ปลูกพืช » มาปลูกต้นไม้กำจัดยุงตัวจริงกันมั๊ย..“ไพรีทรัม”ยุง-ปลวกตาย..แต่คนรอด

มาปลูกต้นไม้กำจัดยุงตัวจริงกันมั๊ย..“ไพรีทรัม”ยุง-ปลวกตาย..แต่คนรอด

30 มีนาคม 2019
4293   0

มาปลูกต้นไม้กำจัดยุงตัวจริงกันมั๊ย..“ไพรีทรัม”ยุง-ปลวกตาย..แต่คนรอด

“ดอกไพรีทรัม” มีต้นกำเนิดมาจากภูเขา ADRIATIC COASTAL MOUNTAINS ของประเทศโครเอเชีย บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนา ถูกขนานนามโดยเหล่านักพฤกษศาสตร์ว่าเป็น “ดอกไม้ของพระเจ้า” (Flower of God) นั่นหมายถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ได้สร้างดอกไพรีทรัมขึ้นมาเพื่อปกป้องมนุษย์จากเหล่าแมลงร้าย โดยชื่อเสียงและคุณสมบัติพิเศษของ “ดอกไพรีทรัม” เป็นที่รู้จักมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณกว่า 2,000 ปี พบในเอกสารทางประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ในสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งบันทึกไว้ว่าพืชมหัศจรรย์ที่มีคุณสมบัติในการกำจัดแมลงร้าย

ชื่อของดอกไม้“ไพรีทรัม” เรียกได้ว่าใหม่ต่อการรับรู้ของคนไทย แต่ถ้าพูดถึงชื่อดอกไม้เพชรฆาตสำหรับแมลงคงจะพอเป็นที่รู้จักกันบ้าง เพราะในหลายประเทศได้นำประโยชน์ของสารสกัดไพรีทรัมมาใช้ในการฆ่าแมลงในบ้าน ตลอดจนในอุตสาหกรรมเกษตรด้วยข้อดีที่ไม่เป็นพิษกับคนและสัตว์เลือดอุ่น ไม่ทิ้งสารตกค้าง ทว่าใครจะรู้บ้างว่า ดอกไม้ชนิดนี้เคยออกดอกสะพรั่งบนยอดดอยอ่างขางของไทยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

หลังจากได้พูดคุยกับ ศ.ดร.อังศุมาลย์ จันทราปัตย์ หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน หนึ่งในทีมคณะผู้ทำการวิจัยภายใต้คณะของ ศ.ดร.สุธรรม อารีกุล หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ ในขณะนั้นทำให้เราทราบว่า ไพรีทรัมมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง หากสามารถปลูกในประเทศไทยได้สำเร็จ

“โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเกษตรที่สูงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งรวมอยู่ในโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ ในพระบรมราชานุเคราะห์ เพื่อค้นหาพืชทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขาในขณะนั้น เหตุผลที่เลือกดอกไพรีทรัมนั้นเพราะว่ามีการใช้งานดอกไพรีทรัมในการกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ และสารสกัดในดอกไพรีทรัมมีราคาแพงมาก โดยดอกไพรีทรัมเป็นไม้ดอกทรงพุ่ม ดอกสีเหลือง/ขาวคล้ายดอกเดซี่หรือเบญจมาศ อยู่ในสกุล Chrysanthemum ชนิด C.cinerariaefolium เป็นพืชยืนต้นที่ชอบอากาศหนาวเย็น ปลูกในระดับความสูง 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ชอบสภาพภูมิประเทศที่กลางวันอากาศร้อนจัดกลางคืนอากาศหนาวจัด อากาศเหมือนที่อ่างขางออกดอกตลอดทั้งปี”

