“โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศตั้งคณะทำงานของโครงการนี้ขึ้นมา พร้อมทุ่มงบเฉียดแสนล้าน เพื่อหวังให้เป็นโรดแมปสำคัญในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล คสช. จึงทำให้คนสนใจโครงการนี้เป็นอย่างมาก..
โครงการไทยนิยม ยั่งยืน คืออะไร
โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากแนวคิด “โครงการประชารัฐ” ในการแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน ในทุก ๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงความมั่นคง ซึ่งคอนเซ็ปต์ของไทยนิยม ยั่งยืน จะเป็นการจัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละพื้นที่อย่างเท่าเทียม ตามความต้องการของประชาชน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ พร้อมกับให้ประชาชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย..
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งกลุ่มคณะทำงานขึ้นมาใหม่ในชื่อ “คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน” เพื่อเข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศ ด้วยการลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่จริง ๆ ว่าต้องการอะไร แล้วนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พ้นจากความยากจน
โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง
โจทย์สำคัญเลยของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ก็เพื่อพัฒนาใน 2 ด้านหลักไปพร้อม ๆ กัน คือ ด้านเศรษฐกิจ ในการดูแลปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ จะอยู่ในแผนการดำเนินงาน 10 เรื่อง ดังนี้
1. สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง : จะเป็นการสร้างความสามัคคีปรองดองของทุกฝ่าย โดยจัดให้ทำสัญญาประชาคม
2. คนไทยไม่ทิ้งกัน : เป็นการต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ให้ผู้ถือบัตรมีชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้
3. ชุมชนอยู่ดีมีสุข : เป็นการพัฒนาความเป็นอยู่และอาชีพในชุมชนให้ดีขึ้น
4. วิถีไทยวิถีพอเพียง : สร้างความเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียง เสริมสร้างวินัยการออม
5. รู้สิทธิ รู้หน้าที่ : สร้างวินัย หน้าที่ ความเป็นพลเมืองที่ดี
6. รู้กลไกการบริหารราชการ : ให้ความรู้และเข้าใจการบริหารงานราชการในระดับต่าง ๆ
7. รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม : รณรงค์ “เกลียดการโกง” เสริมคุณธรรม ปราบปรามการทุจริต
8. รู้เท่าทันเทคโนโลยี : พัฒนาโครงการอินเทอร์เน็ตหมูบ้าน ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง
9. ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด : เป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ 8,781 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหายาเสพติด
10. งานตามภารกิจของส่วนราชการและหน่วยงานอื่น ๆ
สำหรับเม็ดเงินที่จะกระจายสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมด จากโครงการที่ดำเนินการคาดว่าจะสูงถึง 9.95 หมื่นล้านบาท มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท การพัฒนาเชิงพื้นที่ ชุมชน การท่องเที่ยว และกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 3.45 หมื่นล้านบาท และการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรจำนวน 3 หมื่นล้านบาท..
โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ช่วยเหลือใครบ้าง
คนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เรียกได้ว่าครอบคลุมทั่วประเทศกันเลย เพราะคณะทำงานจะลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 878 อำเภอ 7,463 ตำบล/เทศบาล 81,084 หมู่บ้าน/ชุมชน ส่วนในกรุงเทพฯ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ครบทั้ง 50 เขตเช่นเดียวกัน เพื่อรับฟังปัญหาของแต่ละชุมชน แล้วนำมาพัฒนาได้ตรงความต้องการจริง ๆ..
โครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงแรก : รับฟังความคิดเห็น
เริ่มลงพื้นที่ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 และจะทยอยรับฟังความคิดเห็นให้ครบทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2561 โดยเน้นลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อนเป็นรายครัวเรือน รายบุคคล
ช่วงที่สอง : สร้างความรับรู้และปฏิบัติตามสัญญาประชาคม
ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม จนถึง 10 เมษายน 2561 โดยจะเป็นการลงพื้นที่ไปสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน จากการเปิดรับฟังเสียงสะท้อนของคนในชุมชน แล้วกำหนดเป็นความตกลงของการอยู่ร่วมกัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ
ช่วงสุดท้าย : สร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา
เป็นการปรับความคิดของประชาชนในเรื่องต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เพื่อเดินหน้าพัฒนาไปพร้อมกัน โดยระหว่างวันที่ 11-30 เมษายน 2561 จะเป็นการสร้างการรับรู้ ปรับความคิดตามวิถีไทย วิถีพอเพียง และระหว่างวันที่ 1-20 พฤษภาคม 2561 จะเป็นการร่วมแก้ปัญหา รู้เท่าทันยาเสพติด
แม้ว่าโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะคล้ายกับสิ่งที่หลาย ๆ หน่วยงานภาครัฐดำเนินการกันเป็นประจำอยู่แล้ว ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่าง ๆ แต่สิ่งที่ต่างจากโครงการทั่วไป คือ แนวทางดำเนินงานที่เน้นลงพื้นที่รับฟังความต้องการของประชาชนจริง ๆ โดยยึดเอาประชาชนที่มีปัญหา ได้รับความเดือดร้อนเป็นศูนย์กลาง จากนั้นถึงนำข้อมูลที่ได้ ไปประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อออกนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาได้ตรงจุดจริง ๆ
คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม
1. คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนฯ ระดับประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
2. คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
3. คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนฯ ระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน
4. ทีมขับเคลื่อนระดับตำบล ให้นายอำเภอแต่งตั้งทีม ประกอบด้วยข้าราชการในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้านและจิตอาสา
5. พื้นที่ กทม. ปลัด กทม.หรือ ผอ.เขต เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯโครงการ
แผนพัฒนาทุกภาค
ภาคกลาง
มีการพัฒนากรุงเทพฯ ไปสู่มหานครที่ทันสมัย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีเป้าหมายให้พื้นที่กลางเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ภาคตะวันออก
มีเป้าหมายเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน
ภาคเหนือ
มุ่งเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง
ภาคใต้
มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศระดับโลก.
คู่มือโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม“โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” (หมู่บ้าน/ชุมชนละสองแสนบาท)
จาก โครงการไทยนิยม ยั่งยืน, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
https://www.yotathai.com/yotanews/community
https://prkhonkaen.com/hh6951tg1073