลิ่มน้ำนมขึ้น ลิ่มน้ำนมที่เกิดจากนมแพะนั้นอ่อนนุ่มกว่านมวัว ทำให้ย่อยได้ง่ายกว่า แพทย์บางคนจึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนหรือโรคกระเพาะอาหารดื่มนมแพะแทนนมวัว ทั้งนี้ นมแพะอาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว เพราะนมทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างมีโปรตีนที่ก่ออาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีปริมาณของโปรตีนแต่ละประเภทที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ไม่เท่ากัน เด็กที่แพ้นมวัวจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะแพ้นมแพะไปด้วย เว้นแต่ว่าอาการแพ้นั้นมีสาเหตุมาจากการแพ้น้ำเหลืองนมวัว (ฺBovine Serum) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่ทำจากนมวัวทุกชนิด ในกรณีนี้เด็กอาจสามารถดื่มหรือรับประทานอาหารจากนมแพะแทนได้โดยไม่มีอาการแพ้..

นมแพะ สามารถย่อยได้ง่ายกว่านมวัว เราจะเห็นว่าบางคนเมื่อดื่มนมวัว จะมีอาการท้องอืด แน่นท้องและมักมีอาการท้องเสียตามมา เพราะในร่างกายของคนไทยไม่สามารถย่อยสารอาหารในนมวัวได้ดีเหมือนชาวต่างชาติ แต่ในทางกลับกันกลับไม่พบอาการดังกล่าวนี้ในน้ำนมแพะ ด้วยตัวนมแพะมีชนิดของไขมันและโปรตีนที่ย่อยง่ายกว่านมวัว ทำให้ระบบย่อยอาหารดูดซึมไปใช้ได้ง่าย และอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารบางชนิด

 

นมแพะมีไขมันที่ย่อยง่ายกว่า อนุภาคเม็ดไขมันของนมแพะมีกรดไขมันสายปานกลางและสายสั้นในสัดส่วนที่สูงกว่านมวัว ซึ่งจะช่วยให้เอนไซม์ในระบบย่อยอาหารย่อยไขมันเหล่านี้ได้ดีขึ้น การดื่มนมวัวที่มีกรดไขมันสายยาวกว่าจึงต้องใช้เวลาและกระบวนการย่อยที่ยากกว่านมแพะ

มีแลกโทสน้อยว่านมวัว สำหรับเด็กที่ภาวะย่อยน้ำตาลแลคโทสในนมผิดปกติ การดื่มนมแพะอาจส่งผลดีมากกว่าเล็กน้อย เนื่องจากประกอบด้วยน้ำตาลแลกโทส 4.1 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่านมวัวที่มีน้ำตาลแลกโทส 4.7 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกันแล้วคุณประโยชน์และความเสี่ยงต่อการแพ้ของของนมวัวและนมแพะนั้นไม่ได้แตกต่างกันมาก สำหรับคนทั่วไปหรือทารกที่ดื่มนมทั้ง 2 ชนิดนี้ได้โดยไม่มีอาการแพ้ นมวัวอาจเป็นทางเลือกที่มีราคาย่อมเยาว์และหาซื้อได้ง่ายกว่า ในขณะที่นมแพะนั้นยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทยและอาจมีราคาสูงกว่ามาก

นมแพะมีคุณประโยชน์ตามที่เชื่อกันจริงหรือ?

ประโยชน์ของนมแพะที่มีต่อสุขภาพนั้นเป็นที่กล่าวถึงอย่างหลากหลาย เช่น เสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ป้องกันและรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของลูกน้อย ตลอดจนรักษาโรคผิวหนังอย่างสะเก็ดเงิน ทว่ามีข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวยืนยันประสิทธิภาพของนมแพะเหล่านี้ ดังนี้..

