เลี้ยงสัตว์ » โรคไข้ขาแข็ง ในโคและแพะ

โรคไข้ขาแข็ง ในโคและแพะ

25 พฤศจิกายน 2018
7795   0

โรคไข้สามวัน หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อของ โรคไข้ขาแข็ง หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Ephemeral Fever Shock เป็นโรคติดเชื้อไวรัส  พบในโคได้ทุกอายุ แต่ลูกโคอายุต่ำกว่า 6 เดือนมักไม่แสดงอาการ โรคนี้มีระยะฟักตัว 2-10 วัน พบในส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย บางส่วนของอาฟริกาและออสเตรเลีย

ความสูญเสียที่เกิดจากโรคนี้คือ ทำให้น้ำนมลด ในโคนม อาจลดลงถึง 80% หากเกิดโรคในช่วงท้ายของระยะให้นม รวมทั้งสัตว์ที่ติดเชื้อจะอ่อนแอทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย

สำหรับการเกิดโรคนี้ในประเทศไทย ราตรีและคณะ (2527) ได้สำรวจตรวจสภาวะของโรคนี้ในภาคใต้พบอัตราการติดเชื้อโดยเฉลีย 70 และ 47.5% ในโคและกระบือ ต่อมาปราจีนและคณะ(2530) ศึกษาที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี พบโคมีอัตราการติดเชื้อ 93.6% และในปี 2535 สุพจน์และอารี สามารถแยกเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้

 

สาเหตุ

– เกิดจากเชื้อแรมโคไวรัส (rhabdovirus) สามารถติดต่อได้โดยจากสัตว์ตัวหนึ่งไปสู่สัตว์อีกตัวหนึ่งโดยมีแมลงดูดเลือดเป็นตัวพาหะนำโรค จะพบโรคนี้มากในแถบทวีปเอเชียและแอฟริกา

– ไม่สามารถติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง(น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย) หรือการสัมผัสได้

– ในกรณีที่เกิดกับฝูงโค-กระบือที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน ประมาณ 35%ของฝูงจะป่วยเป็นโรค แต่ในฝูงโค-กระบือที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนอาจจะมีเป็นโรคแค่ 5-10%ของฝูง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคจากการป่วยในครั้งก่อนมาแล้ว(โค-กระบือที่เคยเป็นโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ถึง 2 ปี)

– ในเขตพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แต่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค คือ มีแมลงวันดูดเลือดหรือตัวเหลือบอยู่เป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดการระบาดเป็นโรคทั้งฝูงเลยทีเดียว

การป้องกัน

– ทำได้ยากนอกจากจะจำกัดแมลงดูดเลือดให้หมดไปหรือสร้างมุ้งให้อยู่

– ในต่างประเทศมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคนี้ในประเทศไทย

 

สรุป

– การที่โคยืนขาแข็งและเดินขากะเผลกนั้นมีสาเหตุมาจาก ไวรัสชนิดนี้เข้าทำให้กล้ามเนื้อและต่อมน้ำเหลืองของโคอักเสบ แต่ในโคบางตัวก็อาจมีอาการเพียงเบื่ออาหารและมีไข้บ้างเล็กน้อยเท่านั้น

– ในการวินิจฉัยโรคอาจสับสนระหว่าง โรคไข้นม(Milk fever) โรคโลหะของแข็งทิ่มแทงกระเพาะ หัวใจ(Hardware disease) และโรคไข้ลงกีบ(Laminitis) เพราะอาการหลายอย่างใกล้เคียงกันมาก แต่สามารถแยกวิเคราะห์ได้ดังนี้..
1. โรคไข้สามวัน = เป็นอย่างเฉียบพลัน
2. โรคไข้นม = เป็นกับโคเพศเมียก่อนหรือหลังคลอดเล็กน้อย โดยเฉพาะโคนม จะตอบสนองต่อการให้แคลเซียมในการรักษา
3. โรคโลหะของแข็งทิ่มแทงกระเพาะ หัวใจ = ค่อยเป็นค่อยไป และใช้เครื่องวิเคราะห์โลหะตรวจได้
4. โรคไข้ลงกีบ = เป็นกับโคที่กินอาหารข้นมากเกินไป

อาการ
– อาการของโรคส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนทั้งผู้เลี้ยงและตัวโคไม่ทันตั้งตัว ซึ่งจะสามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ เพื่อที่พอจะเห็นภาพคร่าวๆได้ตามนี้..

