เลี้ยงสัตว์ » ไข้เห็บ/พยาธิในเม็ดเลือด (Blood parasite)ที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม วัว สุนัข แพะ แกะฯ

ไข้เห็บ/พยาธิในเม็ดเลือด (Blood parasite)ที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม วัว สุนัข แพะ แกะฯ

13 กรกฎาคม 2018
4004   0

>สารบัญสำคัญ “คัมภีร์คนเลี้ยงแพะ”

ไข้เห็บ หรือ พยาธิในเม็ดเลือด (Blood parasite)ที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม วัว สุนัข แมว แพะ แกะฯ

1.เห็บเป็นตัวนำเชื้อปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดเมื่อเห็บมากัดสุนัข ไม่ใช่มีแค่สุนัขเท่านั้นที่เป็นไข้เห็บ ในวัว แมว แพะ แกะฯ ก็เป็นได้

2.สุนัขที่มีเห็บเป็นจำนวนมากมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ แต่สัตว์ที่ไม่มีเห็บ หรือฉีด/หยด/กิน/อาบ/สเปรย์/ใส่ปลอกคอป้องกันเห็บหมัดก็สามารถป่วยได้ ถ้ามีเห็บที่มีเชื้อไข้เห็บอยู่มากัดแล้วปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกายสุนัข พูดง่ายๆเห็บมีเชื้อ 1 ตัว เผลอเดินมากัดเข้าก็ป่วยได้แล้ว

3.ไข้เห็บเป็นโรคซึ่งเกิดจากเชื้อปรสิตที่อยู่ในเม็ดเลือดเกิดจากการติดเชื้อของสัตว์เซลล์เดียวในเม็ดเลือด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโปรโตซัวและริคเก็ตเซีย ได้แก่..

บาบิเซีย (Babesia sp.)

เฮปปาโตซูน (Hepatozoon sp.)

เออร์ลิเชีย (Ehrlichia sp.)

อะนาพลาสมา (Anaplasma sp)

บาร์โทเนลล่า (Bartonella sp.)

..แต่ที่พบได้บ่อยในบ้านเราคือ 3 ตัวแรก ..สัตว์ติดโรคนี้จากการถูกกัดโดยเห็บหรือแมลงดูดเลือดที่มีเชื้ออยู่ จากนั้นเชื้อโรคจะถูกปล่อยเข้าสู่ร่างกายและอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแดงของสัตว์ มีการเพิ่มจำนวนและแพร่ขยายไปยังเม็ดเลือดเม็ดอื่นๆ จนในที่สุดเม็ดเลือดจะแตกและถูกทำลายลงเรื่อยๆ เกิดสภาพที่เรียกว่าโลหิตจาง(anemia)ตามมา

ชื่ออาจจะคล้ายกับโรคพยาธิหนอนหัวใจ แต่อย่าสับสน..เป็นคนละโรคกัน..

-โรคพยาธิหนอนหัวใจติดจากยุงเป็นพาหะ

-โรคพยาธิในเม็ดเลือดติดจากเห็บเป็นพาหะ เราเรียกรวมๆ กันว่า โรคที่ติดต่อจากเห็บ (Tick-borne diseases) ความชุกของโรคนี้ในบ้านเราถือว่าค่อนข้างสูงพบได้ทั้งปี

..พอเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จะส่งผลทำให้ ตับวาย ไตวาย เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง เหงือกซีด ทำลายไขกระดูกและภูมิคุ้มกัน บางตัวเม็ดเลือดแดงแตก ตับวาย ไตวาย จนตัวเหลืองดีซ่าน บางตัวพบจ้ำเลือดตามใต้ท้องหรือใบหูด้านในบริเวณที่ไม่มีขนจะมองเห็นง่าย

4.บางตัวถ่ายเป็นเลือดคล้ายลำไส้อักเสบ กำเดาไหลเพราะเส้นเลือดฝอยเปราะแตกง่าย เลือดหยุดยาก ข้ออักเสบ ปวดข้อไม่อยากเดิน ขาหลังแบะ ไข้สูงขึ้นๆลงๆ กินยาลดไข้อย่างเดียวไข้ก็ไม่หายจนกว่าจะได้ยาปฏิชีวนะสำรับรักษาไข้เห็บร่วมด้วย

