Uncategorized » อาการที่ผู้เลี้ยงสัตว์ป่วยสามารถสังเกตพบได้..และยาแก้

อาการที่ผู้เลี้ยงสัตว์ป่วยสามารถสังเกตพบได้..และยาแก้

13 เมษายน 2018
3231   0

http://bit.ly/2vadD8x


กรณีสัตว์ที่ปวย หรือสัตว์ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ อาการที่ผู้เลี้ยงสัตว์สามารถสังเกตพบได้ มีดังนี้ ..
         1. การกินอาหาร สัตว์ป่วยจะกินอาหารน้อยลงหรือไม่สนใจที่จะกินอาหาร
         2. อุณหภูมิของร่างกาย สัตว์ป่วยจะมีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติ หรือเรียกว่า สัตว์มีไข้

โค ป่วย อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 103 องศาฟาเรนไฮต์,(39.4℃) ดูการแปลงหน่วยอุณหภูมิได้ที่ http://bit.ly/2qsn4f3

แพะ ป่วย อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 105 องศาฟาเรนไฮต์,

แกะ ป่วย อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 104 องศาฟาเรนไฮต์,

สุกร ป่วย อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 103 องศาฟาเรนไฮต์,

กระต่าย ป่วย อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 103 องศาฟาเรนไฮต์

..อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติเมื่อสัตว์ป่วย สาเหตุก็เนื่องจากเชื้อโรคไปรบกวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย


         3. ความสนใจกับสภาพแวดล้อม สัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม ไม่สนใจต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง หรือเสียงเคาะเรียก
        4. จมูก บริเวณปลายจมูกของสัตว์ป่วยจะแห้ง อาจพบน้ำมูกใสหรือขุ่นเขียวก็ได้แล้วแต่ชนิดของเชื้อโรค
         5. ไอหรือจาม โดยเฉพาะสุกรหรือกระต่ายที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ จะมีอาการไอหรือจามมาก
         6. ผิวหนังและขน สัตว์ป่วยจะมีผิวหนังซีดขาว (สุกร) และขนจะหยาบยาวไม่เป็นมันหรือเป็นแผล หรือมีฝีหรือตุ่มแดงที่ผิวหนัง
         7. เยื่อตาและเหงือก จะมีสีชมพูเข้มหรือแดงเมื่อสัตว์ป่วยมีไข้ หรือมีสีขาวซีดเมื่อสัตว์ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง หรือโรคพยาธิภายใน หรือมีเลือดตกภายในช่องท้อง หรือช่องอกหรือมีพาราไซค์ในเลือด เป็นต้น
         8. การกินน้ำ สัตว์ป่วยจะกินน้ำน้อยลง และถ้าสัตว์ไม่สนใจที่จะกินน้ำเลยแสดงว่าสัตว์ป่วยหนัก หรือใกล้ตาย
         9. การหายใจ อัตราการหายใจของสัตว์ป่วยอาจจะเพิ่มมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติก็ได้ และการหายใจขึ้นลงของทรวงอกจะไม่สม่ำเสมอ สาเหตุส่วนมากเนื่องมาจากการติดเชื้อโรคทางระบบหายใจ หรือโรคหัวใจ
         10. การเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจของสัตว์ป่วยอาจจะเร็วหรือช้ากว่าปกติ ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากโรคโลหิตเป็นพิษ โรคติดเชื้อทางระบบหายใจ โรคหัวใจ หรือมีเลือดตกในช่องท้องหรือช่องอกก็ได้
         11. การขับถ่ายอุจจาระ อุจจาระของสัตว์ป่ามักจะมีลักษณะแข็งเป็นเม็ด หรือเหลวเป็นน้ำหรือมีเลือดหรือมูกเลือดปนออกมา
         12. การขับ่ถายปัสสาวะ ปัสสาวะของสัตว์ป่ามักจะมีลักษณะขุ่นหรือมีเลือดปน หรือมีสีเหลืองเข้มขึ้น
         13. การเจริญเติบโต สัตว์ป่วย จะโตช้า ผอม ซึ่งสาเหตุที่พบเป็นปัญหามากคือ โรคพยาธิภายในและภายนอก หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือโรคปอดเรื้อรัง
         14. การสืบพันธุ์ สัตว์เพศเมียและผู้เมือถึงอายุสมบูรณ์เพศหรือสมบูรณ์พันธุ์ แต่ไม่แสดงอาการหรือลักษณะของเพศ หรือความต้องการทางเพศออกมาให้เห็น
         15. การคลอดลูก เมื่อสัตว์ตั้งท้องและถึงกำหนดคลอดลูกแล้ว แต่ไม่มีการคลอด (ท้องเทียม) เกิดขึ้น หรือระยะเวลาการคลอดนานกว่าปกติ หรือการคลอดที่ผิดปกติ เนื่องจากเชิงกรานแคบ หรือลูกตัวโตเกินไป หรือช่องคลอดไม่เปิด หรือมดลูกไม่มีแรงบีบตัว
         16. เต้านม สัตว์ป่วยด้วยโรคเต้านมอักเสบ จะพบอาการเต้านมบวม แดง ร้อนและแข็ง (ไม่นุ่ม)
         17. ช่องคลอด ภายหลังการผสมพันธุ์ หรือการคลอดลูกที่มีการจัดการไม่สะอาด จะพบหนองสีครีมหรือเขียวไหลออกมาจากช่องคลอด
         18. การเดินและท่าเดิน การเดินและท่าเดินจะผิดปกติเมื่อสัตว์ป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท ตัวอย่างเข่น เดินเป็นวงกลมหรือเดินแข็งเกร็ง เพราะเป็นโรคบาดทะยัก เป็นต้น

