เลี้ยงสัตว์ » โรคปากเท้าเปื่อย ในแพะ-วัว (FMD) TY

โรคปากเท้าเปื่อย ในแพะ-วัว (FMD) TY

9 เมษายน 2018
4985   0

http://bit.ly/2GLSTp9

 

 

https://goo.gl/5foqvQ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:www.108kaset.com

 

โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and mouth disease)

โรคนี้ชาวบ้านอาจเรียกว่า ” โรคปากเปื่อยกีบเน่า ” เป็นโรคระบาดที่ติดต่อได้รวดเร็วชนิดหนึ่งของโค กระบือ สุกร แพะ แกะ ซึ่งมักจะไม่ทำให้สัตว์ถึงตาย แต่จะกินอาหารไม่ได้ เนื่องจากแผลบนลิ้นและในปาก มักมีอาการน้ำลายไหลฟูมปาก ทำให้ซูบผอมลง แผลที่ขาและเท้าจะทำให้ขาเจ็บทำงานไม่ได้ หยุดการให้น้ำนมชั่วขณะน้ำแม่ลดลง เดินกระเผลก กีบหลุด ซูบผอม เลี้ยงไม่โต แท้งลูก ผสมไม่ติด ..จึงก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก การตายจะเกิดจากกินอาหารไม่ได้เป็นหลัก

 

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส เอฟ เอ็ม ดี (FMD) ที่พบในประเทศไทยมี 3 ไทป์ คือ โอ (O) เอ (A) และเอเชียวัน (Asia I) เชื้อทั้ง 3 ไทป์นี้ จะทำให้สัตว์ป่วยแสดงอาการเหมือนกัน แต่ไม่สามารถให้ภูมิคุ้มกันต่างไทป์ได้ กล่าวคือถ้าฉีดวัคซีน เอฟ ไทป์ เอ ให้ หรือสัตว์เคยป่วยเป็นโรคเอฟ ไทป์ เอ มาก่อน สัตว์จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อโรคเอฟ ไทป์เอ เท่านั้น แต่จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเอฟไทป์ โอ หรือ ไทป์ เอเชียวัน ดังนั้นหากมีโรคเอฟ ไทป์ โอ หรือเอเชียวันระบาดสัตว์ก็อาจจะติดโรคได้
เปรียบเทียบแล้ว ไวรัส เอฟ เอ็ม ดี ไทป์โอจะรุนแรงที่สุด

โรคนี้มีระยะฟักตัว ประมาณ 2-8 วัน

อาการ
เบื้องต้น แพะหรือโคที่เป็นโรคนี้ จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร หลังจากนั้นจะมีเม็ดตุ่มพอง เกิดที่ริมฝีปากในช่องปาก เช่น เหงือกและลิ้น ทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเกิดเม็ดตุ่มที่ระหว่างช่องกีบ ไรกีบ ทำให้เจ็บมาก เดินกะเผลก เมื่อเม็ดตุ่มแตกออกอาจมีเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ทำให้แผลหายช้าขณะที่แพะหรือโคเป็นโรคจะผอมน้ำนมจะลดลงอย่างมาก ในแพะหรือโคอัตราการติดโรคสูงถึง 100% อัตราการตาย 0.2-5% ในลูกแพะหรือโคอัตราการตายอาจสูงถึง 50-70% โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกที่ยังดูดนมอัตราการตายอาจสูงถึง 100%

ในโคและกระบือจะเป็นโรคนี้ง่ายกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ โดยจะเริ่มเกิดเป็นตุ่มที่เยื่อชุ่มบริเวณปากและจมูก หรือที่หัวนมและเต้านม ขณะเดียวกันนี้ไข้จะสูงทำให้สัตว์เบื่ออาหาร หงอยซึม น้ำลายไหลฟูมปาก จากนั้นอีกประมาณ 24 ชม. เม็ดตุ่มนี้จะแตกออกเยื่อชุ่มจะลอกออกเป็นแผล และถ้าไม่มีเชื้ออื่นเข้าไปแผลจะหายเองใน 1 อาทิตย์ แต่ถ้ามีเชื้ออื่นปะปนในแผล อาจทำให้เกิดฝีเรื้อรังขึ้นได้หลังจากเกิดเม็ดตุ่มแล้ว 2-5 วัน เชื้อจะวิ่งไปตามกระแสเลือด ลงไปสู่กีบเท้า โดยเฉพาะที่ไรกีบ และเนื้อเยื่อระหว่างกีบ ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสและแตกออก จะเกิดอาการขึ้นที่เท้าได้อย่างต่อเนื่อง สัตว์จะเจ็บเท้า พื้นกีบบวมเต่งมีน้ำเหลืองขังอยู่ภายในและแตกเป็นแผลขึ้น

