บ้าน&สวนประดับ » คลิป+เทคนิคการปลูก..เยอร์บีราแสนสวย

คลิป+เทคนิคการปลูก..เยอร์บีราแสนสวย

16 มีนาคม 2018
2529   0

 

https://goo.gl/jGBmBY

https://goo.gl/ugFqfL

เยอร์บีรา
Common name : African Daisy , Transvaal Daisy

Scientific name : Gerbera spp.

Family : Compositae

..ลักษณะดอกของเยอร์บีราคล้ายกับดอกเดซี่ ส่วนการที่ได้รับชื่อเยอร์บีรานั้น เพื่อให้เป็นเกียรติกับนาย Trangott Gerber นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน..

ดอกเยอร์บีร่า พันธุ์และการปลูก

เยอร์บีราเป็นไม้ดอกอีกชนิดหนึ่งที่นิยมปลูก เป็นไม้ตัดดอกขาย ดอกมีหลายสี เช่น สีแดง ส้ม เหลือง ชมพู ครีม ขาว และสีปูนแห้ง เป็นต้น มีก้านดอกยาว ปลูกง่าย ให้ดอกตลอดปี ขยายพันธุ์ได้ง่าย

เยอร์บีรามีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ มีอยู่ประมาณ 40 ชนิด (species) แต่ที่นิยมและรู้จักแพร่หลายมีเพียงไม่กี่ชนิด เช่น Gerbera Jame- sonii, Gerbera veridijolia และ Gerbera aurantirca

ลักษณะโดยทั่วไปของเยอร์บีรา เป็นพวก stemless เป็นไม้ประเภทที่มีอายุนานกว่าหนึ่งปี (perennial herbs) ขึ้นเป็นกอ ใบงอกจากตาใต้ดิน มีสีเขียวแก่ปรกเป็นพุ่ม ขอบใบเป็นแฉก (lobe) ไม่เท่ากัน บางแฉกก็แคบและตื้น แผ่นใบไม่คลี่กางแต่มีที่ขอบใบทั้งสองข้าง มักจะโค้งงอเข้าหากลางใบเล็กน้อย ทำให้ใบมีลักษณะคล้ายร่องน้ำใต้ใบและก้านใบมีขนบาง ๆ ละเอียดอยู่ทั่วไป..

เยอบีร่าเป็นไม้ดอกที่มีลักษณะต้นเป็นกอเตี้ย มีลำต้นใต้ดิน ใบมีสีเขียวเข้มปรกเป็นพุ่ม ขอบใบหยักเป็นแฉกไม่เท่ากัน และหุบเข้าหาเส้นกลางใบเล็กน้อย และมีขนบาง ๆ อยู่ตามใต้ใบและท้องใบ ส่วนดอกเยอบีร่าประกอบด้วยดอกย่อยเล็ก ๆ เป็นจำนวนมากอัดแน่นอยู่บนฐานรองดอก ดอกย่อยมี 2 ประเภทคือ ดอกย่อยชั้นนนอก (Ray floret) และดอกย่อยชั้นใน (Disk floret) โดยดอกย่อยชั้นนอกเป็นดอกตัวเมีย เรียงอยู่รอบนอก ดอกย่อยชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีขนาดเล็กและสั้นจำนวนมากเรียงกันแน่นอยู่บริเวณใจกลางของช่อดอก

ประเภทของเยอบีร่า แยกตามสายพันธุ์แบ่งออกได้ 3 สายพันธุ์ ดังนี้
1. สายพันธุ์ไทย : ลักษณะดอกมีกลีบดอกซ้อนหนามากอย่างเป็นระเบียบ ดอกย่อยชั้นในจะอยู่แน่นตรงใจกลางดอก และความยาวลดหลั่นออกมาสัมพันธ์กับดอกย่อยชั้นนอก

2. สายพันธุ์อเมริกา : เป็นเยอบีร่าประเภทที่มีกลีบดอกชั้นเดียว กลีบดอกย่อยชั้นนอกเรียวยาวและค่อนข้างบาง

3. สายพันธุ์ยุโรป : มีลักษณะกลีบดอกหนา กลีบกว้าง ปลายกลีบมน มีกลีบซ้อน 2-3 ชั้น ก้านดอกตรงเป็นที่นิยมของตลาดปัจจุบัน

 

พันธุ์เยอบีร่าที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไทย ได้แก่

กลุ่มดอกสีเขาว : พันธุ์ขาวครีม ขาวจักรยาว ขาวจักรสั้น

กลุ่มดอกสีแดง : พันธุ์แดงลักแทง แดงตาเปิ่น แดงใหญ่ และหมื่นหาญ

กลุ่มดอกสีเหลือง : พันธุ์เหลืองถ่อ เหลืองพังสี สีดา และนวลละออ

กลุ่มดอกสีส้ม : พันธุ์สุรเสน สีอิฐ จำปา กุมารทอง และสร้อยฟ้า

กลุ่มดอกสีชมพู : พันธุ์ลูกรัก บัวหลวง และมณฑา

นอกจากนี้ได้มีการนำสายพันธุ์ยุโรปเข้ามาปลูกกันมากขึ้น เนื่องจากได้ราคาดี ซึ่งได้แก่..

กลุ่มดอกสีแดงและแดงอมส้ม : Lea, Veronia, Tennessee, Ximena และ Clepatra

กลุ่มดอกสีชมพู : Beatrix, Estelle และ Claudia

กลุ่มดอกสีชมพูม่วง : Terra Parade, Royal, Nova และ Pamela

กลุ่มสีเหลือง : Teroformosa, Horizon, Easter star และ Terra sun

กลุ่มสีขาวครีม : Celphi, Terra Mint, Bahama และ Terra Nevelis

กลุ่มสีส้ม-เหลือง : Terra Mexico และ Clementine

กลุ่มสองสี (Bicolor) : Starlight และ Terra Mix

 

 

 

ดอกของเยอร์บีรา งอกออกจากตาตรงส่วนของลำต้น มีก้านดอกเรียวกลม ส่งและชูดอกขึ้นไปอยู่เหนือกอ ทำให้เห็นดอกเด่น และดูสวยขึ้น ความยาวของก้านดอกประมาณ 20-70 ซม. ดอกเยอร์บีรามีลักษณะเป็น head ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ (ligulate) มากมาย แต่ละดอกจะมีเกสรตัวเมีย (stigma) อันหนึ่ง มีลักษณะเป็นเส้นตรงเล็กมาก ยาวประมาณ 0.5-0.8 ซม. ตอนปลายนเป็น 2 แฉก สีของเกสรตัวเมียนี้ มีสีเดียวกับกลีบดอกแต่สีอ่อนกว่า สำหรับเกสรตัวผู้นั้นอยู่บริเวณกลางของดอก ส่วนมากมีสีเขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อน ตอนปลาย มีตลับเกสร (anther) ซึ่งภายในตลับจะมีละอองเกสร (pollen grain) อยู่เป็นจำนวนมาก

เยอร์บีราเป็นไม้ดอกที่ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกอีกชนิดหนึ่ง แม้ว่าราคาซื้อขายค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับดอกไม้ชนิดอื่น แต่มีผู้นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกขายกันมาก โดยเฉพาะในท้องที่อำเภอบางกรวย และอำเภอตลิ่งชัน มีการปลูกผักสลับเบญจมาศ เยอร์บีรา เป็นเนื้อที่กว่า 2,000ไร่ และเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละไม่น้อยกว่า 200 ไร่ ที่นิยมปลูกกันมาก แม้ว่าจะขายได้ราคาต่อดอกต่ำนั้นอาจเป็นเพราะว่า..