ดีต่อระบบย่อยอาหาร นมแพะมีชนิดของไขมันและโปรตีนที่ย่อยง่ายกว่านมวัว ทำให้ระบบย่อยอาหารดูดซึมไปใช้ได้ง่าย และอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารบางชนิด การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งกล่าวถึงคุณประโยชน์ข้อนี้ของนมแพะ โดยให้ลูกหมูเพิ่งหย่านมดื่มนมแพะพาสเจอร์ไรส์ที่มีไลโซไซม์ซึ่งเป็นเอนไซม์ในร่างกายมนุษย์ ทำหน้าที่ต้านเชื้อแบคทีเรีย ผลลัพธ์พบว่าลูกหมูมีประสิทธิภาพของระบบการย่อยอาหารดีขึ้น ทั้งยังช่วยป้องกันจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. Coli) ในลำไส้ อันเป็นต้นเหตุของอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และถ่ายเป็นเลือด ซึ่งคาดว่านมแพะอาจมีสรรพคุณเดียวกันนี้หากให้เด็กเล็กดื่ม

ไม่เพียงแต่การป้องกันแบคทีเรียดังกล่าว งานวิจัยในหลอดทดลองอีกชิ้นหนึ่งพบว่านมแพะมีคุณประโยชน์ในการช่วยซ่อมแซมความเสียหายและส่งเสริมการทำงานของเซลล์ของผนังทางเดินอาหารหลังจากเกิดการติดเชื้ออีโคไล โดยยิ่งเป็นนมแพะที่มีเอนไซม์ไลโซไซม์เข้มข้นมากเท่าไรก็ยิ่งให้ผลดีมากเท่านั้น ซึ่งหากในอนาคตมีการพิสูจน์คุณสมบัติข้อนี้ด้วยการให้คนรับประทานโดยตรงและพบว่าได้ผลจริง อาจมีการพัฒนานมแพะที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลในลำไส้ได้ โดยเฉพาะกับทารกหรือเด็กเล็กที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากภาวะนี้เป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้ออีโคไลในระบบย่อยอาหารป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารและน้ำที่สะอาดถูกสุขอนามัย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อที่ปรุงไม่สุกดี ล้างมือและอุปกรณ์ทำครัวทุกครั้งหลังจากสัมผัสเนื้อดิบ รวมทั้งหลังเข้าห้องน้ำ และควรเลือกดื่มนม อาหารที่ทำจากนม หรือน้ำผลไม้ที่ผ่านการพาสเจอไรซ์เท่านั้น

เสริมสร้างพัฒนาการทารก กล่าวกันว่าการให้ลูกดื่มนมแพะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของลูกน้อยได้ โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านสมอง แต่การศึกษาประสิทธิภาพข้อนี้ของนมแพะยังมีไม่มากนัก มีเพียงงานวิจัยในสัตว์ที่ทดลองกับหนูเพิ่งหย่านมแม่ โดยแบ่งกลุ่มให้ดื่มนมสำหรับทารกสูตรนมวัวเทียบกับสูตรนมแพะในความเข้มข้นระดับต่าง ๆ ผลลัพธ์พบว่าหนูที่ได้รับนมแพะมีการเจริญเติบโตของร่างกายและกระดูกรวดเร็วกว่า โดยไม่ส่งผลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและการเรียนรู้มากกว่า รวมทั้งมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ทั้งนี้ นมแพะจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กจริงหรือไม่นั้น อาจได้คำตอบที่ชัดเจนกว่านี้หากมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป..

ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน มีการแนะนำว่านมแพะอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อันเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ กันไป โดยอาการของโรคนี้มีได้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นรุนแรงจนส่งผลถึงชีวิต และแม้แต่อาการในระดับไม่รุนแรง เช่น จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันตา น้ำตาไหล มีผื่นขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้ไม่น้อย

นมแพะจะเป็นตััวเลือกที่ดีต่อการป้องกันหรือรักษาโรคนี้หรือไม่นั้นยังต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมอีกมาก เพราะงานวิจัยด้านนี้ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยและไม่ได้ศึกษากับคนโดยตรง งานวิจัยในหลอดทดลองชิ้นหนึ่งที่น่าจะเป็นแนวทางให้เกิดการศึกษาอย่างน่าเชื่อถือและรัดกุมในขั้นต่อไปในอนาคต ชี้ว่านมแพะอาจมีส่วนช่วยระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อภายนอกและลดการเกิดสารก่อภูมิแพ้ ทั้งในด่านแรกที่ร่างกายเผชิญสารก่อภูมิแพ้และเมื่อเริ่มเกิดการผลิตสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีออกมาหลังจดจำสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวได้ ซึ่งประสิทธิภาพข้อนี้จะช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับอาการแพ้ได้ดียิ่งขึ้น

