รำข้าวเป็นผลพลอยได้จากการขัดสีข้าว ในกระบวนการสีข้าวนอกจากจะได้เมล็ดข้าวเป็นผลผลิตหลักกว่าร้อยละ 69.5 แล้ว ยังมีผลิตผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการได้แก่ เปลือกข้าวร้อยละ 20 จมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดหรือที่เรียกว่า “รำข้าว” อีกประมาณร้อยละ 10.5 ของข้าวทั้งเมล็ด
รำข้าวเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่า เช่น น้ำมัน วิตามินบี วิตามินอี กรดไขมันไม่อิ่มตัว เส้นใย แร่ธาตุและโปรตีน ส่วนใหญ่จะใช้รำข้าวเป็นวัตถุดิบในการสกัดน้ำมัน เป็นอาหารสัตว์ ใช้กรดไขมันอิสระในการผลิตสบู่ ใช้ไขเป็นส่วนผสมในการขัดเงาต่าง ๆ และใช้ผลิตเครื่องสำอาง
กากรำข้าวที่เหลือหลังจากสกัดน้ำมันออกไปแล้ว ยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการอีกมาก มีโปรตีนอยู่กว่า 10-15 % แต่มีไขมันต่ำ โปรตีนรำข้าวจึงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารเชิงหน้าที่ หรืออาหารที่เป็นยา ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นเหนือธัญพืชอื่นๆ คือไม่ทำให้เกิดการแพ้
ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบโดยประมาณของวัตถุดิบรำข้าวหีบเย็นสกัดไขมัน พบว่ารำข้าวทุกตัวอย่างมีองค์ประกอบหลักไม่ต่างกัน มี..
-คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 49.84-55.61
-โปรตีน ร้อยละ 14.01-16.21
-ไขมัน ร้อยละ 7.39-13.73
-เถ้า ร้อยละ 6.84-11.93%
-ส่วนเยื่อใยจะลดลง เมื่อรำข้าวถูกบดละเอียดขึ้น
(รำข้าวให้ปริมาณโปรตีนสูงสุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ในเมล็ดข้าว โดยมีโปรตีนสูงกว่า.. ในขณะที่ในข้าวสารมีโปรตีนอยู่ที่ 6.3-7.1 %และปริมาณโปรตีนต่ำสุดในเปลือกข้าว 2.0-2.8 %)
มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับการลดโคเลสเตอรอล ช่วยปรับระดับกลูโคสในคนที่เป็นโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ รวมทั้งสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ การต่อต้านมะเร็ง ดังนั้นหากสามารถนำกากรำข้าวที่เหลือหลังจากสกัดน้ำมันแล้วนี้ไปสกัดโปรตีนรำข้าวจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารเสริมสุขภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
รำข้าว-มูลค่า-การใช้ประโยชน์
โดยทั่วไปราคาของรำข้าวจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 4-5 บาท(2550) ในขณะที่ราคาของน้ำมันรำข้าวมีค่าอยู่ที่ลิตรละ 90-100 บาท และหากผู้ผลิตสามารถนำรำข้าวมาผลิตเป็นโปรตีนรำข้าวได้ก็จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับรำข้าวสูงถึงกว่ากิโลกรัมละ 1,700 บาทเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับรำข้าวได้เป็นอย่างดี ..
โปรตีนจากรำข้าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้หลายชนิด เช่น ขนมปัง , อาหารทารกหรืออาหารเด็กเล็ก เนื่องจากมีกรดอะมิโนจำเป็นที่เด็กต้องการและไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ,อาหารเช้าธัญพืช ,อาหารเสริมโปรตีน ,เครื่องดื่ม หรือใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เนื้อและไส้กรอก ..
