ชมคลิปประวัติศาสตร์ของตำรับยาไทยจาก กัญชา (น.พ.สมนึก ศิริพานทอง)
ประวัติกัญชาไทย..กับการทำยา
บรรยายโดย นายแพทย์สมนึก ศิริพานทอง
กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย
เวทีเสวนาวิชาการ การใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์
“กัญชาหางกระรอกภูพาน” เป็นสายพันธุ์กัญชาไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งในคัมภีร์ตัวยาได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าจะนำกัญชามาทำยารักษามะเร็งต้องเป็น “พันธุ์หางกระรอกภูพาน” มีการปลูกที่เทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ..
ด้านหนองหานหลวงเป็นด้านทิศตะวันออก ไม่ใช่ฝั่งกาฬสินธุ์ คือด้านรับแดดเช้า ไม่ใช่กัญชารับแดดเย็นและจะให้ดีที่สุดต้องเป็นกัญชาที่มี 7 ใบ เรียกว่า “ใบเพสลาด” ซึ่งถือเป็นยา ทั้งนี้ต้นกัญชาที่มี 7 ใบ จะมีอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้นที่ติดภูพาน ซึ่งมี 3 อำเภอ
ทุกคนมักเข้าใจผิดในการใช้กัญชาแห้งมาทำเป็นยา เช่นพวกที่กำลังทำยากัญชาใต้ดินทั้งหลาย แท้จริงแล้วกัญชาแห้งเป็นกัญชาสูบ ในตำรับยาไทย 10 กว่าตำรับจะใช้ “กัญชาสด” ในการทำยา
..นี่คือเหตุผลว่าทำไมประเทศต่างๆ เช่น อิสราเอลเอากัญชาจากไทยไป 40 ปี อังกฤษเอาไป 20 กว่าปี สเปนเอาไป 20 ปี ทุกแห่งนำไปรักษามะเร็งไม่ได้ บอกแต่ว่าใช้เพื่อวิจัยเพราะว่าไม่ใช่กัญชาสดแต่เป็นกัญชาแห้ง
ในส่วนของประเทศไทย ถ้าจะใช้กัญชาทำยาต้องไม่ลงดิน ส่วนกัญชาสูบต้องลงดินและใส่ปุ๋ยขี้ไก่เพื่อให้กัญชามีกลิ่นหอม แต่สำหรับกัญชาใช้ทำเป็นยาจะใส่ไม่ได้เพราะจะเป็นสารพิษตกค้าง ..
และต้องปลูกกัญชาในถุง เมื่อปลูกในถุงเสร็จประมาณ 2 เดือนกว่าๆ รากจะแทงตัวออกมา และใช้รากกัญชานี้เพื่อนำไปทำเป็นยารักษาเด็กชื่อว่า “ยาไฟอาวุธ” เหตุที่ใช้รากกัญชาเพราะเด็กไม่ต้องการสารเมา เคลิบเคลิ้ม (THC)
เมื่อใช้รากทำยาจึงต้องปลูกกัญชาในถุง หลังจากนั้นสักระยะรอกัญชาเป็นดอกโต จนออกดอกเรียกว่า “ไส้ปลาช่อน” ซึ่งยังไม่ใช่ดอกแก่ โดยจะดูที่ต้นครึ่งล่างของกัญชาแล้วริดใบแก่ออกมา จากนั้นนำใบไปคั่วเหมือนชาอู่หลง และเอาไปทำยาชื่อว่า “ยาทัพยาธิคุณ” รักษาโรคเบาหวาน ..