  

       หลักการตรวจสุขภาพสัตว์เบื้องต้น ที่จะใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นนั้น จะต้องอาศัยข้อมูลดังต่อไปนี้มาประกอบกัน คือ


         1. ประวัติสุขภาพสัตว์
         2. ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนสัตว์ป่วย

ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนสัตว์ป่วยที่เกิดขึ้น ก็ยังสามารถนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย ดังนี้
2.1 ถ้ามีจำนวนสัตว์ป่วย 1 หรือ 2 ตัวในฝูงเดียวกันหรือคอกเดียวกัน และจำนวนสัตว์ป่วย ไม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในวันต่อมา อาจจะวินิจฉัยว่าสัตว์ป่วยตัวนั้นเป็น โรค ไม่ระบาด
2.2 ถ้ามีจำนวนสัตว์ป่วยมากกว่า 3 ตัวขึ้นไปในฝูงเดียวกันหรือคอกเดียวกันและจำนวนสัตว์ป่วย เพิ่มจำนวนมากขึ้นในวันต่อมา อาจจะวินิจฉัยว่าสัตว์ป่วยเหล่านั้นเป็นโรคระบาด หรือการจัดการฟาร์มในด้านการเลี้ยงดู หรืออาหารล้มเหลว จากจำนวนสัตว์ป่วยจึงสามารถช่วยบ่งบอกถึงความรุนแรงของสาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่วย และความยากง่ายในการรักษาหรือการแก้ไขและในกรณีที่เกิดโรคระบาด ควรรีบแจ้งหน่วยงานสัตว์แพทย์ของราชการให้ช่วยแก้ไขโดยด่วน

         3. อาการที่สัตว์ป่วยแสดงออกมาให้เห็น ซึ่งอาการที่สัตว์แสดงออกนั้น สามารถตรวจพบได้โดย
         3.1 การซักถามจากคนเลี้ยงสัตว์ การซักถามอาการของสัตว์จากคนเลี้ยงสัตว์นั้น จะมีความเชื่อถือได้ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนเลี้ยงสัตว์ ถ้ารักสัตว์เลี้ยงของตนเองมากก็จะเล่าอาการป่วยของสัตว์มากเกินความจริง หรือถ้าไม่สนใจสัตว์เลี้ยงของตนเองคนเลี้ยงก็ยังคงไม่กล้าเล่าอาการป่วยจริงอีก เพราะกลัวจะถูกต่อว่า ..ว่าไม่สนใจสัตว์ปล่อยให้สัตว์ป่วยหนักแล้วจึงมาแจ้ง ส่วนมากคนเลี้ยงสัตว์ประเภทหลังนี้ จะบอกว่าสัตว์เพิ่งป่วย ถึงแม้ว่าความจริงสัตว์ป่วยตัวนั้นจะป่วยมาแล้วหลายวันก็ตาม