1. เยอร์บีราเป็นไม้ดอกที่เรารู้จักมักคุ้นมา เป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว แม้ว่าจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ถึงแอฟริกาใต้ก็ตาม เมื่อมีความคุ้นเคยแล้ว จึงไม่เป็นการยากในการปลูกปฎิบัติและรักษา

2. ต้นทุนการผลิตต่ำ เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาน้อยมาก

3. ให้ผลผลิตต่อไร่สูงมาก เมื่อเทียบกับดอกไม้ชนิดอื่น แม้ว่าราคาขายต่อดอกถูกมาก แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือเป็นกำไรทั้งรายได้ไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่นเลย ให้ผลผลิตประมาณ 36 ดอก ต่อต้น ต่อหนึ่งฤดูปลูก (6 เดือน)

4. เมื่อลงทุนปลูกไปแล้วแต่ละครั้ง ต้นจะอยู่ให้เก็บเกี่ยวดอกไปได้นานกว่าไม้ดอกชนิดอื่นบางชนิด

5. มีให้เลือกปลูกหลายสีหลายพันธุ์ ตามความนิยมของทั้งผู้ปลูกและผู้ซื้อ อีกทั้งยังสามารถคัดเลือกให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นอีกด้วย

6. ความต้องการของตลาด ค่อนข้างจะสม่ำเสมอตลอดปี (หมายถึงตลาดภายในประเทศ) ทั้งนี้เนื่องจากราคาถูก ชนทุกชั้นทุกประเภท สามารถซื้อได้

7. สามารถปลูก และให้ดอกได้ตลอดปี ทำให้เป็นผลดีกับผู้ปลูกในแง่ที่ว่าจะปลูกในฤดูไหนก็ได้ที่สะดวกที่สุด และจะทำให้ได้ผลผลิตมากที่สุด อีกทั้งต้นทุนในการเตรียมดินและต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด

ดังได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าการปลูกเยอร์บีราเป็นการค้าในเมืองไทยนั้น ไม่เป็นของยากเลย อีกทั้งไม่ค่อยมีปัญหามากมายนัก สามารถผลิตได้ตลอดปีในปริมาณที่ไม่จำกัด แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ เห็นจะได้แก่ราคาที่ค่อนข้างต่ำ ความนิยมใช้ในการจัดกระเช้าหรือใช้ในเทศกาลสำคัญ ๆ มีน้อยมาก ทั้งนี้อาจจะมีสาเหตุหลายประการด้วยกันคือ

1. เนื่องจากเรารู้จักดอกเยอร์บีรามาตั้งแต่เกิดแล้ว จึงทำให้ไม่เห็นเป็นของแปลก ความนิยมจึงเสื่อมไป คนเรามักจะนิยมของแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ ไม่เห่อเหิมใช้แต่ของแปลกของใหม่อยู่ร่ำไป โดยหันมาใช้ดอกเยอร์บีราซี่งมีความสวยงามและสีสันไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่นเลย ก็คงจะช่วยทำให้กิจการค้าดอกเยอร์บีราก้าวไกลออกไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ปลูกจะต้องปรับปรุงเยอร์บีราให้มีคุณภาพดีขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพื่อที่จะเขยิบฐานะความเป็นอยู่ของตัวเองจากดอกไม้หน้าพระไปเป็นดอกไม้ตามร้าน

2. ไม่มีการปรับปรุงคุณภาพของดอกเยอร์บีราให้ดีขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะตลาดของเยอร์บีราอยู่แค่ปากคลองตลาด และตลาดสดทั่วไปเท่านั้น ราคาจึงต่ำกว่าดอกไม้ที่ส่งขายตามร้าน ถ้ามีการปรับปรุงคุณภาพของดอกให้ได้มาตรฐานสากลแล้ว เราก็อาจจะส่ง ไปขายตลาดต่างประเทศได้ ในขณะนี้ในวงการค้าไม้ดอกของเรามีข่าวดีว่า เราคงจะส่งไม้ดอกไปขายต่างประเทศได้ ถ้าคุณภาพถึงระดับมาตรฐาน โดยเฉพาะดอกเยอร์บีรา มาตรฐานที่แน่นอนของเยอร์บีรานั้น คงไม่พ้นจากขนาดดอกใหญ่สีสดใส ก้านดอกยาว แข็งแรง และตรง ซึ่งไม่เป็นการยากเกินสำหรับคนไทย และสภาพดิน ฟ้าอากาศในเมืองไทยเลย

การขยายพันธุ์

เท่าที่นิยมและปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้มี 2 วิธี คือ

1. การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด วิธีนี้นิยมทำกันมากในต่างประเทศ โดยการซื้อเมล็ดจากบริษัทผู้ผลิตเมล็ด แล้วนำไปเพาะในกระบะ เช่นเดียวกับไม้ดอกอื่น ๆ วัตถุที่ใช้เพาะ ใช้ทรายสะอาดผสมกับขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 1: 1 เมื่อต้นกล้าโตพอสมควรแล้ว จึงย้ายปลูกต่อไป ส่วนในเมืองไทยไม่นิยมการขยายพันธุ์วิธีนี้ เพราะช้าและเสียเวลา ส่วนมากจะใช้ขยายพันธุ์ เมื่อได้เมล็ดที่เกิดจากการขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ ใหม่ ๆ เท่านั้น


2. การขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ วิธีนี้นิยม ใช้กันอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวสวนที่ทำเยอร์บีราเป็นไม้ตัดดอกการค้า เพราะทำได้ง่าย ไม่เลือกฤดูกาล เยอร์บีราเจริญเติบโตเร็ว ให้ดอกเร็ว คือหลังจากย้ายปลูกเพียง 2 เดือนก็ให้ดอก และ ให้ดอกติดต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อกอแน่นก็ย้ายหน่อไปปลูกต่อไปอีก

การแยกหน่อควรขุดต้นเยอร์บีราขึ้นมาทั้งกอ ล้างดินออกให้หมด ใช้มือหรือมีดเล็ก ๆ แบ่งแยกกอให้ได้ขนาดตามต้องการ กอหนึ่ง ๆ อาจจะ มี 3-5 ต้นก็ได้ นำกอที่แยกออกไปปลูกก่อนปลูกควรตัดแต่งรากเสียใหม่ พร้อมทั้งตัดปลายใบดอกบ้าง เพื่อช่วยลดการระเหยของน้ำ ระยะปลูกประมาณ 40 X 40 ซม. ใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมแปลง เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน ทำให้ต้นเยอร์บีราตั้งตัวได้เร็วขึ้น ดินที่ใช้ปลูกควรจะมีความเป็นด่างเล็กน้อย คือประมาณ 7.5

แนวทางการปรับปรุงคุณภาพของดอกเยอร์บีรา

1. เลือกปลูกเฉพาะพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นจริงๆเท่านั้น เนื่องจากเยอร์บีรามีมากมายหลายพันธุ์ จนแทบจะนับไม่ถ้วน ทั้งนี้เนื่องจากมีการผสมพันธุ์เยอร์บีราอย่างกว้างขวาง ทำให้ได้พันธุ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งชื่อขึ้นเองตามสะดวกอีกด้วย พันธุ์ต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าจะมีการรวบรวมศึกษา ก็คงจะรวบรวมได้ไม่ครบ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรจะคัดเลือกเฉพาะพันธุ์ที่ดีเด่นจริง ๆ เท่านั้นมาปลูก โดยอาคัยหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ดังนี้

