เลี้ยงสัตว์ » แพะเป็นฝี..และวิธี+ยารักษา

แพะเป็นฝี..และวิธี+ยารักษา

21 มิถุนายน 2018
12483   0

http://bit.ly/2tx8yTM

△ฝีมักจะเป็นก้อนแข็ง กดลงไปแล้วผิวหนังแพะบริเวณนั้นจะคืนตัวช้า

ชมรมสัตวแพทย์ แพะ-แกะ ตักสิลามหาสารคาม ฝีแบบนี้ เกิดจากภาวะโปรตีนต่ำในกระแสเลือดเนื่องจากพยาธิดูดเอาไปรับประทานหมด..

แผลที่แตกใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ล้างกัดเอาเศษหนองออก แล้วเช็ดตามด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน ส่วนพื้นคอกที่เปื้อนเศษหนองต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างและโรยปูนขาว..

เชื้อตัวนี้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม พื้นคอก พื้นดินได้นาน ยิ่งชื้นแฉะเชื้อจะอยู่ทน.

อย่าให้แตกเอง..เชื้อจะกระจายในฟาร์มและจะกลายเป็นว่าเชื้อแฝงในฟาร์มตลอดกาล

วิธีเจาะเอาหนองออก

ก่อนเจาะโกนขนรอบๆก้อนหนองออกให้หมด

1.เช็ดแอลออฮอล์ ก่อนลงมือเจาะ..

2.เอาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กัดล้างเอาหนองออก

3.เอาทิงเจอร์ไอโอดีนอัดเข้าไป 

แล้ว หนอง,สำลีเผาให้หมด.

///////////////////////////////////////

เพิ่มเติม..

โรคฝีตุ่มหนอง (Abscesses) ในแพะ

.โรคมงคล่อพิษเทียม  (Melioidosis)

เป็นโรคตุ่มหนองที่เกิดจากเชื้อ  Pseudomonas  pseudomallei  โดยมีลักษณะตุ่มหนองเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะภายใน  เป็นหนองข้นคล้ายเนย  มีสีเหลืองอมเขียว  การติดต่อสามารถติดต่อจากดิน  น้ำ  ซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อนี้อยู่หรือติดต่อโดยตรงจากสิ่งขับถ่าย  อุจจาระ  ปัสสาวะ  จากสัตว์ป่วยโดยตรงหรือเชื้ออาจเข้าทางบาดแผลก็ได้..

สัตว์จะแสดงอาการในลักษณะของโรคเรื้อรังคือ  ผอมแห้ง  ขนตั้ง  หนังหยาบ  ตาจมลึก  จมูกแห้ง  มีขี้มูก  ขี้ตา    มีอาการปอดบวม  ขาเจ็บ  เนื่องจากติดเชื้อตามข้อต่างๆ  หรือเชื้อติดเข้าไปยังระบบประสาท  ทำให้การย่างก้าวผิดปกติ  เดินหมุนเวียนเป็นวงกลม  อย่างไรก็ตามสัตว์ก็ยังกินอาหารได้ดีจนกระทั่งถึงระยะใกล้ตาย

การรักษา  โดยใช้ยาปฏิชีวนะและซัลฟา  ได้ผลเพียงหยุดยั้งการลุกลามของโรคเท่านั้น  แต่เมื่อหยุดยาโรคก็จะลุกลามต่อไปอีก  ดังนั้น  จึงไม่ควรพยายามรักษา  เพราะอาจจะเป็นการเสี่ยงต่อการกระจายของเชื้อไปสู่สิ่งแวดล้อมต่างๆ    และคน  ทั้งนี้เพราะโรคนี้สามารถทำให้เกิดโรคในคนได้ด้วย  เมื่อพบว่าแพะป่วยเป็นตุ่มฝีหนอง  จึงควรให้ความระมัดระวังให้มากที่สุด  ควรแยกแพะป่วยเป็นโรคนี้ออกจากฝูงและฆ่าทำลาย  พร้อมทั้งใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราดให้ทั่วบริเวณที่แพะป่วยอยู่

 

.โรควัณโรคเทียม  (Pseudotuberculosis  or  Caseous  Lymphadenitis)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  Corynebacterium  pseudotuberculosis  (C.ovis)  เป็นโรคตุ่มฝีหนองที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว  และมีการกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง  โดยเฉพาะในแหล่งที่มีการเลี้ยงแพะ  แกะ  จำนวนมาก

โรคติดต่อได้โดยการกินเชื้อที่ปนเปื้อนเข้าไปโดยตรงหรือเชื้อเข้าทางบาดแผล  ตุ่มฝีหนองส่วนใหญ่จะปรากฎให้เห็นตามต่อมน้ำเหลืองใต้ผิวหนัง  เช่น  บริเวณคอ  หัวไหล่  สะโพกและด้านในขาหนีบ  ฯลฯ  ในระยะแรกๆ  จะเป็นกระเปาะเล็กๆ  แล้วๆ  ค่อยๆ  ขยายโตขึ้น  บางรายมีขนาดผลเท่าผลส้มโอ  หนองข้นคล้ายเนย  ในระยะหลังๆ  จะพบว่าหนองมีลักษณะแห้ง  เกาะเรียงกันเป็นแผ่น  ในแพะอายุประมาณ  1  ปี  มักไม่พบลักษณะอาการของโรคนี้  เนื่องจากขบวนการเกิดของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ    จึงทำให้วิการและอาการต่างๆ  เกิดขึ้นเฉพาะในแพะที่โตแล้ว  (อายุ  3-6  ปี)