1. วันที่ 1 มีอาการซึม เบื่ออาหาร ยืนหลังโก่ง ขาแข็งไม่ค่อยอยากเดิน เวลาเดินขาจะกะเพลกลงน้ำหนักได้ไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อสั่นเล็กน้อย น้ำมูกและน้ำลายไหลแต่ยังไม่มาก อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ(อุณหภูมิร่างกายปกติของโคจะอยู่ที่ประมาณ 38 องศาเซลเซียส หรือประมาณ 101 องศาฟาเรนไฮต์) หัวใจเต้นเร็ว(อัตราการเต้นปกติของหัวใจจะอยู่ที่ประมาณ 60-70 ครั้ง/นาที)

2. วันที่ 2-3 โคจะนอน ลุกไม่ไหว โดยจะนอนท่าเดียวกับโรคไข้นม(Milk fever) คือ คอพับไปด้านหลังและซุกอยู่บริเวณสวาบ ขาหลังเหยียดตรง กล้ามเนื้อสั่นมาก น้ำมูกและน้ำลายไหลออกมามาก หายใจหอบ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ไม่เคี้ยวเอื้อง หายใจเร็ว
และอาจเจ็บที่ขาอาจจะเป็นข้างเดียวหรือหลายข้าง ขาข้างที่แสดงอาการจะปวด บวม โดยเฉพาะด้านส่วนต้นๆ ของขา บริเวณขาที่บวม จะ บวมมากขึ้น และปวดมาก ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีสีม่วงเข้มเนื่องจากมีการคั่งของเลือด ต่อมาถ้าคลำดูบริเวณนั้นจะไม่ค่อยมีความรู้สึก แต่จะมีลักษณะเหมือนมีแก๊สแทรกอยู่ตามเนื้อเยื่อ

3. วันที่ 4 โคจะหายเป็นปกติ แต่อาการขาเจ็บและอ่อนเพลียยังคงมีอยู่ ..หากมีโรคปอดบวมแทรกซ้อนก็จะไม่หายป่วย ทำให้มีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจและบางตัวขาหลังอาจเป็นอัมพาตได้

การรักษา

– ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นโรคไข้สามวัน โดยปกติโคที่ป่วยจะหายเองภายใน 3-4 วัน หากแต่เราควรช่วยจัดสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เหมาะสมกับโคก็พอ เช่น ให้อยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง ไม่อับชื้น ไม่โดนแดดโดนฝน เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน

– แต่ส่วนใหญ่เราจะใช้ยาช่วยเพื่อให้โคฟื้นตัวเร็วขึ้นและป้องกันโรคแทรกซ้อนอยู่แล้ว ขอแนะนำการใช้ยาพอสังเขปตามนี้..

1. กลุ่มยาบรรเทาปวดลดไข้ เช่น บูตาซิล(Butasyl), โนวาซิแลน(Novacilan) ขนาดที่ใช้คือ 1 ซีซี/น้ำหนักตัว 20 กก.
2. กลุ่มยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ แนะนำให้ใช้ อ๊อกซี่เตตราไซคลิน 20%(Oxytetracycline 20%) ขนาดที่ใช้ 1 ซีซี/น้ำหนักตัว 10 กก.
3. กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ไดฟีแนก(Difenac),ไดโคลฟีแนก(Diclofenac) ขนาดที่ใช้คือ 1 ซีซี/น้ำหนักตัว 20-25 กก.
4. กลุ่มยาบำรุง จะเสริมเพื่อช่วยกระตุ้นการกิน.. แนะนำให้ใช้ ไบโอคาตาลิน(Biocatalin)
ปล. กลุ่มยาทั้งหมดที่แนะนำมานี้เป็นกลุ่มยาสำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ **ควรหลีกเลี่ยงการกรอกยาเนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ

– คอยหมั่นพลิกตะแคงตัวโคสลับซ้ายขวาบ่อยๆ ในรายที่ลุกไม่ไหว เพื่อป้องกันอาการท้องอืด(Bloat) แผลกดทับ และการเป็นอัมพาตที่ขาหลัง

– บางตัวที่กินหญ้าได้แต่ยังลุกไม่ไหว ก็ให้ใช้ยานวดพวกเคาน์เตอร์เพนที่ใช้กับคน ช่วยนวดกล้ามเนื้อขาวันละ 3-4 ครั้ง เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อครับ

– ในรายที่มีโรคแทรกซ้อนโดยเฉพาะโรคปอดบวม ถ้าไม่รีบทำการรักษาอย่างถูกวิธีก็อาจถึงตายได้…  : : www.108kaset.com เรียบเรียง

ที่มา
-http://chanmaejo68.blogspot.com/2010/02/..
-http://www.thailivestock.com/forum/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0..
-http://region7.dld.go.th/DControl/Data/Disease/Cow/..
-http://auuteetfram.myreadyweb.com/article/..
-https://www.google.com/search?q=%E0%B9%81%E0%B8..