ปลูกพืช » งาและวิธีการปลูก

งาและวิธีการปลูก

16 มีนาคม 2022
875   0

งาและวิธีการปลูก

งา เป็นพืชล้มลุก ผลเป็นฝัก มีเมล็ดเล็กๆ สีขาว สีดำ และสีแดง มีการเพาะปลูกมานานเพราะต้องการใช้เมล็ดงานี้เป็นอาหาร เครื่องเทศ และบีบเอาน้ำมันได้ มีการใช้เมล็ดงากันมากเป็นพิเศษในแถบตะวันออกกลาง และเอเชียเพื่อเป็นอาหาร

กลิ่นและรสของเมล็ดงาคล้ายกับถั่ว องค์ประกอบสำคัญในเมล็ดก็คือน้ำมัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 44-60%

น้ำมันงานั้นต่อต้านการเกิดออกซิไดซ์ได้ดี มีการใช้ในอาหารพวกสลัด หรือเป็นน้ำมันปรุงอาหาร และมาการีนและในการผลิตสบู่ ยา และน้ำมันหล่อลื่น และยังเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางบางชนิด..

เดิมนั้นงาอาจเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชีย หรือตะวันออกของแอฟริกา แต่ปัจจุบันพบได้ในพื้นที่เขตร้อน กึ่งร้อน และร้อนทางใต้ในทุกเขตทั่วโลก

ก่อนสมัยโมเสส ชาวไอยคุปต์ใช้เมล็ดงาป่นแทนแป้งธัญพืช ส่วนชาวจีนรู้จักงามาอย่างน้อยก็ 5,000 ปีมาแล้ว พวกเขาเผาเมล็ดงาเพื่อใช้ทำแท่งหมึกจีนที่คุณภาพดี ส่วนชาวโรมันบดเมล็ดงาผสมขนมปังเป็นอาหารรสดี ชาวไทยก็มีขนมที่ใช้เมล็ดงา เรียกว่า ขนมงาตัด ใช้งากวนกับน้ำตาล แล้วตัดเป็นแผ่น

ในบางถิ่นมีความเชื่อว่าเมล็ดงามีอำนาจอาถรรพณ์ และยังปรากฏในนิทานเรื่อง อาหรับราตรี ตอน อาลีบาบา กับโจรทั้งสี่สิบ ซึ่งมีคำกล่าวว่า เปิดเมล็ดงา (Open sesame)

ต้นงานั้นมีความสูงระหว่าง 0.5-2.5 เมตร ขึ้นกับสภาพที่ปลูก บางพันธุ์ก็มีกิ่งก้าน บ้างก็ไม่มี ที่แกนในแกนหนึ่งมีดอกราว 3 ดอก เมล็ดนั้นสีขาว ยาวราว 3 มิลลิเมตร เมื่อแห้ง เปลือกเมล็ดจะเปิดอ้า และเมล็ดจะหลุดออกมา การเก็บงาจึงต้องอาศัยแรงงานคนเพื่อมิให้เมล็ดงาร่วงหล่น ภายหลังเมื่อไม่นานมานี้ มีการพัฒนาพันธุ์มิให้เมล็ดแตะกระจาย ทำให้สามารถเก็บด้วยเครื่องจักรได้

พันธุ์งาดำ

1. งาดำ บุรีรัมย์

งาดำ บุรีรัมย์ จัดเป็นพันธุ์พื้นเมือง มีลักษณะเด่น คือ ฝักแบ่งออกเป็น 4 กลีบใหญ่ แต่ละกลีบแบ่งออกเป็น 2 พู รวมเป็น 8 พู เมล็ดมีขนาดใหญ่ สีเกือบดำสนิท มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ประมาณ 90-100 วัน ให้ผลผลิตไม่แน่นอน ประมาณ 60-130 กิโลกรัม/ไร่