ก. ดอกมีขนาดใหญ่ สีสดใส สีไม่ตกและ ไม่ซีด เมื่อบานไปนาน ๆ

ข. กลีบดอกใหญ่หนา การจัดเรียงของกลีบ ดอกเป็นไปอย่างมีระเบียบ

ค. หน้าดอกไม่ยุ่ง หรือมีปุยฝอย ๆ (เกสร ตัวผู้) ยาวเกินไปจนดูรกรุงรังไม่สวย

ง. ก้านดอกยาวตรงอวบ และแข็งแรง

จ. เมื่อดอกบานเต็มที่ กลีบดอกไม่แอ่นไปทางข้างหลัง

นอกจากคัดเลือกพันธุ์ที่ให้คุณภาพของดอกดีแล้ว เรายังพยายามคัดพันธุ์ที่มีลักษณะของต้นดีด้วย ต้นที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

1. มีการเจริญเติบโตดี

2. มีความต้านทานโรคและแมลงดี

3. ให้ดอกดก

4. ไม่หวงหน่อ

ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 9 ข้อที่ว่ามานี้ คงจะช่วย ให้เราคัดเลือกได้พันธุ์ที่ดีเด่นมีคุณสมบัติครบถ้วนเพียงไม่กี่พันธุ์ อย่างไรก็ตามควรจะเลือกปลูกให้ครบทุกสี พันธุ์เยอร์บีราบางพันธุ์อาจจะเหมาะสมกับเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อต่างท้องถิ่นออกไป ควรจะคัดเลือกพันธุ์ที่ ใช้ปลูกของตัวเอง เพื่อให้การปลูกเยอร์บีราเป็นการค้าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย

2. มีโปรแกรมการใส่ปุ๋ยที่แน่นอน และปุ๋ยที่ใช้ควรจะมีสูตรที่เหมาะสมตรงกับความต้องการในระยะต่าง ๆ ของการเจริญเติบโต หลังจากปลูกแล้ว รอให้ต้นเจริญเติบโตเต็มที่ และจึงจะเริ่มให้ปุ๋ย (ผิดกับไม้อื่นอยู่บ้าง) กะประมาณ 30-40 วันหลังจากแยกหน่อ ถ้าให้ปุ๋ยในครั้งแรกเร็วเกินไปจะทำให้ใบไหม้ ดังนั้นและชะงักการเจริญเติบโต จากนี้แล้วก็ให้ปุยผสมไปทุก 2 อาทิตย์ อัตราส่วนของปุ๋ยควรจะเป็น 1:1:1 เช่น 14:14:14 เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเยอร์บีรา จะให้ดอกไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการเจริญเติบโตของต้น ความต้องการของธาตุอาหารจึงพอ ๆ กัน

3. ไม่ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว เท่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์ ในกรุงเทพฯหายากมาก โดยมากเรามักจะใส่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว ควรจะใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ใส่ลงไปในดินทุกครั้งเมื่อเตรียมแปลงปลูกใหม่ ไม้ดอกแทบทุกชนิดมีความต้องการอินทรีย์วัตถุประมาณ ¼ -1/3 ของปริมาตรดิน

4. มีโปรแกรมการฉีดยาป้องกันโรคและแมลง ไว้ล่วงหน้าเป็นประจำอาทิตย์ละครั้ง เพื่อป้องกันแมลงที่จะมารบกวนกัดกิน วางไข่ตลอดจนนำเชื้อโรคมาสู่ต้นเยอร์บีรา เมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วจะทำให้ยากแก่การรักษา เพราะเราไม่สามารถมองเห็นเชื้อโรคได้ด้วยตาเปล่า การวินิจฉัยโรคจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจเช็คเป็นที่แน่นอน โดยนักวิชาการซึ่งทำให้ช้าและสายเกินกว่าจะแก้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะฉีดยาครอบจักรวาลป้องกันไว้ก่อน แต่ถ้ายังเกิดโรคขึ้นอีกก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ โรคและแมลงที่เกิดขึ้นภายหลังการป้องกันนี้จะมีไม่มากนัก ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่รุนแรงอะไร เมื่อเกิดโรคขึ้นควรจะเผาหรือทำลายต้นพืชเสียก่อนที่จะลุกลามต่อไป

5. ควรทำความสะอาดพุ่มต้นหรือกอเยอร์บีราให้โปร่ง และสะอาดอยู่เสมอ การทำความสะอาดพุ่ม ต้องทำโดยการเด็ดหรือถอนใบ้แก่ ๆ และเหี่ยวแห้งทิ้งไป ไม่ปล่อยให้เหี่ยวแห้งและร่วงหล่นคาต้น เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแมลง ยิ่งในฤดูฝนควรจะแต่งกอให้โปร่งมาก ๆ เพราะในช่วงฤดูนี้เยอร์บีรามีการแตกกอเร็ว ถ้าปล่อยให้กอทับแน่นมากเกินไป แสงแดด จะส่องไม่ถึงโคนต้น จะทำให้ดอกเยอร์บีราตลอดจนโคนต้นเน่า และอาจจะเน่าตายไปทั้งกอก็ได้

6. อย่าปล่อยให้เยอร์บีราแตกกอจนพุ่มแน่นจนเกินไป เพราะถ้ากอแน่นหรือมีขนาดกอใหญ่ เกินไป จะทำให้จำนวนดอกน้อยลงไปเรื่อย ๆ คุณภาพของดอกที่ได้ก็จะเลวลง ฉะนั้นเพื่อที่จะให้เยอร์บีรามีดอกดก คุณภาพดอกดี เราควรจะรีบแบ่งแยกกอนำไปปลูกในแปลงใหม่ต่อ ๆ ไป

7. ควรจะมีการรื้อแปลง แล้วแยกกอ นำเอาต้นไปปลูกในแปลงใหม่ต่อไป เมื่อแยกกอเยอร์บีรามาปลูก หลังจากปลูกประมาณ 2 เดือน ก็จะเริ่มให้ดอก พร้อมกันนั้นเยอร์บีราก็แตกกอตามมาเรื่อย ๆ เมื่อกอแน่นหรือเป็นพุ่มใหญ่ประมาณ หลังจากปลูกแล้ว 6-8 เดือน เราควรจะได้รื้อแปลงปลูกเสียใหม่ นำเอากอที่แยกได้จากกอเดิมไปปลูกในแปลงใหม่ที่เตรียมไว้ แปลงปลูกเก่าควรจะใช้ปลูกพืชชนิดอื่น

8. การปลูกใหม่แต่ละครั้ง ไม่ควรจะปลูกซ้ำแปลงเดิม ควรจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับพืชอื่น เพื่อที่จะได้ให้เป็นที่สะสมของโรค และแมลง เท่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านมักจะปลูกเยอร์บีราแต่ละครั้งให้คุ้มไปประมาณ 1 ปี แล้วจึงรอแปลงปลูกใหม่ การปลูกพืชในแปลงทิ้งไว้เป็นเวลานานนับปีนั้น มีผลเสียหายหลายประการ เช่น ดินจะแน่น เหนียว การถ่ายเทอากาศไม่ดี โรคและแมลงสะสมไว้มาก ดังนั้น แม้ว่าเยอร์บีราจะมีชีวิตยืนยาวกว่าไม้ดอกชนิด อื่น ๆ ก็ตาม เราไม่ควรจะปล่อยไว้ในที่เดิมนานเกินไป ควรจะหาทางขยับขยายไปแปลงใหม่ โดยการแยกกอไปปลูก ไม่ควรปลูกในแปลงเดิม แม้ว่าจะได้เตรียมดินใหม่ก็ตาม มีชาวสวนบางคนทำเช่นที่ว่ามานี้ ทำให้เกิดปัญหามาก ที่เห็นได้ชัดก็คือ ไส้เดือนฝอย ชาวสวนในท้องถิ่นอำเภอ บางกรวย และอำเภอตลิ่งชัน เริ่มจะมีปัญหาเกี่ยวกับไส้เดือนฝอยในแปลงปลูกเยอร์บีราแล้ว ถ้าไม่มีการปรับปรุงวิธีการเสียใหม่โดยการปลูกพืชหมุนเวียน ต่อไปจะไม่สามารถปลูกเยอร์บีราได้เลย