กล่าวคือโรคเบาหวานไม่ใช้ดอกกัญชาแต่จะเป็นใบกัญชาแก่ครึ่งต้นล่าง
..จากนั้นปล่อยให้ดอกแทงหน่อพอดอกเป็นไส้ปลาช่อนก็จะเก็บดอกที่เป็นไส้ปลาช่อนไปทำยาชื่อว่า “ยาพรหมพักตร์น้อย” รักษาโรคเข้าเสื่อม และเมื่อดอกกัญชาแก่จะออกมาอีกอย่าง หางจะเป็นกระรอกจึงเรียกว่าพันธุ์หางกระรอก
..ถ้านำไปส่องดูเรซิน ถ้าหากตัวเรซินใสๆ หมายถึงไม่มีสารยาคือสาร THC แต่ถ้าขุ่นครึ่งหนึ่งให้เก็บทันที และเมื่อได้ดอกกัญชาแก่เต็มที่กับใบส่วนบน มักจะเอาไปปั่นเป็นน้ำสดๆ แบบพวกน้ำผลไม้ปั่น (juicer) แล้วนำน้ำกัญชาปั่นไปหุงกับน้ำมันงาจะได้เป็นยาที่มีบันทึกไว้ที่วัดโพธิ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ชื่อว่า “ยาสนั่นไตรภพ” ใช้รักษาโรคมะเร็งตับ
ในขณะเดียวกันทางสถาบันภูพานได้แจ้งว่ารากแก่ของกัญชาเมื่อนำไปดองเป็นยาดองเหล้า ดื่มไป 1 เป๊ก จะช่วยรักษา โรคเข่าเสื่อม โรคเก๊าต์ได้ แต่จะไม่ใช้เหล้าขาวในการดองราก เพราะเหล้าขาวในประเทศไทยดองยาไม่ได้เนื่องจากสกัดจากกากน้ำตาลหรือโมลาส (Molasses) ซึ่งในตำรายาบอกว่าต้องเป็นเหล้าใสกลั่นจากข้าวเหนียว ซึ่งในตอนนี้ในประเทศไทยแทบไม่มี ..
เพราะส่วนใหญ่เหล้าสกุลหงส์จะกลั่นจากกากน้ำตาลหมด น่าจะเป็นเหล้าแมวดำที่ใช้ได้อยู่ทางภาคเหนือซึ่งต้องไปหาดู กับเหล้าอีกแบบหนึ่งคือ เหล้าเมืองคงเซโดน แขวงสาละวัน (ประเทศลาว) ซึ่งยังคงเป็นเหล้ากลั่นจากข้าวเหนียว ทางสถาบันภูพานจึงใช้ตัวอย่างเหล้านั้นมาดองทำยา
กัญชาไทยมีทั้งหมด 18 จังหวัด แต่ถูกบันทึกทำเป็นยา 3 จังหวัด เพราะเคยนำกัญชาพันธุ์นี้ไปปลูกที่จังหวัดชุมพร กาญจนบุรีเพื่อทำยาแต่ไม่ได้ผล เปรียบเหมือนกับที่เราเอาข้าวหอมมะลิไปปลูกที่จังหวัดอยุธยาแล้วข้าวไม่มีกลิ่นหอม เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการดินและอากาศที่จำเพาะ ฉะนั้นแหล่งที่ปลูกกัญชาอธิบายได้ ดังนี้..
แหล่งแรกคือที่ภูพาน สกลนคร ซึ่งต้องเป็นภูพานด้านหนองหานหลวงด้านตะวันออกไม่ใช่ฝั่งกาฬสินธุ์ และระบุว่าต้องเป็นใบเพสลาด (มี 7ใบ) ในพื้นที่ที่ติดภูเขามี 3 อำเภอ คือ ภูพาน กุดบาก วาริชภูมิ ซึ่งจากข้อมูลนี้เคยมีฝรั่งมาฟังคำบรรยายแล้วไปหาซื้อเม็ดกัญชาที่ภูพานในราคาถึงเม็ดละ 200 บาท จากที่เมื่อก่อนขายเป็นกิโล กัญชานี้เข้าใจกันว่ารัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส ดังนั้นพื้นที่กัญชาภูพานจึงเป็นพื้นที่กัญชาถวายวังหลวงในสมัยก่อน