ส่วนอาการอื่น ๆที่อาจเกิดแทรกแซงขึ้นอีก คือ สัตว์ที่ท้องอาจแท้งได้น้ำนมลดเกิดโรคแทรก เช่น โรคปอด บางรายโลหิตอาจเป็นพิษและตายได้

การติดต่อของโรคสัตว์
-โดยการที่สัตว์กินเอาเชื้อโรคที่อยู่ปะปนอยู่กับอาหาร น้ำหรือหญ้าลูกกินนมแม่ที่เป็นโรคก็มักได้รับเชื้อทางน้ำนมหรืออาจได้รับโดยตรงจากการเลีย
-โดยการหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่กับอากาศและฝุ่นละอองโดยการพาของลม
-การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นโรค ก็ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
-คนที่เข้าไปในพื้นที่หรือบ้านที่มีโรคระบาดอยู่แล้ว เชื้อโรคจะติดมากับรองเท้า เสื้อผ้า และตามร่างกาย แล้วนำเชื้อโรคแพร่ระบาดไปยังฝูงอื่นต่อไป

การควบคุมและป้องกันโรค

1.ทำวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยทั้ง 3 ชนิด คือ โอ,เอ,เอเซียวัน
-สัตว์อายุมากกว่า 6 เดือน และไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนควรทำการฉีด 2 ครั้ง โดยการฉีดซ้ำครั้งที่ 2 ในระยะ 3 เดือน หลังจากฉีดครั้งแรกและฉีดซ้ำทุก 6 เดือน
-สัตว์อายุน้อยกว่า 6 เดือน ควรทำการฉีด 3 ครั้ง โดยทำการฉีดครั้งที่ 2 ในระยะ 3 เดือน หลังจากฉีดแรก และครั้งที่ 3 ในระยะ 3 เดือนหลังจากฉีดครั้งที่ 2 จากนั้นให้ทำการฉีดซ้ำทุก ๆ 6 เดือน
2.แยกสัตว์ที่ป่วยออกให้ห่างจากสัตว์ดีมาอยู่ในคอกที่มีพื้นนิ่มและไม่ชื้นหรือแฉะ

3. คอกสัตว์ป่วยควรทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคด้วยโซดาไฟ 2 % หรือโรยปูนขาว
4. ก่อนนำสัตว์ใหม่เข้าเลี้ยงควรพักดูอาการอย่างน้อย 1 เดือน
5. เข้มงวดเรื่องคนเข้าออกให้มาก เพราะอาจนำโรคไประบาดยังฝูงอื่น ๆ ได้
6. ทำลายหรือเผาสิ่งของที่สงสัยว่ามีเชื้อโรคอยู่
7. รักษาแผลที่ปากและที่กีบโดยใช้ยาน้ำสีม่วง เจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet) หรือจะใช้ยาทากีบของกรมปศุสัตว์ หรือน้ำมันทาแผลที่กีบเท้าเพื่อป้องกันแมลงวันตอมและวางไข่
8. ถ้าสัตว์ป่วยมากควรฉีดยาปฎิชีวนะโดยตามสัตวแพทย์มาให้การช่วยเหลือ เพื่อป้องกันการรักษาโรคแทรกซ้อนและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

การรักษาแบบพื้นบ้าน..