ศ.ดร.สุขุมาลย์ กล่าวต่อว่า ตอนนั้นโครงการได้นำดอกไพรีทรัม สายพันธุ์ญี่ปุ่นคือ ชิรายูกิ ทดลองปลูกที่ดอยอ่างขาง ตั้งแต่ปี 2516 – 2518 โดยทดลองปลูกแบบขั้นบันได ซึ่งในช่วงที่ออกดอกมากที่สุดเป็นช่วงฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคม – กรกฎาคม ซึ่งให้ผลผลิตเท่ากับ 335.25 กิโลกรัมต่อ 1 เอเคอร์ในขณะที่ประเทศเคนยาที่ปลูกดอกไพรีทรัมเพื่อสกัดสารไพรีทรินส์เพื่อส่งออกเองสามารถปลูกและให้ผลผลิตดอกไพรีทรัมเพียง 200 กิโลกรัมต่อ 1 เอเคอร์ ซึ่งเป็นผลผลิตในปีแรก ส่วนในปีต่อมานั้นผลผลิตเริ่มลดลงเพราะสภาพอากาศของประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนสูงผลผลิตต้องลดลง

ในขณะที่สารไพรีทรินส์ที่สกัดได้จากโครงการมีเปอร์เซ็นต์สูงถึง 1.5% ซึ่งเกินระดับมาตรฐานของสารออกฤทธิ์ที่ US EPA ของสหรัฐฯกำหนดไว้ที่ค่า 1% และเมื่อนำดอกไพรีทรัมมาสกัดเพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ไพรีทรินส์นั้น ต้องใช้ปริมาณดอกเยอะมากกว่าจะสกัดได้สัก 25 g และหากต้องการให้ได้สารไพรีทรินส์ในเชิงพาณิชย์ได้ต้องมีพื้นที่ปลูกเยอะมาก เรียกว่าต้องใช้ภูเขาทั้งลูกจึงจะสามารถมีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่โครงการปลูกไพรีทรัมบนดอยอ่างขางต้องถูกระงับไป

แม้ปริมาณสารออกฤทธิ์ไพรีทรินส์ที่สกัดได้จากดอกไพรีทรัมที่ดอยอ่างขางจะมีปริมาณสารออกฤทธิ์สูงกว่าดอกไพรีทรัมที่มีอยู่ในเคนยา แต่เมื่อเทียบพื้นที่การปลูกเพื่อการค้าแล้ว เคนยายังเป็นประเทศผู้ผลิตดอกไพรีทรัมเชิงพาณิชย์รายสำคัญของโลกเพราะได้เปรียบด้านพื้นที่เพาะปลูก

การปลูกดูแล

ดอกไพรีทรัมนั้น เป็นไม้ดอกทรงพุ่ม มีดอกสีเหลือง/ขาว คล้ายดอกเดซี่ หรือ เบญจมาศ มีการเจริญเติบโตคล้ายต้นผักกาดหอม และเยอร์บีร่า

ไพรีทรัมมีลำต้นสั้นติดดิน ใบคล้ายใบผักชีเรียงซ้อนกันแน่นที่โคนต้น มีหัวใต้ดินคล้ายต้นรักแรก และแตกกอเพิ่มจำนวนหัวได้เป็นกลุ่ม

ต้นไพรีทัมขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและแยกหัวใต้ดินไปปลูก หลังเพาะเมล็ดประมาณ 7 เดือน ต้นจะออกดอกได้ เมื่อได้รับอุณหภูมิต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 6 สัปดาห์ (หากต้นไพรีทรัมได้รับอุณหภูมิสูงกว่า 24 องศาเซลเซียส นานกว่า 1 เดือน จะไม่ออกดอก)

การปลูกไพรีทรัมให้ผลิดอกตลอดทั้งปี ควรเลือกปลูกในพื้นที่สูง 1,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล สภาพอากาศตอนกลางวันร้อนจัด ช่วงกลางคืนมีอากาศหนาวเย็น การเก็บดอกไพรีทรัม มักใช้วิธีเด็ดดอกหรือตัดด้วยเครื่องจักร และนำดอกไพรีทรัมไปตากแดดจนแห้งแล้วเก็บไว้ใช้งาน ดอกสด 3-4 กิโลกรัม ทำเป็นดอกแห้งได้ 1 กิโลกรัม