ลดระดับคอเลสเตอรอล หลายคำกล่าวอ้างระบุว่านมแพะมีไขมันต่ำกว่านมวัวและมีกรดไขมันดีบางชนิดที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ซึ่งแพะบางสายพันธุ์อาจให้นมที่มีไขมันต่ำกว่านมวัวจริง แต่อีกหลายสายพันธ์ุก็มีไขมันสูง ทั้งยังให้พลังงานถึง 170 แคลอรี่ ไขมันอิ่มตัว 7 กรัม และคอเลสเตอรอล 27 มิลลิกรัม การดื่มนมแพะโดยคาดหวังสรรพคุณด้านนี้จึงอาจให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม เนื่องจากการได้รับไขมันอิ่มตัวปริมาณสูงจากอาหารนั้นเป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น อันจะนำไปสู่โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงภาวะอ้วน

ส่วนที่ว่านมแพะมีไขมันชนิดดีและช่วยลดคอเลสเตอรอลได้นั้นไม่ปรากฏข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือกล่าวถึงหรือพิสูจน์ยืนยันอย่างชัดเจน ผู้ที่ต้องการดื่มนมไขมันต่ำจึงควรเลือกนมวัวชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยเป็นดีที่สุด เพราะมีราคาถูก หาซื้อง่าย และมั่นใจได้ว่ามีไขมันต่ำ ทั้งยังมีกรดโฟลิกและวิตามินบี 12 ในปริมาณที่สูงกว่านมแพะมาก

รักษาโรคสะเก็ดเงิน เชื่อกันว่านมแพะอาจมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการของโรคผิวหนังเรื้อรังที่ก่อให้เกิดสะเก็ดขึ้นตามร่างกายชนิดนี้ บ้างว่าการใช้สบู่นมแพะฟอกช่วยให้ผิวหนังบริเวณที่มีอาการดีขึ้นได้ บ้างเชื่อว่าการดื่มนมวัวจะทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินแย่ลง จึงหันมาดื่มนมแพะแทน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคุณประโยชน์ของนมแพะต่อการรักษาโรคสะเก็ดเงินยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มารับรอง ผู้ที่ต้องการลองใช้นมแพะบรรเทาอาการจากโรคนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามที่แนะนำกันมา อาจทำตามได้โดยไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เพียงแต่ไม่อาจรับประกันว่าจะได้ผลจริงหรือไม่

ดื่มนมแพะอย่างไรให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

สำหรับคุณแม่ที่ต้องให้นมลูกน้อย นมแม่เป็นทางเลือกที่มีประโยชน์และปลอดภัยที่สุด เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก รวมถึงสารก่อภูมิต้านทานป้องกันโรคต่าง ๆ ควรให้เด็กดื่มนมสูตรอื่นในกรณีที่ไม่อาจให้นมแม่แก่ลูกน้อยได้เท่านั้น ทั้งนี้ คุณแม่ที่ให้ลูกดื่มนมแพะควรเลือกสูตรที่มีการเสริมกรดโฟลิกและวิตามินบี 12 เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากนมแพะมีปริมาณแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิดนี้ค่อนข้างน้อย โดยมีกรดโฟลิกคิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของนมวัวเท่านั้น ที่สำคัญ ควรต้มนมแพะก่อนให้เด็กดื่มทุกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียบรูเซลโลซิสที่เจริญเติบโตในนมแพะและอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ ส่วนผู้บริโภคนมแพะทั่วไปควรเลือกซื้อนมแพะที่น่าเชื่อถือและมั่นใจได้ว่าผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยการให้ความร้อนตามมาตรฐานหรือนมชนิดพาสเจอไรซ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเด็กไม่แนะนำให้ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ดื่มนมแพะ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองต่อระบบย่อยอาหารและเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 ยกเว้นในกรณีที่เด็กแพ้นมสูตรอื่น ๆ ได้แก่ นมวัว นมถั่วเหลือง หรือนมสูตรไฮโปอัลโลเจนิก (Hypoallergenic Formulas) แพทย์อาจแนะนำให้ดื่มนมแพะชนิดเสริมแร่ธาตุโฟลิกและวิตามินบี 12 ได้.

เลี้ยงแพะนม ..ส่งนมแพะขายในห้างมีรายได้ตลอดปี