2. งาดำ นครสวรรค์

งาดำ นครสวรรค์ จัดเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมมากในเกือบทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลาง เหนือ และอีสาน มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นค่อนข้างสูง มีการทอดยอด และแตกกิ่งก้านมาก ใบมีขนาดใหญ่ มีลักษณะค่อนข้างกลม ฝักแบ่งออกเป็น 4 กลีบใหญ่ แต่ละกลีบแบ่งออกเป็น 2 พู รวมเป็น 8 พู เกิด 1 ฝักต่อ 1 มุมใบ ส่วนเมล็ดมีสีดำ อวบ และขนาดใหญ่ มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ประมาณ 95-100 วัน ให้ผลผลิตไม่แน่นอน 60-130 กิโลกรัม/ไร่ แต่มีข้อด้อย คือ ฝักแก่จะแตกง่าย

3. งาดำ มก.18

งาดำ มก.18 เป็นพันธุ์แท้ ที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงปี 2528-2530 ที่ได้จากการผสมของงาพันธุ์ col.34 กับงาดำ นครสวรรค์ มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นค่อนข้างสูง มีการทอดยอด แต่ไม่แตกกิ่ง ลำต้นมีข้อสั้น ทำให้จำนวนของฝักต่อต้นสูง ใบมีสีเขียวเข้ม ฝักแบ่งเป็น 2 พู เกิดที่ซอกใบตรงข้ามกัน 1 ข้อลำต้น จะได้ 2 ฝัก เมล็ดมีสีดำสนิท 1,000 เมล็ด มีน้ำหนักประมาณ 3 กรัม หากในฤดูฝนจะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 85 วัน หากปลูกฤดูหนาวหรือฤดูแล้ง มีอายุการเก็บเกี่ยว ประมาณ 90 วัน ให้ผลผลิตไม่แน่นอน แต่ค่อนข้างสูง ในช่วง 60-148 กิโลกรัม/ไร่ เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นแข็งแรง และทนต่อโรคราแป้งได้ดี

4. งาดำ มข.2

งาดำ มข.2 เป็นพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพันธุ์ดั้งเดิม คือ งาดำ พันธุ์ ซีบี 80 ที่นำเข้ามาจากประเทศจีน มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงประมาณ 105-115 เซนติเมตร ลำต้นมีการแตกกิ่ง แต่แตกน้อย ประมาณ 3-4 กิ่ง/ต้น ฝักแบ่งออกเป็น 4 กลีบใหญ่ แต่ละกลีบแบ่งออกเป็น 2 พู รวมเป็น 8 พู เมล็ดสีดำสนิท 1,000 เมล็ด หนักประมาณ 2.77 กรัม มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพันธุ์อื่นๆ ประมาณ 70-75 วัน ให้ผลผลิตปานกลางถึงสูง ประมาณ 80-150 กิโลกรัม/ไร่ เป็นพันธุ์ที่ทนแล้ง และต้านทานต่อโรคเน่าดำได้ดี ปลูกในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ และมหาสารคาม

ลักษณะดินที่ปลูก

1. งาดำชอบเป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร

2. เป็นพื้นที่ดอนหรือสูง สามารถระบายน้ำได้สะดวกไม่มีน้ำขังแฉะ

3. ความเป็นกรด-ด่างของดิน ควรอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ไม่เป็นดินเปรี้ยวหรือดินเค็ม

4. ไม่เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกงาติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายๆ ปี เพราะจะทำให้งาเกิดโรคระบาดได้ง่าย

วิธีการปลูกงาดำในไทย

งาดำ นิยมปลูกด้วยกัน 2 แบบ คือ การหว่านเมล็ด และโรยเมล็ดเป็นแถว แบ่งช่วงปลูกออกเป็น 3 ช่วง คือ

  1. ช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
  2. ช่วงปลายฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม
  3. ช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