รำข้าวยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านมะเร็งได้อีกด้วย (Kawamura และ Muramoto, 1993) ด้วยคุณค่าที่หลากหลายของรำข้าวดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่สนใจของนักวิจัย โดยจะเห็นได้จากมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับรำข้าวเกิดขึ้นมากมายหลายฉบับในแต่ละวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์และการเพิ่มมูลค่าให้กับรำข้าวซึ่งในอดีตเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารอันโอชะให้กับหมูหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ แต่รำข้าวในวันนี้กำลังจะกลายเป็นส่วนประกอบอาหาร อาหารเสริม หรืออาหารสุขภาพที่มีมูลค่าสูงมาก และมีความสำคัญต่อมนุษย์โลกในยุคปัจจุบัน
นักวิจัยใช้รำข้าวหลังการหีบเย็นสกัดไขมันออกไปแล้วจากโรงงานผลิตน้ำมันรำข้าวเป็นวัตถุดิบในการสกัดโปรตีนและโปรตีนไฮโดรไลเสท เปรียบเทียบการใช้วัตถุดิบ 3 รูปแบบ คือ รำข้าวสดละเอียด รำข้าวหีบเย็นสกัดไขมันในรูปผงละเอียด รำข้าวหีบเย็นสกัดไขมันในรูปผงหยาบ โดยทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของรำข้าวหีบเย็นสกัดไขมันที่ใช้เป็นวัตถุดิบทั้ง 3 รูปแบบ ศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดให้ได้ปริมาณโปรตีนสูงสุดจากกระบวนการผลิต 2 วิธี คือวิธีการสกัดลำดับส่วน และวิธีการใช้เอนไซม์เพื่อการสกัดสารสำคัญ วิเคราะห์องค์ประกอบและคุณสมบัติของสารสกัดจากรำข้าวหีบเย็นสกัดไขมันที่ผลิตได้ ทั้งคุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ ค่าสี คุณสมบัติทางเคมี ได้แก่ ค่าพีเอช ค่าความชื้น ทดสอบหาปริมาณสารสำคัญจากผงโปรตีนรำข้าวที่สกัดได้ เช่น กรดอะมิโน ฟีนอลิก ทดสอบฤทธิ์การต้านออกซิเดชัน เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำโปรตีนรำข้าวที่สกัดได้นี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ในส่วนของการหาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดโปรตีนรำข้าวจากวัตถุดิบกากรำข้าวหีบเย็นสกัดไขมัน ให้ได้ปริมาณโปรตีนและปริมาณสารประกอบฟีนอลิคให้มีค่ามากที่สุด โดยใช้วิธีการสกัดลำดับส่วน ได้สภาวะที่เหมาะสมในการสกัดโปรตีนและสารประกอบฟีนอลิค ด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์วิธีพื้นผิวตอบสนอง ด้วยปริมาณวัตถุดิบ ตัวทำละลาย อุณหภูมิ และเวลาที่เหมาะสม สามารถสกัดโปรตีนจากรำข้าว ได้ 4 ชนิด คือ อัลบูมิน โกลบูลิน กลูเตลิน และ โพรลามิน ซึ่งโปรตีนที่สกัดได้มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิก พบในสารสกัดโปรตีนอัลบูมินมากที่สุด
โดยการสกัดในขั้นแรกได้โปรตีนอัลบูมินที่ละลายน้ำออกมาได้ก่อน จากนั้นนำกากที่ยังมีโปรตีนที่ไม่ละลายน้ำมาสกัดต่อโดยการย่อยด้วยเอนไซม์โปรติเอส เป็นโปรตีนไฮโดรไลเสต ได้ผลผลิตโปรตีน และสารประกอบฟีนอลิกเพิ่มขึ้นอีก การใช้เอนไซม์จะช่วยย่อยโปรตีนที่ไม่สามารถละลายน้ำได้ ให้มีขนาดเล็กลง เป็นเปปไทด์และกรดอะมิโนอิสระ และมีความสามารถในการละลายน้ำได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงสามารถสกัดโปรตีนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการทดลองนี้สามารถสกัดโปรตีนได้จากรำข้าวทั้งหมด 67.8 % ของโปรตีนทั้งหมดในรำข้าว
ผลการศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพผลผลิตที่ได้ ความเข้มสี ซึ่งพบว่าการเปลี่ยนแปลงขนาดโมเลกุลทำให้คุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น มีความสามารถการดูดซับสารชีวภาพได้ดีกว่าโปรตีนรำข้าวที่ละลายน้ำยาก ชนิดและปริมาณกรดอะมิโนมีมากเทียบเคียงกับโปรตีนจากพืชอื่นๆ โดยเฉพาะกรดอมิโนจำเป็น มี อาร์จินีน และกรดกลูตามิคสูง แต่กรดอะมิโนอิสระไม่แตกต่างจากรำข้าว นอกจากนั้นทำการวิเคราะห์ชนิดและองค์ประกอบกรดฟีนอลิก ศึกษาสมบัติการละลายน้ำ สมบัติการเกิดอิมัลชั่น การเกิดโฟม การดูดซับน้ำมัน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ เพื่อให้สามารถนำสารสกัดโปรตีนรำข้าวที่ผลิตได้ไปใช้ประโยชน์ เป็นสารอาหาร สร้างภูมิต้านทาน ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ หรือใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เบเกอร์รี่ ไส้กรอก วิปครีม รวมทั้งศักยภาพที่จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นการเพิ่มมูลค่ารำข้าวที่เหลือหลังจากสกัดน้ำมันออกไปแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำโปรตีนรำข้าวไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมต่อไป.
