คุณปิยะมาศ บัวแก้ว (สวมสูทขาวกระโปรงน้ำเงิน) หนึ่งในคณะทำงาน ตำแหน่งประธานเครือข่ายธุรกิจบิสคลับจังหวัดอำนาจเจริญ และประชาสัมพันธ์บิสคลับไทยแลนด์ ถึงปัญหาการทำธุรกิจที่กลุ่มเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นภาคอีสานมักเจออยู่มีอะไรบ้าง..
คุณปิยะมาศได้ให้รายละเอียดว่า เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในภาคอีสานเป็นเศรษฐกิจฐานราก จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน จึงมีการรวมตัวทำธุรกิจกันเป็นกลุ่ม เช่น ชุมชนทอผ้า ชุมชนทอเสื่อ ชุมชนแปรรูปอาหาร ฯลฯ ฉะนั้น เมื่อมีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มชุมชน หรือโอท็อป ช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อจึงเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากเวลาที่ภาครัฐทำงบประมาณเพื่อปล่อยสินเชื่อ จะไม่มีการระบุถึงเลขทะเบียนของวิสาหกิจชุมชน ต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น จึงทำให้การรวมกลุ่มทำโอท็อปในชุมชนที่มีเลขทะเบียนโอท็อปไม่สามารถกู้ได้ เพราะไม่ใช่เลขนิติบุคคลที่อยู่ในระบบของภาครัฐ ดังนั้นนโยบายสินเชื่อต่างๆที่รัฐออกมาจึงไม่สามารถตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจฐานรากอย่างแท้จริง
ตัวอย่างเช่น วงเงินกู้ร้อยละ 1% ของหน่วยงานรัฐ ที่การรวมกลุ่มต่างๆไม่สามารถกู้ได้ เว้นแต่ต้องเอาตัวเองไปจดเป็นบริษัท ห้าง ร้าน แต่เมื่อจดแล้วก็เท่ากับเป็นผู้ดำเนินกิจการใหม่ ซึ่งต้องไปดูระบบหมุนเวียนทางการเงินของกิจการใหม่อีกครั้ง ซึ่งรัฐไปยึดหลักเกณฑ์ของธนาคารที่ไม่มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะเรื่องเอกสารและข้อกำหนดต่างๆที่วางไว้อย่างรัดกุมเกินไป..
ที่สำคัญคืองบสินเชื่อที่รัฐให้มานั้น ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้เพื่อใช้ลงทุน เช่นมีการระบุที่ว่า หากต้องการลงทุนซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ การก่อสร้างหรืออื่นๆ เพื่อมาพัฒนาธุรกิจ ผู้ขอกู้จะต้อไปซื้อเครื่องจักร หรือไปจ่ายค่าต่างๆมาก่อนแล้วค่อยมาทำการเบิก ซึ่งมันขัดแย้งกัน เพราะถ้าผู้ประกอบการมีเงินไปซื้อมาก่อนแล้วเขาจะมาขอกู้ทำไมล่ะ?
จากการลงพื้นที่ของตนเอง ทำให้รู้ว่าแทบไม่มีโครงการไหนเลยที่กู้ได้ จึงอยากฝากถึงหน่วยงานรัฐ ว่าหากต้องการวางนโยบายเงินกู้เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ขอให้มาลงพื้นที่เก็บข้อมูล ต้องไปศึกษาผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นก่อน แล้วจากนั้นค่อยออกนโยบายมาเพื่อมาแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่รัฐทำอยู่ คือการติดต่อกลับไปหาส่วนงานรัฐในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งในบางครั้งข้อมูลที่ได้มาอาจเป็นผักชีโรยหน้า จึงอยากให้ลองติดต่อกับเอกชนหรือเครือข่ายธุรกิจบิสคลับในจังหวัดแทน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและข้อมูลที่สดใหม่อยู่เสมอ.
ที่มา https://www.smartsme.co.th/content/86263