แผลที่ปาก
-ใช้เปลือกต้นสีเสียด เปลือกต้นแค เปลือกต้นมะขามเทศ เปลือกผลมังคุด หรือใบชาชงแก่ ๆ ทิ้งให้เย็น นำมาชะล้างแผลที่ลิ้นและปาก
-ใช้หัวไพล ยอดมะกอก หรือผลมะกอกเอาแต่เนื้อ โขลกให้ละเอียดคลุกให้เข้ากับเกลือป่น ใช้กวาดลิ้นหรือแผลในปาก 2-3 วันติดต่อกัน
-ใช้ยาฆ่าเชื้อไอโอโดเพอร์ 1:300 หรือ 2.5 ซี.ซี. ผสมน้ำสะอาด 1 ขวดแม่โขง (750 ซี.ซี.) หรือใช้ยาฆ่าเชื้ออื่น ๆ ที่ไม่ระคายเคืองเยื่อชุ่มแทนได้ ชะล้างแผลที่ลิ้นและปาก

-ใช้ยาม่วง ทาหรือพ่นบริเวณที่เป็นแผล

แผลที่กีบ

-ใช้ผงซักฟอกละลายน้ำ คนจนเป็นฟองดีแล้ว ใช้ใยกาบมะพร้าวจุ่มน้ำยาซักฟอก ขัดแผลตามไรกีบ, ร่องกีบ,อุ้งกีบให้ทั่ว และเป็นแผลแดงถ้ามีหนอนให้เก็บออกให้หมด ล้างจนสะอาด ใช้น้ำเปลือกไม้ต้ม หรือน้ำยาฆ่าเชื้อล้างซ้ำอีกครั้งจนสะอาด เช็ดให้แห้ง หายาทากีบ หรือขี้ผึ้ง หรือจะใช้น้ำมันเครื่องแทนก็ได้ ทาให้ทั่วทุกวันจนกว่าจะหาย

-หากมีสัตว์ป่วยจำนวนมากและจับยาก ให้ขุดเป็นคูยาว และลึกพอให้สัตว์ป่วยยืน น้ำยาจะท่วมกีบทั้ง 4 ข้าง ใส่น้ำเปลือกไม้ต้มหรือน้ำยาฆ่าเชื้อต้อนลงแช่ เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย

-ให้สัตว์ป่วยอยู่ในที่แห้งสะอาดและใช้ฟางปูพื้น

—————————————————

คลายข้อสงสัย..

โรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease, FMD)..คืออะไร ?
โรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease, FMD) เป็นโรคติดต่อเฉียบพลัน ทำให้เกิดไข้สูง และเม็ดตุ่มน้ำใสพุพองที่ช่องปากและไรกีบเท้า โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสซึ่งแบ่งได้เป็น 7 ชนิด แต่จะตรวจได้โดยอาศัยห้องปฏิบัติการเท่านั้น

ติดต่ออย่างไร ?
พบเชื้อไวรัสปริมาณมากในน้ำจากเม็ดตุ่มน้ำใส น้ำลาย มูลสัตว์ การปนเปื้อนกับสิ่งคัดหลั่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง สัตว์เป็นโรคจะขับไวรัสได้ก่อนที่จะพบอาการป่วย

การกระจายโรค
-ไปทางอากาศในระยะทางไกลสามารถเกิดขึ้นได้ในภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย แต่ในประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตศูนย์สูตร มีอากาศร้อนอบอ้าว การแพร่กระจายวิธีนี้มีความสำคัญน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการแพร่กระจายโดยการปนเปื้อนพาหะ

-สัตว์จะรับเชื้อไวรัสโดยการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งปนเปื้อน หรือสัมผัสกับส่วนของซากสัตว์ติดเชื้อ
-โรคแพร่กระจายออกไปโดยการเคลื่อนย้ายสัตว์ บุคคล ยานพาหนะ หรือสิ่งใดก็ตามที่สัมผัสเชื้อไวรัส การปนเปื้อนจะผ่านลงสู่แหล่งกระจายโรค เช่น ถนน ทำเลสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้โรคแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
-รองเท้าบู๊ท เสื้อผ้า มือ ของผู้เลี้ยง สุนัข แมว เป็ดไก่ หนู ที่สัมผัสแหล่งปนเปื้อนจะสามารถนำพาเชื้อไวรัสไปได้