นอกจากนี้ยังทำให้เกิดตุ่มหนองขึ้นที่อวัยวะภายในด้วย  เช่น  ที่ต่อมน้ำเหลือง  ระหว่างขั้วปอด  ต่อมน้ำเหลืองระหว่างตับกับกระเพาะ  และต่อมน้ำเหลืองที่ลำไส้  ฯลฯ  อาการป่วยที่แสดงออกมานั้นขึ้นอยู่กับว่าตุ่มฝีหนองเกิดขึ้นอยู่ที่อวัยวะส่วนใด  ซึ่งเชื้อนี้จะเข้าไป  รบกวนการทำงานปกติของระบบนั้นๆ  ทำให้แพะอ่อนแอและผอมลงเรื่อยๆ  ถ้าแพะป่วยเป็นเวลานานก็จะทำให้แพะไม่มีแรง  ไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้

การรักษา  โดยการแยกแพะป่วยออกต่างหาก  โดยเฉพาะในระยะที่ฝีตามตัวกำลังสุกหรือแตก  และใช้ยาฆ่าเชื้อชะล้างฝีหนอง  รวมทั้งทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณคอกสัตว์ป่วย    หรือบริเวณที่หนองไหลไปปนเปื้อนให้สะอาดเป็นอย่างดี  และฉีดยาปฏิชีวนะ  เช่น  เพนนิซิลิน  ออกซี่เตตร้ามัยซิน  หรือคลอแรมเฟนิคอล  เข้ากล้ามเนื้ออย่างน้อยเป็นเวลา   4  วัน  แพะที่อยู่ในระหว่างการรักษานี้จะต้องแยกออกต่างหาก  เพื่อป้องกันมิให้เชื้อติดไปยังตัวอื่นๆ

อย่างไรก็ตามควรทำด้วยความระมัดระวัง  เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อถึงคนได้    และอีกประการหนึ่งก็คือ  โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง  แม้ว่าเชื้อนี้จะไวต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด  แต่การรักษาอาจไม่ได้ผลเพราะยาไม่สามารถซึมผ่านหนังของถุงฝีได้  ดังนั้น  เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการติดโรคนี้  จึงควรระมัดระวังและขจัดของแหลมคมในคอกเลี้ยงแพะและบริเวณรั้ว  เนื่องจากของแหลมคมดังกล่าวมักเป็นสาเหตุให้เกิดบาดแผลตามตัวหรือในช่องปาก  ทำให้เชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลดังกล่าวได้

และควรหมั่นทำความสะอาดคอก  พื้นคอก  รางน้ำและอาหาร  ด้วยยาฆ่าเชื้อ  และแยกแพะออกตามกลุ่มอายุ  โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาโรคนี้เกิดขึ้น  ควรแยกลูกแพะออกจากแม่ตั้งแต่แรกเกิด  เลี้ยงไว้ต่างหาก  เพื่อไม่ให้มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคจากแม่  แล้วรีดน้ำนมจากแม่แพะที่มีอายุน้อยและไม่มีวิการหรือไม่มีประวัติว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อน  นำไปเลี้ยงลูกแพะที่แยกไว้  หรือเลี้ยงลูกแพะด้วยน้ำนมเทียมภายหลังจากที่ให้กินนมน้ำเหลืองแล้ว  3-4  วัน  ขณะเดียวกันจะต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค  เครื่องมือ  เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ

รวมทั้งใช้ยาปฏิชีวนะผสมในอาหารให้กิน  เช่น  ออกซีเตตร้ามัยซิน  (เทอรามัยซิน)    หรือคลอเตตร้ามัยซิน   (ออรโอมัยซิน)  ขนาด  100  กรัม  ผสมอาหาร  1  ตัน  ให้กินทั้งฝูง  ลูกแพะ  แพะรุ่น  และฝูงที่ติดเชื้อโรคก็ให้กินอาหารที่ผสมยาดังกล่าวด้วย

 

.โรคฝีหนองต่างๆ  (Other  abscesses)

 เชื้อที่พบ ที่เป็นสาเหตุโดยทั่วไปก็คือ  แบคทีเรีย  Corynebacterium  pyogenes  หนองที่เกิดจากเชื้อนี้มีลักษณะเหลวและสีเขียวอมเหลือง  ปกติมักพบเชื้อนี้เกิดร่วมกับเชื้อ  Pasteurella  ในโรคปอดอักเสบ  และร่วมกับเชื้อ  Streptococci  หรือ  Staphyllococci  ในโรคเต้านมอักเสบ  ซึ่งจะทำให้เกิดมีตุ่มหนองขึ้นมากมายในปอดและในเต้านม