5.ตัวที่ป่วยกินอะไรไม่ได้มาหลายวัน ตับวาย ไตวาย อาจจะกู้อาการกลับมาเป็นปกติได้ยาก ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตในภายหลัง

6.มีการช่วยเหลือโดยการให้เลือด แต่ไม่ใช่ว่าสัตว์จะสามารถรับเลือดได้ทันทีทุกตัว ต้องดูสภาพสัตว์ป่วยด้วยว่าร่างกายรับการให้เลือดได้ไหม ถ้าร่างกายรับไม่ไหวก็จะเสียชีวิตระหว่างให้เลือดหรือหลังให้เลือดใน3-7วัน ยิ่งสัตว์ป่วยตัวใหญ่ยิ่งต้องใช้ปริมาณเลือดมากต้องหาสัตว์ที่ตัวใหญ่แข็งแรงและไม่มีโรคติดต่อมาเป็นตัวให้เลือด ซึ่งบางครั้งก็หาได้ไม่ทันการ

7.ตัวแม่ที่ตั้งท้องแล้วเป็นไข้เห็บ ลูกออกมาจะทยอยตายเนื่องจากโลหิตจาง

..ในสัตว์ป่วยบางตัวได้รับเชื้อและป่วยแต่ยังไม่แสดงอาการ มาออกอาการอีกทีก็หอบซีด ชัก และเสียชีวิต บางตัวพอเป็นไข้ก็เริ่มไม่กิน ถ่ายปนเลือด บางตัววิ่งอยู่ก็กำเดาไหล บางตัวแค่จามก็เลือดออกจมูก ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรรีบพาสัตว์ไปหาหมอ ตรวจค่าเลือดต่างๆ ตรวจไข้เห็บเพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นๆ


สัตว์บางตัวอาจป่วยเป็นไข้เห็บเชื้อเดียว สองเชื้อ หรือสามเชื้อ ยิ่งเป็นร่วมกันหลายเชื้อก็ยิ่งรุนแรง สัตว์ที่เคยป่วยแล้วรักษาจนเป็นปกติก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ อาจจะอีก1-3เดือนต่อมา หรืออีก1-2ปีต่อมา เพราะไข้เห็บบางเชื้อไม่ได้หายไปไหนมันแฝงอยู่ในร่างกาย พอสัตว์อ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันลดลงมันก็จะก่ออาการขึ้นมาอีก ที่สำคัญคือตรวจสุขภาพเป็นระยะ ถ้าป่วยให้แจ้งหมอด้วยว่าเคยมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ทุกวันนี้ไข้เห็บเจอได้เกือบทุกวันเลย..

 

อาการสัตว์ติดเชื้อ

บาบิเซีย พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด  Babesia canis, Babesia gobsoni ก่อให้เกิดโรค Babesiosis ติดจากการที่ถูกเห็บที่มีเชื้อกัดหรือติดจากการถ่ายเลือด ซึ่งตัวเชื้อจะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดแดง โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 10-21 วัน
อาการที่พบ  จะมีไข้สูง ซึม ไม่อยากกินอาหาร ไม่อยากเคลื่อนไหว โลหิตจาง เยื่อเมือกซีดมาก อาจมีดีซ่านร่วมด้วย ปัสสาวะสีแดงเข้ม (สีโค้ก/โคล่า) ในรายที่เป็นรุนแรง.
การรักษาด้วยการฉีดยา เช่น กลุ่ม aromatic diamidine (Imidocarb) จำนวนสองครั้ง โดยฉีดห่างกัน 14 วัน แต่ยานี้เป็นสารเคมีซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ไอ น้ำลายไหล จึงจำเป็นต้องให้ร่วมกับในกลุ่ม anti-colinergic เพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว
วิธีรักษาเมื่อพบในแพะ-แกะ-โค ใช้ยาเบรีนิล(Diminazene aceturate ) ขนาด 3.5 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

 

 