9. ควรตรวจเช็คความเป็นกรดเป็นด่างของดินทุกครั้งก่อนปลูกเยอร์บีรา ทั้งนี้เพราะเรามีการปลูกเยอรบีราสลับไปกับการปลูกพืชผักและไม้ดอกชนิดอื่น ๆ ซึ่งไม้ดอกส่วนมากมีความต้องการ pH ของดินประมาณ 6-7.0 แต่สำหรับเยอร์บีรานั้นต้องการดินเป็นด่างเล็กน้อย คือมี pH ประมาณ 7.5 เยอร์บีราจะชะงักการเจริญเติบโตในดินที่เป็นกรดมากไป เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องปรับ pH ของดินให้ได้ตามความต้องการของเยอร์บีรา การตรวจเช็คดินทุกครั้งก่อนปลูกเยอร์บีราอาจจะเป็นการยากเกินไปและไม่สะดวกสำหรับชาวสวน แต่ว่าผลผลิตที่ได้ก็คุ้มค่า บริการตรวจเช็คดินที่ทางกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ มีบริการอันนี้ไว้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เขาจะแนะนำวิธีการเก็บตัวอย่างดิน ตลอดจนการปรับปรุงดินให้ได้ตามความต้องการให้ ชาวสวนจึงควรจะได้ใช้บริการอันนี้ ให้เป็นประโยชน์

10. ควรมีการพรางแสงให้เยอร์บีราตามสมควร การพรางแสงจะช่วยให้ก้านดอกเยอร์บีรายาวขึ้น สีของดอกสดใส แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่ปรากฎว่ามีชาวสวนพรางแสงให้เยอร์บีรา ทั้งนี้อาจจะ เป็นเหตุผลอันเดิมที่ว่าราคาดอกต่ำเหลือเกิน ไม่ว่าก้านจะสั้นหรือยาวแค่ไหนก็ขายได้ราคาเดิม จึงไม่มีใครคิดที่จะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามถ้ามองเห็นแนวทางที่จะส่ง ดอกเยอร์บีราออกไปขายในตลาดยุโรป เราก็ควรจะปรับปรุงคุณภาพของดอก และความยาวของก้านให้ดีขึ้น ราคาที่ได้ก็จะติดตามมา การพรางแสงจะทำเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คือเริ่มพรางตั้งแต่ดอกเยอร์บีราเริ่มจะบาน (พอมองเห็นสีของดอก) ไปจนเก็บเกี่ยววัสดุที่ใช้คลุม อาจจะเป็นพลาสติคใส ไม้ไผ่สานทางมะพร้าว หรือไม้ระแนง แล้วแต่สะดวก แม้ว่าจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปบ้าง แต่ผลที่ได้ก็คุ้มค่า.

 


วิธีการปลูกเลี้ยงเยอบีร่ายุโรป

1. สภาพที่เหมาะสมในการปลูกเยอบีร่ายุโรป

1.1 ลักษณะดินที่เหมาะสม เยอบีร่าเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิดที่เป็นดินร่วน ดินทราย ที่ร่วนซุยอากาศถ่ายเทดี มีความชื้นในดินสม่ำเสมอ มีการระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุสูง แต่เยอบีร่าไม่ชอบดินเหนียว ที่ระบายน้ำไม่ดี หรือที่ลุ่มมีน้ำขังโดยเฉพาะฤดูฝน ดินควรมี pH 5.5-6.5 ถ้า pH ต่ำกว่า 5.5 ควรใช้ปูนขาวแก้ไข แต่ถ้า pH สูงกว่า 7  ต้นเยอบีร่าจะแสดงอาการขาดธาตุอาหาร ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์

1.2 อุณหภูมิิ สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของเยอบีร่า คืออุณหภูมิกลางคืน 15-17 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิกลางวัน 21-25 องศาเซลเซียส

1.3 แสง เยอบีร่าต้องการเจริญเติบโตในที่มีแสงมีความเข้มประมาณ 40,000 ลักข์ จึงควรปลูกใต้ สะแลนพรางแสง ร้อยละ 50

1.4 ความชื้น ความชื้นสัมพันธ์ที่เหมาะสมของเยอบีร่า คือร้อยละ 80 ในฤดูฝน จึงควรปลูกภายในโรงเรือน พลาสติก เพื่อให้ได้ดอกดีมีคุณภาพและปราศจากโรค

 

2. การเตรียมพื้นที่ปลูกเยอบีร่า

2.1 โรงเรือน การสร้างโรงเรือนพลาสติกเหมาะสำหรับการปลูกเยอบีร่าในที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น แต่ถ้านำมาใช้ในเขตร้อน อุณหภูมิในโรงเรือนจะสูงมาก จึงควรสร้างโรงเรือนในที่โล่งจะได้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
โรงเรือนแต่ละหลังไม่ควรมีพื้นที่เกินหลังละ 1 ไร่ และควรอยู่ห่างกันไม่ต่ำกว่า 5 เมตร การปลูกเยอบีร่า ในโรงเรือนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันการระบาดของโรคและแมลง อีกทั้งป้องกันความเสียหายจากน้ำฝนใน ฤดูฝน ซึ่งเยอบีร่าจะเป็นโรคใบจุดน้อยกว่าปลูกกลางแจ้ง และป้องกันความเสียหายของดอกเนื่องจากดินกระแทก และโรคราที่เกิดบริเวณดอก รวมทั้งโรครากเน่าที่เกิดจากผิวดินชื้นแฉะมาก ส่วนในฤดูร้อนต้อนเยอบีร่าในโรงเรือน เจริญเติบโตได้ดีกว่าปลูกกลางแจ้ง เพราะปลูกกลางแจ้งทำให้ใบเหี่ยวและดอกคอพับ นอกจากนั้นโรงเรียนยัง สามารถป้องกันแมลงและผีเสื้อกลางคืนได้ดี มีผลต่อการลดการใช้สารเคมีลงได้มาก

2.2 แปลงปลูกและวัสดุปลูก ในการปลูกเยอบีร่า ควรยกแปลงสูงจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 65-75 เซนติเมตร และมีความยาวเต็มพื้นที่ และให้มีพื้นที่เป็นทางเดินกว้าง 50 เซนติเมตร โดยใช้วัสดุ ปลูกดังนี้คือ

– ขุยมะพร้าว 3 ส่วน
– แกลบดำ-แกลบดิบ 2 ส่วน
– ดินดำ 2 ส่วน
– ทรายหยาบ 1 ส่วน
– ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน

ส่วนอาหารเสริมมีดังต่อไปนี้

– แคลเซียมคาร์บอเนต 500 กรัม/ลบ.เมตร
– แคลเซียมซัลเฟต 100 กรัม/ลบ.เมตร
– เฟอรัลซัลเฟต 500 กรัม/ลบ.เมตร
– คอปเปอร์ซัลเฟต 10 กรัม/ลบ.เมตร
– ซิงค์ซัลเฟต 10 กรัม/ลบ.เมตร

2.3 การปลูก ระยะปลูกเยอบีร่าให้ปลูกแปลงละ 2 แถว ระยะระหว่างแถว 30-40 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 30-35 เซนติเมตร และควรปลูกแบบสลับฟันปลา การปลูกควรให้ต้นอยู่ระดับผิวดินหรือเหนือดินเล็กน้อย ไม่ควรปลูกลึก และอย่าให้วัสดุปลูกกลบยอด เพราะจะทำให้ต้นเน่าตายได้

.