ประเทศใดมีโรค ?
FMD มีอยู่ในเอเซียบางประเทศ รวมทั้งประเทศไทย อัฟริกา อเมริกาใต้ และระบาดเป็นครั้งคราวในประเทศที่ปลอดโรคแล้ว

คนติดโรคไหม ?
โดยปกติแล้วคนไม่ติดโรคนี้ โรคนี้ไม่มีผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ มีโรคในคนที่เรียกว่า โรค มือ ปาก เท้า จะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

สัตว์ชนิดใดเป็นโรค ?
โค กระบือ แพะ แก สุกร ไวต่อโรคนี้ สัตว์ป่าที่มีกีบเท้าคู่ และช้าง สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้

อาการเป็นอย่างไร ?
ตุ่มน้ำใสพุพองในช่องปาก และไรกีบ เป็นอาการหลัก แต่จะมีความแตกต่างกันในสัตว์แต่ละชนิด
โค กระบือ ไข้ ซึม ไม่กินอาหาร น้ำนมลด ขากะเผลก ไม่รวมฝูง น้ำลายไหลยืดเป็นฟอง
แพะ แกะ ไข้ ขากะเผลก ไม่ลุกยืน มักไม่ค่อยเห็นอาการที่ช่องปาก
สุกร ไข้ ซึม ไม่กินอาหาร ขากะเผลก เห็นตุ่มน้ำใสพุพองที่ปลายจมูกและลิ้น

เชื้อไวรัสมีกี่ชนิด ?
มี 7 ชนิดหลัก ได้แก่ O, A, C, SAT1, SAT2, SAT3 และ Asia1 แต่ละชนิดยังแบ่งเป็นชนิดย่อยได้อีก ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 3-8 วัน สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคด้วยเชื้อชนิดใด จะมีภูมิคุ้มกันโรคเฉพาะเชื้อชนิดนั้นไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดอื่น จึงสามารถป่วยซ้ำได้อีกถ้าเป็นเชื้อต่างชนิดกันในครั้งหลัง

ทำลายเชื้อได้อย่างไร ?
เชื้อถูกทำลายได้ด้วยแสงแดด ความร้อน สภาพแห้ง ยาฆ่าเชื้อ แต่เชื้อจะมีฤทธิ์ได้ในสภาพที่เหมาะสม เช่น เนื้อจากซากสัตว์เป็นโรคแช่แข็ง วัตถุที่แปดเปื้อน ความเย็นและมืด สภาพเหล่านี้สามารถทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานาน

โรคนี้ทำให้เกิดผลอย่างไร ?
โดยปกติ FMDไม่ทำให้เจ็บป่วยถึงตาย ยกเว้นในลูกสัตว์ขนาดเล็ก
ผลกระทบของโรคนี้มีความรุนแรง โดยจะทำให้สัตว์ป่วยไม่คืนสภาพปกติเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโคนมจะทำให้น้ำนมลด

รักษาได้ไหม ?
ไม่มีการรักษาโรคนี้ยกเว้นการรักษาตามอาการเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน สัตว์ป่วยจะกลับหายเป็นปกติในเวลา 2-3 สัปดาห์

ควบคุมโรคได้อย่างไร ?
วิธีควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือทำลายสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค และสัตว์ที่ได้สัมผัสโรคแล้ว ห้ามการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกนอกเขตติดเชื้อ นอกจากนั้นอาจใช้การฉีดวัคซีนเพื่อปิดล้อมอุบัติการ จะช่วยให้โรคจางหายไป หากไม่สามารถทำลายสัตว์ได้ก็จะต้องใช้วิธีการกักขัง แยก ย้ายสัตว์ป่วย เพื่อป้องกันการสัมผัสกับตัวอื่น