ส่วนเรื่องของกองเกวียนในสมัยก่อนที่เอาวัวควายมาจากที่ราบสูงสกลนคร ข้ามภูพานเพื่อเอาวัวควายไปขายที่กรุงเทพฯ ในการเดินทางผ่านสถานที่ต่างๆ ระหว่างข้ามดงพญาเย็นจะมีไข้ป่า ซึ่งในกองคาราวานจะต้องมีหมอประจำ โดยหมอจะมีกัญชาในกองเกวียนด้วย กัญชาเขาจะสูบกันเป็นบ้อง (สามารถไปดูได้ว่าบ้องกัญชาในสมัยก่อนเป็นอย่างไรได้จากภาพฝาผนังวัดพระแก้ว)
เพราะฉะนั้นเมื่อเขาสูบกัญชาเป็นบ้อง พอบ้องเสร็จกากกัญชาจะตกลงไปในน้ำก็จะเป็นน้ำอยู่ในบ้องกัญชา หมอยาจะกรองเอากากออกแล้วเก็บเอาน้ำสีเหลืองๆ ไว้เพื่อเป็นยารักษาไข้ป่า เวลาอยู่กลางป่าเมื่อเป็นไข้ป่า หมอยาจะเอายากัญชาให้กินเพื่อเป็นยาลดไข้ ดังนั้นกัญชาจึงถูกบันทึกเป็นยาในประวัติศาสตร์ไทยอย่างน้อยในสมัยของรัชกาลที่ 5 และมักจะเป็นยาจากกองเกวียน
จากประสบการณ์ผู้บรรยาย เข้าใจว่าในระหว่างที่รัชกาลที่ 5 ท่านเสด็จเพชรบุรีท่านทรงเอากัญชาพันธุ์หางกระรอกที่ภูพานไปพระราชทานให้ชาวเพชรบุรีปลูก จึงกลายเป็นพันธุ์กัญชากะเหรี่ยงชื่อ “พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดง” เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กัญชาได้มีไปปลูกอยู่ที่เพชรบุรีแล้ว และที่เพชรบุรีมีกะเหรี่ยงเอาไปปลูกที่แก่งกระจานซึ่งที่แก่งกระจานมีลักษณะเป็นหุบเขา..
..โดยปกตินั้นกัญชาพันธุ์หางกระรอกจะขึ้นอยู่บนภูเขาภูพาน แต่เมื่อมาขึ้นอยู่บนหุบเขาจะทำให้กัญชาได้รับแสงแดดช่วง 10 โมงเช้า (ไม่ได้โดนแดดทันที) และที่แก่งกระจานจะมีกลพิเศษคือช่วงเวลา 2 ทุ่มจะมีน้ำค้างตก กัญชาที่โดนแดด เวลา 10 โมงเช้าและน้ำค้างตกจะเป็นยารักษาโรคเบาหวาน ทั้งๆ ที่เป็นพันธุ์เดียวกัน
..ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นมีโรงเรียนการเมือง ทุกหัวเมืองจะต้องส่งคนไปเรียนที่หัวเมืองใต้นครศรีธรรมราช ซึ่งก็มีหมอยาคนหนึ่งชื่อหมื่นศรี มาเรียนการแพทย์และได้นำเอากัญชาพันธุ์นี้ไปปลูกที่ลานสกากับพรหมคีรี ทำให้เกิดกัญชาชื่อว่า “พันธุ์หมื่นศรี” เป็นยาอายุวัฒนะ ผู้ชายบริโภคกัญชาพันธุ์นี้จะเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ..
ขณะเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราโชบายให้คนไทยนับถือพุทธไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีคนไทยจากอีสานไปเป็นกำนันอยู่ที่นั่น จึงมีกัญชาชื่อว่า “พันธุ์ปัตตานี” สำหรับประเทศอินโดนีเซียนั้นเข้าใจว่ารัชกาลที่ 5 ในช่วงที่ทรงเสด็จไปปัตตาเวียได้นำกัญชาพันธุ์นี้ไปพระราชทาน เพราะคนอินโดนีเซียที่มาประชุมเมืองไทยบอกว่าภาษาอินโดนีเซียเรียกกัญชาว่า “หางกระรอก”
*จากข้อมูลประวัติศาสตร์ของกัญชาไทย จึงเข้าใจได้ว่าต้นกำเนิดกัญชาไทยนั้นอยู่ที่ “จังหวัดสกลนคร”
ที่มา https://www.pohchae.com/2022/06/23/cannabis-in-thailand/