การเตรียมแปลงปลูก

งาดำสามารถปลูกได้ทุกฤดู โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีระบบชลประทานเข้าถึง ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทานมักปลูกในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ

พื้นที่แปลงปลูกจะต้องไถกลบดิน 1 รอบก่อน และตากดินนาน 7-10 วัน จากนั้น หว่านด้วยปุ๋ยคอก ประมาณ 1-2 ตัน/ไร่ ก่อนไถพรวนดินกลบอีกรอบ หรือหว่านปุ๋ยคอกตั้งแต่ตอนไถรอบแรก (ใช้สำหรับพื้นที่ไม่รกมาก) เพราะรอบต่อมาจะเป็นการหว่านเมล็ดได้เลย ส่วนการปลูกแบบหยอดเมล็ด ให้ไถร่องตื้นหรือใช้คราดดึงทำแนวร่องก่อน..

1. การปลูกแบบหว่าน

เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกงาด้วยวิธีนี้ โดยหลังจากเตรียมดินดีแล้ว จะใช้เมล็ดงาหว่านให้กระจายสม่ำเสมอ ในแปลงปลูก แล้วคราดกลบทันทีเพราะถ้ารอจนหน้าดินแห้ง หรือเมล็ดถูกแดดเผานานๆ เมล็ดงาจะตกมัน ทำให้ไม่งอกหรืองอกไม่สม่ำเสมอ

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่หว่านจะใช้ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพการเตรียมดินและความเคยชินของเกษตรกร ในการหว่านอาจใช้ทรายละเอียด ขี้เถ้า แกลบ หรือมูลสัตว์ ผสมในอัตรา 1:1 เพื่อช่วยให้เมล็ดงากระจายสม่ำเสมอมากขึ้น

ปัจจุบันมีการนำเครื่องปลูกงาแบบหว่านมาใช้ในเขตจังหวัดลพบุรี เป็นเครื่องปลูกที่ใช้ติดท้ายรถแทรกเตอร์ ตัวเครื่องประกอบด้วยผาน 4 ผาน ถ้าบรรจุเมล็ดพันธุ์และมีช่องปล่อยเมล็ดพันธุ์ให้งาออกตามอัตราที่กำหนดไว้ เมื่อเมล็ดงาตกลงพื้นดิน ผานทั้ง 4 ผานจะไถดินตาม ทำให้เมล็ดถูกกระจายออกและถูกดินกลบ ต้นงาที่งอกขึ้นมาจะกระจายตัวคล้าย ๆ กับการหว่าน เครื่องปลูกงา เมื่อพ่วงกับรถไถเดินตามขนาดเล็ก จะใช้เวลาปลูกประมาณ 20 นาทีต่อไร่ หากพ่วงกับรถไถขนาดใหญ่จะใช้เวลาเพียง 10 นาที ต่อไร่

2. การปลูกแบบโรยเป็นแถว
ในการทำร่องสำหรับโรยเมล็ด ส่วนใหญ่ใช้คราดกาแถว จะช่วยให้ทำแถวปลูกได้เร็วขึ้น ระยะแถวปลูก 50×10 เซนติเมตร หรือใช้เครื่องปลูกชนิด 4 แถว ระยะปลูก 30×10 เซนติเมตร หรือในแถวยาว 1 เมตร ให้มีต้นงา 10-20 ต้น หลังจากปลูกแล้ว 15-20 วัน ให้ทำการถอนแยกให้ได้ระยะต้นตามความต้องการ

อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกด้วยวิธีนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่าวิธีหว่าน เสียเวลาและแรงงานมากต้องกำจัดวิชพืชระหว่างแถวปลูก แต่จะสะดวกในการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การปลูกแบบเป็นแถวนี้จะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกด้วยวิธีหว่าน

การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยเคมีที่ใช้กับงา ในดินทรายหรือดินร่วนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับดินร่วนปนดินเหนียว ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ การใส่ปุ๋ยในโตรเจนควรใส่ขณะที่งาจะออกดอกในปริมาณที่ไม่มากเกินไปเพราะปุ๋ยในโตรเจนจะทำให้งาแก่ช้าและปริมาณน้ำมันในเมล็ดลดลง

วิธีการใส่ปุ๋ยเคมีให้แก่งา พิจารณาจากวิธีการปลูกดังนี้..