เมื่อนำดอกแห้งเข้าโรงสกัดจะได้สารจากธรรมชาติ เรียกว่า “ไพรีทรินส์” ที่ออกฤทธิ์ดูดซึมทำลายระบบประสาทของแมลง เช่น ยุง แมลงวัน แมลงสาบ แมลงหวี่ ไร เรือด เพลี้ยอ่อน หมัดกระโดด ตั๊กแตน ทำให้แมลงสลบอย่างรวดเร็วในเวลา 2-3 นาที และตายในที่สุด

สารไพรีทรินส์ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลือดอุ่น เพราะในตับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่สามารถย่อยสลายสารไพรีทรินส์ได้ จึงไม่มีการตกค้างในร่างกายและสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยแสงแดดและความร้อน องค์การอนามัยโลก WHO และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO จึงยกย่อง สารสกัดจากดอกไพรีทรัมเป็นสารฆ่าแมลงที่ปลอดภัยกับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงมากที่สุด
ดอกไพรีทรัม เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามและช่วยไล่แมลงในสวนครัว

ไพรีทรัม พืชเศรษฐกิจของโลก

ในต่างประเทศนิยมปลูกดอกไพรีทรัมแซมในแปลงผักสวนครัวเพื่อช่วยป้องกันแมลง หรือนำดอกและใบมาขยี้ผสมน้ำรดพืชผักสวนครัวได้ โดยไม่ทิ้งสารตกค้างที่เป็นอันตราย ส่วนกากที่เหลือหยอดลงที่ยอดต้นข้าวโพดเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้น

ดอกแห้งผสมกับน้ำมันงาและน้ำมันพืช หยอดใส่รังปลวก สามารถทำลายปลวกได้ทั้งรัง นอกจากนี้ ยังนิยมใช้สารไพรีทรินส์เป็นส่วนประกอบของยากำจัดแมลงในอุตสาหกรรมไร่ไวน์องุ่น อุตสาหกรรมยาสูบ รวมถึงสเปรย์กำจัดยุง ในบ้านเรือน

บริษัท สถาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ “คายาริ ไพรีทรัม สเปรย์” เป็นรายแรกที่ริเริ่มนำดอกไพรีทรัมเข้ามาปลูกที่ประเทศไทย โดยบริษัทร่วมมือจากสถาบันวิจัย BRA รัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย ทดลองปลูกดอกไพรีทรัม ณ สวนคริสต์มาสอิงภู อ.ภูเรือ จ.เลย เมื่อเดือนตุลาคม 2554 โดยมีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ความมหัศจรรย์ของดอกไพรีทรัมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมปลูกเชิงการค้าในอนาคต

ปัจจุบัน “ดอกไพรีทรัม” เป็นไม้ดอกไม้ประดับเพื่อความสวยงามและช่วยขับไล่แมลงไม่ให้เข้ามารบกวนในแปลงปลูกพืชสวนครัวแล้ว ดอกไพรีทรัม ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากในหลายประเทศ เช่น เคนยา และออสเตรเลีย ดังนั้น “ดอกไพรีทรัม” เป็นพืชทางเลือกใหม่ที่เกษตรกรไทยควรปลูกเพื่อใช้กำจัดแมลงในไร่นาและบ้านเรือน เพราะเป็นสารฆ่าแมลงที่ปลอดภัยกับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงมากที่สุดในยุคปัจจุบัน.

ขอบคุณ
https://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php
https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/..
https://www.thairath.co.th/content/317673
https://web.facebook.com/1944232665902810/photos/pcb…
www.lazada.co.th/products/kayari-600-i218786183..
https://mgronline.com/smes/detail/9540000037055