เกษตรกรป้องกันโรคได้อย่างไร ?
วิธีที่ดีที่สุดคือป้องกันการนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงของตนเอง โดยการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ บุคคล สิ่งของที่จะเข้ามาในฟาร์มตนเอง ล้างฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวด
เมื่อจะนำสิ่งใด (คน สัตว์ สิ่งของ) เข้าสู่ฟาร์มให้นึกเสียว่าโลกภายนอก “ติดเชื้อ” และฟาร์มของเรา “สะอาด”
วิธีอื่น ๆ ได้แก่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่สัตว์เลี้ยง โดยเฉลี่ย 6 เดือนครั้ง

ใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างไร ?
1. ต้องเป็นยาฆ่าเชื้อที่ออกฤทธิ์ต่อ FMD
2. ต้องเป็นยาฆ่าเชื้อที่มีทะเบียนยา
3. ไม่ผสมยาฆ่าเชื้อหลายชนิดเข้าด้วยกัน
4. ชำระล้างสิ่งที่จะฆ่าเชื้อให้สะอาดเสียก่อน
5. เตรียมยาฆ่าเชื้อให้มีความเข้มข้นถูกต้องตามฉลากยา

ล้างรถทุกวันพอไหม ?
การฉีดพ่นล้างรถจะชะล้างสิ่งสกปรกออกแต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัส นอกจากนั้นเชื้อโรคจะถูกชะล้างตามน้ำล้างไปสู่บริเวณข้างเคียง

จุดไหนในฟาร์มที่ต้องระวัง ?
ไวรัสอยู่รอดในสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในบริเวณที่มีมูลสัตว์และน้ำล้างจากคอกสัตว์ และจะมีฤทธิ์อยู่ได้นานหลายเดือน ไวรัสจะกระจายโดยการปนเปื้อนหญ้า ฟาง และแปลงหญ้าได้เป็นเวลานาน

สัตว์ป่วยแพร่เชื้อได้นานแค่ไหน ?
สัตว์ป่วยจะขับเชื้อไวรัสออกตามสิ่งคัดหลั่งในร่างกาย ในระยะที่สัตว์ป่วยแสดงอาการนี้จะทำให้สัตว์อื่นติดโรคได้ง่ายที่สุด หลังจากนั้นร่างกายสัตว์จะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันโรคและสัตว์จะสร้างไวรัสได้น้อยลงไม่เพียงพอต่อการก่อโรค

สัตว์นำโรคมีความสำคัญอย่างไร ?
สัตว์นำโรค (carrier) คือสัตว์ป่วยที่สามารถตรวจพบไวรัสในตัวได้ที่ระยะเวลาเกินกว่า 28 วันหลังพบโรค ในวัวเคยพบนานถึง 3 ปี ในแกะเคยพบนานถึง 9 เดือน

วัคซีนใช้ได้ผลไหม ถ้าไม่ได้ฉีดทุกตัว ?
ในการใช้วัคซีนป้องกันโรค FMD จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 80-85 % ของจำนวนสัตว์ทั้งหมด

สัตว์ที่ฉีดวัคซีนแล้วนำโรคได้ไหม ?
วัคซีน FMD เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายจึงไม่ทำให้สัตว์เป็น carrier แต่วัคซีน FMD ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ หากสัตว์ฉีดวัคซีนแล้วได้รับเชื้อ อาจพบเชื้อได้จากช่องคอหอย ซึ่งทำให้สามารถขับเชื้อไวรัสให้สัตว์ตัวอื่นได้ในระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากติดเชื้อ
สัตว์ที่ฉีดวัคซีนอาจเป็น carrier ได้ในระยะเวลานาน แต่ยังไม่พบว่าสัตว์ฉีดวัคซีนที่เป็น carrier จะสามารถขับเชื้อให้ตัวอื่น