1. ปลูกแบบหว่าน ให้ใช้ปุ๋ยหว่านแล้วคราดกลบก่อนปลูก

2. ปลูกแบบโรยเป็นแถว ให้ใช้ 2 วิธี คือ

โดยใช้ปุ๋ยทั้งหมดโรยก้นร่องแถวปลูกก่อนปลูก
โดยแบ่งให้ 2 ครั้ง ครั้งละเท่า ๆ กัน

ครั้งแรก : โรยก้นร่องของแถวปลูกก่อนปลูก
ครั้งที่สอง : โรยข้างแถวปลูกเมื่องาอายุไม่เกิน 15 วัน หลังจากงอก

ควรมีการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือไถกลบปุ๋ยพืชสด ในดินในช่วงเตรียมดินก่อนปลูกงาจะทำให้ได้ผลผลิตสูง เพราะ งาตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ดีกว่าปุ๋ยเคมี

การดูแลรักษา

งาเป็นพืชที่ต้องการการดูแลรักษาน้อยกว่าพืชชนิดอื่นเพียงแต่เตรียมดินให้ถูกวิธีและเหมาะสม และปลูกงาให้งอกอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถจะให้ผลผลิตพอสมควรแล้ว

ส่วนใหญ่เกษตรกรที่ปลูกงาเมื่อหว่านเมล็ดงาแล้วก็ปล่อยทิ้งจนถึงเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม หากได้มีการปฏิบัติดูแลรักษาบ้างก็จะช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ควรจะเริ่มจากการปลูกงาเป็นแปลงใหญ่ ๆ ขนาด 3-5 เมตร ให้มีร่องระหว่างแปลงเพื่อจะได้ตรวจแปลงได้สะดวกเมื่อมีโรคและแมลงระบาดสามารถที่จะป้องกันกำจัดได้ง่ายและรวดเร็ว

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

งาดำ สามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดได้หลังการปลูกประมาณ 70-120 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสังเกตจากฝักที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลอมดำ ส่วนใบจะเริ่มสีเหลือง และบางพันธุ์มีการร่วงแล้ว ทั้งนี้ จะต้องเก็บฝักก่อนที่เปลือกฝักจะปริแตก (ในบางพันธุ์ที่ฝักปริแตกง่าย)


ประโยชน์ของงาดำ

1.งาดำนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมหรือแต่งหน้าขนมต่างๆ อาทิ ใช้โรยหน้าขนมปัง ผสมในทองม้วน นํ้าสลัดงาดำ คุกกี้งาดำ เป็นต้น

2. งาดำใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร อาทิ ใช้ผสมในนํ้าจิ้มลูกชิ้น และนํ้าจิ้มสุกี้ เป็นต้น

3. น้ำมันงาดำใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่ ใช้รับประทานเป็นอาหารเสริม หรือเป็นส่วนผสมของอาหารเสริม ทั้งรับประทานโดยตรงหรือในรูปของแคปซูล เป็นส่วนผสมผลิตเครื่องสำอาง อาทิ สบู่ ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด เป็นต้น

ชาวอินเดียใช้เมล็ดงาประกอบเป็นอาหารหรือผสมกับนํ้าตาลสำหรับปรุงรสอาหารที่เรียกว่า tikut laddu reori และ gajak และในประเพณีปีใหม่จะทำขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งสาลี จากนั้น ปั้นเป็นก้อนกลม แล้วทอด ก่อนนำมาคลุกกับเมล็ดงา เพื่อนำไปมอบให้ผู้ใหญ่ที่ตนเองนับถือ