         3.2 การตรวจพบอาการได้จากการสังเกต อาการที่ตรวจพบได้นั้น ได้มาจากการสังเกตจากตัวสัตว์ป่วยประกอบกับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวสัตว์ อาการที่สามารถตรวจพบได้ด้วยการสังเกตได้แก่ อาการซึม เบื่ออาหารไม่กินอาหารหรือกินอาหารน้อย น้ำมูกไหล ขี้ตากรัง หายใจลำบาก หรือหายใจแรง ไอหรือจาม น้ำลายไหล ปลายจมูกแห้ง ผิวหนังซีดขาวหรือหยาบแห้งไม่เป็นมัน ขนยาวไม่เป็นมัน การเดิน-นั่ง-นอนผิดปกติ อุจจาระเป็นเม็ด (ยกเว้นกระต่าย) หรือเหลวเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปนออกมาด้วยปัสสาวะสีเหลืองเข้ม หรือขุ่น หรือมีเลือดปน เป็นต้น
         3.3 การตรวจพบอาการได้โดยการใช้มือสัมผัส อาการที่ตรวจพบได้โดยการใช้มือสัมผัส ได้แก่ อาการไข้ (โดยใช้หลังมือแนบที่บริเวณหลังหู หรือบริเวณขาหนีบของสัตว์) หรือบริเวณที่มีการบวมเพื่อตรวจดูว่าเป็นฝีหรือเนื้องอกหรือบริเวณท้องของสัตว์ที่มีอาการบวม เพื่อดูว่าเป็นฝีหรือไส้เลื่อน เป็นต้น
         3.4 การตรวจพบอาการไข้โดยการใช้ปรอทวัดไข้ ปรอทวัดไข้สามารถบอกให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทราบว่าสัตว์เลี้ยงของตนป่วยหรือไม่ และช่วยให้ผุ้เลี้ยงสัตว์ทราบว่ายาที่ใช้รักษานั้นออกฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคในตัวสัตว์ได้ดีแค่ไหน การใช้ปรอทวัดไข้ยังสามารถช่วยบ่งบอกถึงระยะเวลาของการรักษาว่าจะรักษานานกี่วัน..

ถ้าการรักษาด้วยยารักษาโรคนั้นออกฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคในตัวสัตว์ได้ดีแล้ว อุณหภูมิของร่างกายสัตว์ป่วยก็จะลดลงเป็นปกติในวันต่อมา และให้ทำการรักษาต่ออีก 2 วัน..

และถ้าอุณหภูมิของร่างกายสัตว์ป่วยลดลงเป็นปกติในวันที่ 2 หรือวันที่ 3 ให้ทำการรักษาต่ออีก 2 วันเช่นกัน ..

แต่ถ้าสัตว์ยังคงมีอาการไข้เหมือนเดิมแสดงว่ายารักษาโรคนั้นใช้ไม่ได้ผล ระยะเวลาของการรักษาก็จะนานขึ้น

จากการตรวจหาอาการสัตว์ป่วยทั้ง 4 วิธีนั้น จะช่วยให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทราบว่าสัตว์ของตนป่วยหรือไม่.. แต่ถ้ามีประสบการณ์และความรู้มากพอผู้เลี้ยงสัตว์ก็จะสามารถบอกได้ว่าสัตว์ของตนป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบใดของร่างกายสัตว์ หรือป่วยเป็นโรคระบาดหรือไม่ เพื่อจะได้ทำการแก้ไขได้ถูกต้องก่อนที่สัตว์จะตายหรือแก้ไขไม่ทัน

ถ้าผู้เลี้ยงสัตว์ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพสัตว์เบื้องต้นแล้ว สัตว์ที่เพิ่งเริ่มป่วยก็จะไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องในทันที ซึ่งอาจจะมีผลทำให้สัตว์บางตัวตายและบางตัวป่วยเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายสามารถต่อสู้เชื้อโรคได้บ้าง จึงอาจไม่ถึงตายแต่จะแสดงอาการป่วยหนักออกมาให้เห็น ซึ่งในช่วงนี้การรักษาจะยากขึ้นและสัตว์ป่วยจะโตช้าและผอมลง.