บางครั้งเชื้อ  C.pyogenes  ก็สามารถทำให้เกิดอาการเป็นผื่นขึ้นได้ตามเต้านม  การรักษาผื่นที่เกิดขึ้นตามผิวหนังนี้  ควรใช้ครีมปฏิชีวนะ  เช่น  คลอเฮกซาดีน  เตตร้าซัยคลิน  ซัลโฟนามายด์  และฟูราซิน  ฯลฯ    ทาให้ทั่วบริเวณทุกๆ  วัน  หลังจากทำความสะอาดโดยใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษฆ่าเชื้อโรคเช็ดแล้ว  อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากเชื้อ  Corynebacterium  sp.  พบได้บ่อยๆ  ในแพะ  วิธีควบคุมและป้องกันที่ดีก็คือการจัดการสุขาภิบาลที่ดี  และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้อยู่เสมอ .

ขอบคุณคลิป จากคุณSomsakul Roungpakdee  เฟสบุ๊ค เลี้ยงแพะยั่งยืน

 


เพิ่มเติมจากประสบการณ์จริง ของคุณ Suphaset Yuth  เฟสบุ๊ค เลี้ยงแพะยั่งยืน

Update แพะที่ผมทำการผ่าฝีที่คอ เมื่อสองเดือนก่อน ปัจจุบันแผลหายเป็นปกติ ก้อนฝีไม่ขึ้นมาใหม่ครับ
ปล.”มือใหม่หัดลองผ่าฝี บริเวณต้นคอแพะ” ผมรอจนฝีสุก สังเกตตรงตำแหน่งที่เป็นฝีขนจะหลุดผิวจะบางครับ ขอเริ่มต้นทำงาน เราต้องสวมใส่ถุงมือยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง จากนั้นทำการผูกมัดแพะให้แน่นหรือให้คนช่วยจับ ทำตามขั้นตอนดังนี้
1.เช็ดฆ่าเชื้อตรงบริเวณรอบหัวฝีด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล และเช็ดที่ใบมีดโกนใหม่ที่จะใช้กรีด ให้สะอาดก่อน จากนั้นใช้มีดเริ่มผ่ากรีดด้านล่างของลูกฝี เมื่อแผลเปิดแล้วใช้มือค่อยๆบีบหนองก็จะไหลใส่ภาชนะรองรับที่เตรียมไว้ บีบไล่หนองออกให้หมด
2.ใช้ไซลิงค์(ไม่ต้องใส่เข็ม) ดูดน้ำเกลือล้างแผลฉีดเข้าไปในแผล เพื่อทำความสะอาดและไล่หนองที่ตกค้างออก จากนั้นใช้ไซลิงค์ดูดยาเบต้าดีนแล้วฉีดเข้าในแผลอีกครั้ง จากนั้น เอาสำลีที่จุ่มยาเบต้าดีนยัดใส่ไว้ในแผล หรือจะใส่ยาผงเนกาซันท์ใส่เข้าไปในแผล เพื่อป้องกันมิให้แผลติดเชื้อจุลินทรีย์และตัวหนอนของแมลงวัน และ ฉีดพ่นด้วยไซคลอ สเปรย์หรือ ยาม่วงป้องกันการติดเชื้อไปด้วย
3.ฉีดยาปฏิชีวนะอ๊อคซี่คลิน(ขนาด 1 cc./น้ำหนักแพะ 20 กก.) ช่วยรักษาฝีหนองและรักษาการอักเสบของแผล
4.ล้างแผลตามข้อ2ทุกวันจนกว่าแผลจะแห้งดี
ข้อควรระวัง.ทำลายหนองและอุปกรณ์ทำแผลโดยการฝังกลบอย่าให้สัมผัสกับแพะ ตัวอื่นๆ ซึ่งอาจจะติดต่อกันได้
ปล.ผมไม่ใช่หมอรักษาสัตว์ แต่ต้องทำเพราะจำเป็น เคสนี้ผมลองฉีดยาปฏิชีวนะอ๊อกซี่คลินบริเวณเป็นฝีไปแล้ว ช่วงแรกฝียุบแต่ผ่านไปหนึ่งเดือนฝีหัวโตขึ้นมาอีก เลยต้องทดลองผ่าเพื่อเป็นกรณีศึกษาครับ ตอนนี้แผลหายเป็นปกติแต่ต้องเฝ้าดูว่าฝีจะขึ้นมาอีกไหม ผมต้องขออภัยหากการปฏิบัติการรักษาไม่ถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ ขอน้อมรับทุกคำติชมทุกกรณี หากแพะท่านเป็นฝีแนะนำให้แจ้งปศุสัตว์หรือสัตวบาลในท้องที่ทำการดูแลรักษาจะถูกวิธีและปลอดภัยกับสัตว์เลี้ยงของท่านครับ.

ขอบคุณเนื้อเรื่อง+ภาพ ชมรมสัตวแพทย์ แพะ-แกะ ตักสิลามหาสารคาม
Isan Goat network
http://tulyakul.blogspot.com/2012/11/abscesses.html
http://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php