3. การขยายพันธุ์เยอบีร่า

3.1 การเพาะเมล็ด การใช้วิธีเพาะเมล็ดเยอบีร่าส่วนใหญ่ ใช้เพื่อการคัดเลือกพันธุ์ใหม่ ๆ หรือปลูก เป็นไม้กระถางเพื่อการค้า เพราะวิธีนี้ต้องเพาะเยอบีร่าเป็น 100 ต้น จึงจะได้ต้นที่มีสีและดอกคล้ายกัน 100 ต้น ทั้งลูกผสม F1 hybrid ก็ยังไม่มีพันธุ์จำหน่ายแพร่หลาย การเพาะเมล็ด ทำโดยใช้วัสดุเพาะ คือขุยมะพร้าว 1 ส่วนกับทรายหยาบ 1 ส่วน ใส่ในกระบะพลาสติก ที่รองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เกลี่ยหน้าให้สม่ำเสมอกัน ใช้ไม้ทำร่องตามขวางของกระบะ ห่างกันร่องละ 1 นิ้ว นำเมล็ดมาวางเรียงในร่องแล้วกลบด้วยวัสดุเพาะ และ รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายในเวลาประมาณ 3-5 วัน เมื่อต้นกล้ามีใบจริงแล้ว 2-3 ใบ จึงนำกล้าย้ายมาลง ถุงปักชำ โดยใช้วัสดุปลูกด้วยส่วนผสมดังนี้คือ

– ดินร่วน 2 ส่วน
– แกลบ 2 ส่วน
– ขุยมะพร้าว 2 ส่วน
– ปุ๋ยคอก (เก่า) 1 ส่วน
– ทรายหยาบ 1 ส่วน

แล้วนำถุงปักชำไปวางไว้ที่รำไร เมื่อต้นกล้ามีอายุ 21/2-3 เดือน ก็พร้อมที่จะย้ายลงปลูกในแหล่ง หรือ กระถางต่อไป และใช้เวลาดูแลประมาณ 4-5 เดือน ต้นเยอบีร่าจึงเริ่มให้ดอก

3.2 การแยกหน่อ การแยกหน่อเยอบีร่าควรทำเมื่อต้นมีอายุมากกว่า 8 เดือน โดยขุดต้นเยอบีร่าขึ้นมา ทั้งกอแล้วล้างดินออกให้หมด จึงค่อยแยกหน่อ เยอบีร่าบางกอแยกได้ง่ายจึงไม่มีปัญหา แต่กรณีที่แยกยากให้ใช้มีด คม ๆ ตัดแบ่งออกให้เป็นต้น ๆ โดยให้มียอดอยู่อย่างน้อย 1 ยอด และมีใบ 4-5 ใบ รวมทั้งมีรากติดอยู่อย่างน้อย 3 ราก แล้วจึงตัดรากและใบออกประมาณครึ่งหนึ่ง เพื่อลดการคายน้ำและนำหน่อไปชำในถุงที่มีวัสดุชำ คือ ขุยมะพร้าว 1 ส่วน และทราย 1 ส่วน การปลูกให้ระวังอย่าให้ดินกลบยอด เพราะจะทำให้เน่าได้ง่าย แล้วจึงนำ ถุงชำไปวางไว้ในที่ร่ม 1-2 สัปดาห์ เมื่อต้นมีอายุ 4-5 สัปดาห์ จึงค่อยย้ายลงปลูกในแปลงต่อไป หรืออาจใช้วิธี การแยกต้นแล้วลงปลูกในแปลงเลย โดยใช้วัสดุที่โปร่งประกอบด้วยส่วนผสมต่าง ๆ ดังนี้ คือ

– ขุยมะพร้าว 4 ส่วน
– แกลบ 2 ส่วน
– ทราย 1 ส่วน
– ปุ๋ยอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน

ใช้ปลูกในโรงเรือนที่มีสะแลนพรางแสงร้อยละ 50 แต่ต้องให้น้ำบ่อยครั้งใน 2 สัปดาห์แรก โดยให้ทีละน้อยแต่ บ่อยครั้ง วิธีนี้เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมเพราะทำได้ง่ายและสะดวก

3.3 การชำยอด เป็นการขยายพันธุ์เยอบีร่าขึ้นล้างน้ำให้สะอาด ตัดใบออกให้เหลือก้านใบประมาณ 5 เซนติเมตร และเหลือใบไว้ 3-4 ใบ ต่อมาก็ตัดยอดออกเพื่อกระตุ้นให้เกิดตาข้าง แล้วนำไปชำในกระบะทราย เมื่อ มียอดอ่อนแตกจากลำต้น จึงตัดและจุ่มฮอร์โมนเร่งราก แล้วนำไปชำจนออกรากก่อนย้ายลงถุงต่อไป การขยายพันธุ์เยอบีร่า วิธีนี้ จะได้จำนวนต้นมากกว่าการแยกหน่อ แต่ต้นที่ชำอาจจะเน่าได้ง่ายหากไม่ชำนาญพอ

3.4 การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีการขยายพันธุ์เยอบีร่าที่จะได้ต้นตอเยอบีร่าที่มีความสม่ำเสมอ แตกตาข้างดี แข็งแรง และปราศจากโรค การขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสามารถทำได้ครั้งละมาก ๆ แต่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะบุคคล และใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง การปลูกเยอบีร่าเพื่อตัดดอกเป็นการค้าในต่างประเทศ จึงใช้ต้นพันธุ์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทั้งสิ้น

.

4. การดูแลรักษาต้นเยอบีร่า

4.1 การให้น้ำ เนื่องจากเยอบีร่ายุโรป เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ไม่ชอบน้ำขัง และต้องการปุ๋ยมาก การให้น้ำจึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอ โดยให้น้ำก่อนที่ผิวหน้าดินจะแห้ง เพราะถ้าปล่อยให้ดินแห้งจะทำให้อุณหภูมิ ในโรงเรือนสูง ต้นเยอบีร่าจะขาดน้ำ ซึ่งมีผลทำให้ใบเหี่ยว ดอกเหี่ยว คอดอกพับลง ก้านดอกจะไม่ตรง ดอกมี ขนาดเล็ก คุณภาพและอายุการปักแจกันจะลดลง การให้น้ำที่ไม่สม่ำเสมออาจทำให้ก้านดอกเปราะหัก หรือมีรอยแตก ตามขวาง ความถี่ของการให้น้ำจึงขึ้นอยู่กับชนิดของดิน ถ้าเป็นดินเหนียวควรให้น้ำน้อยครั้งกว่าดินร่วนหรือดินทราย และต้องระวังอย่าให้น้ำขัง เพราะจะทำให้ระบบรากเสีย ไม่สามารถดูดอาหารขึ้นไปใช้ได้ ซึ่งอาจทำให้รากเน่า และ ต้นเยอบีร่าตายได้ วิธีการให้น้ำต้นเยอบีร่าสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้