ส่วนชาวญี่ปุ่นมีการใช้เมล็ดงาเป็นส่วนประกอบของอาหาร อาทิ ใช้เมล็ดงาหุงร่วมกับข้าว และถั่วแดง ซึ่งอาหารหรือขนมจากงานิยมใช้ในประเพณีสำคัญต่างๆ เช่น ในงานแต่งงานหรือการแสดงความยินดีหรือในพิธี schihan เป็นต้น

การสกัดนํ้ามันงาในอดีต เช่น การสกัดน้ำมันงาของชาวแอฟริกัน และอินเดีย ทำได้โดยนำเมล็ดงาไปตำในครกไม้ เมื่อละเอียดแล้วจะตักใส่ภาชนะ ก่อนนำน้ำร้อนที่ต้มจนเดือดเทใส่ ปล่อยทิ้งไว้สักพัก จนน้ำมันแยกออกจากน้ำ และลอยตัวอยู่ด้านบน ก่อนจะใช้ช้อนตักน้ำมันส่วนบนออก แล้วนำไปต้มแยกน้ำจนได้น้ำมันที่บริสุทธิ์แล้วจึงนำไปใช้

ปัจจุบัน การสกัดน้ำมันจากเมล็ดงานิยมใช้วิธีบีบสกัดด้วยเครื่องมือ เรียกว่า สกรูเพรส หรือ ไฮโดรลิกเพรส จนได้น้ำมันแยกออกจากเมล็ดงา ส่วนที่เหลือจากการบีบสกัดเป็นกากงาที่นำใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อ อาทิ ใช้ผสมในอาหารสัตว์

สรรพคุณของสารอาหารที่พบ

1. มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณตํ่า แต่มีวิตามินบีทุกชนิดสูง จึงนับได้ว่างามีวิตามินบีอยู่เกือบทุกชนิด จึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงระบบประสาท บำรุงสมอง บรรเทาอาการเหน็บชา แก้ร่างกายอ่อนเพลีย แก้อาการปวดเมื่อย และแก้การเบื่ออาหาร

2. มีสารเลซิติน ทำหน้าที่ช่วยลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ดี

3. สารเซซามินที่มีอยู่ในงา เป็นสารป้องกันมะเร็ง และช่วยชลอความแก่ของร่างกาย

4. เป็นอาหารที่มีแร่ธาตุมากที่สำคัญ คือ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส โดยปริมาณแคลเซียมที่พบจะมีมากกว่าพืชผักทั่วไปกว่า 40 เท่และฟอสฟอรัสมากกว่าพืชผักทั่วไปกว่า 20 เท่า ซึ่งเป็นธาตุที่ทำหน้าที่เสริมสร้างกระดูก โดยเฉพาะเด็กเล็ก และสตรีวัยหมดประจำเดือน

5. กรดไลโนเลอิคพบในเมล็ดงาจำนวนมาก เป็นกรดที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโต และช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง เพราะทำให้ผนังเซลล์ภายในภายนอกทำงานอย่างปกติ

6. กรดไขมันไลโนเลอิค และกรดไขมันชนิดโอเลอิค ช่วยในการลดระดับไขมันชนิดต่างๆในเส้นเลือด และช่วยป้องกันการเกิดเกล็ดเลือด และลิ่มเลือด

7. งามีปริมาณใยอาหารในปริมาณสูง ทำหน้าที่เสริมสร้าง และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทั้งการย่อย การดูดซึม และการขับถ่าย ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ยับยั้ง และดูดซึมสารพิษ พร้อมขับออกทางอุจจาระ ทำให้ป้องกันมะเร็งในลำไส้ และควบคุมระดับไขมันในเลือดได้

งาดำเป็นธัญพืชที่มีคุณประโยชน์หลายประการ การกินงาดำให้ได้ประโยชน์ ต้องใส่ใจในการเลือกงาดำ โดยเลือกงาดำที่สดใหม่ไม่ผ่านการคั่ว เนื่องจากการคั่วหรือการให้ความร้อนจะทำให้คุณค่าของงาดำลดลง และจะต้องเป็นงาดำไม่ผสมสารกันชื้น ซึ่งก็มีไอเดียการกินงาดำเพื่อสุขภาพดังนี้..

