ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ปลูกมากแถบรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา มีชื่อเรียกกันไปตามความเข้าใจและความนิยมของแต่ละถิ่น ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการอาจจะเนื่องจากเป็นข้าวที่ปลูกยาก
..ข้าวพื้นเมืองภาคใต้พันธุ์นี้เป็นข้าวนาปีที่มีคุณลักษณะพิเศษ นิยมปลูกเพื่อทำข้าวใหม่ เป็นของขวัญของฝากให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ หรือเอาไว้ทำบุญถวายพระ
ข้าวพื้นเมืองภาคใต้พันธุ์นี้ ก็คือ ข้าวสังหยด ข้าวดีจากภาคใต้ นั่นเอง !!
ที่มาของข้าวพันธุ์สังหยด
ข้าวสังหยดเป็นข้าวนาปีที่มีคุณลักษณะพิเศษ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง รสชาติดีมีปริมาณ
แอมิโลสต่ำ (๑๕ – ๒ %) รสชาติของข้าวใหม่หุงสวยจะนุ่ม หอม และมัน กินคล้าย
ข้าวเหนียว ชาวนครศรีธรรมราช เรียก “ข้าวสั่งหยุด” หรือ “สังหยุด” เนื่องจากรสชาติ
ของข้าวนี้กินอร่อย กินได้กินดีจนต้องสั่งให้หยุดกิน หรือหมายถึงบอกเลิกกิน จึงเป็นที่มาของชื่อข้าวพันธ์นี้ คือ “สังหยด”
ฉะนั้น คำเขียนที่ถูกต้องของข้าวสังหยดจึงจะต้องไม่มี ขอไข่ การันต์ คนสงขลาเรียก
ข้าวสังหยดว่า “เหนียวแดง” ตามสีของเมล็ดข้าว ตามความหอม-นุ่ม และความมันในรสชาติ
ของข้าว และนิยมนำข้าวสังหยดใหม่มาหุงกินกับน้ำกะทิทุเรียน หรือ “น้ำละหวะ”
(เหนียวละหวะ : ขนมพื้นบ้านชาวบกแถบถิ่นคาบสมุทร สทิงพระ) จึงจะเห็นได้ว่าข้าวสังหยด
เป็นพันธุ์ข้าวที่ร่วมถิ่นกันในรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา และเป็นข้าวที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์
ในเชิงวิถีหรือเชิงวัฒนธรรมของท้องถิ่นในรอบลุ่มน้ำแถบนี้
..ในเชิงวิชาการ ข้าวสังหยดเป็นข้าวเจ้า เป็นข้าวนาปีที่ปลูกได้ปีละ ๑ ครั้ง เป็นข้าวที่ปลูกยาก มีความไวต่อแสงน้อย จะออกดอกในช่วงที่รับแสงได้ ๑๑ ชม. ๔๕ นาที/วัน มีเมล็ดเรียวยาว เปลือกสีฟาง รสชาติ นุ่ม มัน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เยื่อหุ้มเล็ดสีแดงที่อุดมไปด้วย ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และไนอาซีน ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
ในเชิงพานิชย์ เป็นข้าวที่หายาก เนื่องจากปลูกกันน้อย คนที่สนใจเรื่องสุขภาพหันมานิยม
รับประทาน และปัจจุบันมีนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย จากหน่วยงาน,
สถาบันต่างๆ ให้ความสนใจศึกษา ค้นคว้า และทดลองแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็น
ข้าวกล้อง ข้าวกล้องงอก ขนมคุ้กกี้ ไอศกรีม เครื่องสำอางชนิดต่างๆ จากเดิมเป็นข้าวที่มี
ราคาถูกเนื่องจากไม่เป็นที่นิยม กลับได้รับความนิยมในหมู่นักบริโภคอีกระดับหนึ่ง ทำให้
ราคาถีบตัวขึ้นสูงลิ่ว ราคาแพง ราคาซื้อขายตามท้องตลาดขณะนี้ ชนิดข้าวกล้อง
ตกกิโลกรัมละ ๕๐-๖๐ บาท ก็ยังหาซื้อยากเนื่องจากปลูกกันน้อย และมีการสนับสนุนให้
ปลูกเป็นข้าวอินทรีย์เพื่อสุขภาพ และมีกระบวนการ GAP เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้พื้นที่
การปลูกแคบลง กอปรกับการจดทะเบียนเป็นข้าว GI ของจังหวัดพัทลุงเพียงจังหวัดเดียว
ไม่ขอเอี่ยวกับพื้นที่ทางด้านวัฒนธรรมอื่น
ในเชิงสัญลักษณ์ ข้าวสังหยด ได้เป็นข้าวสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง ภายใต้ชื่อที่ว่า
“ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” หลังจากได้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI :
Geographical Indications ) เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ ทั้งๆ ที่ข้าวพันธุ์นี้สามารถปลูกได้
และทำกินกันมาช้านานในพื้นที่รอบลุ่มทะเลสาบสงขลาทั้ง ๓ จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง
.. พันธุ์ข้าวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริเมื่อปี พ.ศ. 2543 ให้โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ จังหวัดพัทลุง ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ได้ดำเนินการปลูกข้าวพันธุ์สังข์หยด ในพื้นที่แปลงนา ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2546 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จไปยังฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง ครั้งนั้น ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้ถวายข้าวสังข์หยด ซึ่งทรงนำมาเสวย ทรงรับสั่งว่าอร่อย ทรงโปรดให้นำข้าวสังข์หยดกลับมาปลูกใหม่เพื่อเผยแพร่ และรักษาพันธุ์ข้าว..