การนำรำข้าวไปเลี้ยงสัตว์
รำข้าวแยกออกเป็น 2 ชนิด คือ รำหยาบและรำละเอียด
รำหยาบมีส่วนผสมของแกลบปน ทำให้คุณค่าต่ำกว่ารำละเอียดเพราะมีเยื่อใยสูงและมีแร่ซิลิกาปนในแกลบมาก
รำเป็นส่วนผสมของเพอริคาร์บ (pericarp) อะลิวโรนเลเยอร์ (aleuron layer) เยอร์ม (germ) และบางส่วนของเอนโดสเปอร์ม (endosperm) ของเมล็ด รำหยาบมีโปรตีนประมาณ 8 – 10 เปอร์เซ็นต์ ไขมันประมาณ 7 – 8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรำละเอียดมีโปรตีนประมาณ 12 – 15 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 12 – 13 เปอร์เซ็นต์ รำมีไขมันสูงจึงไม่ควรเก็บรำไว้นานเกิน 15 – 20 วัน เพราะจะมีกลิ่นจากการหืน รำข้าวที่ได้จากการสีข้าวเก่ามีความชื้นต่ำทำให้เก็บได้นานกว่ารำข้าวใหม่ที่มีความชื้นสูง เชื้อราขึ้นง่ายและเหม็นหืนเร็ว
ส่วนรำข้าวนาปรัง อาจมีสารตกค้างของยาฆ่าแมลงปะปนมาด้วย รำข้าวเป็นอาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีกรดอะมิโนค่อนข้างสมดุล มีคุณค่าทางอาหารสูง มีวิตามินบีค่อนข้างมาก รำที่สกัดน้ำมันออกโดยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น รำอัดน้ำมัน (hydraulic press) หรือรำสกัดน้ำมัน (solvent extract) จะเก็บได้นานกว่า และมีปริมาณของโปรตีนสูงกว่ารำข้าวธรรมดา เมื่อคิด ต่อหน่วยน้ำหนัก แต่ปริมาณไขมันต่ำกว่า คุณภาพของรำสกัดน้ำมันขึ้นอยู่กับกรรมวิธีเพราะ ถ้าร้อนเกินไปทำให้คุณค่าทางอาหารเสื่อม โดยเพราะกรดอะมิโนและวิตามินบีต่าง ๆ ปัญหาในการใช้ พบว่ามักมีหินฝุ่นหรือดินขาวปนมา ทำให้คุณค่าทางอาหารต่ำลง หรืออาจมียากำจัดแมลง สารเคมี หรือมีแกลบปะปน
คุณสมบัติ
-
โปรตีนประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นรำที่ได้จากโรงสีขนาดกลาง หรือเล็กซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า รำปิ่นแก้ว จะมีโปรตีนต่ำประมาณ 7% เนื่องจากมีส่วนของแกลบปนอยู่มาก
-
มีไขมันสูง 12-13 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หืนง่าย เก็บไว้ไม่ได้นาน
-
มีไวตามินบี ชนิดต่างๆ สูง ยกเว้นไนอะซีน ซึ่งอยู่ในรูปที่สัตว์ใช้ประโยชน์ได้น้อย
-
มีคุณสมบัติเป็นยาระบาย ถ้าใช้เป็นส่วนประกอบในสูตรอาหารสัตว์ในปริมาณที่สูง จะทำให้สัตว์ถ่ายอุจจาระเหลว
ข้อจำกัดในการใช้
ไม่ควรใช้ประกอบสูตรอาหารสุกรเล็ก ระยะหย่านม ถึง 10 สัปดาห์ เนื่องจากมีปริมาณเยื่อใยสูง
ข้อแนะนำในการใช้
-
ควรใช้รำละเอียดที่ใหม่ ไม่มีกลิ่นหืน
-
ไม่ควรเก็บรำละเอียดไว้นานเกิน 30-40 วัน เพราะรำละเอียดจะเริ่มหืนสัตว์ไม่ชอบกิน
-
ในสุกรระยะเจริญเติบโต (น้ำหนัก 20-60 กก.) ไม่ควรเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ในสูตรอาหาร
-
สามารถใช้รำละเอียด ผสมในอาหารสุกรพ่อแม่พันธุ์ได้มากกว่า 30เปอร์เซ็นต์ในสูตรอาหาร
-
ในอาหารไก่เนื้อ ไม่ควรใช้รำละเอียดเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ในสูตรอาหาร
-
เลือกซื้อรำที่ใหม่ และไม่มีการปลอมปนด้วย วัสดุต่างๆ เช่น ดินขาวป่น หินฝุ่น ซังข้าวโพดบดละเอียด เป็นต้น
ที่มา https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=41404
http://agro-industry.mfu.ac.th/events/298
http://pvlo-spr.dld.go.th/Animal%20food/energy/rice..
https://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php