4.1.1 แบบสปริงเกอร์ การให้น้ำแบบนี้เหมาะสำหรับต้นเยอบีร่าที่ปลูกในช่วง 1 เดือนแรก เพราะ ช่วงแรกต้นเยอบีร่าต้องการน้ำมาก จึงต้องให้น้ำบ่อยครั้ง และเป็นวิธีที่ช่วยปรับอุณหภูมิและสภาพความชื้นได้ดี ในฤดูร้อน แต่การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์มีข้อเสียคือ สิ้นเปลืองน้ำมาก ถ้าให้ในช่วงดอกบานจะทำให้ดอกเปียก น้ำ อาจเกิดเชื้อราที่ดอก ทำให้ดอกเสียหายได้

4.1.2 แบบใช้สายยางรดทั้งแปลง เป็นวิธีที่ใช้ฝักบัวสวมเข้ากับสายยางแล้วรดทั้งแปลงเหมาะสำหรับ เยอบีร่าที่มีกอใหญ่ เพราะสามารถให้น้ำได้ทั่วทั้งแปลง โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าวิธีอื่นอีกทั้งสิ้นเปลืองน้ำน้อย กว่าแบบสปริงเกลอร์ แต่ข้อเสียคือ จะทำให้โครงสร้างของดินในแปลงอัดแน่น จึงต้องพรวนดินบ่อยครั้งกว่าการให้น้ำ วิธีอื่น และการให้น้ำอาจไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ก้านดอกเปราะหรือมีรอยแตกตามขวาง

4.1.3 แบบระบบน้ำหยด เป็นวิธีการให้น้ำที่เหมาะสำหรับเยอบีร่าที่ปลูกมาแล้ว 1 เดือน วิธีนี้ไม่ทำให้ ใบและดอกเปียกน้ำ เยอบีร่าจะได้รับน้ำสม่ำเสมอ อีกทั้งสามารถให้ปุ๋ยพร้อมกับน้ำระบบนี้อีกด้วย แต่มีข้อเสียคือ ต้องลงทุนสูง ไม่เหมาะสำหรับการให้น้ำในพื้นที่ที่มีหินปูนมาก เพราะจะทำให้ระบบน้ำหยดมีการอุดตันได้เร็ว และไม่สามารถปรับความชื้นและอุณหภูมิในโรงเรือนได้ดีเท่ากับระบบน้ำแบบสปริงเกอร์

4.2 การให้ปุ๋ย เยอบีร่าเป็นไม้ดอกที่เจริญเติบโตรวดเร็ว และแตกหน่อเพิ่มจำนวนในกอขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องการปุ๋ยมาก แต่ถ้าขาดธาตุอาหารก็จะแสดงอาการขาดธาตุอาหารให้เห็นได้เร็วและชัดเจนที่ดอกก้านดอก และใบ จึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ยทั้งทางรากและเสริมทางใบควบคู่กันไป การให้ปุ๋ย เยอบีร่าแต่ละช่วงจะไม่เหมือน กันและไม่เท่ากัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ

4.2.1 ช่วงก่อนออกดอก – เมื่อเริ่มปลูก 1 เดือนแรก ควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น 20-0-0 หรือ 46-0-0 ผสมกับปุ๋ยเกล็ดสูตร 20-20-20 อัตราส่วน 1 : 1 โดยใช้ปุ๋ยสูตร 20-0-0 หรือ 46-0-0 จำนวน 1/2 กิโลกรัม รวมกับปุ๋ยเกล็ดสูตร 20-20-20 จำนวน 1/2 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 200 ลิตร แล้วใช้น้ำปุ๋ยรดครึ่งลิตร ต่อต้นทุก 7 วัน

– เดือนที่ 2 ให้รดผสมกับปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 โดยใช้ปุ๋ยจำนวน 15 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน ต่อมาเอาหัวปุ๋ยที่แช่ไว้ 5 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ใช้น้ำปุ๋ยรด 1 ลิตรต่อต้นทุก 15 วัน จนกว่าจะมีดอกแรก และใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 25-5-5 หรือ 20-20-20 ฉีดพ่นเสริมทางใบทุก 7 วัน และสามารถ ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงพร้อมกับปุ๋ยไปด้วย

4.2.2 ช่วงออกดอก การให้ปุ๋ยเยอบีร่าช่วงออกดอกสามารถใช้ปุ๋ยได้หลายสูตร เช่นสูตร 0-46-0 สูตร 15-15-15 สูตร 13-13-21 สูตร 12-24-12 สูตร 8-24-24 หรือสูตร 0-0-60 การให้ปุ๋ยแต่ละตัวขึ้นอยู่กับสภาพ ของเยอบีร่าโดยอาจใช้ปุ๋ยสูตรใดสูตรหนึ่งดังกล่าว หรือใช้ 2 สูตร รวมกันก็ได้เช่นใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมกับ สูตร 0-0-60 ในอัตรา 1 : 1 หรือใช้สูตร 12-24-12 ผสมกับ 0-0-60 ในอัตรา 1 : 1 เช่นกัน โดยผสมปุ๋ยทั้ง 2 สูตรให้ได้ 15 กิโลกรัมแล้วผสมกับน้ำ 200 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วจึงค่อยเอาหัวปุ๋ยที่แช่ไว้ 7 ลิตรผสมกับน้ำ อีก 200 ลิตร ใช้รดต้นเยอบีร่าต้นละ 1 ลิตรในแปลงทุก ๆ 15 วัน และมีปุ๋ยอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวเร่งการออกดอก แต่จะละลายช้า คือ ทรับเบิลซุบเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) โดยใช้วิธีการฝังลงในดิน ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นละ 1 ช้อนชาทุก ๆ เดือน การฝังปุ๋ยแต่ละครั้งให้หมุนเวียนเป็นจุด ๆ รอบต้น เยอบีร่าเป็นพืชที่ ต้องการปุ๋ยหมักมาก จึงควรให้ปุ๋ยเสริมทางใบอีกทางหนึ่ง โดยใช้ธาตุรองหรือปุ๋ยเกล็ดสูตร 20-20-20 หรือสูตร 15-30-15 ่พ่นทางใบ ซึ่งสามารถฉีดพ่นพร้อมกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงทุก 7 วันก็ได้

.

5. การแต่งทรงพุ่ม

เยอบีร่ายุโรปเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตแตกหน่อเป็นกอใหญ่ ชั้นใบก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ พุ่มต้นอัดกันแน่น ใบเยอบีร่าด้านบนจะบังใบทางด้านล่าง ทำให้ใบที่ไม่ถูกแสงแดดไม่สามารถสังเคราะห์ อาหารได้ จำเป็นต้องอาศัยอาหารจากใบด้านบน มีผลทำให้ปริมาณดอกลดลง เพราะใบด้านล่างแย่งอาหารที่จะ ไปสร้างดอก จึงจำเป็นต้องแต่งใบออกบ้าง เมื่อพุ่มโตเต็มที่ โดยการตัดใบด้านล่างทิ้ง รวมทั้งใบที่ไม่สมบูรณ์ มีโรคและแมลงรบกวนและใบแก่ ให้เหลือใบไว้กอละ 20-25 ใบ การเด็ดใบเยอบีร่าต้องเด็ดให้หลุดจากขั้ว ระหว่างต้นกับใบ ห้ามใช้กรรไกรตัด เพราะก้านใบที่ติดกับต้นจะทำให้เชื้อราสามารถเข้าไปทำลายทางบาดแผล ได้ และอย่าเด็ดใบให้มากเกินไป เพราะถ้าต้นเหลือใบน้อยไม่สมดุลกับทรงพุ่ม ทำให้การสร้างอาหารไม่เพียงพอ ที่จะไปสร้างดอก การควบคุมจำนวนใบและขนาดพุ่มต้นเยอบีร่า จะช่วยให้เยอบีร่ามีผลผลิตดอกสม่ำเสมอ มีอายุ การเก็บเกี่ยวยาวนาน และยังช่วยให้ดอกโผล่พ้นต้นโดยไม่งอหรือหักอีกด้วย

.