วัคซีนคืออะไร ใช้อย่างไร ?
วัคซีน FMD เป็นวัคซีนเชื้อตาย กรมปศุสัตว์ได้ผลิตวัคซีน 2 ชนิด
1. วัคซีนสำหรับ โค กระบือ แพะ แกะ (กองผลิตชีวภัณฑ์, 2543)
เป็นวัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำ (aqueous vaccine) ชนิดรวม 3 ไทป์ โอ เอ และเอเซียวัน ผลิตจากเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเตรียมจากเซลเพาะเลี้ยง ทำให้เข้มข้นและบริสุทธิ์ และทำให้หมดฤทธิ์ ด้วยสาร Binary Ethylene Imine (BEI)
วิธีใช้ฉีดปีละ 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน หรือ ฉีดวัคซีนครั้งแรก ตั้งแต่อายุ 4–6 เดือน ฉีดครั้งที่สอง หลังฉีดครั้งแรก 3–4 สัปดาห์
ขนาดฉีด ตัวละ 2 มล. เข้าใต้ผิวหนัง
ความคุ้มโรคสัตว์จะมีความคุ้มโรคหลังฉีด 3-4 สัปดาห์ และมีความคุ้มโรคอยู่ได้นาน 6 เดือน
ขนาดบรรจุขวดละ 150 มล. (75 โดส)
* วัคซีนสำหรับโค กระบือ แพะ แกะ เป็นวัคซีนที่รัฐผลิตให้เกษตรกรใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โปรดติดต่อรับบริการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัดใกล้บ้านท่าน

2. วัคซีนสำหรับสุกร (กองผลิตชีวภัณฑ์, 2543)
เป็นวัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำมัน ชนิดรวม 3 ไทป์ โอ เอ และเอเซียวัน ผลิตจากเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเตรียมจากเซลเพาะเลี้ยง ทำให้เข้มข้นและบริสุทธิ์ และทำให้หมดฤทธิ์ ด้วยสาร Binary Ethylene Imine (BEI)
วิธีใช้ ฉีดตามระยะการผลิต สุกรขุน ฉีดตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ (ครั้งแรก 8 สัปดาห์ และ ครั้งที่สอง 10–12 สัปดาห์) ส่วนสุกรพ่อแม่พันธุ์ ฉีดปีละ 2–3 ครั้ง ก่อนผสมพันธุ์
ขนาดฉีด ตัวละ 2 มล. เข้ากล้ามเนื้อ
ความคุ้มโรคสัตว์จะมีความคุ้มโรคหลังฉีด 3-4 สัปดาห์ และมีความคุ้มโรคอยู่ได้นาน 6 เดือน
ขนาดบรรจุขวดละ 150 มล. (75 โดส)
ส่วนวัคซีนสุกรรัฐผลิตออกจำหน่ายให้เกษตรกรในราคา ขวดละ 1,125 บาท (ฉีดได้ 75 ตัว)
โปรดติดต่อขอซื้อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัดใกล้บ้านท่าน.

วัคซีนทำให้เชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่ ?
วัคซีนเชื้อตายไม่ทำให้เชื้อกลายพันธุ์ หรือทำให้สัตว์เป็นโรค แต่หากสัตว์เป็นโรคภายหลังจากฉีดวัคซีนเป็นกรณีวัคซีนไม่ได้ผลไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เพียงพอ

แจ้งข่าวสัตว์ป่วยได้ที่ไหน ?
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่ง ดังนี้
สงขลา โทร.0 7444 3610
สตูล โทร.0 7471 1357
ตรัง โทร.0 7521 8377
พัทลุง โทร.0 7461 2317
ปัตตานี โทร.0 7333 6186
ยะลา โทร.0 7321 3349
นราธิืวาส โทร.0 7351 1205

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช 288 ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000
Tel : 0 7535 6254,0 75356454 || Fax : 0 7535 6065 || E-mail : pvlo_nst@dld.go.th

ค่าบริการสัตว์ป่วยเท่าไร ?
เมื่อเกิดโรคขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร ทางรัฐจะดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด โดยเป็นบริการที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

เรียบเรียงจาก
http://bjongj.50megs.com/AH_EPID/FMDE0.html
http://www.dld.go.th/th/index.html
http://region9.dld.go.th/index.php
http://pasusat.com/wp-content/uploads/2015/01/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2.jpg
http://www.sahavicha.com/UserFiles/Image/FMD_003.jpg
สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000008643201.JPEG
http://topnews.ae/images/foot-and-mouth-disease_0.jpg
http://influentialpoints.com/Images/Lesion_in_cleft_of_hoof_of_cow_with_foot-and-mouth_disease_in_Kenya_1996.JPG