ปลูกพืช » มาดูพันธุ์ทุเรียนของฟิลิปปินส์ที่ส่งออกในตลาดจีน

มาดูพันธุ์ทุเรียนของฟิลิปปินส์ที่ส่งออกในตลาดจีน

27 เมษายน 2023
284   0

มาดูพันธุ์ทุเรียนของฟิลิปปินส์ที่ส่งออกในตลาดจีน

Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป็นความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) มีสมาชิกคือ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2.3 พันล้าน (ร้อยละ 30.2 ของประชากรโลก) มีจีดีพีรวมกัน 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละ 33.6 ของจีดีพีโลก) มีมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละ 30.3 ของมูลค่าการค้าโลก)

RCEP เป็นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศสมาชิกมีความสะดวกขึ้น หลายท่านบอกว่า ไทยมีการเจรจา FTA กับประเทศ อาเซียนอยู่แล้ว แต่ FTA อาเซียนยังมีบางกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหว และอ่อนไหวสูง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ยังมีการเก็บภาษีระหว่างกัน สินค้าเหล่านี้จำนวนมากถูกปรับลดอัตราภาษีเหลือศูนย์ทันทีเมื่อมาเข้าร่วม RCEP บางรายการอาจจะได้รับการทยอยลดเป็นขั้นบันได..

RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2022 ฟิลิปปินส์เข้าร่วมเมื่อกุมภาพันธ์ 2022 เข้าร่วม RCEP เพียงปีกว่าๆ ฟิลิปปินส์ก็ส่งทุเรียนลอตแรกไปขายที่จีน โดยถึงแผ่นดินจีนเมื่อ 7 เมษายน 2023 ทุเรียนล็อตแรกจากฟิลิปปินส์มีน้ำหนักเพียง 18 ตัน ขนส่งเข้าจีนโดยเครื่องบิน ผ่านด่านศุลกากรจีนที่สนามบินหนานหนิง และถูกส่งไปยังบริษัทตัวแทนจำหน่ายของบริษัทจากไอร์แลนด์ที่มีชื่อว่า Dole Food Co Inc. ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่ในเซี่ยงไฮ้

กรมวิชาการเกษตรของฟิลิปปินส์ให้ข้อมูลว่า ฟิลิปปินส์สามารถส่งออกทุเรียนไปยังจีนได้ปีละกว่า 5.7 ล้านกิโลกรัม โดยบริษัทโดลคาดว่าจีนจะเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลกภายใน ค.ศ.2030 หลายท่านมองว่าทุเรียนฟิลิปปินส์ที่ส่งไปจีนมีมูลค่าเพียงเล็กน้อย ขอเรียนว่า

“..สมัยก่อนตอนที่ฟิลิปปินส์ส่งกล้วยและสับปะรดเข้าไปจีนแรกๆก็มีคนพูดอย่างนี้ แต่ฟิลิปปินส์ก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวน จนปัจจุบันจีนนำเข้ากล้วยและสับปะรดจากฟิลิปปินส์มากเป็นอันดับ 1 ..”

ร้อยละ 90 ของทุเรียนฟิลิปปินส์ปลูกบนเกาะมินดาเนา ที่เหลือก็ปลูกบนหมู่เกาะซูลู เริ่มมีคนปลูกที่เมืองลอสบันยอสในเกาะลูซอน ทุเรียนที่ปลูกในฟิลิปปินส์เป็นพันธุ์อะทาบรีน DES806 มีผลรูปทรงรี หนักประมาณ 2-4 กิโลกรัม เปลือกมีสีอ่อนปนเขียว รสหวานเหนียวติดขมเล็กน้อย นอกจากนั้นยังมีพันธุ์มาเมอร์ DES 916 มีขนาดเท่ากับทุเรียนอะทาบรีน แต่เปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อสีเหลือง พันธุ์ยูมาลีมาจากประเทศไทย พันธุ์ภูยัต พันธุ์อรัญซิลโล พันธุ์ดูยาย่า พันธุ์นานั่ม พันธุ์โอโบซา พันธุ์แล๊คสัน พันธุ์ก้านยาวซูลิต พันธุ์อัลคอนแฟนซี พันธุ์ชะนี และพันธุ์หมอนทอง..

ทุเรียนในโลกนี้มีมากมายหลายร้อยนับพันชนิด ทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ ทุเรียนที่กินไม่ได้ก็มีเยอะนะครับ ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผมเคยตามทีมงานเปิดเลนส์ส่องโลกไปถ่ายทำในป่า ทั้งของมาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา บรูไน ฯลฯ พบทุเรียนที่กินไม่ได้อยู่หลายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนป่า บางต้นสูงถึง 60 เมตร ป่าในไทยก็มีที่เราเรียกว่าทุเรียนนก เป็นทุเรียนที่มีเนื้อน้อย กินไม่ได้ เป็นอาหารของนกและค้างคาว เม็ดทุเรียนเหมือนกับเม็ดระกำ เมื่อทุเรียนแตกเนื้อจะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลปนชมพูอ่อนเป็นสีน้ำตาลไหม้

ในเมียนมามีทุเรียนนกที่ต้นใหญ่ กลิ่นฉุนรุนแรง ทุเรียนพวกนี้เก็บผลไม่ได้ครับ ต้องรอให้หล่นเอง เคยไปเจอทุเรียนบูรุง บุหรง และทุเรียนมีร่าห์ที่บรูไน เนื้อเป็นสีแดงสด แดงแบบสีแดงจัดเลย ป่าบ้านเราก็มีทุเรียนชาเรียนหรือทุเรียนเถื่อน กินไม่ได้ ดอกสีชมพู บางต้นมีดอกก็สีแดงสวยมาก..

ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้เกษตรกรไทยในแต่ละปีประมาณ 2 แสนล้านบาท เดิมมีการปลูกและการขายอย่างสะเปะสะปะ ไม่มีการควบคุมคุณภาพ พอมาในยุคนี้เริ่มเข้ารูปเข้ารอย ต้องขอชมกรมวิชาการเกษตรของไทยที่ทำงานกันอย่างละเอียด เพื่อให้ผลผลิตทุเรียน (และผลไม้อื่น) ของไทยมีคุณภาพในระดับพรีเมียม.

https://www.pohchae.com/2023/04/27/philippine-durian-varieties-chinese-market/
มาดูพันธุ์ทุเรียนของฟิลิปปินส์ที่ส่งขายในตลาดจีน
#พันธุ์ทุเรียน  #ฟิลิปปินส์  #ส่งขาย   #ตลาดจีน

รวมเคล็ดลับการปลูกทุเรียนอย่างไรให้ได้ผล (1)