6. การเก็บดอก การคัดเกรด และการบรรจุหีบห่อเยอบีร่า

6.1 การเก็บดอกเยอบีร่า จากการเพาะเมล็ด และจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้เวลาให้ดอกแรก 4-5 เดือน ส่วนเยอบีร่าที่ได้จากการแยกหน่อจะเริ่มออกดอกต้องใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ตอนแรก ๆ ดอกจะมีขนาดเล็ก เพราะยังไม่สมบูรณ์ต้องใช้เวลาดูแลต่อไปอีก 1-2 เดือน จึงจะได้ดอกที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ระยะเวลาที่ เหมาะสมในการตัดดอก คือ กลีบดอกชั้นในที่เป็นเกสรตัวผู้บานได้ 1-2 วง หากเก็บเร็วเกินไปหรือปล่อยให้ดอกแก่ มากขึ้นจะทำให้ดอกคอหักพับได้ง่าย และอายุปักแจกันก็จะสั้นลงการเก็บดอกเยอบีร่าให้ดีควรเก็บในช่วงเช้า เพราะเซลของก้านดอกอวบ แข็ง และเปราะ สามารถถอดออกได้ง่ายกว่าตอนบ่ายและตอนเที่ยง วิธีเก็บดอกทำได้ โดยการใช้มือจับที่โคนก้านดอกเหนือจากดินประมาณ 2-3 นิ้วโยกลงข้าง ๆ ระหว่างก้านใบแล้วกระตุกขึ้น ดอกจะ หลุดออกมาโดยง่าย แล้วให้รีบแช่ก้านดอกลงในถังน้ำที่ใส่สารฟอกผ้าขาว (Sodium hypochlorite) เช่น คลอร็อก หรือไฮเตอร์โดยใช้คลอร็อก หรือไฮเตอร์ 7 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วเก็บไว้ในที่ร่มทันที ดอกเยอบีร่าไม่มีใบที่ ก้านดอกไม่เหมือนกับเบญจมาศและกุหลาบที่ต้องให้ใบของก้านดอกสังเคราะห์แสงเก็บไว้เป็นอาหารสำรองก่อน การเก็บดอกจึงต้องตัดในช่วงบ่ายเพื่อให้ใบก้านดอกสังเคราะห์แสงไว้เป็นอาหารสำรองก่อนตัดดอก แต่ดอก เยอบีร่าควรเก็บในตอนเช้า

6.2 การคัดเกรดเยอบีร่า สำหรับการคัดเกรดดอกเยอบีร่ายุโรป เป็นการเพิ่มราคาผลผลิตและลด การเสียหายของดอกระหว่างการขนส่ง เมื่อเก็บดอกออกจากแปลงแล้ว ต้องนำมาทำการคัดเกรดตามความต้องการ ของตลาด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เกรด คือ

6.2.1 เกรด เอ (A) ความยาวก้านดอกมากกว่า 40 เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางดอกมากกว่า 4 นิ้ว

6.2.2 เกรดบี (B) ความยาวก้านดอก 35-40 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 3.5-4 นิ้ว

6.2.3 เกรดซี (C) ความยาวก้านดอก 30-35 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 3.0-3.5 นิ้ว

6.2.4 ส่วนดอกที่มีตำหนิหรือดอกที่ไม่ได้ขนาด ดังกล่าวคือเป็นดอกตกเกรด

6.3 การบรรจุหีบห่อเยอบีร่า

6.3.1 เพื่อป้องกันการซ้ำของกลีบดอก จึงให้ใช้ถุงพลาสติกใสขนาด 3 x 5 นิ้ว หากดอกใหญ่มากให้ใช้ ถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว เจาะรูตรงกลางด้านล่างของถุง แล้วสอดก้านดอกรูดให้ดอกเข้าไปอยู่ในถุงพลาสติก

6.3.2 เมื่อใส่ดอกเยอบีร่าในถุงพลาสติกป้องกันกลีบดอกซ้ำแล้ว ให้ใช้ฟลอร่าเทปใสมัดดอกรวบเข้าด้วยกัน มัดละ 10 ดอก แล้วห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกทีหนึ่งให้ก้านดอกพ้นจากกระดาษประมาณ 3 นิ้ว และตัดโคน ก้านดอกด้วยมีดที่คมและสะอาดประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปแช่น้ำผสมสารฟอกผ้าขาวอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อให้ ดอกดูดน้ำเต็มที่ก่อน ก่อนการบรรจุลงกล่อง เพื่อเตรียมการขนส่งต่อไป

.

7. การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของเยอบีร่า

7.1 โรคของเยอบีร่าที่สำคัญ คือ

7.1.1 โรคใบจุดหรือตากบ เกิดจากเชื้อรา Cercospora sp. อาการคือใบเยอบีร่ามีจุดเป็นสีม่วง ปนน้ำตาลไหม้ แผลจะใหญ่ขึ้นจนอาจทะลุเป็นรู กระจายอยู่ทั่วไป ถ้าเป็นมากแผลจะแผ่เป็นวงกว้าง โรคนี้จะ ระบาดมากในช่วงฤดูฝน

การป้องกันกำจัด

– ควรเลือกต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรค

– เด็ดใบที่เป็นโรคออกทำลาย และฉีดยาป้องกันเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม ชื่อการค้า บาวิตดิน Cycloheximide ชื่อการค้า ฟูซานอล หรือไตรโพรีน ชื่อการค้าคือ ซอพรอล ให้ฉีดพ่นทุกสัปดาห์ในกรณีที่เป็นโรค

.

7.1.2 โรคเหี่ยวหรือโรครากเน่า (Sclerotium root rot) เกิดจากเชื้อรา Sclerotium sp. มีอาการใบ จะเหี่ยวเฉาและค่อย ๆ แห้งและตายในที่สุด บริเวณโคนต้นและรากที่เน่าจะพบว่ามีเส้นใยและเม็ดกลม ๆ สีน้ำตาล ของเชื้อรา (ราเม็ดผักกาด) โรคนี้เมื่อเป็นจะทำให้ต้นเยอบีร่าตายทั้งกอ

การป้องกันกำจัด

– ควรใช้ต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรค

– ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมหรือปลูกในที่มีโรคระบาด

– ไม่ควรปลูกในดินที่เป็นกรด ถ้าดินเป็นกรดควรปรับสภาพดินด้วยปูนขาวก่อนปลูก

– ถ้าพบต้นที่เป็นโรคควรขุดต้นขึ้นเผาไฟ และใส่ปูนขาวบริเวณหลุมที่เป็นโรค

– ป้องกันโรคด้วยการราดดินด้วยยาเทอร์ราคลอร์หรือเด๊กซาน เป็นระยะ ๆ

 

7.1.3 โรครากปม เป็นโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย Meloidogyne incognita ทำให้ต้นเยอบีร่ามีอาการ แคระแกรน เมื่อขุดต้นขึ้นมา จะพบว่ารากมีอาการโป่งนูนอยู่ทั่วไป ซึ่งจะมีผลต่อความสมบูรณ์และผลผลิตของ ต้น โรคนี้มักพบกับต้นที่ปลูกมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี

การป้องกันกำจัด

– เลือกต้นที่ไม่มีโรคติดตา โดยดูที่รากว่าไม่มีปุ่มปม

– ไม่ควรปลูกเยอบีร่าในพื้นที่ที่มีโรคนี้ระบาด

– ใช้ยาป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย คือ ฟูราดาน 3 จี (คาร์โบโฟราน)

– ใช้ยาบาซามิค-จี อบดินก่อนปลูกเยอบีร่า

7.1.4 โรคดอกเขียว (Aster yellow) เกิดจากเชื้อ Mycoplasma Sp. โรคนี้จะไม่แสดงอาการจนกว่าจะ ออกดอก อาการที่พบคือกลีบดอกสีเขียว ลักษณะคล้ายใบ และจะเจริญเป็นยอดหรือต้นเล็ก ๆ อยู่บนช่อดอก ต้นที่ เป็นโรคนี้อาจจะเห็นว่ามีต้นเล็ก ๆ ขึ้นอยู่บริเวณโคนต้น จำนวนมาก โรคนี้ยังไม่พบวิธีรักษาให้หาย เมื่อพบต้น ที่เป็นโรคจึงควรขุดฝังหรือเผาทิ้งเสีย และมักพบว่าเพลี้ยจักจั่นบางชนิดเป็นพาหะของโรคนี้.

.

7.2 แมลงศัตรูของเยอบีร่าที่สำคัญ คือ

7.2.1 เพลี้ยไฟ (Thrips) แมลงชนิดนี้ทำลายเยอบีร่า ทั้งต้นใบและดอก ซึ่งทำความเสียหายแก่เยอบีร่าพันธุ์ ต่างประเทศมาก เพลี้ยไฟระบาดมากในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง อาการของต้นเยอบีร่าที่ถูกเพลี้ยไฟทำลาย คือ ใบมีอาการหยิกงอ และมีขนาดเล็กกว่าปกติ ดอกที่ถูกทำลายจะมีรอยด่างสีขาว ดอกที่ถูกทำลายมาก ๆ กลีบดอกจะหงิกงอ และไม่บาน ทำให้ดอกไม่มีคุณภาพ ไม่สมบูรณ์นำไปจำหน่ายได้

การป้องกันกำจัด

– การใช้สารเคมีคาร์โบซัลแฟนที่มีชื่อการค้าว่า ฟอสซ์ โมโนโครโตฟอส ฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือถ้า ระบาดมากให้ฉีดพ่น 3 วันต่อครั้ง ติดต่อกัน 2 ครั้ง

7.2.2 ไรแดงหรือไรต่าง ๆ เยอบีร่าจะถูกไรแดงและไรต่าง ๆ ทำลายทั้งต้น ใบ และดอก ทำความเสียหายมาก โดยเฉพาะดอกเมื่อโดนไรทำลาย จะทำให้ดอกไม่มีคุณภาพกลายเป็นดอกที่ตกเกรดหมดราคา

อาการของต้นเยอบีร่าที่ถูกไรทำลาย ระยะแรกจะมีจุดสีเทาหรือเหลืองบนแผ่นใบ ถ้าไรแดงระบาดมากดอกอ่อน ของเยอบีร่าที่ขอบหรือปลายใบ หงิกงอ และจะเห็นใจบนกลีบดอกและด้านล่างของใบ ซึ่งจะพบอาการนี้เมื่อไรแดง เข้าทำลายแล้วระยะหนึ่ง ควรกำจัดไรแดงตั้งแต่เมื่อพบอาการระยะแรกปรากฏไรแดงขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วใน อุณหภูมิสูงและความชื้นต่ำ

การป้องกันกำจัด

– ควรเก็บใบและดอกที่แสดงอาการออกแล้วเผาทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมี อามีทราว ชื่อการค้าคือ สไปเดร็กซ์ หรือ ไดโดโฟล ชื่อการค้าคือ เคนเทน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าระบาดมากให้ฉีดสารเคมีดังกล่าวฉีดพ่น 3 วันต่อครั้ง ติดต่อกัน 2 ครั้ง

7.2.3 หนอนชอนใบ หนอนชนิดนี้จะเข้าทำลายเฉพาะใบเยอบีร่า ซึ่งบาดแผลที่โดนหนอนทำลาย อาจเป็นเหตุ ให้เชื้อราเข้าทำลายต้นเยอบีร่าได้

อาการ ลักษณะของใบส่วนที่ถูกหนอนชอนจะเห็นเป็นทางสีอ่อนกว่าเนื้อใบปกติ เพราะเซลใบสีเขียวถูกทำลาย อันมีผลทำให้การสังเคราะห์แสงสร้างอาหารของใบลดน้อยลง หรือทำให้ใบเยอบีร่าเป็นแผล

การป้องกันกำจัด

– ควรเก็บใบที่โดนทำลายเผาทิ้งเป็นการกำจัดตัวอ่อนไปด้วย และพ่นด้วยสารเคมี ไดคลอร์วอส มีชื่อการค้าว่า อาพอล กำจัดตัวอ่อน และสารเคมีโมโนโคร โตฟอส เมทโธนิล มีชื่อการค้าว่า ควิกเกอร์-แอล์ กำจัดตัวแก่ สัปดาห์ ละ 1 ครั้ง กรณีที่มีการระบาด

7.2.4 หนอนผีเสื้อกลางวัน หนอนชนิดนี้ระบาดมากในช่วงฤดูร้อน ส่วนผีเสื้อกลางวันจะวางไข่ตามใบและดอก เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินทำลายใบและดอก

การป้องกันกำจัด

– ควรจับตัวหนอนในช่วงเช้าหรือเย็น

– ให้ฉีดยาฆ่าแมลงเมทโทมิล โมโนโครโตฟอส ทำลายตัวหนอนเล็ก ๆ แต่ตัวหนอนตัวใหญ่มักจะไม่ตาย

.

7.2.5 เพลี้ยอ่อน (Aphids) เยอบีร่าถูกเพลี้ยอ่อนดูดน้ำเลี้ยง ทำให้กลีบดอกเล็ก คดงอ ดอกจึงบิดเบี้ยว เพลี้ยอ่อนมักแพร่กระจายโดยถูกมดนำไป

การป้องกันกำจัด

– ทำได้โดยการฉีดยาฆ่าแมลง โมโน-โครโตฟอส คาร์โบซัลแฟน ฉีดพ่นทุกสัปดาห์

การปลูกเยอบีร่าจะได้ผลผลิตและคุณภาพดีที่สุดในช่วงปีแรก หลังจากปลูกได้ 1 ปี คุณภาพดอกและปริมาณจะ เริ่มลดลง จากการที่เยอบีร่าเป็นพืชที่ต้องการความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง จึงต้องการปุ๋ยมาก ชอบดินร่วนซุย ระบายน้ำ และระบายอากาศได้ดี รวมทั้งธาตุอาหารรองมากด้วย ดังนั้นเมื่อปลูกเยอบีร่าไปแล้ว 1 ปีครึ่ง โครงสร้าง และธาตุอาหารในดินย่อมลดลง แสดงว่าคุณภาพดินด้อยลง รวมทั้งอายุของต้นพันธุ์ด้วย จึงเป็นความจำเป็นที่จะ ต้องปรับปรุงคุณภาพของดินและคุณภาพของต้นให้ดีอยู่เสมอ.

ที่มา https://www.108kaset.com/index.php?topic=323