การจัดบ้านร่วมกับต้นไม้
การใช้หินเป็นทางเดิน เป็นขั้นบันไดของเนินดิน
การใช้หินในปริมาณมาก โดยจัดองค์ประกอบให้เกิดจุดเด่นสวยงาม มีต้นไม้ประกอบเพียงเล็กน้อย
หรือแม้แต่การนำหินมาก่อเรียงกันเป็นผนัง ทำพื้นในสนามก็เรียกว่าเป็นสวนหิน
การจัดสวนเล็กในกระบะในพื้นที่เล็ก ๆ (ไม่เกิน 1 ตารางเมตร) โดยการใช้หินเป็นองค์ประกอบสำคัญก็เรียกว่าสวนหิน
รูปแบบของสวนหินในอเมริกา ซึ่งเป็นชาติเสรีในเชิงศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นรูปแบบที่กล่าวได้ว่าไม่เคร่งครัด(INFORMAL).. มีลักษณะเป็นธรรมชาติมากกว่าการที่จะวางผังของสวนในรูปทรงเรขาคณิต ลักษณะของสวนหินจึงเป็นการวางหินดารดาษไปทั้งพื้นที่ที่ต้องการ แล้วแทรกคละเคล้าไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด โดยเฉพาะไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน ทั้งไม้ใบและไม้ดอก..
ความงามของสวนหินอย่างนี้ก็คือปริมาณของสวนที่กินพื้นที่กว้าง มีรายละเอียดในแต่ละกลุ่มแตกต่างกันหรือสัมพันธ์กัน ไม่มีพื้นที่โล่งที่เป็นสนามหญ้า กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างจุดเด่นด้วยปริมาณนั่นเอง สวนในลักษณะนี้เป็นสวนที่จัดทำได้ไม่ยาก เพียงแต่คำนึงถึงปริมาณ ความสูงต่ำ (การใช้ไม้ยืนต้น ไม้คลุมดิน) ในจังหวะที่พอเหมาะ สีสันที่ปรากฎในลานหินอย่างนี้จะมีความหลากหลายมาก จึงมีจุดสนใจมาก และดูได้ไม่เบื่อ แต่จะเวียนหัวหรือไม่นั้นคงขึ้นอยู่กับผู้ดูแต่ละคน และก็ถือเป็นความสามารถของนักจัดสวนแต่ละคนด้วยว่าจะจัดอย่างไรไม่ให้กลายเป็น “กองขยะ” ที่เรี่ยราดอยู่บนพื้นดิน ความสำคัญอันนี้เป็นสิ่งที่นักจัดสวนควบคุมหินและต้นไม้ให้เป็นศิลปะของสวนได้จริง ๆ ไม่เช่นนั้นแล้วสวนอย่างนี้ใคร ๆ ก็จะทำได้ ความเป็นเอกภาพของการจัดสวนในลักษณะนี้ก็จะไม่ปรากฎ
การที่กล่าวว่าสวนอย่างนี้จัดไม่ยาก ก็เพราะว่าไม่ต้องมีการวางผังที่ยากมากนัก เพียงแต่มีพื้นที่ที่จะจัด ก็นำหินไปวางสุ่มลงไป (RANDOM) ได้ อาจมีการจัดองค์ประกอบของความสูงต่ำ จัดจุดเด่นของกลุ่มหินลงไป จากนั้นก็ปลูกต้นไม้แทรกแซมลงไป ซึ่งความแข็ง ความขาวหรือเทา และรูปแบบของหินนั้นจะช่วยขับให้พันธุ์ไม้ที่ปลูกแทรกแซมลงไปนั้นมีความเด่นขึ้นมาในทันที และโดยหลักการแล้วหินแต่ละก้อนหรือแต่ละกลุ่มจะเป็นตัว “จบ” ของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดหรือหลายชนิดได้ พันธุ์ไม้จึงไม่ให้ความรู้สึกว่า “ลอย” อยู่อย่างโดดเดี่ยว