เฮปปาโตซูน พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดชื่อว่า Hepatozoon canis, Hepatozoon americanum ก่อให้เกิดโรค Hepatozoonosis โดยจะติดเชื้อจากการที่กินตัวเห็บที่มีเชื้อเข้าไปหรือติดจากการถ่ายเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ เมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในลำไส้จะชอนไชทะลุผ่านผนังลำไส้ เข้าไปตามกระแสเลือดไปอยู่ตามต่อมน้ำเหลือง ม้าม ตับ ปอดและไขกระดูก และจะพบเชื้อได้ในเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil
อาการที่พบจะมีได้หลากหลาย เช่น ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เยื่อเมือกซีด โลหิตจาง มีไข้สูง มีน้ำมูก มีขี้ตา เป็นอัมพาตขาหลัง ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันด้วย ส่วนใหญ่ถ้าภูมิคุ้มกันดีจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่จะเป็นแบบเรื้อรังแทน เช่น เม็ดเลือดถูกทำลายมาก จนเกิดดีซ่าน ทำให้เยื่อเมือกมีสีเหลือง หากภูมิคุ้มกันไม่ดีหรืออายุน้อยจะแสดงอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้
การรักษาด้วยการฉีดยา เช่น กลุ่ม aromatic diamidine (Imidocarb) จำนวนสองครั้ง โดยฉีดห่างกัน 14 วัน แต่ยานี้เป็นสารเคมีซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ไอ น้ำลายไหล จึงจำเป็นต้องให้ร่วมกับในกลุ่ม anti-colinergic เพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว
**เฮปาโตซูนอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเชื้อสามารถซ่อนตัวอยู่ในตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองได้ เมื่อสัตว์ที่เคยเป็นโรคนี้อ่อนแอลง ก็อาจจะกลับมาป่วยได้อีก

.
เออร์ลิเชีย พบได้ในสุนัขและม้า แต่ที่พบในสุนัขมีชื่อว่า Ehrlichia canis ซึ่งก่อให้เกิดโรค Canine ehrlichiosis ติดจากการที่ถูกเห็บที่มีเชื้อกัดหรือติดจากการถ่ายเลือด ซึ่งเชื้อจะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิด monocyte และ neutrophil โดยมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 7-12 วัน
อาการที่พบ มีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร โลหิตจาง มีขี้ตา มีน้ำมูก และมีเลือดกำเดาไหล เนื่องจากโรคนี้ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ พอเลือดไหลก็จะหยุดได้ยาก และอาจพบจุดเลือดออกบริเวณตาขาว เหงือกและผิวหนังได้ ในรายที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีจะแสดงอาการแบบเฉียบพลัน ส่วนรายทีมีภูมิคุ้มกันดีจะแบบอาการแบบเรื้อรัง (แสดงอาการใน 30-120 วัน) ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะมีแดงเข้ม (สีโค้ก/โคล่า) มีภาวะแทรกซ้อนตามมากมาย เช่น ภาวะไตวาย ไขกระดูกทำงานบกพร่อง ม้ามโต และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว
การรักษา ฉีดยาหรือจ่ายยาในกลุ่ม tetracycline ให้ป้อนกินติดต่อกันอย่างน้อย 21-28 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น หากมีภาวะโลหิตจางก็ต้องให้ยาบำรุงเลือดหรือถ่ายเลือดให้ เป็นต้น
.

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็น หากดูจากอาการเพียงอย่างเดียวอาจยังสรุปได้ยาก เนื่องจากมีอาการที่ไม่จำเพาะ ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยอาการซึม เบื่ออาหาร ดังนั้นการซักประวัติเพิ่มเติมโดยละเอียด ตลอดจนข้อมูลความชุกของเห็บบนตัวสัตว์และในสิ่งแวดล้อมที่สัตว์อยู่จึงมีส่วนสำคัญ แต่สิ่งที่ช่วยยืนยันได้ดีที่สุด คือ การตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และการย้อมสีแผ่นสไลด์ของเลือดแล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์

การรักษา
เพื่อให้การรักษาได้ผลดี จะต้องเจาะเลือดมาตรวจหาเชื้ออย่างรวดเร็ว และต้องให้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงในทันที ยาที่ดีเมื่อให้แล้วสัตว์จะแสดงอาการดีขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังจากได้รับยาและเชื้อจะหายไปจากกระแสโลหิตภายใน 24 ชั่วโมง..