1. นำมากินกับอาหารอื่นๆ

การกินงาดำอาจนำเอามาใส่กับอาหารอย่างอื่น เช่น ใส่ในขนมปัง, โรยในจานข้าว หรือกินงาดำเปล่าๆ ซึ่งจะต้องเคี้ยวให้ละเอียด เพื่อให้เม็ดงาแตกออก ร่างกายจึงจะดูดซึมสารอาหารจากงาดำได้ดี สำหรับคนวัยทำงานควรกินงาดำวันละ 3-4 ช้อน และผู้สูงอายุควรกินงาดำวันละ 10 ช้อน ซึ่งเพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายต้องการ

2. ทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

งาดำ เมื่อนำมาทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จะให้แคลเซียมที่สูงกว่านมวัวถึง 6 เท่า และยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุสารอาหาร ที่ดีต่อร่างกายอีกมากมายเลยทีเดียว

การทำเครื่องดื่มงาดำก็ไม่ยาก โดยนำงาดำคั่ว 100 กรัม ปั่นรวมกับน้ำ 2 ถ้วย จากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำ นำน้ำงาดำที่ได้มาตั้งไฟอ่อนๆ จนเดือด ใส่น้ำตาลทรายแดงเพื่อเพิ่มรสชาติ คนให้ละลาย ยกลงจากเตาตั้งไว้ให้พออุ่น ก็พร้อมดื่มได้เลย ส่วนใครที่อยากดื่มแบบเย็นๆ ก็ใส่น้ำแข็งลงไปได้เหมือนกัน

3. ทำขนมเพื่อสุขภาพ

งาดำสามารถนำมาทำเป็นขนมได้อีกด้วย เช่น ขนมกล้วยงาดำ ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ และแร่ธาตุสารอาหารอย่างครบถ้วยจริงๆ

วิธีการทำ .. นำกล้วยมาผสมกับแป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย แป้งข้าวเหนียว 2 ช้อนโต๊ะ แป้งมัน 1 ช้อนโต๊ะ งาดำป่น 2 ช้อนชา น้ำกะทิ 1 ถ้วย น้ำตาลทรายแดง 3 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่น ½ ช้อนชา โดยล้างมือให้สะอาด แล้วขยำให้เข้ากัน เทใส่พิมพ์ นึ่งประมาณ 15 นาที ก็จะได้ขนมจากงาดำที่อร่อยและน่ากินสุดๆ

ข้อควรระวังในการรับประทานงาดำ

การกินงาดำแบบป่นดีต่อระบบย่อยอาหารที่สุด แต่งาแบบป่นมักจะเป็นเชื้อราได้ง่ายกว่างาชนิดอื่นๆ จึงจะต้องทำการเก็บรักษาดีๆ ต้องเก็บไว้ให้พ้นความชื้น อากาศ ความร้อนและแสงแดด เพราะเชื้อราทำให้เกิดอาการติดเชื้ออื่นๆ ได้ และควรหลีกเลี่ยงการซื้องาดำแบบที่บดสำเร็จแล้ว เพราะอาจมีเชื้อราหรือสิ่งสกปรกปนเปื้อน นอกจากนี้ตำราอายุรเวท ยังระบุด้วยว่า สตรีมีครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก ไม่ควรกินงาดำ เพราะงาดำมีฤทธิ์เป็นยาขับประจำเดือน อาจทำให้แท้งได้.

 

ที่มา https://www.pohchae.com/2022/03/16/sesamum-indicum

วิธีปลูกผักชี