การจัดสวนโดยใช้ต้นไม้แต่เพียงอย่างเดียวนั้น เป็นงานที่ยากกว่าสวนที่ใช้หินเป็นองค์ประกอบ (ทั้งหลักและรอง มากมายนัก และด้วยลักษณะของสวนหินอย่างนี้ ขอแนะนำว่าสามารถนำมาใช้เป็นรูปแบบของการจัดสวนด้วยตนเองได้ เพราะไม่ต้องใช้คนงานและพลังงานมาก หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้หินก้อนใหญ่ ๆ ที่ต้องใช้คนหามหรือใช้รอกยก แต่สามารถใช้หินเป็นแผ่นเป็นก้อนเล็ก ที่ยกได้คนเดียวนำมาจัดกลุ่ม หรือวางกระจายลงไป (ควรจะฝังดินบ้างเพื่อไม่ให้เคลื่อน) จากนั้นก็ปลูกไม้ดอกไม้ประดับลงไป ในกรณีที่ยากขึ้นมาก็อาจใช้หินเป็นบริเวณ มีการเล่นระดับ มีการกำหนดส่วนใช้สอย การกำหนดพันธุ์ไม้ การออกแบบ การจัดองค์ประกอบของพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ซึ่งวิธีการหรือรูปแบบเช่นนี้เป็นรูปแบบที่เป็นผลงานอีกขั้นหนึ่งของนักจัดสวน
การจัดสวนให้สวยงามนั้นนอกจากรูปแบบแล้ว การใช้ต้นไม้ในปริมาณมาก (หรือบางทีก็น้อย) นั้นเป็นหลักการหนึ่งที่จะทำให้สวนมีเอกภาพและเกิดความเด่นสวยงามขึ้น ซึ่งนับเป็นข้อคิดสำหรับพวกเราในการที่จะทำสวนในบริเวณบ้าน และผู้ประกอบอาชีพจัดสวนทั้งหลาย ส่วนการใช้ต้นไม้ในปริมาณน้อยแต่ให้สวยงามมีเอกภาพโดดเด่นนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับกรณีทั่วไป คงจะต้องเป็นผลงานของนักจัดสวนชั้นครูเท่านั้นจึงจะทำสิ่ง “น้อย” ให้ดู “มาก” ได้ ดังเช่นสวนญี่ปุ่นแบบ “เซน” จึงเน้นความน้อยเรียบง่าย แต่มากด้วยอานุภาพของพลังและภาพที่ปรากฎ และกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบสวนหินในตะวันออกที่สวนทางกับสวนหินในยุโรปและอเมริกา เพราะสวนหินในยุโรปและอเมริกานั้นจะมีองค์ประกอบมากมาย นอกเหนือไปจากหินและต้นไม้เต็มพื้นที่ แต่หลายครั้งเขาจะผนวกประโยชน์ใช้สอยเข้าไป เช่น ทำลานหิน ทำทางเดิน ทำบ่อน้ำ สะพาน การทำกระบะล้อมต้นไม้ใหญ่(ไม้ยืนต้น) ดังนี้เป็นต้น
การกำหนดองค์ประกอบให้มากจะให้ผลทางด้านรูปลักษณะ และความเป็นเอกภาพของสวนที่เกิดจากความหลากหลายขององค์ประกอบ ซึ่งก็เหมือนกับเราจัดดอกไม้หลากสีหลายชนิดลงในแจกัน ความงามความเด่นของแจกันก็จะเกิดขึ้นจากความหลากหลายนั้นนั่นเอง และเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากแนวทางทางตะวันออกอย่างเรา ซึ่งมุ่งเน้นที่รูปทรง เส้นสายมากว่าสีสัน ดังนั้นจุดเด่นของสวนแต่ละชาติจึงแตกต่างกัน
เราจะเห็นว่าอเมริกาจะมีความสามารถในการออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ ให้เกิดการใช้สอยและความสวยงามอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าจะเป็นพื้น กระบะต้นไม้ ม้านั่ง ทางเดินในสนาม ซึ่งรูปแบบหรือหลักการเช่นนี้ถือว่าเป็นรูปแบบร่วมสมัยที่ใช้กันมาจนปัจจุบัน และรวมทั้งการจัดสวนในบ้านเราด้วย ซึ่งจะขอกล่าวถึงสวนหินในจีนและญี่ปุ่นเสียก่อน
แต่จริง ๆ แล้ว สวนจีนและญี่ปุ่นนั้นไม่มีอิทธิพลระหว่างกันมากนัก..
ขอบคุณ http://www.leksound.net/