..จังหวัดพัทลุง เมืองอู่ข้าวอู่น้ำของชาวใต้มาแต่โบราณ เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญ เพื่อเลี้ยงคนในพื้นที่และจังหวัดต่างๆในภาคใต้ ด้วยเหตุแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางด้าน ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งปลูกฝังคู่กับเมืองพัทลุงมาเป็นเวลานาน พันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้หลากหลายพันธุ์ จึงมีถิ่นกำเนิดจากเมืองพัทลุงแห่งนี้ ข้าวพันธุ์สังข์หยด ข้าวพื้นเมืองภาคใต้เป็นพันธุ์ข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตเพาะปลูกเมืองพัทลุง
..จากเอกสารหลักฐานบัญชีรายชื่อข้าวที่รวบรวมจากท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ โดยกองบำรุงพันธุ์ กรมการข้าว กระทรวงเกษตร ได้รวบรวม และปรากฏชื่อ ข้าวสังข์หยด ใน locality No. ที่ 81 เมื่อปี พ.ศ. 2495 – 2496 เก็บจากอำเภอเมืองจังหวัดพัทลุงดังนั้นจึงเป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกกันมานาน ไม่ต่ำกว่า 50 ปี และปัจจุบันยังคงปลูกอยู่ในจังหวัดพัทลุง
..ข้าวพันธุ์สังข์หยดมีลักษณะแตกต่างจากข้าวพันธุ์อื่น คือ ข้าวสารหรือข้าวกล้องที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวปนสีแดงจางๆจนถึงสีแดงเข้ม ในเมล็ดเดียวกันเมื่อข้าวหุงสุกมีความนุ่มมากและยังคงนุ่มอยู่เมื่อเย็นตัวลง ข้าวสังข์หยดนอกจากมีความนุ่มอร่อยแล้วยังให้คุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวอื่นๆ เนื่องจากข้าวสังข์หยดกล้อง มีโปรตีนสูง วิตามินสูง โดยเฉพาะ ไนอาซีน มีมากถึง 3.97 มิลิกรัม ซึ่งมีน้อยในข้าวสายพันธุ์ อื่นๆ จังหวัดพัทลุง ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ได้ดำเนินการคัด เลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมของข้าวสังข์หยด และศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชที่ 6 พัทลุง ทำการขยายพันธุ์ในแปลงขยายพันธุ์ของศูนย์ เพื่อขยายเมล็ดพันธุ์ ส่งเสริมการ ปลูกข้าวพันธุ์สังข์หยด ให้เกษตรกรในเขตจังหวัดพัทลุงในปี 2548
แนวทางในการจัดจำหน่าย ในปัจจุบันมีจำหน่ายในร้านสุวรรณชาด และซุปเปอร์สโตร์ชั้นนำในกรุงเทพมหานครตลอดจน ร้านอาหารสุขภาพต่างๆ การส่งเสริมข้าวสังข์หยดให้เป็นข้าวเศรษฐกิจของจังหวัดพัทลุง จึงเริ่มดำเนินการ ข้าวสังข์หยดอินทรีย์ ที่เพิ่มคุณค่า และตรงกับความต้องของตลาดภายใน และต่างประเทศ ละด้วยคุณสมบัติดังที่กล่าวมาข้าวพันธุ์สังข์หยดจึงจัดอยู่ในระดับตลาดข้าว คุณภาพดีพิเศษได้
คุณค่าทางโภชนาการของข้าวสังหยด ต่อน้ำหนัก 100 กรัม
– พลังงาน 364.2 กิโลแคลอรี
– โปรตีน 73 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 73.1 กรัม
– เส้นใย 4.81 กรัม
– แคลเซียม 13 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 317 มิลลิกรัม
– ธาตุเหล็ก 1.4 มิลลิกรัม
– วิตามินบี 1 0.32 มิลลิกรัม
– วิตามินบี 2 0.01 มิลลิกรัม
– ไนอะซิน 6.4 มิลลิกรัม
วิธีการหุงข้าวสังหยดให้นุ่มอร่อย และไม่สูญเสียคุณค่าของข้าว
คุณลักษณะของข้าวสารสังหยด เมล็ดเล็ก เรียว ท้ายงอน เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีแดงถึง
แดงเข้ม เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวจะนุ่ม และจับตัวกันคล้ายข้าวเหนียว
วิธีการหุง ให้ซาวข้าวเบาๆ โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพียงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้สูญเสียคุณค่า
ของข้าว เติมน้ำให้ท่วมข้าว สูง 1 ข้อนิ้ว เมื่อข้าวสุกทิ้งไว้ให้ข้าวระอุ ประมาณ 5-10 นาที
หากต้องการให้ข้าวแข็งหรือนุ่ม สามารถเติมหรือเพิ่มน้ำได้ตามความชอบ
…จัดได้ว่า ข้าวสังหยด เป็นสุดยอดของข้าวดีของภาคใต้ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ป้องกันโรคร้ายแรงได้ดี นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของชาวภาคใต้ ที่ควรรักและหวงแหนไว้เป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งตลอดไป.