ยาที่ให้ผลดีในการรักษาโรคบาบีซีโอซิส ได้แก่
1. เบเรนิล (Diminazine aceturate หรือ Berenil®)
ขนาดที่ให้ 3.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

2. อิมิโซล (Imidocarb dipropionate หรือ Imizoll®)
ขนาดของยาที่ใช้ 1.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
(ขนาด 1 ซีซี./น้ำ หนักสัตว์ 100 กิโลกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง การให้ยานี้ต้องระมัดระวัง ถ้าใช้เกินขนาด สัตว์จะมีอาการกล้ามเนื้อสั่น น้ำลายไหล ท้องอืด สัตว์ที่ใช้ยานี้ไม่ควรส่งเข้าโรงงานฆ่าสัตว์ภายใน 28 วัน)

3. อคาปริน (Auinuronium sulyate หรือ Acaprinl®)
ขนาดยาที่ใช้ 1 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัวสัตว์ 1 กิโลกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น ยานี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ สัตว์จะแสดงอาการ น้ำลายไหล เหงื่อออก ท้องเสีย อ่อนเพลีย
ขณะให้การรักษาโรคบาบีซิโอซิส ควรให้ยาบำรุงด้วย เพราะสัตว์ป่วยมักจะมีอาการโลหิตจาง อ่อนเพลียและบางครั้งมีอาการทางประสาทร่วมด้วย จึงควรระมัดระวังอย่าให้สัตว์ตื่นเต้น ตกใจหรือออกแรงมาก การบังคับสัตว์ที่เป็นโรครุนแรงอาจทำให้ตายได้ ถ้าเป็นไปได้ควรให้สัตว์ป่วยอยู่เดี่ยวๆ ในที่เย็นสบายมีน้ำและอาหารพร้อม

โรคนี้หากวินิจฉัย ได้เร็วและรักษาได้อย่างถูกอันนี้ก็จะง่าย เห็นผลไว บางตัวฉีดยากำจัดเชื้อ ร่วมกับยาลดไข้อย่างเดียวก็หาย หรือบางตัวฉีดยาไปไข้ลดแล้วแต่ยังไม่กินอาหาร ก็อาจให้ยาบำรุง(supportive treatment) เช่น กลูโคส อะมิโนไลท์ หรือเมตตาโบลาส จะช่วยให้สัตว์ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

..ในกรณีที่เลือดจางมาก เยื่อเมือกซีด หรือ เหลืองอย่างชัดเจน เดินเซไม่มีแรง บางตัวถึงขั้นนอนไม่อยากลุก หัวใจเต้นเร็วและแรงมาก หายใจถี่ ไม่กินอาหารเลยแม้จะฉีดยาหรือให้ยาบำรุงไปแล้วก็ตาม ถ้าถึงขนาดนี้แล้ววิธีการสุดท้ายที่พอจะรักษาชีวิตได้ก็ต้องถ่ายเลือดซึ่งเป็นวิธีการที่ยุ่งยากขึ้น.

อันตรายที่ควรรู้...โรคพยาธิเม็ดเลือดบางเชื้อสามารถติดต่อสู่คนได้ คือ Ehrlichia sp. และ Anaplasma sp.  ผ่านทางการถูกเห็บสุนัขที่มีเชื้อกัดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะทำให้คนแสดงอาการต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ และปวดศีรษะ เรียกโรคนี้ในคนว่า “human granulocytic ehrlichiosis” 

 

ขอบคุณ https://pantip.com/topic/30717285
http://auuteetfram.myreadyweb.com/article/..
https://www.dogilike.com/content/vettalk/1464/
http://www.thailivestock.com/cattle_handling/..

รูปภาพประกอบ:

www.dogs.lovetoknow.com
www.doglawreporter.blogspot.com
www.tpvexperiences.blogspot.com
www.instruction.cvhs.okstate.edu
www.sciencedirect.com
www.scielo.br
www.theanswervet.com
www.moveoneinc.com
www.ticktalkireland.org
www.osuemed.wordpress.com
http://www3.rdi.ku.ac.th..