โรคต่างๆ ที่พบโดยทั่วไป
อาการป่วยของสัตว์ที่สามารถตรวจพบได้ทั้งหมดนั้น สามารถนำมาสรุปเข้าเป็นระบบได้ดังนี้
         1. โรคติดเชื้อทางระบบหายใจ อาการที่ตรวจพบได้คือ สัตว์มีไข้สูง เยื่อตาแดง ซึม เบื่ออาหาร หรือไม่กินอาหาร ไอ จาม หายใจลำบาก หรือหายใจแรงหรือหอบ น้ำมูกไหลและมีขี้ตาสำหรับยาที่ให้ผลต่อโรคติดเชื้อระบบหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ตัวอย่างเช่นยาเพ็นนิซิลิน ยาแอมพิซิลิน ยาไทโลซิน ยากลุ่มเตตร้าไซคลิน และยาอีริโทรมัยซิน เป็นต้น และยากลุ่มซัลฟาและถ้ามีไข้สูงก็ควรให้ยาลดไข้ร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น ยาพาราเซ็ททามอล ยาโนอายิน เป็นต้น

         2. โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินอาหาร อาการที่สามารถตรวจพบได้คือ มีไข้ อุจจาระเหลวเป็นน้ำมีสีเหลืองหรือแดงหรือน้ำตาลแดงหรือมีมูกเลือดปนออกมาด้วย ถ้าไม่รีบทำการรักษาสัตว์ป่วยจะมีอาการผิวหนังแห้ง ขนหยาบไม่เป็นมัน ซึม และเบื่ออาหารสำหรับยาที่ให้ผลต่อโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ตัวอย่างเช่นยาสเตร็ปโตมัยซิน ยานีโอมัยซิน และยาคลอแรมเฟนนิคอล เป็นต้น ยากลุ่มซัลฟา และยาสังเคราะห์ในกลุ่มไนดตรฟูราโซนและถ้าสัตว์สูญเสียน้ำมากก็ควรให้น้ำเกลือโดยการฉีดเข้าเส้นเลือด
**หมายเหตุ กรณีสัตว์ท้องอืด วิธีการแก้ไขอย่างง่าย ๆ ทำได้โดยการไล่ให้สัตว์เดินหรือวิ่งให้มากขึ้น และใช้น้ำมันพืชกรอกปากสัตว์

         3. โรคติดเชื้อทางระบบสืบพันธุ์ อาการที่ตรวจพบได้คือ มีไข้ หนองไหลจากช่องคลอด เต้านมบวมแดง ร้อน และแข็ง ซึม และเบื่ออาหาร ในกรณีสัตว์ท้องพบว่าจะทำให้แท้งลูก

สำหรับยาที่ให้ผลต่อโรคติดเชื้อทางระบบสืบพันธุ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ตัวอย่างเช่น ยาเพ็นนิซิลิน ยาลิวโอซิลิน ยาคลอแรมเฟนนิคอล และยากลุ่มเตตร้าไซคลิน เป็นต้น และยากลุ่มซัลฟา (ในกรณีการรักษาเต้านมอักเสบของโคนิยมใช้ยาสอดเข้าในหัวนม หรือใช้ยาเหน็บในช่องคลอดกรณีรักษามดลูกอักเสบ )

         4. โรคติดเชื้อทางระบบประสาท อาการที่สามารถตรวจพบได้คือ ไข้สูง ท่าเดินแข็งผิดปกติ ตัวสั่นจนกินอาหารไม่ได้ เดินไม่สัมพันธ์กัน ขาเกร็ง และชัก

สำหรับยาที่ให้ผลต่อโรคติดเชื้อทางระบบประสาทที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาคือ ยาเพ็นนิซิลิน และยาแอนตี้ท็อกซิน

         5. โรคติดเชื้อทางระบบขับถ่ายปัสสาวะ อาการที่ตรวจพบได้คือ มีไข้ ปัสสาวะขุ่นขาว หรือมีสีแดง หรือสีน้ำตาลแดง อาจพบอาการซึมและเบื่ออาหารร่วมด้วย

สำหรับยาที่ให้ผลต่อโรคติดเชื้อทางระบบขับถ่ายปัสสาวะที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้น ส่วนมากนิยมใช้ยากลุ่มซัลฟา

.. สำหรับอาการที่กล่าวมาทั้ง 5 ระบบ เป็นเพียงอาการของโรค ซึ่งอาจจะพบเพียงอาการใดอาการหนึ่งเท่านั้น ไม่จำเป็นจะต้องพบทั้งหมด ดังนั้นถ้าสัตว์เลี้ยงของท่านแสดงอาการป่วยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และท่านได้ดำเนินการรักษาสัตว์ป่วยด้วยตัวเอง ถ้าการรักษาโรคไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา หรือเกิดปัญหาโรคระบาดขอให้ท่านรีบแจ้งหน่วยงานสัตวแพทย์โดยด่วน.

 

ยาควรมีประจำคอก/กลุ่มยารักษาไข้แพะ

อ้างอิง : สพญ.ภาวิณี วงศ์สนสุนีย์ โดย ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร